ทำไมคนพวกนี้ถึงไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร? (แต่อีกไม่นานไม่แน่) 

ทำไมคนพวกนี้ถึงไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร? (แต่อีกไม่นานไม่แน่) 

ข้อมูลเบื้องหลัง
สำนักข่าว AP รายงานว่า ศาลฎีกาของอิสราเอลสั่งยุติการนโยบายของรัฐบาลอิสราเอลที่ที่อนุญาตให้ชาวยิวเคร่งศาสนาไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่การตัดสินครั้งนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคมอิสราเอล เพราะชาวยิวเคร่งศาสนาหรือชาวฮาเรดี มีสัดส่วนประชากรถึง 13.6% ของประชากรทั้งอิสราเอล แต่พวกเขาไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ในขณะที่ ผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า 70% ของประชากรต้องการให้การยกเว้นสิ้นสุดลง

ทำไมยิวฮาเรดีไม่ต้องถูกเกณฑ์?
1. เมื่อมีการสถาปนารัฐอิสราเอลในปี 1948 (พ.ศ. 2491) ได้มีการกำหนดระเบียบการเกณฑ์ทหารสากลสำหรับชายชาวยิวที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงทุกคน และต่อมาครอบคลุมถึงผู้หญิงที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงทุกคนด้วย เมื่ออายุครบ 18 ปี จะต้องเป็นทหารกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) โดยทหารเกณฑ์ชายต้องรับราชการเป็นเวลา 3 ปี และทหารเกณฑ์หญิงชาวยิวต้องรับราชการเป็นเวลา 2 ปี

2. อย่างไรก็ตาม พลเมืองชายที่เป็นกลุ่มชาวยิวเคร่งศาสนา ที่เรียกว่า "ฮาเรดี" (Haredi) ได้รับการยกเว้นไม่ให้รับราชการทหาร ซึ่งผู้นับถือศาสนายิวในสายฮาเรดี หรือ Haredi Judaism เป็นกลุ่มชาวยิวเคร่งศาสนาสุดโต่ง หรือ  ultra-Orthodox ผู้ชายจะเน้นกาศึกษาพระคัมภีร์เป็นหลัก เรียกว่า "นักเรียนเยชิวา" (Yeshiva)

3. เยชิวาคือโรงเรียนศาสนา ผู้ชายฮาเรดีจะเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่อายุระหว่าง 13 ถึง 18 ปี และจะเรียนที่เยชิวาจนกว่าจะแต่งงาน เนื่องจากหลักศาสนา ผู้ชายและหญิงจะแยกกันเรีบน ทำให้การสมรสนั้นจะโดยปกติแล้วจะจัดการผ่านการนัดหมายโดยพ่อสื่อแม่สื่อ หลังจากแต่งงานแล้ว ผู้ชายชาวฮาเรดีหลายคนยังคงศึกษาคัมภีร์โตราห์ต่อไปในสถาบันชั้นสูง

4. ชาวฮาเรดีไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนในสถาบันทางโลก (คือ วิชาปกติที่เรียนตามโรงเรียนและมหาวิทยาบัยทั่วไป) แต่มีสถานศึกษาสำหรับการฝึกอาชีพสำหรับชาวฮาเรดี โดยต้องอยู่ในกรอบธรรมเนียมและศาสนาของคนกลุ่มนี้ ในอิสราเอล สมาชิกชายส่วนใหญ่ของฮาเรดี (56%) ไม่ทำงาน เพราะเน้นศึกษาศาสนา แต่บางคนอาจทำเป็นแรงงานนอกระบบ

5. ชาวเฮเรีดีวิถีชีวิตที่เน้นตัดขาดวิถีชีวิตทางโลกที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต ชาวยิวฮาเรดีมักไม่เห็นด้วยกับการดูโทรทัศน์และภาพยนตร์ และการอ่านหนังสือพิมพ์และหนังสือทางโลก มีการรณรงค์ต่อต้านอินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรง และโทรศัพท์มือถือที่เปิดใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีตัวกรองก็ถูกสั่งห้ามโดยผู้นำทางศาสนา หรือ "รับบี" ชั้นนำเช่นกัน

6. เหตุผลของการแบนการใช้อินเทอร์เน็ตก็อ ข้อมูลจำนวนมหาศาลสามารถทำให้ผู้คนฉ้ฉลได้ และการปล่อยให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่มีตรวจสอบจากชุมชน อาจนำไปสู่การสร้างความแตกต่างได้ เนื่องจากชาวฮาเรดีอยู่รวมตัวกันเป็นชุมชนที่เหนียวแน่น และให้ความสำคัญกับครอบครัวขนาดใหญ่ เครือญาติ และครูบาอาจารย์ หรือรับบีอย่างมาก 

7. ด้วยวิถีชีวิตที่ตัดขาดทางโลกเหมือนนักบวชแบบนี้ ทำให้ชาวฮาเรดีได้ได้รับการผ่อนผันผ่านข้อตกลง "โทราโต อูมานูโต" (Torato Umanuto) ซึ่งอนุญาตให้นักเรียนเยชิวาไม่ต้องเข้าร่วม IDF โดยเงื่อนไขก็คือ ตราบใดที่พวกเขาศึกษาคัมภีร์โตราห์ พวกเขาไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารโดยสิ้นเชิง

8. ชาวฮาเรดียืนยันว่าการศึกษาคัมภีร์โตราห์ หรือแม้แต่การท่องคัมภีร์ เมื่อปฏิบัติโดยนักวิชาการโตราห์ผู้ยิ่งใหญ่หรือศิษย์ของพวก ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องชาวอิสราเอลจากภัยคุกคาม คล้ายกับ "หน่วยสวดภาวนา" ของกองทัพ แต่ไม่ใช่ว่าชาวฮาเรดีจะไม่ต้องรัชราชการ ผู้นำศาสนาและลูกศิษย์บางคนสามารถเลือกลงทะเบียนเพื่อรับราชการโดยมีระยะเวลารับราชการแค่ 4 สี่เดือน  

9. อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ชาวฮาเรดี เป็นชาวยิวที่ต่อต้านแนวคิด "หวนคืนสู่ศิโยน" (Zionism) คือแนวคิดของชาวยิวที่เชื่อว่าดินแดนปาเลสไตน์คือดินแดนที่พระเจ้าสัญญาว่าได้มอบให้กับชาวยิว จึงเป็นดินแดนของชาวยิวโดยชอบธรรม แต่ผู้ที่เชื่อในแนวคิดนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวยิวที่ไม่เคร่งศาสนาและบางคนไม่เชื่อในศาสนา แต่อ้างว่าปาเลสไตน์คือดินแดนของอิสราเอลในทางการเมือง

10. ตรงกันข้ามกับชาวฮาเรดีที่เชื่อในศาสนาอย่างที่สุด พวกเขาเชื่อว่าชาวยิวได้ถูกขับไล่จากดินแดนพันธสัญญาของพระเจ้า และตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะตั้งรัฐของชาวยิว คือรัฐอิสราเอลขึ้นมา เพราะพระเมสสิยาห์หรือผู้ช่วยให้รอดตามคัมภีร์ยังไม่ปรากฏตัว ดังนั้น แม้ว่าชาวฮาเรดีจะอยู่ในรัฐอิสราเอลที่พวก Zionism ตั้งขึ้นมา แต่พวกเขาไม่ยอมรับว่ามันเป็นรัฐที่ชอบธรรมในทางศาสนา 

11. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลต้องการยุติการยกเว้นนี้มาหลายสิบปีแล้ว และการผลักดันล่าสุดสู่ศาลฎีกา ทำให้รัฐบาลได้รับไฟเขียวให้ผลักดันการเกณฑ์ชาวฮาเรดีมาเป็นทหารได้  แต่ ยิตซัค โยเซฟ หัวหน้ารับบีคนหนึ่งของอิสราเอล กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าชาวยิวเคร่งศาสนา  “ทั้งหมดจะย้ายไปต่างประเทศ” หากพวกเขาถูกบังคับให้เกณฑ์ทหาร 

12. แต่ ยาอีร์ ลาปิด ผู้นำฝ่ายค้านของอิสราเอลหัวเราะเยาะต่อคำขู้ดังกล่าว โดยบอกกับกองทัพวิทยุว่า “ถ้าพวกฮาเรดีออกไปต่างประเทศ พวกเขาจะพบว่าชาวยิวเคร่งศาสนาสุดโต่งในที่อื่นๆ เขาต้องทำงานหาเลี้ยงชีพกัน” ซึ่งมีส่วนจริง เพราะพวกพวกยิวเคร่งศาสนาสุดโต่งส่วนใหญ่ในอิสราเอลได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และยิวเคร่งศาสนาสุดโต่งที่สหรัฐฯ และในยุโรปทำงานหาเลี้ยงชีพกันเป็นเรื่องปกติ

Photo by Menahem KAHANA / AFP

TAGS: #อิสราเอล #เกณฑ์ทหาร