ใครคือฝ่ายธรรมะ คนไหนฝ่ายอธรรม และวิญญูชนจอมปลอมคือใคร?

ใครคือฝ่ายธรรมะ คนไหนฝ่ายอธรรม และวิญญูชนจอมปลอมคือใคร?

สมัยก่อน การเมืองไทยนิยมขอยืมศัพท์แสงจากนิยายจีนกำลังภายในมาใช่ เช่น คำว่าพรรคเทพ พรรคมาร ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม ฯลฯ

คำพวกนี้ถูกใช้เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าชั่วร้าย และยกตัวเองว่าถูกต้องชอบธรรม

พอพ้นทศวรรษที่ 1990 การใช้ศัพท์จอมยุทธ์พวกนี้ซาลงไป เพราะคนอ่านนิยายกำลังภายในน้อยลง และสื่อและคนการเมืองไทยนิยมคิดคำแปลกๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยจะแหลมคม และค่อนข้างจะ Cliché  คือ "เชย" 

ล่าสุด คำพวกนี้โผล่ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากกรณีวิวาทะเกี่ยวกับภาพยนต์การ์ตูน '2475 Dawn of Revolution' 

การ์ตูนเรื่องนี้พยายามเล่าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยแสดงความเห็นใจฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจ คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ในขณะเดียวกันก็ตีแผ่ 'ความชั่วร้าย' ของคณะราษฎรที่ยึดอำนาจในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะ ปรีดี พนมยงค์ ที่ถือเป็น Mastermind หรือมันสมองของคณะราษฎรนั้น โดนถล่มเละกว่าใคร

ผมเห็นแล้วนึกอยู่หลายวันว่าแล้วทายาทของ ปรีดี พนมยงค์ จะเคลื่อนไหวหรือเปล่าหนอ? เพราะเรื่องใหญ่ไม่ใช่เล่น 

ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่กี่วัน สุดา พนมยงค์ และดุษฎี พนมยงค์ บุตรีของ ปรีดี พนมยงค์ ก็มีจดหมายเปิดผนึกออกมา เนื้อหามีดังนี้ 

... "ข้อคิดเห็นบางประการเรื่องที่ฝ่ายอธรรมกําลังปลุกกระแส โดยสร้างและเผยแพร่ภาพยนตร์ 2475 อยู่ในขณะนี้"

1. การโต้ตอบโดยตรง อาจไม่เป็นผลดีต่อสถาบันปรีดีฯ ทําให้เข้าทางฝ่ายตรงข้าม ที่หวังสร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือนประวัติศาสตร์ ยั่วยุเพื่อให้เกิดกระแสด้านลบต่อฝ่ายธรรมะ

2. สถาบันปรีดีฯ เผยแพร่ความรู้ และข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อผู้ที่สนใจจะสามารถสืบค้น เข้าถึงได้สะดวกขึ้น

3. เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เคยมีการสร้างสื่อในลักษณะใส่ร้ายและโจมตีการอภิวัฒน์ 2475 แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม จึงไม่ประสบความสําเร็จในการปลุกกระแสดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรมยังคงดำเนินต่อไปในสังคมอีกยาวนาน ... 

นี่คือการแสดงจุดยืนของทายาท ปรีดี พนมยงค์ 

จดหมายฉบับนี้เริ่มต้นด้วยการบอกว่า "การโต้ตอบโดยตรง อาจไม่เป็นผลดีต่อสถาบันปรีดีฯ" ซึ่งมันไม่มีปัญหาอะไร ดูจะเป็นการตอบโต้ด้วยสันติวิธีเสียอีก (แต่ที่จริงแล้วการนิ่งไม่ใช่เรื่องเหมาะ เพราะควรตอบโต้ด้วยหลักวิชาการมากกว่า)

ปัญหามันอยู่ที่การลงท้ายประโยคนั้นว่า "หวังสร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือนประวัติศาสตร์ ยั่วยุเพื่อให้เกิดกระแสด้านลบต่อฝ่ายธรรมะ"
  
พอถึงตอนจบของจดหมายยังย้ำอีกครั้งว่า "การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรมยังคงดำเนินต่อไปในสังคมอีกยาวนาน"

ปัญหามันอยู่ตรงการใช้คำว่า 'ฝ่ายธรรมะ' กับ 'ฝ่ายอธรรม' นี่แหละ

มันเป็นคำที่ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนภาพยนต์การ์ตูน '2475 Dawn of Revolution' ไม่พอใจ บางคนชี้ว่าเป็นการโจมตีมากว่าจะตอบโต้ด้วยเหตุและผล

ก็ถูกของเขา เพราะการใช้คำแบบนี้ เรียกว่า Name calling ซึ่งเป็นวิธีการโต้เถียงที่ไม่มีคุณภาพ เป็นการด้อยค่าอีกฝ่าย ในทางวิชาตรรกะหรือวิชาวาทวิทยาเรียกว่า ad hominem ซึ่งเป็นภาษาลาตินที่แปลว่า "ที่ตัวบุคคล" ก็คือการโจมตีตัวบุคคล ไม่ใช่วิพากษ์กันที่หลักการ 

การทำ ad hominem นั้นทำให้การโต้เถียงอย่างปัญญาชนเสียกระบวน ปกติแล้วปัญญาชนเขาจะไม่ทำกัน 

แต่ผมก็เข้าใจฝ่ายทายาทนายปรีดี เพราะบิดาของท่านถูกโจมตีในภาพยนต์การ์ตูนเรื่องนั้น แต่จะดีกว่าถ้าพวกท่านตอบโต้ด้วยการข้อมูลที่ชอบธรรมกว่า

การตอบโต้ก็เรื่องหนึ่ง สิ่งที่น่าคิดตามหลังจากนี้ คือคำกล่าวของทายาทนายปรีดีค่อนข้างชัดว่าต้องการยกคณะราษฎรเป็นฝ่ายธรรมะ

ส่วนผู้สร้างการ์ตูน '2475 Dawn of Revolution' ทำให้ภาพลักษณ์ของคณะราษฎรเป็นฝ่ายอธรรม

ทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า ตกลงแล้วฝ่ายไหนกันแน่ที่เป็นฝ่ายธรรมะ (คนดีที่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด) และฝ่ายไหนเป็นอธรรม (คนชั่วที่หาดีไม่ได้เลย)

แต่การไปแยกแยะผู้คนว่า 'ฝ่ายธรรมะ' กับ 'ฝ่ายอธรรม' เป็นเรื่องอันตรายมาก 

การเมืองยุคใหม่เคยมีเรื่องแบบนี้หลายครั้ง ทั้งๆ ที่มนุษย์ยุคใหม่ควรจะเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล แต่กลับทำเรื่องไร้เหตุผลเพื่อหวังผลทางการเมือง เช่น ผู้นำบางประเทศเคยบอกว่า "ถ้าไม่เข้าข้างเรา ก็ถือเป็นศัตรูของเรา" 

แต่การเข้าข้างพวกเขาคือการไปรุกรานบ้านเมืองอื่นอย่างไม่ชอบธรรม โดยอ้างว่า "เราทำสงครามอันชอบธรรม" (Just war) ส่วนคนที่ไม่เข้าข้างถือเป็นศัตรูและถูกต่อว่าเป็น 'ฝ่ายอธรรม' (Rogues)

ในกรณีนี้คนที่ทำร้ายผู้คนและยึดครองประเทศอื่นกลายเป็น 'ฝ่ายธรรมะ' ไปซะอย่างนั้น

ความถูกต้องที่ถูกบิดเบี้ยวแบบนี้ ในนิยายกำลังภายในมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า 'วิญญูชนจอมปลอม'

ภาษาจีนในนิยายเขาใช้ว่า 'เว่ยจวินจื่อ' (偽君子)

เว่ย (偽) แปลว่า 'จอมปลอม' ส่วนคำว่า จวินจื่อ (君子) แปลว่า 'วิญญูชน' ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะในทางประวัติศาสตร์และปรัชญาจีน ดังนั้นต้องมาอธิบายเพิ่มอีกนิด

คร่าวๆ ก็คือ วิญญูชน หมายคนที่มีคุณธรรมตามหลักลัทธิขงจื๊อ เช่น ซื่อสัตย์ รักบ้านเมือง มีมนุษยธรรม เป็นต้น  

ขงจื๊อ (孔子) นักปราชญ์วางหลักจริยธรรมของจีนที่ใช้กันถึงทุกวันนี้อธิบายคำว่าวิญญูชนเอาไว้ว่า “ผู้ที่เรียกว่าวิญญูชน คือ ผู้ที่ต้องมีวาจาซื่อสัตย์ภักดี แต่ใจไม่ขุ่นเคืองเคียดแค้น กายมีคุณธรรมและมนุษยธรรม แต่ไม่ใช้กายประหัตประหาร ความคิดแจ่มกระจ่าง แต่ไม่พูดตามอารมณ์" ข้อความนี้จากตำราคงจื่อ เจี๋ยอวี่ 《孔子家語》

วิญญูชนคือคนแบบนี้ เช่นเดียวกับฝ่ายธรรมะก็ต้องเป็นแบบนี้ คนที่ตรงข้ามกับคุณสมบัติของวิญญูชนก็ย่อมต้องเป็นฝ่ายอธรรม

ผมจะขอแบ่งปันมาตรฐานแค่นี้ แต่ละฝ่ายทบทวนตัวเองเอาก็แล้วกัน

เหมือนอย่างที่ขงจื๊อกล่าวไว้ในตำราหลุนอวี่ 《論語》 ด้วยว่า "วิญญูชนพิจารณาทุกสิ่งที่ตนเอง คนต่ำทรามโทษแต่คนอื่น"

คำกล่าวนี้ มีคำที่น่าสนใจคือคำว่าคนต่ำทราม หรือ 'เสี่ยวเหริน' (小人) แปลตรงๆ คือ 'คนเล็กคนน้อย' หรือคนที่คิดเล็กคิดน้อยเพื่อตัวเอง ใจไม่ใหญ่เพื่อมนุษยชาติ ไม่มีจริยธรรมสากล เทียบได้กับคำว่า 'ฝ่ายอธรรม' ก็คงได้

ฝ่ายอธรรมจึงไม่ใช่แค่ทำชั่ว แต่ยังรวมถึงคนคิดเล็กคิดน้อย คิดอะไรไม่กว้าง ไม่อิงกับหลักมนุษยธรรม 

คนที่เป็นพวก 'เสี่ยวเหริน' ยังดีอยู่อย่าง คือไม่ปิดบังอำพรางพฤติกรรมของตน แต่ที่น่ากลัวกว่าคือพวก 'เว่ยจวินจื่อ' หรือวิญญูชนจอมปลอม พวกนี้บอกคนอื่นว่า "ข้าดี เอ็งเลว" แต่จริงๆ แล้วเขานั่นแหละเลวกว่าใคร เพราะเอาความดีอำพรางความชั่วของตัวเอง

คนแบบนี้มีเยอะแยะไป แต่ถูกนักเขียนนิยายกำลังภายในชื่อดัง คือ กิมย้ง (金庸) หยิบมาใช้อย่างแพร่หลายในนิยายเรื่อง 'ยิ้มเย้ยยุทธจักร' (笑傲江湖) หรือ 'เดชคัมภีร์เทวดา'

ตัวละครที่เข้าข่ายคนดีแต่หน้าลับหลังเลวทราม คือ งักปุ๊กคุ้ง (岳不群) เจ้าสำนักฮว่าซาน เจ้าของฉายา 'กระบี่วิญญูชน' (君子劍) เพราะทำตัวดีเหลือเกินต่อหน้าชาวยุทธ์ และเล่นงานฝ่ายอธรรม แต่ความจริงซ่อนความบ้าอำนาจเอาไว้

กิมย้ง เขียนเรื่องนี้ดีมีแก่นความจริง เพราะบอกว่าพวกฝ่ายธรรมะนั้นทำเรื่องเลวทรามได้หนักกว่าฝ่ายอธรรมเสียอีก ส่วนพวกที่ถูกตราหน้าเป็นฝ่ายอธรรมนั้นบางคนดีจนน่าใจหาย 

ดังนั้นการบอกว่าใครเป็นธรรมะหรืออธรรมจึงเป็นเรื่องสมมติ บางครั้งเป็นการโจมตีตัวบุคคลด้วยซ้ำ 

กรณีวิวาทะเรื่อง '2475 Dawn of Revolution' มีชาวเน็ตบางคนเปรียบเทียบกับงักปุ๊กคุ้งเหมือนกัน แต่ผมเห็นว่าเทียบแบบผิวเผินเกินไป เพราะต้องการจะเสียดสีทายาทนายปรีดี พนมยงค์ 

แต่แก่นของเรื่องนี้ก็คือ "คนดีก็มีความชั่ว คนชั่วก็มีดีเหมือนกัน"

กับกรณี 2475 ผมคิดว่าแต่ละฝ่ายมองอะไรเป็นสีขาวสีดำเกินไป ซึ่งหมายความว่าแต่ละฝ่ายเป็นได้ทั้งธรรมะและอธรรมในคนๆ เดียวกัน

หรือพูดให้จำเพาะเจาะจงขึ้นมาอีกหน่อยก็คือ แต่ละฝ่ายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย 

ฝ่ายรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีทั้งคนที่ดีและคนที่ไม่ดี มีทั้งคนที่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปอีกขั้น และมีทั้ง 'ปลิง' ที่โกงกินบ้านเมืองและใช้อำนาจโดยมิชอบ
 
ฝ่ายคณะราษฎร ก็มีทั้งคนที่ต้องการให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า และคนที่เป็น 'เหลือบไร' ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ และหลงในอำนาจ

สำหรับผมแล้วหากคิดจะเขียนนิยาย สร้างหนัง หรือเล่าเหตุการณ์กรณี 2475 ควรจะทำในมุมมองของความเป็นมนุษย์ มองว่าทุกฝ่ายต่างก็มีดีมีชั่ว ไม่ใครขาวหรือดำทั้งหมด 

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ 2475 แต่มักจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง? และก็ได้พบเห็นสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่า "นี่อาจเป็นคำตอบ" 

ผมจะเขียนเรื่องนี้ต่อไปเพื่อขยายความซับซ้อนของสถานการณ์ให้ชัดเจนขึ้น 

แต่ตอนนี้เราจะพูดกันแค่เรื่องธรรมะและอธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์มีปัญหา 

อย่างเช่น คำประกาศของคณะราษฎรที่ต่อว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 รุนแรงมาก ถือเป็นการทำให้ในหลวงเป็น 'ฝ่ายอธรรม' โดยไม่ได้พิจารณาว่าทรงพยายามมากแล้วที่จะแก้ปัญหาของบ้านเมือง

แต่นั่นก็เพราะการยึดอำนาจไม่ว่าจะครั้งไหนก็ตาม (รวมถึงในยุคเราด้วย) จะต้องทำให้ฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจเป็นคนชั่วร้ายจนหาดีไม่ได้ ไม่อย่างนั้นความชอบธรรม (A Just Cause) ในการยึดอำนาจจะมีปัญหาในทันที 

ดังนั้นคณะราษฎรจึงต้องประกาศตัวเป็น 'ฝ่ายธรรมะ' เอาไว้ก่อน แม้ว่าในภายหลังจะแย่งชิงอำนาจและมีการโกงกินในขบวนการจนเป็นฝ่ายอธรรมเสียเอง

นี่คือธรรมดาของคนในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีขาวหรือดำ 

แต่ถ้าเราทำให้คนในประวัติศาสตร์ดีเลิศไปหมดหรือชั่วร้ายไปทุกอย่าง มันเสี่ยงที่จะทำให้คนเหล่านั้นถูกตำหนิโดยคนรุ่นหลังว่าเป็นพวกวิญญูชนจอมปลอม ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เพียงแค่ถูก 'ตีความ' ด้วยความรักและความชังโดยคนบางกลุ่ม

โปรดทำให้คนในประวัติศาสตร์เป็นมุนษย์เถิดครับ อย่าทำให้พวกเขาเป็นเทพหรือมาร

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการสำนักข่าว The Better 
 

TAGS: #2475DawnofRevolution #ประวัติศาสตร์