ถึงคิวเคลมสงกรานต์ ทำไมเขมรถึงเดินตามรอยไทยไปซะทุกอย่าง  

ถึงคิวเคลมสงกรานต์ ทำไมเขมรถึงเดินตามรอยไทยไปซะทุกอย่าง  

ชื่อ "เคลมโบเดีย" ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยจริงๆ 

หลังจากพยายามอ้างเป็นเจ้าของวัฒนธรรมไทยและทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยหลายๆ อย่าง ล่าสุด คนระดับนายกรัฐมนตรีของ "แคมโบเดีย" ลงมาเล่นเอง ด้วยการ "เคลม" เทศกาลสงกรานต์เป็นมรดกโลกของยูเนสโก

เขมรทำแบบนี้ตามรอยไทยชัดๆ เพราะเมื่อปีที่แล้วยูเนสโกเพิ่งยอมรับให้ "สงกรานต์" ของไทยเป็นมรดกโลก

ทั้งเขมร ลาว พม่า ต่างไม่พอใจที่ไทยทำแบบนั้น เพราะอ้างว่าตัวเองก็มีสงกรานต์ แต่มีแค่เขมรที่เดินหน้ายื่นยูเนสโกบ้างโดยใช้ชื่อว่า "สงกรานต์ของกัมพูชา" เพื่อเลี่ยง "สงกรานต์" ที่ไทยขึ้นทะเบียนไปแล้ว

ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายไม่ต้องอ้างสิทธิ์หรอกครับ แต่ละประเทศแม้จะขึ้นปีใหม่ช่วงเดียวกัน แต่เรียกชื่อต่างๆ และรายละเอียดการเฉลิมฉลองก็ต่างกัน 

ไทยเรียก "สงกรานต์" พม่าเรียก "ตะจาน" ลาวเรียก "ปีใหม่ลาว" เขมรเรียก "โจล ฉนำ ทเมย" 

ถ้าเกิดไทยไปจดทะเบียนคำว่า "ตะจาน" หรือ "โจล ฉนำ ทเมย" แล้วค่อยเดือดร้อนเถอะ

โดยเฉพาะประเทศที่ชอบเลียนแบบไทยไปซะทุกเรื่อง แต่ก่อนนั้นไม่ได้เรียก "สงกรานต์" แต่เรียกว่า "โจล ฉนำ ทเมย" แท้ๆ พอจะเสนอยูเนสโก กลับไปขุดข้อมูลจากไหนไม่รู้ว่า "เราเรียกปีใหม่ของเราว่าสงกรานต์"

ผมไปเขมรหลายครั้ง ไปตอน "โจล ฉนำ ทเมย" ก็เคย แต่ไรมาได้ยินแต่คนที่นั่นเรียก "โจล ฉนำ ทเมย" ซึ่งแปลว่า เข้า (โจล) ปี (ฉนำ) ใหม่ (ทเมย) เหมือนคนไทยเรียกสงกรานต์แบบบ้านๆ ว่า ขึ้นปีใหม่ไทย

จริงอยู่ที่องค์ประกอบของวันขึ้นปีใหม่ของไทย เขมร ลาว ล้วนแต่มีคำว่า "สงกรานต์" (เรียกต่างสำเนียงกันไป) แต่คำๆ นี้ถูกเรียกไปตามวันในช่วงขึ้นปีใหม่ เช่น วันมหาสงกรานต์ก็เป็นวันหนึ่งในเทศกาลนี้ แต่มีแต่ไทยเท่านั้นที่เรียกว่า "สงกรานต์"  ตลอดทั้งเทศกาลมาแต่ไหนแต่ไร เขมรเรียกเทศกาลทั้งหมดนี้ว่า "โจล ฉนำ ทเมย" 

มาช่วงปีสองปีนี่เอง ที่เขมรเริ่มจะเคลมวัฒนธรรมไทยแบบหน้าตาเฉย หลังจากซอฟต์เพาเวอร์ของไทยเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก เขมรก็เริ่มจะโหนบ้าง ขนาดเลิกแต่งสมพต (นุ่งโจง) แล้วหันมานุ่งซิ่นห่มสไบแบบชุดไทย จากนั้นเริ่มพยายามลืมคำว่า "โจล ฉนำ ทเมย" แล้วมาใช้คำว่า "สงกรานต์แบบไทย" 

บอกตรงๆ ว่าผมทั้งเคือง และเวทนาสงสาร

เคืองเพราะว่า ประชาชนกัมพูชาปล่อยให้นักการเมืองจูงจมูกแบบนี้ได้อย่างไร คนที่มีอำนาจในประเทศนั้น วันๆ ไม่ทำอะไร นอกจากจะปลุกให้ประชาชนของตัวเอง หาเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อที่จะให้คนในชาติลืมว่าพวกเขาปกครองประเทศได้เลวร้ายแค่ไหน 

นักการเมืองเขมรปั่นให้คนในชาติหาเรื่องไทย เพื่อที่จะได้ลืมว่ามีศัตรูตัวจริงกุมอำนาจในประเทศสามสิบสี่สิบปีแล้ว พูดสั้นๆ ก็คือ "สร้างศัตรูภายนอก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากศัตรูภายใน" 

ผมจะบอกความลับให้ครับว่า ตั้งแต่ ฮุน เซน เป็นผู้นำประเทศแล้ว (ซึ่งตอนนี้ก็ยังคุมหลังฉากอยู่) ที่เขาใช้นักประวัติศาสตร์มาเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง คนๆ นี้จะเขียนประวัติศาสตร์ที่บิดเบี้ยวเพื่อรับใช้ชาตินิยมเขมรที่สุดโต่ง โดยเทียบ ฮุน เซน เป็นอดีต "วีรบุรุษโบราณ" ที่ชื่อ "เสด็จกอน" กลับชาติมาเกิด 

ดูเถอะครับ อนุสาวรีย์ของเสด็จกอนที่มีอยู่ทั่วกัมพูชา แต่ละรูปมีหน้าตาเหมือน ฮุน เซน ทั้งนั้น มันช่างพิลึกสิ้นดี 

แต่การทำแบบนี้เป็นเหมือนการร่ายมนต์สะกดแบบหนึ่งให้ผู้คนเห็นว่า ฮุน เซน มีภาพลักษณ์คนกู้ชาติบ้านเมือง และทำให้คนเขมรเกลียดชังเพื่อนบ้านว่าเป็น "โจรสยาม"

ผลก็คือคนเขมรเชื่อเป็นตุเป็นตะว่า ชุดไทยเป็นของเขมร มวยไทยเป็นของเขมร อาหารไทยเป็นของเขมร และสงกรานต์ไทยเป็นของเขมร เพราะไทยเป็นพวกศัตรูที่ขโมยวัฒนธณรมเขมรไป 

นี่คือการยัดประวัติศาสตร์ที่บิดเบี้ยวเข้าไปในสมองของประชาชน  

ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงๆ ที่คนเขมรเลือกจะไม่รับรู้ก็คึอ กัมพูชาเคยเป็นประเทศราชของไทย เกาะกง พระตะบอง ศรีโสภณ เสียมราฐ รวมถึงนครวัดก็เคยเป็นดินแดนของไทย กษัตริย์กัมพูชานั้นมาอาศัยใบบุญของไทยอยู่ที่กรุงเทพฯ และต่อมาได้รับการสถาปนาโดยพระราชาธิราช (พระมหากษัตริย์ที่อยู่เหนือกษัตริย์ชาติอื่น) ของไทยที่กรุงเทพฯ ให้ไปปกครองกัมพูชา

กษัตริย์กัมพูชากลับไปแล้ว ก็เลียนแบบวัฒนธรรมของราชสำนักกรุงเทพฯ โดยสร้างวังแบบพระราชวังหลวงที่บางกอก ทั้งเจ้านายและข้ารับใช้ก็ใส่ชุดไทย ขอคนไทยไปสอนรำไทย ร้องเพลงไทย และพูดภาษาไทยเป็นราชาศัพท์ 

ใช่แล้วครับ ในราชสำนักเขมรนั้นใช้ภาษาไทยเป็นราชาศัพท์ กษัตริย์เขมรยุคเมืองอุดงค์และจตุมุข (พนมเปญ) ทุกพระองค์พูดภาษาไทยได้ แม้เจ้าสีหนุก็พูดไทยได้

กษัตริย์เขมรมีพระราชพิธีสิบสองเดือนเหมือนราชสำนักไทย หนึ่งในพระราชพิธีคือ "ตรุษสงกรานต์" เรียกว่า "ตรัส สังกราน" จัดขึ้นในเวลาเดือนสี่คือผาลคุน ตรงกับปลายเดือนมีนาคม ในเวลานั้น ราชสำนักไทยจะจัดพระราชพิธีต่างๆ (ผมขอรวบรัดเลยแล้วกัน) เรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีตรุษสงกรานต์" 

ตรุษสงกรานต์นี้ยังไม่ใช่วันขึ้นปีใหม่ (เปลี่ยนศักราชใหม่) เพราะจะไปเปลี่ยนอีกทีกลางเดือนเมษายน

ตามหนังสือของฝรั่งเศส Notice sur le Cambodge เมื่อปี 1875 ของ เอเชียน เอย์โมนิเยร์ (Étienne Aymonier) ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมเขมร กล่าวว่า พระราชพิธีในเดือนผาลคุนของเขมร เรียกว่า "กรุด สังกราน" คำว่า "กรุด" นี้ดูเหมือนจะเป็นสำเนียงไทยด้วยซ้ำ เพราะคนไทยโบราณมักเรียกเสียง ตฺร เพี้ยน เป็น กฺร เช่น ชื่อจังหวัดตราด สมัยก่อนเขียนว่า กราด เป็นต้น

"กรุด สังกราน" เรียกอีกอย่างว่า "โจล ฉนำ ตรัส ตู" ผมคิดว่าคำแรกเป็นคำในราชสำนัก (ซึ่งรับอิทธิพลจากไทย) ส่วนคำหลังเป็นคำเรียกของชาวบ้าน ดังนั้น แต่ไรมาประชาชนเขมรจึงเรียกวันขึ้นปีใหม่ว่า "โจล ฉนำ" (เข้าปี) 

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ มีหนังสือภาษาฝรั่งเศสชื่อ Cambodge Angkor โดย มารี โลเรอ เดอ แซงต์ เรมี (Marie-Laure de Saint-Rémy) เมื่อปี 2004 อธิบายประเพณีของกัมพูชาไว้ว่า "7-10 เมษายน ตรัส สังกราน พิธีกรรมที่ประกอบขึ้นในพระราชวัง เพื่อขจัดซึ่งอิทธิพลที่เป็นอันตรายไปจากประเทศ และดึงเอาสันติสุข ความมั่งคั่ง และความสุขมายังปีใหม่ที่จะมาถึง" (นี่คือลักษณะของกลุ่มพระราชพิธี ที่ต่อมาเรียกว่าพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ของไทย หนึ่งในนั้นคือพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร์) 

และต่อมาคือ "16-14 เมษายน โจล ฉนำ หรือ ปีใหม่กัมพูชา เฉลิมฉลองกันทั้งประเทศ ระหว่าง 3 หรือ 4 วัน งานนี้ประกอบด้วยการประกอบพิธีกรรมอัญเชิญเทพที่เป็นสัญลักษณ์ของปี (นางสงกรานต์)" 

ถามว่าทำไมต้องอาศัยฝรั่งเศส ผมอ่านเขมรไม่ออกหรือ ตอบว่าอ่านเขมรออก แต่ผมเชื่อคนกลางมากกว่า ไม่ค่อยเชื่อความเป็นนักวิชาการของคนเขมร เพราะเห็นพิษสงของหลักวิชาการแบบเขมรแล้วหลายครั้ง โดยพบกับตัวเองเข้าเต็มๆ บอกได้คำเดียวว่า "เชื่อยาก" และมักจะชอบโฆษณาชวนเชื่อกันผ่านวิกิพีเดียเสียด้วย ไม่รู้ติดใจอะไรกันนัก 

ตัวอย่างเช่น ในวิกิพีเดียภาษาเขมรว่าด้วยปีใหม่เขมร หรือ "โจล ฉนำ แขมร์" (ចូលឆ្នាំខ្មែរ) อ้างว่า ในหนังสือ The Golden Bough: A Study in Comparative Religion ของ เจมส์ จอร์จ เฟรเซอร์ (James George Frazer) เมื่อปี ค.ศ. 1890 กล่าวถึงการเล่นสาดน้ำของคนกัมพูชา โดยบอกว่าอยู่ในเล่มที่ 2 ของหนังสือชุดนี้ 

อย่าว่าแต่เล่ม 2 เลยครับ ผมค้นหมดทั้ง 12 เล่มของหนังสือชุดนี้ก็ไม่เห็นว่าจะเอ่ยถึงการเล่นสาดน้ำตรงไหน แถมยังอ้างผิดอีกว่าอยู่ในหน้าที่ 407 ทั้งๆ ที่หนังสือเล่มนั้นมีแค่ 358 หน้า!  

นี่คือตัวอย่างความไม่น่าเชื่อถือของคนเขมรทุกวันนี้ ซึ่งเอาแต่อ้างลอยๆ โดยไม่มีหิริโอตตัปปะทางวิชาการ 

กลับมาที่ชื่อเรียกเทศกาล จะเห็นว่าแต่ไรมาเขมรก็เรียก "โจล ฉนำ" แบบนี้ พอไทยจดทะเบียนเขมรก็เอาบ้าง ทำการโยนโจล ฉนำทิ้งไป แล้วเอาสงกรานต์ (อย่างไทย) มาเรียกแทน

ถึงขนาดนี้ บรรพบุรุษเขมรต้องร่ำไห้ในหลุมศพแล้วครับ 

ผมจะยกตัวอย่างใหม่ๆ จากเว็บไซต์กัมพูชาบางแห่ง เช่น thmeythmey ที่มีบทความเรื่อง "สงกรานต์ «​សង្ក្រាន្ត​» กับ สังกรานติ ​«​សង្ក្រាន្តិ​»​  คืออะไร" เขาอธิบายตามหลักการดีโดยอ้างอิงนิยามของของสมเด็จพระสังฆราช ชวน ณาต ซึ่งทรงเรียบเรียงพจนานุกรมเขมร 

แต่ตอนท้ายของบทความน่าสนตรงที่เขาบอกแบบนี้ (ผมจะแปลให้ฟัง) "ที่ลาวและไทยเรียกว่า สงกรานต์ ใช้แทนคำว่า โจล ฉนำ ทเมย (ขึ้นปีใหม่) นอกจากจะมีการใช้คำท้องถิ่นคือ "ปีใหม่" คนลาวยังใช้คำว่า "สงกราน" ในไทยนิยมเรียกกันว่า สงกรานต์"   

บทความนี้น่าสนใจตรงที่เขารู้ว่าวันขึ้นปีใหม่ไทยใช้คำว่าสงกรานต์กันอย่างแพร่หลาย ไม่ใช่คำว่าขึ้นหรือเข้าปีใหม่แบบคนเขมร อย่างที่เขาเขียนบอกเอง แบบนี้ไม่เท่ากับบอกว่า คนเขมรนิยมเรียก "โจล ฉนำ ทเมย" มากกว่า แล้วคำว่า "สงกรานต์" คือคำสามัญของคนไทยหรอกหรือ?
  
นี่ว่ากันด้วยหลักวิชาการ เรามีข้อมูลพวกนี้ทั้งไทย เขมร ฝรั่งเศส ซึ่งไม่ต้องอาศัยการตีความอะไรมากมาย แค่ข้อมูลดิบๆ แบบนี้ ทำไมคนเขมรถึงไม่ศึกษามาแลกเปลี่ยนกันบ้าง เอาแต่อ้างข้างๆ คูๆ จนทำให้คนไทยที่ปกติมีใจสงสารคนง่าย ตอนนี้กลายเป็นรังเกียจกัมพูชาไปแล้ว 

ไม่เชื่อผมก็โปรดไปส่องดูตามเพจต่างๆ ที่ไม่ใช่เพจเรื่องคนไทยกับเขมรเถอะครับ ตอนนี้ความรู้สึกที่ว่านั้นได้ระบาดไปในหมู่คนไทยทุกวงการและทุกชนชั้นแล้ว

อย่างที่บอกว่า ผมรู้สึกทั้งเคืองและสงสารคนเขมร ความสงสารนี้ยังไม่หมดสิ้นไป เพราะเป็นห่วงในฐานะมนุษย์ด้วยกันว่า "วัฒนธรรมที่แท้จริง" ของคนเขมรจะพังพินาศหมดสิ้น เพียงแค่นักการเมืองจะใช้ชาตินิยมบ้าๆ มาเคลมของไทย เพื่อสร้างศัตรูภายนอก แล้วตัวเองจะไม่ต้องถูกประชาชนเพ่งเล็ง

กัมพูชาเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพมาหางานทำในไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นงานแรงงานไร้ฝีมือ ประเทศนี้ขาดทรัพยากรอย่างรุนแรง และที่มีอยู่ก็ตกอยู่ในมือชนชั้นปกครองที่เอาไปใส่พานถวายให้ต่างชาติ

ประเทศตัวเองตกกระกำลำบากขนาดนี้ แทนที่จะผันกำลังมาพัฒนาตัวเองให้พ้นทุกข์เร็วๆ คนเขมรก็ยังอุตส่าห์จ่ายเงินค่าเน็ตเดือนละแพงๆ เพื่อมาต่อล้อต่อเถียงกับคนไทยผู้เป็นเจ้าของชุดไทย มวยไทย เทศกาลไทย ฯลฯ 

ทั้งที่ไทยเผยแพร่วัฒนธรรมเหล่านี้ให้บรรพบุรุษเขมร เมื่อตอนกัมพูชายังเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยามมาก่อน แล้วพอกัมพูชาพินาศเพราะสงครามกลางเมือง ไทยก็ส่งครูนาฏศิลป์อะไรต่างๆ ไปช่วยฟื้นฟู แต่พอจะยืนขึ้นมาเองได้ ก็หักหลังไทยด้วยการอ้างว่า "เราเป็นเจ้าของโว้ย" 

ถามว่ามันได้อะไรขึ้นมากับการเคลมที่ไร้คุณธรรมแบบนี้? โดยที่ประเทศล่มจมลงทุกวัน
 
สักวันหนึ่งครับ คนเขมรที่ตาสว่างจะรู้ว่าวัฒนธรรมที่แท้จริงของพวกเขาสูญหายไปแล้ว สิ่งที่มีอยู่คือ "ความเป็นไทย" ที่พวกเขาอ้างเป็นเจ้าของ แต่กลับถูกไทยกลืนไม่รู้ตัว

ส่วนคนที่ปั่นหัวคนเขมร ก็นั่งเสพสุขในอำนาจกันต่อไป

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - นักท่องเที่ยวร่วมเล่นน้ำที่ถนนข้าวสาร ในกรุงเทพฯ  ก่อนวันสงกรานต์วันที่ 12 เมษายน 2566 (ภาพโดย Jack TAYLOR / AFP)

TAGS: #เคลมโบเดีย #กัมพูชา #สงกรานต์