พูดถึงสมรภูมิเมียวดีจะไม่พูดถึงชายคนนี้ได้อย่างไร?
เขาคือ พันโท ซอ ชิ ตู (Saw Chit Thu/စောချစ်သူ) ซึ่งเคยเป็นผู้นำของกองกำลังป้องกันพรมแดน หรือ Border Guard Forces (BGF) และเขตที่เขา "ปกป้อง" คือพรมแดนกระเหรี่ยงกับไทย
The Better ให้ข้อมูลเรื่อง BGF หลายครั้งตั้งแต่สงครามกลางเมืองเมียนมารุนแรงขึ้นมาอีก แต่ถ้าใครยังไม่รู้จัก ผมจะสรุปให้สั้นๆ ว่า BGF คือกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่สวามิภักดิ์กับกองทัพเมียนมา โดยจะให้อำนาจปกครองระดับหนึ่ง พร้อมกับแบ่งผลประโยชน์กันจากธุรกิจสีเทา
ธุรกิจสีเทายอดนิยมคือ การอุ้มชูพวกจีนเทาที่ทำงานฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งมักจะซ่องสุมกันตามชายแดนของเมียนมา เช่น ที่โกกั้ง ซึ่งถูกบุกถล่มไปแล้วโดยกองกำลังภราดรภาพสามพี่น้องโดยการสนับสนุนของจีน
อีกที่หนึ่งที่ยังลูกผีลูกคน คือ ที่ ชเวโกะโก (Shwe Kokko/ရွှေကုက္ကို) ใน จ.เมียวดี รัฐกระเหรี่ยง อยู่ห่างจากเมืองเมียวดีไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร และยังอยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยแค่เอื้อมโดยมีแม่น้ำเมยกั้นเท่านั้น
ชเวโกะโก คืออาณาจักรจีนเทาที่ใหญ่โตมโหฬารมากและทำเงินมหาศาลมาก ที่นี่คือแหล่งเงินแหล่งทองของกองทัพเมียนมา โดยมี BGF ในรัฐกระเหรี่ยงที่นำโดย พันโท ซอ ชิ ตู เป็นคนคอยปกป้องที่นี่
ซอ ชิ ตู เคยเป็นทหารของกระเหรี่ยงพุทธ หรือ DKBA มาก่อน
ถ้าใครตามบทความก่อนหน้านี้ของเรา คือ "การจับอาวุธสู้เพื่อเอกราชที่ยาวนานที่สุดในโลก เบื้องลึกของสงครามใน 'รัฐกระเหรี่ยง' ที่คุณอาจไม่รู้" จะทราบว่า การต่อสู้ในรัฐกระเหรี่ยงนั้นนำโดยสหภาพกระเหรี่ยงแห่งชาติ (KNU)
แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งใน KNU เพราะส่วนใหญ่ใน KNU นับถือคริสต์ พวกกระเหรี่ยงพุทธจึงแยกตัวออกมาเป็น DKBA และไม่ได้แยกเปล่า แต่ยังเป็นศัตรูกับ KNU ด้วย
DKBA นั้นเคยหยุดยิงและรวมมือเผด็จการทหารเมียนมามาก่อนตั้งแต่ก่อนยุคประชาธิปไตย
กับกองทัพชนกลุ่มน้อยที่ยอมเป็นพวกกับกองทัพเมียนมา กองทัพก็จัดระเบียบให้เป็น Border Guard Force หรือ BGF ซึ่งมีทั้งในรัฐฉาน พื้นที่ของชาวว้า และที่รัฐกระเหรี่ยง
และในปี 2553 ซอ ชิ ตู ก็รับบทบาทเป็นผู้บัญชาการของ BGF ในรัฐกระเหรี่ยง
ดังนั้นกระเหรี่ยงแตกเป็นก๊กๆ มาตั้งแต่แรกแล้ว และกลุ่มของ ซอ ชิ ตู ไม่ใช่แค่สมยอมกับทหารเมียนมา แต่ยังหาประโยชน์จากธุรกิจเทาๆ ตามชายแดนด้วย
และธุรกิจเทาที่สุดคือที่ชเวโกะโก
จากรายงานของ United States Institute of Peace ในปี 2560 ซอ ชิ ตู เริ่มทำงานร่วมกับบริษัทยาไท่อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง (亚太国际控股集团) ซึ่งเป็นของ เสอจื้อเจียง (佘智江) บอสใหญ่ของวงการจีนเทา เพื่อทำการพัฒนาเมืองยาไท่ (亚太城) ในชเวโกะโก หลังจากที่ เสอจื้อเจียง จ่ายเงินดาวน์ให้กับ ซอ ชิ ตู เป็นเงินถึง 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ
เมืองยาไท่ คือที่ตั้งของแหล่งปฏิบัติการของธุรกิจจีนเทาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
จากข้อมูลของสำนักข่าวภาษาจีนค่านจงกั๋ว ที่นี่คือธุรกิจร่วมทุนระหว่างกองกำลัง BGF ในรัฐกระเหรี่ยงกับบริษัทยาไท่ฯ ของเสอจื้อเจียง ด้วยมูลค่าตลาดสูงถึง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์
การร่วมทุนกับ เสอจื้อเจียง ว่าไม่ธรรมดาแล้ว ซอ ชิ ตู ยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัทตงเหม่ย (東美投資集) ซึ่งนำโดย อิ่นกั๋วจวี (尹国驹) อดีตหัวหน้าแก๊ง 14K อันลือลั่นอันเป็นแก๊งอาชญากรสายจีน (มาเก๊า) ที่มีอิทธิพลอย่างมากในเอเชีย
การร่วมมือระหว่าง ซอ ชิ ตู กับกลุ่มบริษัทตงเหม่ย ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ไซซีกั่ง (賽西港) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจของพวกจีนเทาอีกแห่งในเมียวดี ทำธุรกิจสแกมเมอร์และค้ามนุษย์ ตั้งอยู่ในเมียวดีนั่นเอง
สื่อในจีนเพ่งเล็งกองกำลัชนกลุ่มน้อยในเมียวดีเป็นพิเศษ ซึ่งหมายถึงกลุ่มของ ซอ ชิ ตู นั่นเอง โดยชี้ว่าเพราะมีกองกำลังกระเหรี่ยง (บางกลุ่ม) คอยคุ้มกันให้ ธุรกิจสีเทาที่นี่จึงรุ่งเรืองขึ้นมาได้
นี่เป็นลักษณะที่คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโกกั้ง ซึ่งมีทั้งกลุ่มคิดอาวุธในท้องถิ่น (โกกั้งสายหลัก) และกองทัพเมียนมาคอยคุ้มกันและแบ่งผลประโยชน์กัน แต่เพราะใกล้ชายแดนจีน จีนจึงสามารถจัดการดินแดนสีเทาเหล่านี้ได้ง่ายกว่า โดยอาศัยกองกำลังติดอาวุธที่เป็นปฏิปักษ์กับพวกที่หากินกับจีนเทาและกองทัพเมียนมานั่นเอง
ถามว่า จีนอยากจะเล่นงานชเวโกะโกหรือไม่ เพราะมันคือหอกข้างแคร่ของจีน (จากการเป็นแหล่งค้ามนุษย์คนจีนและยังอาจเป็นที่ฟอกเงินดำๆ ที่ได้มาจากผู้มีอิทธิพลจีนด้วย) แต่ ชเวโกะโก ไม่ใช่เป้านิ่งข้ามพรมแดนเหมือนโกกั้้งที่ตั้งอยู่ตรงข้ามพรมแดนมณฑลยูนนานเท่านั้น
ชเวโกะโก อยู่ใกล้ไทยแค่หายใจระต้นคอ ดังนั้นจีนต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี แม้ว่จะมีข้อมูลว่าจีนสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อยให้โจมตีฐานที่มั่นพวกจีนเทา แต่การโจมตีชเวโกะโก เป็นเรื่องเกินความสามารถ
แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ คำถามก็คือใครจะทำ?
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ซอ ชิ ตู ไม่ใช่คนที่สมยอมกับกองทัพเมียนมามาตั้งแต่ต้นปีนี้แล้ว อันที่จริง เขาถูกกองทัพเมียนมากดดันให้สละตำแหน่งบัญชาการของ BGF มาตั้งแต่มกราคม 2564 หรือก่อนรัฐประหารแค่เดือนเดียว กรณีนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่กระเหรี่ยง BGF ลาออกเพื่อประท้วงถึง 7,000 นาย
จนกระทั่ง มกราคม 2567 มีรายงานจาก Radio Free Asia ภาคภาษาพม่าว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ซอ ชิ ตู ได้หารือกับรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา คือ รองพลเอกอาวุโส โซ วิน กองกำลังรักษาชายแดน (BGF) ไม่ประสงค์ที่จะรับเงินและสิ่งของจากกองทัพเมียนมาอีกต่อไป และต้องการที่จะบริหารกองกำลังด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระ โดยอ้างว่าไม่ต้องการที่จะต่อสู้กับชาวกระหรี่ยงด้วยกัน
ในเดือนมีนาคม มีรายงานจาก Myanmar Now ว่า BGF สายกระเหรี่ยงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองทัพแห่งชาติกระเหรี่ยง (Karen National Army)
แต่ก็ประกาศว่าจะวางตัวเป็นกลางระหว่างความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ กับกองทัพเมียนมา
มันทะแม่งๆ ไหม?
การไม่รบกับกระเหรี่ยงด้วยกันเองก็พอเข้าใจได้ (ทั้งๆ ที่เคยรับกันเองมาก่อนและเข้ากับกองทัพเมียนมาด้วยซ้ำ) แต่การวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์แบบนี้ สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ
แต่ถ้าเข้าใจความขัดเแย้งในหมู่ชนกลุ่มน้อยแล้ว เรื่องนี้ไม่ยากจะเข้าใจ ดูอย่างโกกั้งก็ยังแตกกันเอง ในกระเหรี่ยงก็แตกกันเอง ในยะไข่ก็แตกกันเอง แม้แต่คนมอญก็ยังแตกกันเอง
สิ่งที่ต่างออกไป คือ ที่เมียวดีมีเหตุและปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่การแย่งอำนาจ แต่เป็นชเวโกะโก ซึ่งเป็นแหล่งเงินแหล่งทองแท้ๆ
การที่ ซอ ชิ ตู แยกตัวจากกองทัพเมียนมาเท่ากับว่า "ตอนนี้เราจะคุมชเวโกะโกเอง" โดยไม่ต้องแบ่งทรัพย์ให้พวกกองทัพ และการวางตัวเป็นการเท่ากับบอกพวกกระเหรี่ยงอื่น เช่น KNU ว่า "อย่าเข้ามายุ่งกับชเวโกะโก เพราะเราอาจไม่เป็นกลางอีก"
สื่อจีนนั้นจับตาเมืองจีนเทาแบบไม่ละวาง เพราะกระทบต่อชีวตของประชาชนคนจีน ดังนั้นพวกเขาจึงมองเกมนี้ขาด คนคุมเกมในชเวโกะโกคือ ซอ ชิ ตู นั่นเอง
เราจะเห็นได้จากการที่ หลังจาก ซอ ชิ ตู "ประกาศเอกราช" มิน อ่อง หล่าย ก็ประกาศส่งทหารพม่า 20,000 นายไปล้อมซอ ชิ ตู
แต่กองทัพเมียนมาก็เสียการควบคุมเมียวดีในช่วงต้นเดือนเมษายน ไม่เพราะ ซอ ชิ ตู แต่เพระากระเหรี่ยงกลุ่มอื่น
จากรายงานของสื่อภาษาจีน พวกจีนเทาที่หนีจากชเวโกะโกข้ามไปฝรั่งไทย ได้ข้ามกลับมาอีกครั้งแล้ว
การยึดเมียวดี ไม่ว่าจะอยู่ในมือของฝ่ายไหน อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่า "ใครขุมแหล่งเงินแหล่งทอง" ใกล้ๆ กับเมียวดีมากกว่า
จากข้อมูลข้างต้นคงไม่ยากที่จะตอบคำถามก็คือ "ใคร?"
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - Karen Collects News