EXCLUSIVE ทักษิณดอดพบอันวาร์ที่ภูเก็ต เคลียร์สามจังหวัดใต้และดีลลับกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา?

EXCLUSIVE ทักษิณดอดพบอันวาร์ที่ภูเก็ต เคลียร์สามจังหวัดใต้และดีลลับกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา?

แหล่งข่าวของ The Better เผยว่า ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปพบปะกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ระหว่างที่ ทักษิณ เดินทางไปจังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 

แหล่งข่าวหนึ่งยืนยันกับเราว่า ทักษิณ เดินทางไปพบกับ อันวาร์ จริง อีกแหล่งข่าวเผยว่า อันวาร์ เดินทางมาแวะเปลี่ยนเครื่อง (Transit) ที่ภูเก็ต และเป็นจังหวะที่ได้พบกับทักษิณ

แหล่งข่าวไม่ได้เปิดเผยว่า ทั้งสองพบปะกันด้วยสาเหตุใด และหารือเรื่องอะไร? 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวไม่เผยชื่อบอกกับ The Better ว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 2- 3 สัปดาห์ก่อนที่ ทักษิณ จะไปพบกับ อันวาร์ ทักษิณ แสดงความจำนงค์ที่จะเดินทางไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

แต่ ทักษิณ ถูกทัดทานจากนักการเมืองจากกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ควรเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากอาจสะกิดบาดแผลอันเป็นเหตุแห่งความวุ่นวายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปัญหาชายแดนใต้รุนแรงขึ้นมาและลุกลามยืดเยื้อ เนื่องจากเกิดกรณีสำคัญๆ เหล่านี้คือ เหตุการณ์กรือเซะ เมื่อที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 34 คน และกรณีตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน และถูกจับกุมประมาณ 1,300 คน

แต่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ทักษิณ ไม่ได้เลือกไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ต โดยในฉากหน้านั้น ทักษิณ "เดินทางไปพักผ่อนส่วนตัว" และมีกิจกรรมที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องซีเรียส เช่น ไปสวนน้ำอันดามันดาของลูกชาย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติไทยพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การมาเยือนภูเก็ตของ ทักษิณ ไม่ธรรมดาในตัวมันเอง เพราะมีคนระดับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และข้าราชการระดับสูงในภูเก็ต มาร่วมให้การต้อนรับ 

หลังจากนั้นจึงมีข่าวว่าการมาภูเก็ตก็ไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะ ทักษิณ มาพบกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองคนไม่เคยมีข่าวมาก่อนว่าสนิทสนมกัน

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าทั้งสองน่าจะพูดคุยกันเรื่องอะไร แต่มีปัจจัยแวดล้อมหลายเรื่องที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการพบปะกันครั้งนี้ 

1. ในช่วงต้นหรือกลางเดือนเมษายน 2567 ทักษิณ มีแสดงความกระตือรือร้นก่อนหน้านี้ที่จะลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ทราบเจตนาว่าต้องการลงพื้นที่ดังกล่าวเพราะเหตุใด

2. อันวาร์ มีความกระตือรือร้นที่จะ "ช่วย" เป็นคนกลางเจรจาแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยแสดงท่าทีชัดเจนตั้งแต่การพบปะกับนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่แล้ว คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสันติภาพในภาคใต้เป็นความสำคัญสูงสุด และยังเปลี่ยนตัวผู้แทนเจรจาของมาเลเซียมาเป็นทหารมืออาชีพ

3. ในการพบปะกับ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กับ อันวาร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้มากเท่ากับเมื่อครั้งที่พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม 2567 เศรษฐา ทวีสิน ได้ต่อสายตรงคุยกับ อันวาร์ หารือเรื่องความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ในช่วงรอมฎอน

จากปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ จึงทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่า ทักษิณ น่าจะพบอันวาร์เพื่อหารือเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องกัน คือ ความไม่สงบในเมียนมา ทักษิณ และ อันวาร์ น่าจะหารือกันเรื่องนี้ด้วย โดยมีปัจจัยแวดล้อมดังนี้ 

1.อันวาร์ มักแสดงความต้องการให้ไทยมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาในเมียนมา ตั้งแต่การพบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว และหลังจากไทยเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ยังแสดงความคาดหวังต่อไทยมาโดยตลอดให้ช่วยแก้ปัญหานี้ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่า ทั้งกองทัพและฝ่ายการเมืองของไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในเมียนมาผ่านกลุ่มต่างๆ ทั้งกองทัพเมียนมาและชนกลุ่มน้อยต่างๆ 

2. ก่อนหน้าที่จะมีการพบปะกับ อันวาร์ ย้อนกลับไปในวันที่ 13 เมษายน ทักษิณ ได้พบกับชนผู้นำกองกำลังชนกลุ่มต่างๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทริปอำพรางของ ทักษิณ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ แต่กลายเป็นว่าเขาประชุมร่วมกับชนกลุ่มน้อยที่กำลังรบกับกองทัพเมียนมา และยังติดต่อกับกองทัพเมียนมาด้วยต่อไม่มีการตอบรับ ทำให้เขากลายเป็น "คนกลาง" ในการเจรจา ซึ่งอาจนำไปสู่การหยุดยิงของทั้งสองฝ่ายหรือไม่? 

3. การพบปะลับๆ ที่เชียงใหม่ สะท้อนต้นทุนของ ทักษิณ ต่อการแก้ไขความขัดแย้งในเมียนมา เพราะย้อนกลับไปในสมัยที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลทักษิณหนึ่ง) รัฐบาลทักษิณ เป็นคนกลางเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมาและชนกลุ่มน้อยมาแล้วรวมถึงชนกลุ่มน่อยที่มาคุยล่าสุดที่เชียงใหม่ด้วย นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Bangkok Process คือการเจรจาที่ผลักดันโดยรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เพื่อทำให้สองฝ่ายหยุดยิง และผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย

ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ ทำให้เราวเคราะห์ได้ว่า ทักษิณกับ อันวาร์ จะต้องหารือเรื่องเมียนมาด้วย เพราะเป็นอีกเรื่องที่ อันวาร์ กระตือรือร้นมาโดยตลอด และ ทักษิณ ก็เป็นเพียงไม่กี่คนในอาเซียนที่สามารถดีลให้เกิดข้อสรุปบางอย่างในเมียนมาได้ 

แต่ในเวลาเดียวกัน ทักษิณ (รวมถึงรัฐบาลเศรษฐา) ก็ต้องการ อันวาร์ ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ด้วย 

นี่คือบทวิเคราะห์การพบปะลับๆ กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียของทักษิณที่ภูเก็ต และการดอดไปคุยเพื่อช่วยดีลกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา ที่เชียงใหม่ 

รายงานพิเศษและบทวิเคราะห์ โดยทีมข่าวการเมือง และทีมข่าวต่างประเทศ The Better

  • Thaksin Shinawatra Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
  • Anwar Ibrahim Photo by Tobias SCHWARZ / AFP
  • General Zaw Min Htun Photo by AFP
TAGS: #ทักษิณ #ชินวัตร #อันวาร์ #อิบราฮิม #เมียนมา