เกิดอะไรขึ้นเมื่อธนาคารใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ สถาบันการเงินสำคัญของบรรดาเทคสตาร์ทอัพ ล้มในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง
ข่าวที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สั่งระงับให้บริการพร้อมอายัดทรัพย์สินของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) โดยให้ FDIC หรือหน่วยงานดูแลคุ้มครองเงินฝากของธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินต่อ นอกจากจะสร้างผลกระทบวงกว้างต่อตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกดิ่งกันระนาวแล้ว กรณีของธนาคาร SVB ยังสะเทือนต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพด้วย เนื่องจากหลายบริษัทมีเงินฝากไว้ที่ธนาคารแห่งนี้ ซึ่งบริษัทจะไม่สามารถถอนเงินเพื่อมาจ่ายค่าจ้างพนักกงานได้ รวมถึงกระทบต่อการระดมทุนของบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่ง
การปิดตัว SVB กระทบโดยตรงต่อบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพที่ลงทุนเป็นเงินฝากในธนาคาร เนื่องจากธนาคาร SVB มีโมเดลบริหารสภาพคล่องในลักษณะที่สตาร์ทอัพรายใหญ่มาฝากเงินไว้กับธนาคาร จากนั้นธนาการก็ปล่อยเงินกู้สินเชื่อให้กับสตาร์ทอัพรายย่อยอีกต่อเพื่อทำธุรกิจ กระทั่งเมื่อถึงยุคดอกเบี้ยขาขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีถดถอย ทำให้เริ่มขาดสภาพคล่องจนต้องเริ่มระดมทุนเป็นเงินหลายพันล้านดอลลารื จนเกิดภาวะ bank run หรือลูกค้าตื่นตระหนกแห่ถอนเงินจนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ย้อนกลับไป Silicon Valley Bank หรือ SVB ก่อตั้งในปี 1983 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเป็นธนาคารสำหรับบรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพหลายแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากธนาคารได้รับการสนับสนุนจากบรรดานักลงทุน VC หรือ Venture Capital เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ถือเป็นธนาคารยุคแรกที่เน้นปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลายแห่งในสหรัฐ ข้อมูลบทเว็บไซต์ของ SVB ระบุว่า ธนาคารได้เคยมีบทบาทช่วยจัดหาเงินทุนเพื่อซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีรายสำคัญหลายแห่ง ตั้งแต่ Shopify จนถึง ZipRecruiter ทำให้ปัจจุบันธนาคาร SVB มีสำนักงานในสหรัฐ 29 แห่ง ตลอดจนมีการขยายสาขาไปยังต่างประเทศด้วย
ข้อมูลจาก สภาตรวจสอบสถาบันการเงินแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐ (FFICE) ระบุว่า ธนาคาร SVB อยู่ในอันดับที่ 18 ของสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมราว 212 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Bank Run ใน 48 ชั่วโมง
กรณีของธนาคาร SVB ล้มปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก เรื่องแรกคือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ที่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องหลายครั้ง โดยปกติแล้วบรรดาบริษัทด้านสตาร์ทอัพมักจะอ่อนไหวต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคาร เนื่องจากหลายบริษัทมีภาระการดำเนินงานที่สูงอยู่แล้ว มีต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายสูง ทำให้สตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อย ต้องอาศัยเงินกู้จากธนาคารมาหมุนสภาพคล่องธุรกิจก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการบริหารสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัจจัยที่สอง สืบเนื่องจากกระแสถดถอยของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีหลายใหญ่ตั้งแต่ เมตา กูเกิล ทวิตเตอร์ ที่แห่เลย์ออฟพนักงานไปในก่อนหน้านี้ ก็ยิ่งสร้างความสั่นสะเทือนต่อธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่ไม่น้อย
กระแสตื่นตัวแห่ถอนเงินเริ่มต้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เมื่อบริษัทแม่ของธนาคารประกาศต่อนักลงทุนว่า บริษัทจำเป็นต้องระดมทุนไม่น้อยกว่า 2.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเสริมสภาพคล่อง นั่นทำให้บรรดาบริษัทร่วมทุนหลายแห่งอาทิ Founders Fund, Coatue Management และ Union Square Ventures ที่มีเงินฝากในธนาคารเริ่มหวั่นวิตกถึงสภาพคล่องของธนาคาร แห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ผลก็คือกระแส bank run ที่ทั้งนักลงทุนและลูกค้าแห่ถอนเงินออกเรื่อยๆ จนหุ้นของบริษัทต้องยุติการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
Ryan Falvey นักลงทุนด้านฟินเทคของ Restive Ventures ให้ความเห็นกับ CNBC "นี่เป็นกรณีตัวอย่างของภาวะตื่นตระหนกของนักลงทุน VC ที่นำไปสู่ bank run" ข้อมูลของหน่วยงานกำกับด้านการเงินของรัฐแคลิฟอร์เนียชี้ว่า มีลูกค้าธนาคารถอนเงินฝากเป็นมูลค่ามากถึง 42 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในสิ้นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ปัญหาด้านสภาพคล่อง ที่ลูกค้าสตาร์ทอัพแห่ถอนเงินสดสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ธนาคารต้องเทขายพันธบัตรและสินทรัพย์ในราคาขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องประกาศระดมทุนมากถึง 2.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน
กรณีการล้มของ SVB อาจส่งผลต่อวงการคริปโทเคอร์เรนซี่ เพราะหลังจากมีข่าว SVB ล้มก็มีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคริปโทอย่าง Silvergate Bank ประกาศปิดกิจการด้วย เพราะ SVB เป็นหนึ่งในผู้ลงทุน Silvergate Bank ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคาร Silvergate Bank ยังเคยเป็นผู้ลงทุนในการสร้าง stablecoin และผลักดันการจ่ายเงินผ่านเครือข่าย Silvergate Exchange Network (SEN) ของตัวเอง แต่สุดท้ายแผนทั้งหมดก็ล้มเหลว หลังตลาดคริปโทปั่นป่วนทั่วโลก
ล่าสุดผลกระทบจากกรณี SVB ล้มทำให้ เหรียญ USDC สเตเบิลคอยน์อันดับ 2 ของโลก ราคาหลุดจาก 1$ เหลือ 0.95$ เป็นครั้งแรก