จับตาจีนคุมทุนในกำมือ ตั้ง 'ทีมชาติการเงิน' แต่ว่ามันคืออะไรกันแน่?

จับตาจีนคุมทุนในกำมือ ตั้ง 'ทีมชาติการเงิน' แต่ว่ามันคืออะไรกันแน่?

จากการรายงานของ Radio Free Asia ภาคภาษาจีนรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญครั้งที่ 9 ของสภาประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 14 ได้สิ้นสุดลงที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน ตามเว็บไซต์สภาประชาชนแห่งชาติจีน เหลียวมิน (廖岷) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจทางการเงิน และดำเนินการวิจัยพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์และแก้ไขสถานการณ์ความรับผิดชอบ 

รายละเอียดของรายงานของ เหลียวหมิน ระบุว่าจีนจะมุ่งเน้นไปที่การสร้าง "ทีมชาติ" ทางการเงิน (金融国家队) เพื่อศึกษาและร่างแผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างการจัดการทุนทางการเงินของรัฐ และเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและการปรับโครงสร้างของทุนทางการเงินของรัฐ เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทนำของทุนทางการเงินของรัฐในตลาดอย่างเต็มที่ ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นในการสร้างการแลกเปลี่ยนระดับโลก และส่งเสริมวิสาหกิจทางการเงินขนาดใหญ่ของรัฐให้เป็นมาตรฐานเทียบกับสถาบันการเงินระดับโลก 

เหตุผลเบื้องหลังการตั้งทีมการเงินแห่งชาติ?
แม้ว่าตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นจะตอบรับกับข่าวการตั้งทีมชาติการเงินด้วยดี รวมถึงนักวิจารณ์ตลาดในจีนก็ประสานเสียงรับความคิดริเริ่มนี้ แต่ถ้ามองจากมุมมองภายนอกจีน การตั้งทีมชาติการเงินดูจะเป็นการรวบอำนาจของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการควบคุมตลาดการเงิน และอาจจะส่งผลให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ดำเนินการในจีนต้องพิจารณาว่าจะอยู่ในจีนต่อไปหรือจะถอนตัวออกไป

เมื่อมาดูรายละเอียดของรายงานระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทนำทุนทางการเงินของรัฐในตลาดอย่างเต็มที่ โดยเน้นเป็นพิเศษที่ "การสนับสนุนและเสริมสร้างความเป็นผู้นำของพรรค" และ "การมุ่งเน้นความพยายามในการสร้าง "ทีมชาติ" ในอุตสาหกรรมการเงิน ” รายงานยังระบุด้วยว่า "การส่งเสริมวิสาหกิจทางการเงินของรัฐในท้องถิ่นให้มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจหลักและปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ" จากการระบุเหล่านี้สะท้อนถึงการเข้ามามีบทบาทของรัฐฐบาลจีนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ในการควบคุมตลาดทุนมากขึ้นในอนาคต

นักวิเคราะห์บางคนบอกกับสื่อภาษาจีนแห่งหนึ่งว่า สถาบันการเงินหลายแห่งจริงๆ แล้วเป็นของเอกชนและไม่ใช่ทุนของรัฐ ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงต้องการเพิ่มสัดส่วนทุนของรัฐซึ่งหมายถึงการเพิ่มการตรวจสอบภาคการเงิน เราองนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างมากของคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการป้องกันความเสี่ยงของระบบการเงินและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคาร (โดยเฉพาะอยางยิ่งในเวลานี้ จีนกำลังประสบกับวิกฤตภาครอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วปัญหาเกิดจากการปล่อยปละละเลยเรื่องการระดมทุนที่อุดหนุนการลงทุนในตลาดนี้นั่นเอง) 

ทีมชาติการเงินคือการยึดการเงินเป็นของรัฐ
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า รัฐบาลจีนเชื่อว่าสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ของรัฐที่มีอิทธิพลบางแห่ง จะฉุดรั้งธนาคารของประเทศให้ตกต่ำลง ดังนั้น สิ่งที่ต้องการทำตอนนี้คือรวมศูนย์การเงินและรับความเสี่ยงด้วยวิธีแบบสังคมนิยม (คือการควบคุมโดยรัฐ) หรือโอนกิจการที่เป็นของเอกชนเป็นของชาติ (Nationalization) แบบอำพรางโดยไม่ทำให้เห็นว่านี่คือการยึดกิจการโดยรัฐ

สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ของรัฐที่มีอิทธิพลที่เป็นตัวการความวุ่นวายในจีน คือ ธนาคารเงาหรือสถาบันการเงินเงา (影子银行 หรือ Shadow banking system) ซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้แบบไร้ขอบเขต จนทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดความปั่นป่วน 

ทั้งนี้ ธนาคารเงาเป็นผู้ดำเนินการการเงินใต้ดินที่เกิดขึ้นนอกกฎระเบียบและระบบการธนาคารแบบดั้งเดิม ประเทศจีนมีอุตสาหกรรมธนาคารเงาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยสินเชื่อคงค้างของประเทศประมาณ 40% เชื่อมโยงกับกิจกรรมธนาคารเงา จากข้อมูลเมื่อปี 2019 สาเหตุที่ชาวจีนไปพึ่งพาธนาคารเงาก็เพราะนักลงทุนบางคนพบว่าการจัดหาสินเชื่อจากธนาคารหลักของประเทศทั้งสี่แห่งไม่เพียงพอ และยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยง โดยสรุปก็คือ นักลงทุนหลักเลี่ยงธนาคารในระบบที่มีการควบคุมความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ โดยไปพุ่งพาธนาคารเงาที่ไม่ระวังการปล่อยกู้ ผลก็คือ เมื่อจีนมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ทำให้ระบบการเงินทั้งระบบตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างรวดเร็วและในวงกว้าง 
 
Photo by Pedro Pardo / AFP

TAGS: #จีน #ทีมชาติการเงิน