ทำไมจีนถึงเคยจนสุดๆ? ไม่ใช่เพราะแพ้ฝรั่งหรือญี่ปุ่น แต่เพราะจีนแพ้ตัวเอง

ทำไมจีนถึงเคยจนสุดๆ? ไม่ใช่เพราะแพ้ฝรั่งหรือญี่ปุ่น แต่เพราะจีนแพ้ตัวเอง
ตอนที่ 1 ของซีรีส์ "จีนเคยจนแค่ไหนก่อนจะยิ่งใหญ่ในวันนี้"

เบื้องหลังของจีน'ยุคคนแพ้'

  • ก่อนยุคสมัยใหม่ จีนเคยมีขนาดเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของ GDP โลกจนถึงปลายทศวรรษที่ 1700 และต่อมาประมาณหนึ่งในสามของ GDP โลกในปี 1820
  • GDP ของจีนในปี 1820 มีขนาดใหญ่เป็นหกเท่าของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเกือบยี่สิบเท่าของ GDP ของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งเกิดใหม่ 
  • แต่หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศตะวันตกเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมหนัก ในขณะที่จีนยังติดอยู่ในรูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้นการกสิกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน จีนเริ่มถูกทิ้งห่าง
  • หลังจากนั้น ประเทศตะวันตกก็แข็งแกร่งขึ้น และเอาชนะจีนได้ในสงครามฝิ่น ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสงครามเศรษฐกิจที่ตะวันตกต้องการให้จีนเปิดตลาดเสรี หลังจากนั้นจีนก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ 
  • จนกระทั่งประเทศจีนยุคใหม่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการหลังการโค่นล้มราชวงศ์ชิงและเปลี่ยนแปลงการปกครอมาเป็นระบอบสาธารณรัฐเมื่อปี 1912 จีนก็เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ก็ยังช้าไป

สาเหตุที่จีนยุคเก่าตามไม่ทันฝรั่ง
ทั้งๆ ที่จีนเคยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มโหฬารในช่วงก่อนสมัยใหม่ และเป็นเจ้าของนวัตกรรมมากมาย เช่น ดินปืน การพิมพ์ และการผลิตเชิงอุตสาหกรรมยุคแรกๆ เน เครื่องกระเบื้อง แต่ทำไมจีนถึงไม่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น? คำตอบก็คือความเจริญก้าวหน้าของยุโรปเกิดจากการแพร่กระจายขององค์ความรู้และการแบ่งปันองค์ความรู้ที่กว้างขวาง ทั้งหมดนี้เกิดจาากเทคโนโลยีการพิมพ์ ซึ่งที่จริงมีจุดกำเนิดจากประเทศจีน  

ประเทศจีนมีทั้งแท่นพิมพ์และแม่พิมพ์ที่ใช้ตัวเรียงพิมพ์ได้ แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกลับไปเกิดขึ้นในยุโรป ไม่ได้เกิดในจีน เพราะชาวยุโรปมีการกระจายอำนาจเป็นรัฐต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นเอกภาพในเรื่องการกระจายองค์ความรู้ เพราะใช้ภาษาเดียวกันและวัฒนธรรมร่วมกัน ทำให้แต่ละรัฐในยุโรปสร้างนักคิดและนักประดิษฐ์ของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันนวัตกรรมก็จะถูกแบ่งปันไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นการพัฒนาร่วมกันในทางเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องการเมืองต่างก็ปกครองกันเอง 

แกรี่ ดับเบิลยู. คอกซ์ (Gary W. Cox) นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวไว้ว่า "การกระจายตัวทางการเมืองของยุโรปมีปฏิสัมพันธ์กับนวัตกรรมทางสถาบันของยุโรป เพื่อส่งเสริม "เสรีภาพทางเศรษฐกิจ" ในพื้นที่สำคัญ ซึ่งพ่อค้าชาวยุโรปสามารถจัดระเบียบการผลิตโดยปราศจากกฎระเบียบจากส่วนกลาง เผชิญกับข้อจำกัดส่วนกลางน้อยลงในการตัดสินใจด้านการขนส่งและการกำหนดราคา และจ่ายภาษีและค่าผ่านทางที่ต่ำกว่าคู่ค้าที่อื่นในยูเรเซีย"

ในขณะที่ยุโรปมีความเป็นเสรีมากขึ้นรวมถึงกระจายอำนาจมากขึ้น จีนยังยึดติดกับการวมศูนย์อำนาจแบบโบราณที่ใช้มานานกว่า 2,000 ปี ซึ่งเริ่มที่จะไม่ยืดหยุุ่น นี่คือปัญหาที่ ต้วนฮุ่ยเซิง (Tuan-Hwee Sng) รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ชี้ว่า "ขนาดอันกว้างใหญ่ของจักรวรรดิจีนสร้างปัญหาร้ายแรงระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง และสร้างข้อจำกัดในการปกครองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษีจะต้องถูกเก็บให้ต่ำเนื่องจากจักรพรรดิมีอำนาจที่อ่อนแอในการดูแลผู้ใต้ปกครอง และยังความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการทุจริตด้วย" 

ปัญหานี้ทำให้จีนมีฐานรายได้ที่ต่ำ เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่พอใจกับการเก็บภาษีที่สูงในขณะเดียวกันก็ต้องเก็บภาษีต่ำเพื่อไม่ให้ข้าราชกามีโอกาสโกงกิน แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ประชาชนก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้จักรวรรดิจีนไม่พร้อมเรื่องการเงินการคลัง ยิ่งทำให้จีนเริ่มอ่อนเอในทางโครงสร้าง เรื่องนี้ตรงกันข้ามกับยุโรปที่มีการแบ่งอำนาจซอยเป็นรัฐต่างๆ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่พัฒนาตัวเองได้ทันชาติตวันตก เพราะมีขนาดที่เล็กกว่าจีน พูดง่ายๆ ก็คือ ความเป็นจักรวรรดิของจีนที่ใหญ่เกินไปกำลังจะทำลายตัวจีนเอง

จุดเริ่มต้นของการล่มสลาย
คนทั่วไปมักจะมองว่า ความอ่อนแอของจีนเกิดจากผู้ปกครองที่เลวร้ายไม่กี่คน แต่ความจริงแล้ว มันเป็นเพราะโครงสร้างการปกครองและเศรษฐกิจที่ล้าสมัย การที่จีนมองว่าตัวเองเป็น 'ศูนย์กลางของโลก' ทำให้จีนพึ่งพาตัวเองมากเกินไป จนกระทั่งใช้ทรัพยากรจนเกลี้ยง แทนที่จะเปิดประเทศเพื่อรับกาารค้าเสรี ซึ่งจะช่วยลดการล้างผลาญทรัพยากรลงได้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จีนพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะยึดติดกับว่าตัวเองไม่ต้องพึ่งพาใคร จนในที่สุดก็อ่อนแอลงไม่รู้ตัว แล้วก็ถูกชาติยุโรปท้าทาย 

ชาติยุโรป เช่น อังกฤษใช้ระบบการค้าแบบจักรวรรดินิยม นั่นคือ ทำการยึดอาณานิคมเพื่อดูดทรัพยากรของประเทศอื่น แล้วใช้แรงงงานและวัตถุดิบของประเทศอาณานิคมผลิตสินค้า จากนั้นหาตลาดเพื่อจัดจำหน่าย วิธีการหาตลาดก็คือต้องบีบให้ประเทศต่างๆ เปิดตลาดให้เสรี ซึ่งประเทศสยามก็ถูกกดันให้เปิดตลาดเสรี นั่นคือ สนธิสัญญาเบาว์ริง ส่วนจีนถูกบีบให้เปิดตลาดเสรีด้วยวิธีการที่โหดร้ายสักหน่อย นั่นคือ การใช้ฝิ่นกระจายเข้าไปในตลาดจีน

แหล่งปลูกฝิ่นสำคัญของอังกฤษคืออินเดีย ฝิ่นเป็นสินค้าที่มีราคาสูงแต่สร้างความหายนะทางสังคมอย่างรุนแรง จักรวรรดิจีนสมัยราชวงศ์ชิงก็ทราบเรื่องนี้ดี จึงทำการปราบราม แต่อังกฤษใช้เป็นข้ออ้างว่าจีนกีดกันทางการค้า จึงทำสงครามกับจีนถึง 2 ครั้ง แล้วจีนก็แพ้ถึงสองครั้ง ผลก็คื  เสียสูญเสียดินแดนและเสรีภาพในดินแดนไปจำนวนหนึ่ง พร้อมกับต้องเปิดตลาดเสรีให้อังกฤษและชาติตะวันตก 

เพราะพึ่งตัวเองเกินไปจึงจนลง
เมื่อบีบให้จีนเปิดตลาดแล้ว พวกชาติตะวันตกรวมถึงญี่ปุ่น (ที่ตอนนี้แซงหน้าจีนไปแล้ว) ต่างก็คาดหวังว่าจีนจะเป็นตลาดที่คึกคักเพราะมีผู้บริโภคร้อยล้านคน แต่ปรากฏว่าจีนไม่ได้เป็นตลาดในฝัน เพราะถึงจะมีประชากรมาก แต่อำนาจการซื้อต่ำมาก ที่อำนาจการซื้อไม่มี เพราะเน้นพึ่งพาตนเองมากเกินไป และจนเกินไป 

การพึ่งพาตัวเองในทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป หากมันทำโดยคนๆ เดียวอาจจะเป็นเรื่องดี หากทำกันทั้งประเทศอจกลายเป็นการสิ้นชาติได้ง่ายๆ มีทฤษฎีหนึ่งที่ที่เสนว่าการพึ่งพาตัวเองอาจกลายเป็นการทำลายตัวเองได้ เรียกว่า 'กับดักดุลยภาพขั้นสูง' (High-level equilibrium trap) 

ทฤษฎีนี้เสนอโดย จอห์น เอลวิน (John Elvin) นักวิชาการชาวออสเตรเลีย และศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์จีนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เขาชี้ให้เห็นว่า การผลิตของจีนมีต้นทุนต่ำ เพราะแรงงานมีจำนวนมากจึงมีราคาถูก บวกกับการขนส่งทางน้ำมีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนขนส่งไม่แพง ส่วนกระบวนการผลิตก็มีประสิทธิภาพพอสมควร - ทั้งหมดนี้ทำให้จีนสามารถพึ่งพาตัวเองได้สูง และไม่ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมอะไรเพิ่มเติม

สั้นๆ ก็คือ จีนเลี้ยงตัวเองได้ ก็ไม่ต้องลำบากกับการพัฒนาอะไรใหม่ๆ ตรงกันข้ามกับอังกฤษ ซึ่งไม่มีระบบขนส่งทางน้ำที่ครอบคลุมแบบจีน ทำให้ต้องพัฒนาระบบขนส่้งแบบใหม่ที่ว่องไว นั่นคือรถไฟพลังไอน้ำ พวกเขามีแรงงานไม่พอ จึงต้องพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมพลังไอน้ำ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอังกฤษพึ่งพาตัวเองแบบง่ายๆ ไม่ได้ จึงต้องยกระดับการพัฒนาให้แข็งแกร่งขึ้นมา และมันกลายเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทำให้อังกฤษแข็งแกร่งในที่สุด

ตรงกันข้ามกับจีน เมื่อทุกอย่างลงตัว จีนก็อยู่ในภาวะ 'ดุลยภาพขั้นสูง' คือทุกอย่างสมดุลไปหมดทั้งอุปสงค์และอุปทาน แต่มันเป็รน 'กับดัก' ที่ทำให้จีนไม่ก้าวหน้าไปไหน อีกอย่างก็คือ แม้ว่ามันจะเป็นดุลยภาพ แต่เป็นดุลยภาพจอมปลอม เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรที่ถาวร หลังจากที่เศรษฐกิจแน่นิ่งนานวันเข้า ปัญหาก็จะเกิดขึ้นเพราะทรัพยากรน้อยลง แต่ประชากรมากขึ้น 

จีนก้าวไม่ทันจึงจนลงเรื่อยๆ 
ความยากจนของประชาชนเป็นผลโดยตรงมาจากการขาดวิสัยทัศน์ของผู้ปกครอง จีนไม่ใช่แค่ขาดสาธารณูปโภคที่ครอบคลุม เช่น รถไฟและโทรเลข ทำให้รากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมอ่อนแอเท่านั้น แต่พื้นที่ว่างส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรไม่ได้เพราะขาดแคลนน้ำ ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ปริมาณน้ำทางตอนเหนือของจีนลดลง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และทำให้มีการทำลายป่ามากขึ้น 

ปัญหาก็คือ ในขณะที่ชาติตะวันตกพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้มีการกระจายรูปแบบการทำงาน เช่น อังกฤษจะผลิตชั้นสูง แต่การผลิตวัตถุดิบชั้นต่ำอย่างฝ้าย ก็จะใช้ดินแดนอาณานิคมในอินเดียแทน การทำแบบนี้ทำให้อังกฤษไม่ต้องเสียต้นทุนในการทำเกษตร แต่จีนนั้นทำการปลูกฝ้ายสำหรับสิ่งทอแทนที่จะนำเข้า ทำให้การขาดแคลนน้ำของจีนรุนแรงขึ้น เพราะฝ้ายใช้น้ำในปริมาณสูงมาก ปรากฎว่าในช่วงศตวรรษที่ 19 ปริมาณไม้และที่ดินลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้ต่อหัวของจีนเติบโตช้าลงอย่างมาก สุดท้ายก็เกิดภาวะอดอยากรุนแรงหลายครั้ง ผู้คนล้มตายหลายล้านคน

เพราะความยากจนขนาดนี้ ปรากฏว่าภายในปี ค.ศ. 1890 มูลค่ารวมของการนำเข้าและส่งออกของจีนไปยังโลกภายนอกมีมูลค่าเพียง 50 ล้านปอนด์ ซึ่งน้อยกว่าประเทศเล็กๆ หลายประเทศเสียอีก และถึงเวลานั้นจีนสูญเสียการผูกขาดผู้ผลิตสินค้าสำคัญคือเครื่องเคลือบและผ้าไหมไปแล้ว เพราะยุโรปก็สามารถผลิตเองได้ ส่วนจีนกลับเน้นปลูกฝิ่นเอง ซึ่งทำลายทั้งระบบเศรษฐกิจและผู้คน 

จีนกลายเป็นคนป่วยเพราะ?
ฝิ่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้จีนกลายเป็นคนป่วย แต่เป็นระบอบเศรฐกิจและการเมืองที่เก่าแก่ที่ทำให้จีนตามไม่ทันโลก พูดง่ายๆ ก็คือ 'จักรวรรดิจีน' ใหญ่โตเกินไปจึงอุ้ยอ้ายเกินไป ที่จริงแล้วจักรวรรดิจีนมีระบบการรวมศูนย์อำนาจที่มีประสิทธิภาพพอสมควร เพราะเริ่มจากการคัดผู้มีความสามารถผ่านการสอบคัดเลือกหลายระดับชั้น ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับประเทศ และยังมีระบบราชการที่แบ่งหน้าที่ชัดเจน แต่ทำไมจีนถึงไร้ประสิทธิภาพไปได้เมื่อถึงศตวรรษที่ 18

หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ 'คน' แม้ว่าระบบจะดี แต่ถ้าคนทุจริตระบบก็ล่มได้ ระบบสอบเข้าเป็นข้าราชการของจีนเริ่มใช้การไม่ได้ เพราะวิชาที่นำมาสอบเป็นหลักจริยธรรมจาก 2,000 ปีก่อน ดังนั้นมันจึงทำให้การเมืองจีนจีนถูกแช่แข็งเอาไว้เหมือน 2,000 ปีที่แล้ว อีกเรื่องก็คือ ในเวลาต่อมา รัฐบาลขาดแคลนรายได้ (เพราะระบบเศรษฐกิจแบบปิด) ทำให้เสนอขายตำแหน่งข้าราชการให้คนมีเงิน ซึ่งคนที่ซื้อได้คือพวกพ่อค้าและเจ้าที่ดิน คนเหล่านี้จะทำการขูดรีดคนชั้นล่าง แล้วนำรายได้มาซื้อตำแหน่ง เพื่อที่จะกดขี่ประชาชนต่อไป

ความเลวร้ายของคนที่เข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้ชนชั้นล่างในจีนเกิดความไม่พอใจ นำไปสู่การก่อกบฏครั้งใหญ่ คือ กบฏไท่ผิง ซึ่งเกือบจะโค่นล้มราชวงศ์ชิงลงได้ ถ้าราชวงศ์ชิงไม่ขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจตะวันตกเสียก่อน ทำให้จีนยังคงตกอยู่ในวังวนเดิมๆ ต่อไป คือ เศรษฐกิจที่ล้าหลัง การเมืองที่ถูกสตัฟฟ์เอาไว้ สิ่งที่ขัดขวางความเจริญของจีน จึงเป็นระบบที่อุ้มชูคนไม่ดีให้เข้ามาปกครองบ้านเมือง และแม้ว่าจะมีคนมีความสามารถเข้ามา คนเหล่านั้นก็จะถูกกำจัดออกไป เพราะความหลงในอำนาจของชนชั้นปกครอง 

ในที่สุด ประชาชนกลุ่มหนึ่งก็ไม่ทนอีกต่อไป ดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มระบอบก่อนนี้ลงไปซะ และพวกเขาทำสำเร็จในที่สุดในปี 1912

แต่ปรากฏว่าถึงจะเปลี่ยนผู้ปกครองและระบอบการเมือง จีนก็ยังตกต่ำลงเรื่อยๆ และจนลงเรื่อยๆ ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นไม่ได้?

TAGS: #ประวัติศาสตร์จีน #เศรษฐกิจจีน