ทำไมนักศึกษาอเมริกันถึงก่อ 'ขบถ' จนการประท้วงลุกลามทั่วประเทศ

ทำไมนักศึกษาอเมริกันถึงก่อ 'ขบถ' จนการประท้วงลุกลามทั่วประเทศ

การประท้วงของนักศึกษาอเมริกันที่ลุกลามไปทั่วประเทศในตอนนี้ ทำให้นึกถึงขบวนการนักศึกษาต่อต้านสงครามเวียดนามในช่วงทศวรรษที่ 60 - 70

ในตอนนั้นนักศึกษาไม่ใช่แค่ต้านการที่รัฐบาลอเมริกันส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม แต่ยังต้านการเกณฑ์คนหนุ่มอเมริกันไปตายในต่างแดน (ไม่ใช่เพื่อปกป้องบ้านเมืองตัวเอง) ต่อต้านอำนาจรัฐที่เผด็จการเกินไป ต่อต้านสังคมที่บีบให้คนหนุ่มสาวต้องทำตัวเชื่องๆ และยังรวมถึงการปฏิวัติทางเพศ เพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากค่านิยมเดิมๆ ของสังคม

คนหนุ่มสาวในตอนนั้นไม่อายที่จะเรียกตัวเองเป็น 'ขบถ' ตรงกันข้ามออกจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำที่ตัวเองไม่ได้เชื่อฟังอำนาจรัฐแต่โดยดี 

ในเวลานี้นักศึกษาอเมริกันกำลังทำอะไรคล้ายๆ กัน เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่ต่อต้านการที่รัฐบาลอเมริกันและสถาบันหลักๆ ของประเทศสนับสนุนอิสราเอลทำสงครามกับฮามาส จนทำให้คนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องล้มตายหลายหมื่นคนแล้ว 

การประท้วงครั้งนี้มีจุดเริ่มมมาจากการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก ซึ่งที่จริงแล้วลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มาถึงจุดพีคในเดือนเมษายนปีนี้ 

จุดเริ่มต้นของการ 'ขบถ' ของนักศึกษาโคลัมเบีย คือวันที่ 17 เมษายน พวกเขารวมตัวกันตั้งแคมป์ปักหลักประท้วงในมหาวิทยาลัย เรียกว่า Gaza Solidarity Encampment หรือการตั้งแคมป์เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับกาซา 

แต่ในวันรุ่งขึ้น อธิการบดีมหาวิทยาลัย คือ มินูช ชาฟิก ต้องขอร้องให้ตำรวจนิวยอร์กเข้ามาสลายการชุมนุม ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการให้ตำรวจเข้ามาจับนักศึกษา นับตั้งแต่การประท้วงของขบวนการนักศึกษาในยุคสงครามเวียดนาม

แทนที่การประม้วงจะจบลง มันยิ่งหนักข้อขึ้น ไม่ใช่แค่นักศึกษาโคมลัมเบียจะมาร่วมมากขึ้น แต่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็จัดชุมนุมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่ก่อนจะมาดูกันว่าเรื่องมันบานปลายแค่ไหน เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า นักศึกษาต้องการอะไรกันแน่?

หลักการของผู้ชุมนุมที่โคลัมเบียไม่ใช่แค่เรียกร้องให้ยุติสงคราม แต่ยังต้องการให้ทำสิ่งที่เรียกว่า Disinvestment หรือ "ยกเลิกการลงทุน การยุ่งเกี่ยวทางเศรษฐกิจ" กับอิสราเอล

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐ สถาบันหลักๆ ของสหรัฐ แม้แต่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ สนับสนุนอิสราเอล หรือทำ Investment เช่นล่าสุด รัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติเงินช่วยเหลืออิสราเอลถึง  1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (แต่จะให้เงินช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่กาซา 2 พันล้าน จากการประเมินของนักวิเคราะห์) 

เงินช่วยเหลือพวกนี้คือ Investment นั่นคือการลงทุนด้วยภาษีประชาชนอเมริกันกับอิสราเอล

ถามว่าทำไมต้องให้เงินภาษีประชาชนอเมริกันขนาดนั้น? ตอบว่ามีหลายเหตุผล แต่จะเลือกตอบแค่บางข้อ หนึ่งในนั้นคือเพราะเป็นเงื่อนทางการเมืองภายในสหรัฐฯ เช่น แรงสนับสนุนของนักการเมืองอเมริกันฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาจากกลุ่ม Christian zionist คือกลุ่มคริสเตียนที่เชื่อว่า "จะต้องมีรัฐอิสราเอลสำหรับคนยิว" เพื่อที่จะทำให้คำพยากรณ์ทางศาสนาของพวกเขาเป็นจริง

คริสเตียนที่เชื่อในลัทธิไซออนเหล่านี้พร้อมที่จะโหวตให้นักการเมืองที่สนับสนุนอิสราเอล และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คริสเตียนกลุ่มนี้มีคะแนนเสียงไม่น้อยเลย

ลัทธิไซออน (Zionist) คือแนวคิดที่เชื่อว่าปาเลสไตน์คือดินแดนที่พระเจ้ามอบให้ชาวยิว และชาวยิวจะต้องกลับไปดินแดนแห่งนั้นเพื่อสร้างแผ่นดินของตนเอง นี่คือที่มาของการสร้างรัฐอิสรเอลทับกับรัฐปาเลสไตน์

บางคนอาจจะไม่เชื่อว่าอเมริกันจะเอาความเชื่อทางศาสนามาปนกับการเมืองได้ขนาดนี้ แต่เชื่อเถอะว่านี่คือเรื่องจริง แต่เป็นแค่ส่วนเสี้ยวเดียวเท่าน้ัน เอาจริงๆ การเมืองอนุรักษ์นิยมที่ทำให้รีพับลิกันเป็นใหญ่ ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้นำ และทำให้เงินคนอเมริกันไหลเข้าสู่อิสราเอลไม่หยุด ก็เพราะความเชื่อทางศาสนา

เพราะความเชื่อแบบนี้เองที่ทำให้ศาสนจักรในสหรัฐฯ มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนอิสราเอลแบบสุดขั้ว แต่ก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่จะเอาศาสนาไปโยงกับการเมืองโลก และยิ่งไปเกี่ยวกับการเข่นฆ่าระหว่างคนยิวและคนปาเลสไตน์ 

โดยเฉพาะคนปาเลสไตน์นั้นไม่มีใครให้ Investment เวลามีความขัดแย้งจึงเกิดปัญหาด้านมนุษยชนมาโดยตลอด ทำให้ชาวคริสต์ในศาสนจักรอื่นๆ ที่ไม่สนับสนุนลัทธิไซออน พากันสลดใจและหันมาทำ Disinvestment กับอิสราเอล

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000 แล้วที่ศาสนจักรต่างๆ ในสหรัฐฯ เช่น Presbyterian Church และ United Church of Christ รวมถึง United Methodist Church ได้ทำ Disinvestment กับอิสราเอล ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือการที่ศาสนจักรเลิกรับเงิน เลิกช่วยเหลือทางการเงิน เลิกยุ่งเกี่ยวบริษัทหรือองค์ใดๆ ที่สนับสนุนอิสราเอล

อย่าง United Methodist Church ถึงกับมีแถลงการณ์บอกว่า “คริสตจักรยูไนเต็ดเมธอดิสต์ไม่ควรได้รับผลกำไรจากการยึดครองที่ดินของชาวปาเลสไตน์โดยผิดกฎหมายของอิสราเอล หรือการทำลายบ้านเรือน สวนผลไม้ และชีวิตของชาวปาเลสไตน์” และบอกว่า "เรามุ่งมั่นที่จะให้แน่ใจว่าเงินนิกายของเราถูกใช้ในลักษณะที่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกับคำสอนของพระคริสต์”

เราจะเห็นว่า ศาสนจักรอเมริกัน ซึ่งมีเป็นร้อยๆ ศาสนจักรนั้น มีแนวคิดมักจะแบ่งเป็นสองฝ่ายคือหนุนกับไม่หนุนไซออนิสต์

ความแตกต่างนี้ยังสะท้อนถึงการเมืองในสหรัฐฯ ด้วย ที่แบ่งออกเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เชื่อในศาสนานำการเมืองและการช่วยอิสราเอลคือภารกิจของชาวคริสต์ กลุ่มนี้คือพวกรีพับลิกัน อีกกลุ่มคือพวกเดโมแครต ที่เชื่อในหลักศาสนาเพื่อผู้ถูกกดขี่ หลักสิทธิมนุษยชน และอิสราเอลกับปาเลสไตน์ควรอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ช่วยให้อิสราเอลเอาเปรียบปาเลสไตน์

นอกจาก ศาสนจักรแล้ว สถาบันการศึกษาชั้นสูงคือพวกมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ทำ Disinvestment กันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่มติของมหาวิทยาลัย เป็นมติขององค์กรนักศึกษาต่างๆ ที่เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย "เลิกเกี่ยวข้องทางการเงิน" กับอิสราเอล 

ล่าสุด แนวคิด Disinvestment กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการประท้วงที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เราจะเห็นว่าหนึ่งในองค์กรที่ผลักดันแนวคิดนี้ คือ Columbia University Apartheid Divest (CUAD) ที่แปลว่า "มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเพื่อการระงับลงทุนกับการแบ่งแยกเชื้อชาติ" ซึ่งการแบ่งแยกเชื้อชาติหมายถึงการกระทำของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยในแผ่นดินของพวกเขาเอง

CUAD ผลักดันให้มีการทำประชามติในหมู่นักศึกษาเพื่อทำ Disinvestment ปรากฏว่าผลโหวตที่ออกมาในวันที่ 22 เมษายน สนับสนุนให้ทำเช่นนั้น 

โปรดทราบว่าหลังจากทราบผลโหวต นักศึกษาพากันร่วมรับประทานอาหารเฉลิมฉลอเทศกาลปัสคา หรือ Passover อันเป็นเทศกาลของชาวยิว นั่นก็เพราะนักศึกษาที่ประท้วงอิสราเอล ไมได้ประท้วงต่อต้านชาวยิว ตรงกันข้าม นักศึกษาชาวยิวที่สนับสนุนปาเลสไตน์ก็เข้าร่วมการประท้วงด้วยซ้ำ และแกนนำประท้วงยังรวมถึงองค์กรชาวยิวที่ต่อต้านลัทธิไซออนและการตั้งรัฐอิสราเอลรวมถึงการกดขี่ชาวปาเลสไตน์ นั่นคือ Jewish Voice for Peace (JVP)

แต่แล้วสถานการณ์กลับรุนแรงขึ้น เมื่อนักศึกษาได้ข่าวมาว่า มหาวิทยาลัยเตรียทมที่จะเรียกกองกำลังป้องกันชาติประจำรัฐนิวยอร์ก (New York Army National Guard) มาจัดการกับนักศึกษา พูดง่ายๆ ก็คือจะเรียกทหารมาสลายการชุมนุมนั่นเอง

การเรียก National Guard ยิ่งทำให้นึกถึงการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เรียกใช้ทหารมากำราบผู้ประท้วง จนมีนักศึกษาเสียชีวิต 4 คนที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตท หรือกรณี Kent State massacre จนเป็นตราบาปของ "ประเทศประชาธิปไตยเบอร์หนึ่ง" มาถึงทุกวันนี้ 

การประท้วงยังคงดำเนินอยู่ ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ มีการจับกุมนักศึกษาจำนวนหนึ่ง และมีการจัด "ม็อบชนม็อบ" ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนปาเลสไตน์กับกลุ่มที่สนับสนุนอิสราเอล ในเวลาเดียวกัน นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่างก็ "ลุกฮือ" ต่อต้านอิสราเอลและลัทธิไซออนกันอย่างพร้อมเพรียง

ดูเหมือนว่าแม้จะมีการกวาดล้างที่โคลัมเบีย แต่ยากที่จะควบคุบสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ แล้ว 

มีอีกประเด็นหนึ่งที่ควรจะทำความเข้าใจไว้ด้วย คือเราจะเห็นมีทั้งฝ่ายชาวยิวที่หนุนปาเลสไตน์และต่อต้านปาเลสไตน์มาชุมนุมต้านกันเอง นั่นสะท้อนว่านี่คือ "ประเด็นทางการเมือง"

แต่นักศึกษาที่ประท้วงอิสราเอลกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก "ต่อต้านชาวยิว" (Antisemitism)

"ต่อต้านชาวยิว" เป็นข้อหาที่หนักมากในโลกตะวันตก เพราะโยงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น ประเทศตะวันตกจึงระมัดระวังไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งหรือเหยียดเชื้อชาติชาวยิว เพราะเกรงว่าอาจนำไปสู่กระแสสังคมที่ลงเอยแบบสมัยสงครามโลก

แต่การเหยียดชาวยิวกับการเหยียดรัฐอิสราเอลควรจะแยกเป็นสองเรื่อง เพราะไม่ใช่ชาวยิวทุกคนที่อยู่ในอิสราเอล และไม่ใช่ชาวยิวทุกคนที่สนับสนุนอิสราเอล หลายคนต่อต้านและสาปแช่งด้วยซ้ำ เช่น ยิวนิกายออร์ทอดอกซ์บางสายที่ชี้ว่าการตั้งรัฐอิสราเอล ถือเป็นการขัดประสงค์ของพระเจ้า

ไมเคิล นิวแมน (Michael Neumann) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยเทรน ในมณฑลออนแทริโอ ประเทศแคนาดา แสดงความเห็นหลังจากที่มหาวิทยาลัยในออนแทรีโอมีมติ Disinvestment เขาบอกว่า การคว่ำบาตรนี้ไม่ใช่การต่อต้านคนยิว เพราะเป้าหมายคืออิสราเอล ไม่ใช่ชาวยิว

โปรดทราบว่า ไมเคิล นิวแมน เป็นชาวยิว และเป็นลูกของชาวยิวอพยพ

แต่ตอนนี้กลายเป็น Antisemitism เริ่มแรงขึ้นจริงๆ ในสหรัฐฯ นักศึกษาชาวยิวในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เช่น ระดับไอวี่ลีก รายงานว่าพวกเขาถูกคุกคามและเหยียดเชื้อชาติ โดยเฉพาะหลังจากเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ผลก็คือ เมื่อปีที่แล้วผู้บริหารระดับสูง 2 คนของมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี่ลีกต้องลาออก (หรือถูกกดดันให้ออก?) เพราะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ 

แต่ Antisemitism ก็ดูเหมือนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจะเล่นงานคนที่ต่อต้านรัฐอิสราเอลด้วย ตัวอย่างก็คือ กรณีของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เนมัต ชาฟิก อธิการบดีมาวิยาลัยถูกคณะกรรมการสภาการศึกษาและแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา เรียกสอบเรื่อง Antisemitism

กรรมการฯ ถามอธิการบดีว่า นักเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยมีคำขวัญว่า “จากแม่น้ำสู่ทะเล ปาเลสไตน์จะเป็นอิสระ” คำกล่าวนี้ถือเป็นการต่อต้านคนยิวหรือไม่?

เธอตอบแบบแย่งรับแบ่งสู้ว่า บางคนก็อาจคิดว่ามันต้านยิว แต่บางคนอาจไม่คิดแบบนั้น

โปรดอ่านอีกครั้งแล้ววิเคราะห์ประโยคดูว่า “จากแม่น้ำสู่ทะเล ปาเลสไตน์จะเป็นอิสระ” มันต้านยิวหรือไม่?

การถามแบบนี้สะท้อนว่าอำนาจรัฐอเมริกันพยายามทำให้ทุกเรื่องที่ต้านอิสราเอลและสนัยนุนปาเลสไตน์เป็น Antisemitism 

แล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน คณะกรรมการสภาการศึกษาและแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา เรียกตัวอธิการบดีมหาวิทยาลัยโคลอมเบียไปให้ให้การเรื่องการต่อต้านชาวยิวในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียอีกครั้ง 

การเรียกตัวนี้มีคิวมาตั้งนานแล้ว แต่มันบังเอิญที่สถานการที่มหาวทยัลยระอุพอดี เพราะจะมีการเรียกทหารเข้ามาสลายการชุมนุม

มันจึงสะท้อนถึงการที่รัฐอเมริกัน (ที่มี Investment กับอิสราเอลอย่างหนัก) จ้องที่จะเล่นงานมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาและอาจารย์ที่ขับเคลื่อนแนวคิด Disinvestment กับอิสราเอล

เมื่อรัฐบาลและสถาบันหลักของชาติเป็นเสียอย่างนี้ ไม่ให้นักศึกษาขบถก็แปลกแล้ว

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo by Leonardo Munoz / AFP

TAGS: #มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย #อิสราเอล #ปาเลสไตน์