สำนักข่าว Mainichi Japan รายงานว่า จากการจำลองสถานการณ์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยโทโฮกุ เผยว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะมีนามสกุล "ซาโตะ" ภายในปี ค.ศ. 2531 หรือในอีก 500 ปี หากญี่ปุ่นยังคงกำหนดให้คู่รักเลือกนามสกุลของสามีหรือภรรยาเมื่อแต่งงานกัน
ทั้งนี้ ซาโตะ หรือที่จริงควรออกเสียง "ซะโต" (Satō/佐藤) เป็นนามสกุลที่แพร่หลายที่สุดในญี่ปุ่น จากการสำรวจของบริษัท Meiji Yasuda Life Insurance เป็นนามสกุลที่พบมากที่สุดในญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2018 คิดเป็น 1.53% ของประชากร
กฎหมายของญี่ปุ่นไม่ยอมรับคู่สมรสที่มีนามสกุลต่างกันว่าเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า 96% ของผู้หญิงญี่ปุ่นที่แต่งงานแล้วใช้นามสกุลของสามี แต่ในปี ค.ศ. 2015 ศาลฎีกาของญี่ปุ่นยอมรับกฎหมายการเปลี่ยนชื่อ โดยตัดสินว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าผู้หญิงสามารถใช้นามสกุลเดิมของตนอย่างไม่เป็นทางการได้ และระบุว่าสมาชิกรัฐสภาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะผ่านกฎหมายใหม่เกี่ยวกับคู่สมรสที่แยกจากกันหรือไม่
ศาสตราจารย์ฮิโรชิ โยชิดะ จากศูนย์วิจัยเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยโทโฮกุ กล่าวว่า ซาโตะเป็นนามสกุลที่ใช้กันมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีชาวญี่ปุ่นใช้นามสกุลนี้ในสัดส่วน 1.529% ของประชากรในปี ค.ศ. 2023
ศาสตราจารย์โยชิดะ ได้ทำการคำนวณโดยตั้งสถานการณ์สมมติสองสถานการณ์ สถานที่หนึ่งคือญี่ปุ่นรักษาระบบนามสกุลเดี่ยวระหว่างคู่สมรสและ อีกสถานการณ์หนึ่งคือญี่ปุ่นริเริ่มระบบนามสกุลแบบเลือกได้โดยไม่ต้องตามคู่สมรสและคู่สมรสใช้นามสกุลแยกกัน
จากการคำนวณของศาสตราจารย์โยชิดะแสดงให้เห็นว่า ด้วยระบบปัจจุบันหรือสถานการณ์แบบที่หนึ่ง ที่สามีหรือภรรยาเปลี่ยนไปใช้นามสกุลเดียวกัน สัดส่วนของประชากรญี่ปุ่นที่ใช้นามสกุลซาโตะจะเพิ่มขึ้น 1.0083 เท่าจากปี 2022 ถึงปี 2023
โดยตั้งสมติฐานตามอัตรานี้ ด้วยอัตราการเติบโตคงที่ ด้วยการที่คู่รักที่ชื่อนายและนางซาโตะยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งจะมีนามสกุลซาโตะภายในปี ค.ศ. 2446 และจะเพิ่มขึ้นจนทุกคนในประเทศญี่ปุ่นมีนามสกุลซาโตะภายในปี ค.ศ. 2531
ศาสตราจารย์โยชิดะ ให้ความเห็นว่า "ถ้าทุกคนกลายเป็นซาโตะ เราอาจต้องเรียกชื่อแต่ละคนด้วยชื่อแรกหรือด้ววยตัวเลข ผมไม่คิดว่าเราจะเรียกสถานการณ์แบบนั้นว่าเป็นโลกที่น่าอยู่ได้”
Photo by Philip FONG / AFP