ทำไมชาติตะวันตกถึงต้องร้อนรนกับ 'กฤษฎีกาปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ' ของฮ่องกง 

ทำไมชาติตะวันตกถึงต้องร้อนรนกับ 'กฤษฎีกาปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ' ของฮ่องกง 

เบื้องหลังของเหตุการณ์
1.
มาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฮ่องกง ระบุว่าฮ่องกง "จะต้องตรากฎหมายด้วยตัวของตัวเองเพื่อห้ามการกระทำใดๆ ที่เป็นการกบฎ การแบ่งแยกดินแดน การยุยงปลุกปั่น การบ่อนทำลายรัฐบาลประชาชนกลาง (รัฐบาลจีน) หรือการขโมยความลับของรัฐ เพื่อห้ามองค์กรหรือองค์กรการเมืองต่างประเทศดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในภูมิภาค และห้ามองค์กรหรือองค์กรทางการเมืองของฮ่องกงสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรหรือองค์กรทางการเมืองต่างประเทศ"

2. ต่อมา มีความพยายามที่จะตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 23 เกิดขึ้นในปี 2003  แต่ถูกระงับอย่างไม่มีกำหนดหลังจากผู้ประท้วงหลายแสนคนออกมาประท้วงต่อต้าน ส่งผลให้พรรคการเมืองของฮ่องกงที่สนับสนุนรัฐบาลจีนต้องคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว และยังขาดเสียงข้างมากที่จะผ่านในเวลาต่อมา 

3. เวลาผ่านไปนานนับสิบปี จนกระทั่ง สีจิ้นผิง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 2012 แนวทางเผด็จการก็เข้มงวดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการควบคุมฮ่องกงอย่างเข้มงวด จนกระทั่งที่ฮ่องกงมีการผลักดัน 'ร่างกฎหมายผู้กระทำผิดผู้ลี้ภัยและความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกันในเรื่องกฎหมายอาญา (แก้ไข) ประจำปี 2019' ได้รับการเสนอครั้งแรกโดยรัฐบาลฮ่องกงในเดือนกุมภาพันธ์ 2019

4. กฎหมายนี้ออกมาเพื่อตอบรับกับคดีฆาตกรรมหญิงชาวฮ่องกงโดยแฟนหนุ่มชาวไต้หวัน และทำให้ต้องมีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จึงมีการแก้ไขเนื้อหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับไต้หวัน แต่ได้มีการรวมเอาจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปด้วย ทำให้คนฮ่องกงเกิดความกังวลว่า ทางการฮ่องกงอาจส่งตัวผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไปให้จีน โดยอ้างว่าเป็นคนร้ายที่จีนต้องการ

5. ความกังวลนี้กลายเป็นการประท้วงเล็กๆ ก่อนที่จะกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วฮ่องกงระหว่างปี 2019–2020 การประท้วงรุนแรงและหนักขึ้น จนแคร์รี แลม ผู้บริหารระดับสูงของฮ่องกง ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2019 แต่ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อของผู้ประท้วงที่เกี่ยวมาตรการของทสงการต่อผู้ประท้วง

6. หนึ่งเดือนต่อมา เมื่อสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แคร์รี แลม ใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการสวมหน้ากาก ส่งผลให้การเผชิญหน้ารุนแรงขึ้น แต่จุดพลิกผันอยู่ที่เดือนพฤษภาคม 2020 หลังจากที่รัฐบาลจีนตัดสินใจประกาศใช้ 'กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการปกป้องความมั่นคงของชาติในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง'  ตามมาด้วยการจับกุมนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงหลายคน ทำให้เกิดกระแสการอพยพจำนวนมากออกจากฮ่องกง และการประท้วงก็เริ่มซาลงไป

เบื้องหลังของกฎหมายนี้
 • ก่อนหน้านี้ฮ่องกงได้มีการใช้ 'กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการปกป้องความมั่นคงของชาติในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง' ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งชาติของจีนว่าด้วยความมั่นคงของชาติฮ่องกง กฎหมายนี้จัดทำขึ้นภายใต้อำนาจของสภาประชาชนแห่งชาติว่าด้วยกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง กฎหมายดังกล่าวผ่านการรับรองเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2020 โดยคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติ กฎหมายนี้รวมอยู่ในภาคผนวก III ของรัฐธรรมนูญฮ่องกง 

 • 'กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการปกป้องความมั่นคงของชาติในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง' ได้กำหนดการกระทำที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมโดยเฉพาะ 4 ประการ ได้แก่ การแยกประเทศ การโค่นล้มรัฐบาล การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับองค์กรต่างประเทศ นอกจากนี้การพูด การส่งเสริมด้วยวาจา หรือเจตนาแยกตัวของฮ่องกงออกจากจีน ถือเป็นอาชญากรรมเช่นกัน 

 • จนกระทั่งมีการออก 'กฤษฎีกาปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ' (Safeguarding National Security Ordinance) ซึ่งเป็นกฎหมายด้านความมั่นคงของฮ่องกงได้ผ่านการอนุมัติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2024 โดยสภานิติบัญญัติแห่งฮ่องกง และจะบังคับใช้ในวันที่ 23 มีนาคม 2024 กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองข้อกำหนดของมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฮ่องกง กฎหมายล่าสุดนี้ทำให้ประชาคมโลกโจมตีจีนอย่างหนักว่ากำลังริดรอนเสรีภาพของฮ่องกง 

 • รายละเอียดหลักๆ ของ 'กฤษฎีกาปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ' เน้นเอาผิดอาชญากรรมด้านความมั่นคงของชาติ 5 ประการ ได้แก่ การทรยศชาติ การกบฏ และการยุยงให้เกิดการกบฏ การขโมยความลับของรัฐ และการจารกรรม การก่อวินาศกรรม และการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งข้อหาการทรยศชาติ การกบฏ และการก่อวินาศกรรม การมุ่งเป้าไปที่การกระทำที่เป็นอันตรายต่ออธิปไตยของจีน และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติในการสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ อาจเผชิญโทษจำคุกตลอดชีวิต ความผิดบางประเภทมีโทษสูงกว่าหากจำเลยสมรู้ร่วมคิดกับอำนาจภายนอก  

ทำไมต่างชาติต้องร้อนรน?
ประเทศตะวันตกแสดงอาการไม่พอใจและประณามจีนในทันทีที่มีการผ่านกฎหมายนี้ สาเหตุหลักก็เพราะ ตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฮ่องกง กฎหมายล่าสุดจึงมีการบัญญัติการควบคุมองค์กรการเมืองต่างประเทศเอาไว้ในร่างกฎหมายเช่นกัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงมีอำนาจสั่งห้ามการดำเนินการขององค์กรที่ถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงภายนอกกับองค์กรต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลต่างประเทศ พรรคการเมือง และองค์กรระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของความมั่นคงแห่งชาติ หากองค์กรดังกล่าวติดต่อกับกองกำลังภายนอกที่มีเจตนาจะก่อให้เกิดการแทรกแซง

เกิดความกังวลขึ้นก่อนการปรึกษาหารือว่ากลุ่มผู้สนับสนุนระหว่างประเทศ เช่น Greenpeace  และ Amnesty International ซึ่งล้วนแต่มีฐานอยู่ในประเทศตะวันตก อาจถูกแบนในฮ่องกง และทำให้รัฐบาลประเทศตะวันตกต่างๆ ต้องแสดงท่าทีตอบโต้กฎหมายนี้ โดยเตือน (หรือขู่) ว่าอาจทำให้ฮ่องกงเสียสถานะศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจโลก เช่น สหภาพยุโรประบุในแถลงการณ์ว่า มีความกังวลเกี่ยวกับ “ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนฮ่องกง” และเตือนว่า “เรื่องนี้ยังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าดึงดูดใจในระยะยาวของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ” 

รัฐบาลสหราชอาณาจักร (ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าของฮ่องกง) มีแถลงการณ์จากเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศว่า "ผลกระทบโดยรวมของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของฮ่องกงก็คือ มันจะสร้างความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับในเมืองนี้ต่อไป มันบ่อนทำลายการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันของฮ่องกง รวมถึงปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง"

อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐบาลจีนตำหนิสหราชอาณาจักรว่า "เสแสร้งและใช้สองมาตรฐาน" เพราะสหราชอาณาจักรก็มีการใช้กฎหมายความมั่นึง ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่ผ่านเมื่อปีที่แล้วด้วย จีนยังตอบโต้ว่า “สหราชอาณาจักรแสดงความเห็นที่ยั่วยุและไม่รับผิดชอบต่อสถานการณ์ของฮ่องกง... ทั้งหมดนี้เป็นเพราะทัศนคติที่หยั่งรากลึกในฐานะนักล่าอาณานิคมและคนที่สอนศีลธรรมให้คนอื่น” และ “เราขอเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรกำหนดจุดยืนของตนให้ถูกต้อง เผชิญกับความเป็นจริง และละทิ้งจินตนาการที่จะสานต่ออิทธิพลอาณานิคมในฮ่องกงต่อไป”

จีนจะแข็งแกร่งขึ้นไหม?
กฎหมายนี้จะเปิดทางให้รัฐบาลฮ่องกงตอบสนองต่อความต้องการของรัฐบาลจีนได้เต็มที่ในเรื่องของความมั่นคง หลังจากนี้ จะเป็นเรื่องยากที่องค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศ และบุคคลต่างชาติ จะใช้ฮ่องกงเป็นฐานเคลื่อนไหวกดดันจีนหรือโจมตีจีน เพราะเคยเป็นประเด็นกังวลของจีนมาแล้วในช่วงที่เกิดการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงและมีการเปิดเผยความเกี่ยวพันระหว่างแกนนำประท้วงบางคนกับองค์กรต่างชาติและรัฐบาลตะวันตก ซึ่งเป็นประเด็นที่ผลักดันให้จีนต้องดันกฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง 

จนกระทั่ง ในเดือนมกราคม ปี 2023 หลังจากพบปะกับ เซี่ยเป่าหลง เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน  และผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ขอให้ฝ่ายบริหารของฮ่องกง แก้ไขกฎหมายท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บริหารฮ่องกงกล่าวว่าเขาจะจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายภายใต้มาตรา 23 อีกครั้งโดยเร็วที่สุด หลังจากผ่านไป 1 ปี กฎหมายนี้ก็ผ่านได้สำเร็จในที่สุด เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนต่อกฎหมายนี้ 

ทั้งนี้ ชาติตะวันตกโจมตี เซี่ยเป่าหลง อย่างหนัก โดยในเดือนสิงหาคม 2020 เซี่ยและเจ้าหน้าจีนที่อีกสิบคนถูกกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรฐานบ่อนทำลายเอกราชของฮ่องกง แต่ เซี่ยเป่าหลง ไม่แยแส ในเดือนธันวาคม 2021 เซี่ยกล่าวว่าอีกไม่นานชาวฮ่องกงจะได้รับประชาธิปไตย "ที่แท้จริง" ภายใต้ระบบการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีเพียง "ผู้รักชาติ" เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้บริหารกิจการของฮ่องกง

Photo - (TOPSHOT) สมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงลงมติเกี่ยวกับมาตรา 23 ตามรัฐธรรมนุญในสภานิติบัญญติ ภายหลังการเสนอกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติตามมาตรา 23 ในฮ่องกงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2024 สภานิติบัญญัติของฮ่องกงมีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม เสนอบทลงโทษ เช่น จำคุกตลอดชีวิตสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการทรยศและการกบฏ และโทษจำคุกสูงสุด 20 ปีฐานขโมยความลับของรัฐ (Photo by Peter PARKS / AFP)
 

TAGS: #ฮ่องกง #จีน #กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ