หลังจากมีการค้นพบโบราณวัตถุที่พื้นทรายริมแม้น้ำโขงบริเวณบ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย คนลาวและไทยก็ตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์กันขึ้นมา แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลที่ทั้งลาวและไทยแชร์กัน มัน 'ผิดเพี้ยน' ซะเยอะ
เช่น การบอกว่า "เชียงแสนเคยเป็นของลาว" หรือ "เชียงแสนเป็นของล้านช้าง"
ความ 'ผิดเพี้ยน' นี้อันตรายมาก เพราะทำให้คนเข้าใจผิดไปไกลเรื่องเมืองเชียงแสนและเมืองสุวรรณโคมคำ และมันจะกระทบต่อการเมืองของทั้งสองประเทศในยุคปัจจุบัน
Photo - ตัวอย่างความเห็นของคนลาวที่เข้าใจผิดๆ เรื่องเชียงแสน ซึ่งอ้างว่า "หลายร้อยปีก่อนเชียงแสนอยู่ในพื้นที่ของอาณาจักรล้านช้างครับ ขึ้นต้นด้วยเชียงจะอยู่ในเขตปกครองของล้านช้างหมดครับ" ข้อความนี้มีผิดพลาดทั้งความจริงทางประวัติศาสตร์เรื่องเชียงแสนและล้านช้าง รวมถึงที่มาของคำว่าเชียงก็ผิดพลาด
เรื่องที่ตั้งและใครเป็นเจ้าของเมืองสุวรรณโคมคำจะต้องพูดถึงต่างหาก เพราะวุ่นวายมากกว่าเชียงแสน อันเป็นผลมาจากขาดบันทึกที่เป็นประวัติศาสตร์มากพอ
แต่เรื่องเมืองเชียงแสนมีประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้มากมาย ไม่สามารถบิดเบือนได้ง่ายๆ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เมืองเชียงแสนโบราณแม้จะมีกำแพงเมืองชัดเจน ซึ่งเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน แต่พื้นที่ของเมืองไม่ได้อยู่แค่ในกำแพง หรือ 'เวียง' (เวียงหมายถึงเมืองที่มีกำแพง) แต่พื้นที่ยังครอบคลุมไปถึงที่นาที่ไร่โดยรอบด้วย
กำแพงเมืองเชียงแสนฝั่งแม่น้ำโขงนั้นเคยมี แต่น่าจะพังลงไปเพราะน้ำโขงเซาะตลิ่งไปหมด แต่จากบันทึกโบราณมีประตูชัดเจน โดยใช้น้ำโขงเป็นคูเมือง (จากข้อมูลของพงศาวดารโยนก) เลยไปอีกฝั่งซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศลาว ก็ยังเป็นพื้นที่ของเชียงแสน โดยที่พรมแดนของเชียงแสนไปจรดเมืองลาว คือหลวงพระบางที่ดอยเชียงคี
ดังนั้น เมืองต้นผึ้งปัจจุบันก็คือพื้นที่เดิมของเชียงแสนนั่นเอง แต่อยู่นอกกำแพงเมือง โดยมีน้ำโขงกั้นไว้ในฐานะคูเมืองตามธรรมชาติ
Photo - แผนที่ทางอากาศเหนือเมืองเชียงแสน แสดงให้เห็นลักษณะคูเมืองและกำแพงเมือง รวมถึงแม่น้ำโขงและฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือเมืองต้นผึ้งในปัจจุบัน
แต่ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ก่อนว่า เมืองเหนือทั้งหลายคือเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน รวมถึงเชียงแสน เคยเป็นเมืองขึ้นของพม่ามานานกว่า 200 ปี รวมถึงตอนเหนือของลาว คือ หลวงพระบางก็ตกอยู่ในอิทธิพลพม่า
จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวล้านนาก็เริ่มแข็งข้อกับพม่า และขอกำลังจาก 'เมืองใต้' (คนล้านนาสมัยก่อนจะเรียกคนภาคกลางว่าเมืองใต้) เพื่อขับไล่พม่าออกไป เรียกว่าการ 'ฟื้นม่าน' (การขับไล่พม่าแล้วฟื้นฟูการปกครองของตนเอง)
สงครามฟื้นเมืองทำกันหลายยก จนกระทั่งเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่านเป็นเอกราชจากพม่า แล้วไปขอขึ้นตรงกับเมืองใต้หรือกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ แทน
เหลือเมืองเดียวที่เข้าตีหลายครั้งก็ยังไม่แตก คือเชียงแสน ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของพม่าเนื่องจากอยู่ริมแม่น้ำโขง ส่วนผู้ปกครองเมืองก็มีทั้งคนพม่าและคนไทย (สมัยนั้นคนล้านนาก็เรียกตัวเองว่าคนไทย เพราะพวกเขาคือคนไทยเหมือนคนใต้ ดังปรากฏในคร่าวเชียงแสนแตก) อีกทั้งเมืองเชียงแสนมีกำแพงแข็งแกร่ง มีที่นาปลูกข้าวมากมายจึงรับศึกได้นาน
แต่ในที่สุดเมืองเชียงแสนก็ถูกตีแตก โดยกองกำลังผสมจากเมืองเหนือกลุ่มต่างๆ และกองกำลังของเวียงจันทร์ที่นำโดยเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งรับบัญชาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชให้ร่วมตีเมืองเชียงแสน
ในขณะที่กองทัพเมืองเหนือเข้าตีทางบก เจ้าอนุวงศ์นั้นเข้าตีเชียงแสนจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง โดยทำสะพานข้ามแม่น้ำโขงแล้วถึงฝั่งก็ทำการขุดอุโมงค์เพื่อเผารากฐานกำแพง แบบเดียวกับที่พม่าทำกับกรุงศรีอยุธยา แต่ปรากฏว่าทำไม่สำเร็จ
แต่เป็นกองทัพเมืองเหนือหรือล้านนาที่เข้าตีทางบกสำเร็จ หลังจากนั้นทำการกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินแบ่งกันตามกองทัพ จัดการเผาเมือง ปล่อยให้ร้าง เพื่อไม่ให้พม่าได้กลับมาใช้เป็นเสี้ยนหามอีก
นับจากนั้นเชียงแสนก็เป็นของแผ่นดินของไทย ในเวลาต่อมาเมื่อประเทศไทย (หรือประเทศสยาม) ถูกคุกคามจากชาติตะวันตก ก็มีการเร่งรัดทำแผนที่เพื่อแสดงขอบเขตของพระราชอาณาจักร ในแผนที่ต่างๆ ก็ระบุชัดว่า เชียงแสนครอบคลุมอีกฝั่งของแม่น้ำโขง รวมถึงแผ่นดินลาวทั้งหมดและกัมพูชาก็เป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยาม
Photo - ส่วนหนึ่งของแผนที่ประเทศสยาม บริเวณเมืองเชียงแสน ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ในสี่เหลี่ยมสีแดง) หรือเมืองต้นผึ้ง จากหนังสือแผนที่ The world-wide atlas of modern geography ตีพิมพ์เมื่อปี 1892
ดังนั้น การบอกว่า "เชียงแสนเคยเป็นของลาว" จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะประเทศลาวเพิ่งจะถือกำเนิดหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส
แต่บางคนยังเถียงเถียงว่า "เชียงแสนเคยเป็นของล้านช้าง" เพราะอ้างว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้างเคยมาปกครองล้านนา และเชียงแสนเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมาก่อน ก่อนที่พระองค์ไปครองเชียงใหม่
ความจริงก็คือ ทรงประทับอยู่แค่ 21 วัน และการอ้างแบบนี้ไม่เข้าใจถึงสถานที่กำกวมของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเป็นลูกครึ่งล้านช้างล้านนา (พระราชบิดาเป็นลาว พระราชมารดาเป็นคนเชียงใหม่) และมีสถานะเป็นอุปราชของล้านช้าง ทรงมาครองล้านนาเพราะล้านนาหาพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ จึงไปเชิญพระองค์มาครองเมือง แต่พอทรงมาเป็นเจ้าแผ่นดินที่ล้านนา ก็เกิดเรื่องที่ล้านช้างขึ้นเพราะพระราชบิดาสวรรคต จึงทรงกลับไปที่บ้านเกิดเพื่อควบคุมสถานการณ์โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปของดีๆ ต่างๆ ไปจากเชียงใหม่ด้วย เพราะไม่คิดจะกลับมาอีกแล้ว
พอทรงเป็นเจ้าครองล้านช้างแล้วคล้ายกับว่ายังทรงถือพระองค์ว่ายังครองล้านนาด้วย แต่ทางล้านนาเชียงใหม่รอพระองค์กลับมานานเกินไป จึงตั้งพระเมกุฏิขึ้นมาครองราชย์แทน พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงสั่งให้กองทัพมามาทวงบัลลังก์ 'บางคน' อ้างว่า กองทัพล้านช้างยึดเชียงแสนได้ แต่จาก 'พงศาวดารโยนก' กล่าวว่าล้านช้างได้แค่ล้อมชียงแสน แล้วถูกกองทัพล้านนาตีแตกพ่ายไป
Photo - พระพุทธรูปโบราณที่พบอยู่ตามวัดร้างในเมืองเชียงแสน หลังจากเมืองถูกทิ้งร้างอันเป็นผลจากสงครามเข้าตีเมืองเชียงแสนในสมัยต้นยุครัตนโกสินทร์
ในเวลานั้น ล้านนาถูกพระเจ้าบุเรงนองรุกรานและยอมเป็นเมืองขึ้นแล้ว แต่ยังให้พระเมกุฏิครองแผ่นดินต่อไป จนกระทั่งทรงคิดปลดแอกจากพม่า จึงถูกพม่าจับตัวไปควบคุมไว้แล้วสวรรคตที่พม่า หลังจากนั้นทัพพม่ายังรุกรานอยุธยาจนยึดมาได้ แล้วยังรุกต่อไปยังล้านช้าง ยึดหลวงพระบาง รุกถึงเวียงจันทน์ จนกระทั่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชต้องถอยร่นไปทางตอนใต้ของลาว ทรงต่อสู้ต่อไปจนสวรรคตที่นั่น
ดังนั้น "เชียงแสนเคยเป็นของล้านช้าง" ได้ไหม? ตอบว่า "ไม่น่าจะได้" เพราะมีปัญหาเรื่องพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงควบแผ่นดินปกครองแบบก้ำกึ่ง ทำให้คนล้านนาไม่รู้ว่าพระองค์ยังปกครองล้านนาหรือไม่ หรือจะไปอยู่ล้านช้างกันแน่
อันที่จริงต้องทรงปกครองเฉพาะล้านนาเท่านั้น เพราะตอนเชิญมาล้านนาเชียงใหม่ ทรงอยู่ในฐานะอุปโยวราชแห่งล้านช้าง ยังไม่เป็นกษัตริย์ล้านช้าง เมื่อมาอยู่ล้านนาได้เป็นเจ้าล้านนาเท่านั้น จนกระทั่งเกิดความวุ่นวายแย่งชิงอำนาจขึ้นที่ล้านช้าง ก็ทรงกลับไปยึดล้านช้าง แต่ก็ไม่ยอมปล่อยล้านนาไป
แต่เมื่อทรง 'ถูกปลด' จากบัลลังก์ล้านนาโดยคนชั้นสูงของที่นั่นเพราะไปอยู่ล้านช้างแบบถาวร ก็ทรงยกทัพจะมาทวงแผ่นดินโดยเข้ามาประชิดที่เชียงแสน แต่ถูกกองทัพเชียงใหม่ของพระเมกุฏิตีแตกพ่ายหนีไป
ความกำกวมนี้ยังส่งผลถึงเรื่องพระแก้วมรกตด้วย ซึ่งเดิมประดิษฐานในเชียงใหม่ แต่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำไปพร้อมกับพระองค์ที่ล้านช้าง ชาวเชียงใหม่เคยทวงไปก็ไม่ทรงคืนให้ แต่ครั้นเชียงใหม่จะตั้งกษัตริย์ใหม่กลับทรงส่งกองทัพมาทวงแผ่นดิน
นี่คือเรื่องราวของเชียงแสนกับลาวในยุคโบราณ
ในเวลาต่อมาในศตวรรษที่ 18 ล้านช้างไม่มีแล้ว เพราะแตกเป็นอาณาจักรหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก ทั้งสามอาณาจักรลาวเหล่านี้จะขัดแย้งกันเอง จนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีการทำแผนที่กำหนดเขตแดนของพระราชอาณาจักรสยามอย่างเป็นระบบตามวิทยาการตะวันตก ตามแผนที่เหล่านี้ดินแดนของประเทศสยามครอบคลุมประเทศลาวในปัจจุบันทั้งหมด ครอบไปถึงกัมพูชาตอนเหนือถึงตอนกลาง (ในขณะที่กัมพูชาเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามในรัชกาลก่อน แต่มาเสียให้ฝรั่งเศสไป) ส่วนตอนใต้มีรัฐมาลายูต่างๆ คือ เกดะห์ ตรังกานู กลันตัน
Photo - ส่วนหนึ่งของแผนที่ประเทศสยาม แสดงพื้นที่การครอบครองดินแดนตั้งแต่ล้านนา เมืองลาวทั้งปวง และกัมพูชาตอนเหนือ (เห็นแค่บางส่วน) จากหนังสือแผนที่ The world-wide atlas of modern geography ตีพิมพ์เมื่อปี 1892
พื้นที่ตรงบริเวณเชียงแสนคาบเกี่ยวไปถึงฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือประเทศลาวในปัจจุบัน เลยเมืองเชียงแสนขึ้นไป คือเมืองเชียงแขง หรือเมืองสิง ซึ่งเป็นดินแดนประเทศราชแห่งหนึ่งของสยาม แต่ไม่ถูกรวมไว้ในแผนที่ (เมืองสิงปัจจุบันอยู่ในแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว ส่วนเชียงแขง คือเมืองสิงเดิม อยู่ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา)
ต่อมา ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสทั้งหมด รวมถึงตอนเหนือของกัมพูชา ดินแดนเหล่านี้กลายเป็น 'อินโดจีนของฝรั่งเศส' ซึ่งต่อมาเมื่อได้เอกราชแล้วจะถูกแบ่งเป็นประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ส่วนเชียงแสนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามหรือไทย แต่ฝรั่งเศสยังพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือเชียงแสนรวมถึงเชียงของ เพราะเป็นเมืองท่าสำคัญของแม่น้ำโขง และเพราะฝรั่งเศสต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปถึงตอนใต้ของจีน ปัจจุบัน เชียงแสนก็ยังเป็นเมืองท่าสำคัญของแม่น้ำโขง
นี่คือความเกี่ยวข้องระหว่างเชียงแสนกับลาว
แต่เพราะเชียงแสนไม่ได้ครอบคลุมอีกฝั่งของแม่น้ำโขงอีกต่อไป เรื่องราวต่างๆ ของฝั่งบ้านต้นผึ้งจึงไม่ใช่เรื่องของเชียงแสน แต่เป็นเรื่องของต้นผึ้งและประเทศลาว กาารค้นพบโบราณวัตถุที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แม้จะมีศิลปะเชียงแสนจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่ของเชียงแสนในยุคปัจจุบัน มันเป็นสมบัติของประเทศลาว
แต่คนเมืองลาวก็ควรเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า เชียงแสนเคยเป็นอย่างไร และสองฝั่งแม่น้ำโขงเคยเป็นของใคร เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มีบันทึกเอาไว้
Photo - อีกหนึ่งความเห็นที่ผิดเพี้ยนเรื่องเชียงแสนของคนบาวบางคน โดยบอกว่า "เชียงแสนเชียงรายแต่ก่อนเป็นของลาว"
บางคนบอกว่า การพูดเรื่องดินแดนไทยในอดีต "มันเป็นเรื่องชาตินิยม คลั่งชาติ ยกไทยเป็นใหญ่" แต่อย่าลืมว่านี่คือ "ประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจบิดเบือนได้" และการใช้คำว่า 'คลั่งชาติ' เพื่อลดทอนความสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศตัวเอง เพียงแค่ต้องการจะเอาอกเอาใจคนอื่น ถือเป็นการ "ทำลายชาติ" หรือเปล่า?
และตั้งแต่เมื่อไรที่ 'ชาตินิยมไทย' กลายเป็นเรื่องไม่ดี แต่คนไทยบางคนกลับชื่นชมกับชาตินิยมลาว ชาตินิยมเขมร?
การด้อยค่าประวัติศาสตร์ไทยเพื่อที่จะเอาใจเพื่อนบ้าน กลายเป็นอันตรายทางการเมืองขึ้นมาแล้ว เพราะปรากฏว่ามีคนเข้าใจว่าเชียงแสนเป็นของเขา ถึงขนาดอ้างว่า ล้านนาเคยเป็นของล้านช้าง และยังมีเฟคนิวส์ทางประวัติศาสตร์อีกมาย
ปัญหาใหญ่ตอนนี้ คึอเพื่อนบ้านจากเหนือจรดใต้กำลังใช้ข้อมูลผิดๆ สร้างความเสียหายให้ไทย โดยข้อมูลพวกนี้มาจาก 'การตีความ' ประวัติศาสตร์ที่ด้อยค่าไทยด้วยกันเองที่เผยแพร่โดยคนไทยบางกลุ่ม
คนเหล่านี้ที่แหละ ที่ทำให้คนไทยที่เป็นห่วงประเทศอีกหลายคน ต้องมาเสียเวลาปรับความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเพื่อนบ้านที่เข้าใจผิดในเวลานี้
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการสำนักข่าว The Better