วิเคราะห์ลึก ทำไมการโจมตีอิสราเอลของอิหร่านจะไม่บานปลาย?

วิเคราะห์ลึก ทำไมการโจมตีอิสราเอลของอิหร่านจะไม่บานปลาย?

แต่ละครั้งที่เกิดเหตุปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างคู่กรณีต่างๆ ในตะวันออกกลาง มักจะทำให้ชาวโลกตื่นตระหนกอยู่เสมอว่ามันจะบานปลายกลายเป็นสงครามโลก สาเหตุก็เพราะ

1. ความขัดแย้งในตะวันออกกลางโยงใยไปถึงชาติมหาอำนาจ ซึ่งสนับสนุนคู่กรณีฝ่ายต่างๆ เช่น สหรัฐฯ และชาติตะวันตกสนับสนุนอิสราเอล ส่วนอิหร่านมักเชื่อกันว่ามีรัสเซียคอยสนับสนุน (ซึ่งไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกครั้งไป เพราะรัสเซียยังติดต่อกับอิสราเอลด้วย) นอกจากนี้ แต่ละฝ่ายยังให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ ขบวนการก่อการร้าย ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่กระจายตัวไปทั่วภูมิภาคและนอกภูมิภาคด้วย 

2. ภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ได้มีแค่คู่ขัดแย้งที่เป็นยิว (อิสราเอล) และชาติมุสลิม แต่ยังมีควาามขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วยกันแต่ต่างนิกาย เช่น มุสลิมซุนนีที่นำโดยซาอดุีอาระเบีย กับมุสลิมชีอะห์ที่นำโดยอิหร่าน ซึ่งศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ความรุนแรงในตะวันออกกลางจึงส่งผลสะเทือนต่อชาวโลกได้ง่าย

3. ภูมิภาคตะวันออกลางเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก ความวุ่นวายในภูมิภาคนี้หมายถึงความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลก หากชาติมหาอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยวโดยตรง จะทำให้สงครามพลังงานยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะสหรัฐฯ และรัสเซียต่างก็เป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมขาติรายหลักของโลก รวมถึงพันธมิตรเล็กๆ ที่อยู่คนละซีกโลก เช่น เวเนเซุเอลาที่เข้าข้างอิหร่าน ก็มีน้ำมันมากอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน  

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตะวันออกลางเป็นจุดเปราะบางที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยิ่งเกิดการปะทะกันแบบไม่คาดฝัน ยิ่งทำให้โลกสั่นสะเทือนรุนแรง ตัวอย่างเช่น การโจมตีของอิหร่านต่อิสราเอลเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 ซึ่งถือเป็นหารปะทะกันโดยตรงครั้งแรกของประเทศ/รัฐทั้งสอง หลังจากปะทะกันทางอ้อมผ่านสงครามตัวแทนมานานหลายสิบปี ทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาอีกครั้งว่า เหตุครั้งนี้จะเป็นชนวนของสงครามที่ขยายตัวไปทั้งภูมิภาคหรือไม่ หรือแม้กระทั่งลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลก

แต่ทำไมกรณีนี้จะไม่ลุกลามบานปลาย?
เหตุผลที่หนึ่ง
เพราะสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้นำการตอบโต้ของอิสราเอล และสหรัฐฯ แสดงท่าทีว่าไม่ต้องการให้อิสราเอบตอบโต้โดยพลการ ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวบอกกับสำนักข่าว Axios ของสหรัฐฯ ว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน บอกกับนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ผ่านทางโทรศัพท์ว่า สหรัฐฯ จะไม่สนับสนุนการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลต่ออิหร่าน เพราะไบเดนและที่ปรึกษาอาวุโสของไบเดนกังวลอย่างมากว่าการตอบโต้ของอิสราเอลต่อการโจมตีอิสราเอลของอิหร่าน จะนำไปสู่สงครามในภูมิภาคที่มีผลกระทบร้ายแรงติดตามมา ส่วน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ขอให้อิสราเอลแจ้งเตือนสหรัฐฯ ล่วงหน้าหากพวกเขาวางแผนที่จะโจมตีอิหร่าน แต่โดยสรุปแล้ว ไบเดน ประกาศว่าสหรัฐฯ จะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยหากอิสราเอลโจมตีอิหร่าน 

เหตุผลที่สอง ไบเดนกล่าวเองว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้เคลื่อนกำลังพลจำพวกเครื่องบินและเรือพิฆาตป้องกันขีปนาวุธไปยังภูมิภาคดังกล่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้อิสราเอลสามารถยึดโดรนและขีปนาวุธที่เข้ามาเกือบทั้งหมดจากอิหร่าน เยเมน ซีเรีย และอิรักได้ แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะช่วยเหลืออิสราเอลในการสกัดการโจมตี แต่สหรัฐฯ ไม่สามารถปล่อยให้เกิดแนวรบใหญ่ในตะวันออกกลางได้ เนื่องจากความสัมพันธ์กับพันธมิตรเดิมเกิดความสั่นคลอนอย่างหนัก นั่นคือ กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพสำคัญในภูมิภาค แต่ปรากฏว่า ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และคูเวต ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพของตนในดินแดนของตนในกรณีที่คิดจะโจมตีอิหร่าน 

เหตุผลที่สาม ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังไม่ "เข้าขา" กับซาอุดีฯ ตราบนั้น จะปล่อยให้เกิดสงครามที่ใหญ่กว่าสงครามฮามาส-อิสราเอลไม่ได้  เพราะสงครามฮามาส-อิสราเอลยืดเยื้อจนสหรัฐฯ ต้องเตือนอิสราเอลให้ระมัดระวังในการใช้ปฏิบัติการทางทหารในดินแดนปาเลสไตน์บ่อยครั้งขึ้น ถึงขั้นใช้คำว่า "It is a red line." (นี่คือเส้นตายที่ห้ามก้าวข้าม) ในคำเตือนที่มีไปถึงอิสราเอลไม่ให้รุกรานเขตราฟาห์ในฉนวนกาซา เรื่องจากมีผู้เสียชีวิตมากเกินไปแล้ว และเป็นเหตุให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดขอบกับความตายของพลเรือนปาเลสไตน์ไปด้วย 

เหตุผลที่สี่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน บ่อนทำลายกำลังของนาโตไม่มาก ยังไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศในยุโรป หากเกิดสงครามกับอิหร่าน ซึ่งเป็นแนวร่วมกับรัสเซีย ก็อาจทำให้เกิดแนวรบสองทางที่ยุ่งยากในการจัดการ แต่ ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซนเลนสกี้ แห่งยูเครนกลับใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้สหรัฐฯ "ตาสว่าง" กับภัยคุกคาม และเรียกร้องให้ติดอาวุธชาติพันธมิตร (รวมถึงยูเครน) เพิ่มเติมพร้อมกับกล่าวๆ ตรงๆ ว่า “การกระทำของอิหร่านคุกคามทั้งภูมิภาคและโลก เช่นเดียวกับการกระทำของรัสเซียที่คุกคามความขัดแย้งที่ใหญ่กว่า”  ดูเหมือนว่าในขณะที่สหรัฐฯ เลี่ยงจะปะทะกับอิหร่าน ยูเครนกลับต้องการให้สหรัฐฯ ทำอะไรสักอย่างกับอิหร่านโดยโยงว่าเป็นแนวร่วมกับรัสเซีย

เหตุผลที่ห้า แม้แต่อิหร่านเองก็ไม่ต้องการให้บานปลาย โดยรัฐบาลอิหร่านได้ประกาศว่าการโจมตีเพื่อเอาคืนได้ "สำเร็จ" และสิ้นสุดลงแล้ว และจากคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ฮอสเซน อามีร์-อับดอลลาเฮียน ประกาศว่าอิหร่านไม่ปรารถนาให้เกิดเรื่องบานปลาย และจุดประสงค์ของปฏิบัติการของอิหร่านคือการใช้สิทธิอันชอบธรรมของอิหร่านในการป้องกันตัวเอง หลังจากที่ส่วนหนึ่งของสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรียถูกอิสราเอลโจมตีเมื่อวันที่ 1 เมษายน แม้แต่ประเทศอาหรับที่ "เข้าข้างอิสราเอล" เช่น จอร์แดนก็เรียกร้องให้เพลาๆ มือลง

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

TOPSHOT - ชาวปาเลสไตน์มองควันที่ลอยฟุ้งกระจายในระหว่างการทิ้งระเบิดของอิสราเอลที่ตลาดฟิราสในเมืองกาซาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2024 ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปาเลสไตน์ (Photo by AFP)
 

TAGS: #อิหร่าน #อิสราเอล #สงครามโลก