เวียดนามปัญหาเยอะกว่าที่คิด การเมืองศึกชิงอำนาจรุนแรง-คอร์รัปชั่นหนัก จะเป็นสังคมสูงวัยก่อนจะรวย

เวียดนามปัญหาเยอะกว่าที่คิด การเมืองศึกชิงอำนาจรุนแรง-คอร์รัปชั่นหนัก จะเป็นสังคมสูงวัยก่อนจะรวย

เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีเวียดนาม หวอ วัน เถือง ลาออกจากตำแหน่งอย่างกระทันหัน นับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศที่ลาออกไปต่อจาก เหงียน ซวน ฟุก ที่เพิ่งจะลาออกเมื่อปี 2566

การลาออกของผู้นำประเทศอย่างไม่มีวี่แววมาก่อน และเกิดขึ้นถึงสองครั้งในเวลาไม่ถึงสองปี ทำให้เกิดคำถามเรื่องเสถียรภาพของเวียดนาม และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานะของเวียดนามในการเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตที่เริ่มมีความสำคัญในตลาดโลก

การเมืองเวียดนามมีปัญหาหนัก
ในแง่การเมือง เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับจีน แม้ว่าจะมีข้อดีในเรื่องการสั่งการที่รวดเร็วเพราะเป็นระบบเผด็จการรูปแบบหนึ่ง แต่เวียดนามประสบปัญหาเดียวกับจีน คือปัญหาคอร์รัปชั่นที่รุนแรงมาก

การลาออกของ หวอ วัน เถือง เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากอดีตผู้ว่าการจังหวัดกว๋างหงาย ทางตอนกลางของเวียดนาม ถูกจับกุมในข้อหาทุจริต โดย หวอ วัน เถือง มีความเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ทางอ้อมในฐานะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำจังหวัด

การลาออกของผู้นำเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของการกวาดล้างการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ในประเทศ หลังจากที่เกิดเรื่องอื้อฉาวมากมาย จนสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมือง ตัวอย่างเช่น เจื่อง มี๋ ลาน นักธุรกิจหญิงชาวเวียดนามผู้ก่อตั้ง Van Thinh Phat Group ซึ่งเป็นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถูกจับในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ในข้อหาขอสินเชื่อปลอมเพื่อยักยอกเงินกว่า 12.5 พันล้านดอลลาร์จากธนาคาร Sai Gon Joint Stock Commercial Bank ซึ่งเธอควบคุมผ่านพ่อค้าคนกลางมากกว่า 22 ราย 

เรื่องนี้ทำให้ธนาคารถึงกับล้ม  จนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 การพิจารณาคดี เจื่อง มี๋ ลาน ในข้อหายักยอก การติดสินบน และการละเมิดกฎระเบียบด้านการธนาคารได้เริ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบและกวาดล้างนักธุรกิจใหญ่ของเวียดนาม ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น

กรณีที่การกวาล้างฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจอย่างหนักในเวียดนาม อาจดูเหมือนเป็นการล้างบางให้เกิดความโปร่งใส แต่มันมีลักษณะคล้ายกับกรณีการกว้าดล้างฝ่ายการเมืองและธุรกิจในจีนที่ยังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการปราบปรามการคอร์รัปชั่น แต่ก็ถูกมองว่าเป็นการใช้เหตุผลดังกล่าว เพื่ออำพรางการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองรวมถึงท่อน้ำเลี้ยงของฝ่ายกรเมือง

ที่เวียดนามมีการตั้งข้อสังเกตคล้ายๆ กันว่าอาจเป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ข้อสังเกตเรื่องหนึ่งก็คือ เหงียน ฟู้ จ่อง อดีตประธานาธิบดีเวียดนาม ปัจจุบันเป็นเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้หายตัวไปจากเการพบเห็นในที่สาธารณะมาสองสามสัปดาห์แล้ว โดยไม่ได้ออกมาพบกับประธานาธิบดีที่มาเยือนของอินโดนีเซีย ส่งผลให้นักวิจารณ์บางคนคาดเดาว่าสุขภาพของเขาแย่ลงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหงียน ฟู้ จ่อง วัย 79 ปียังมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ หวอ วัน เถือง อดีตประธานาธิบดีที่เพิ่งลาออกไป เพราะ หวอ วัน เถือง เป็นคนใกล้ชิดหรือเป็น "ลูกหม้อ" ของ เหงียน ฟู้ จ่อง มาก่อน ดังนั้นเรื่องนี้อาจกระทบต่อแกนนำบริหารประเทศอย่างมาก ซึ่งตามโครงสร้างการปกครองประเทศแล้ว ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งประมุขที่ไม่มีอำนาจมาก ผู้ที่กุมอำนาจที่แท้จริงคือเลขาธิการพรรคฯ นั่นคือ เหงียน ฟู้ จ่อง

เวียดนามปัญหาเยอะกว่าที่คาด
คนภายนอกมักมองเห็นว่าเวียดนามมีศักยภาที่จะเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของเอเชีย เพราะอัตราการเติบโตสูง แต่ลืมไปว่าอัตราการเติบโตเป็นเรื่องมายา เพราะมันมาแล้วก็ไป แต่เรื่องจริงคือโครงสร้างการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งเวียดนามมีปัยหาหนักมากในจุดนี้ 

ปัญหาของเวียดนามคือ ด้วยอัตราการเกิดที่ลดลงรายได้ที่น้อย ดังนั้นเวียดนามจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอีกไม่นาน แต่ปัญหาก็คือเวียดนามมีรายได้น้อย ทำให้ต้องทำให้ประชาชนร่ำรวยก่อนที่จะแก่ตัวลง ซึ่งนี่คือความท้าทายกว่าการดึงทุนเข้ามาพัฒนาประเทศเสียอีก 

เวียดนามเริ่มกลายเป็นสังคมสูงวัย ในปี 2554 เมื่อร้อยละ 7 ของประชากรเวียดนามมีอายุเกิน 65 ปี และจะกลายเป็นสังคมสูงวัย "เต็มตัว" เมื่อประชากรสูงวัยมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรในปี พ.ศ. 2577

เวียดนามจะเป็นสังคมสูงวัยแห่งที่สี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ ไทย และบรูไน โดยอัตราส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งไม่ทำงานและเป็นผู้รับเงินจากรัฐ จะเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 10% เป็น 20% นับตั้งแต่ตอนนี้จนถึงปี 2593   

ถึงแม้ว่าเวียดนามจะมีปัญหาเดียวกับสิงคโปร์ บรูไน และไทย แต่ทั้งสิงคโปร์และบรูไนเป็นประเทศที่รายได้สูงมาก จึงไม่ต้องกังวลมากนักกับการเลี้ยงประชากรสูงวัยและยังมีอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้แรงงานคนหนุ่มสาวมากนัก ส่วนไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และคาดว่าในอนาคตอีกม่ไนานจะกลายเป็นประเทศรายได้สูง บวกกับการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่รัดกุมกว่าเวียดนาม ทำให้ไทยมีปัญหาก็จริง แต่มีความท้าทายน่อยกว่าเวียดนาม 

จากการประเมินของสำนักข่าว RFA เวียดนามเริ่มต้นจากฐานความมั่งคั่งที่ต่ำกว่าไทยมาก สมมติว่าหาก GDP ต่อหัวของเวียดนามเพิ่มขึ้นสองเท่าระหว่างปัจจุบันถึงปี 2577 ก็จะยังคงแค่เท่ากับ GDP ต่อหัวของประเทศไทยในปัจจุบัน หากเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า ก็จะทัดเทียมกับมาเลเซียในปัจจุบัน ซึ่งจะยังไม่เป็นสังคมผู้สูงวัยจนกว่าจะถึงปี 2585 

ดังนั้น เวียดนามมีเวลา 10 ปีที่จะเติบโตให้เท่ากับไทยเพื่อที่จะเลี่ยงการเป็นสังคมผู้สูงวัยแต่รายได้ต่ำมาก ซึ่งการทำแบบนี้ได้จะต้องการผู้นำที่แข็งแกร่ง การเมืองที่มั่นคง และต้องอาศัยเศรษบกิจโลกที่คึกคัก ซึ่งดูเหมือนว่าเวียดนามยังไม่มีเลยสักอย่าง และต้องย้ำว่า นี่เป็นการตั้งสมมติฐานทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ให้เวียดนามมีการเมืองที่แข็งแกร่ง แต่ในเวลา 10 ปีจะสามารถเติบโตได้เท่ากับไทยในตอนนี้หรือไม่ 

เมื่อถึงตอนนั้นไทยก็ย่อมเติบโตมากกว่าอยู่แล้ว เฉพาะแค่ในเวลานี้ จากสถิติในปี 2564 ผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ของเวียดนามมีมูลค่าเพียง 10.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง เทียบกับ 13.53 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในจีน และเทียบกับ 15.06 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในประเทศไทย 

เวียดนามเสี่ยงแก่ล้นก่อนที่จะรวย
ดังนั้น จากปัญหาการเมืองที่ไม่แน่และโครงสร้างสังคมของประเทศ จึงทำเวียดนามเสี่ยงต่อการเป็นประเทศ "แก่ก่อนที่จะร่ำรวย" เว้นแต่ว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้โดยไม่มีสะดุดในเวลา 10 ปีครึ่งต่อจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก จากข้อมูลของธนาคารโลก เวียดนามมีเวลาจนถึงปี 2585 เท่านั้นก่อนที่ “หน้าต่างโอกาสทางประชากรจะปิดลง” หรือหมายความว่าถ้าเวียดนามไม่เร่งให้ทันไทยหรือมาเลเซียนับตั้งแต่ตอนนี้จนถึง 18 ปีข้างหน้าก็จะสายเกินไปแล้ว 

สำนักข่าว RFA ชี้ว่า รัฐบาลเวียดนามจะต้องหาเงินจำนวนมากให้กับผู้เกษียณอายุ ทำให้ต้องสูญเสียเงินทุนที่สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาได้ และตอนนี้การใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ลดลงจากประมาณร้อยละ 18 ของรายจ่ายของรัฐบาลในช่วงต้นปี 2010 เหลือประมาณร้อยละ 15 

อีกปัญหา คือการคอร์รัปชั่นที่รุนแรงทำให้มีการใช้งบประมาณในทางที่ผิด เวียดนามที่รายได้ไม่สูงอยู่แล้ว ยังถูกข้าราชการและนักการเมืองใช้บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานถูกใช้ไปในทางที่ผิดและมีการโกงกินเกิดขึ้น ซึ่ง RFA ยกตัวอย่าง โครงการรถไฟใต้ดินโฮจิมินห์ซิตี้ที่มีการจัดการไม่ดี

ในเวลานี้ การบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ลดลงตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เวียดนามต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากขึ้น เวียดนามพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศสูงมาก และยังพึ่งพาการส่งออกสูงมากเช่นกัน 

ทั้งหมดนี้อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่มันจะสะดุดลงทันทีหากเกิดความขัดแย้งในระดับโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้จากสงครามการค้า และการลดทอนบทบาทของโลกาภิวัฒน์ (deglobalization) 

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

TAGS: #เวียดนาม #สังคมผู้สูงวัย