หลังจากมีกระแสข่าวจากการรายงานของสำนักข่าวชายขอบ ว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางไปร่วมประชุมกับบรรดาผู้นำกองกำลังชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ที่เชียงใหม่ The Better ได้ขยายความผ่านการวิเคราะห์ท่าทีนี้ของ ทักษิณ ว่ามีความสำคัญแค่ไหน และทำไมถึงต้องเป็น ทักษิณ ที่ทำหน้าที่เป็น 'คนกลาง' ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับกองทัพเมียนมาหรือรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา
ล่าสุด The Better ได้รับรายงานข่าวมาว่า การประชุมกับผู้นำชนกลุ่มน้อยที่เชียงใหม่นั้น ทักษิณ ได้พูดคุยแบบตัวต่อตัวกับผู้นำกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่เป็นการประชุมพร้อมหน้ากันของทุกกลุ่ม
จากการรายงานของสำนักข่าวชายขอบผู้นำและตัวแทนของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่พบกับ ทักษิณ คือ ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP)องค์การแห่งชาติคะฉิ่น Kachin National Organization (KNO) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) หลังจากนั้นยังมีตัวแทนของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้เข้าพบกับ ทักษิณ
ทั้งนี้ ในระหว่างการคุยกับผู้นำและตัวแทนชนกลุ่มน้อย สำนักข่าวชายชอบได้เผยว่า กองกำลังชนกลุ่มน้อยแสดงความต้องการให้ "ทักษิณเข้ามามีบทบาทในการทางออกของสงครามระหว่าง SAC (กองทัพเมียนมา) และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้าน ทั้งนี้นายทักษิณได้ให้ความสนใจ และหลังจากนั้นได้พยายามหาทางติดต่อกับผู้นำ SAC เพื่อต้องการทัศนะต่างๆ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆจาก SAC"
แหล่งข่าวได้เผยกับ The Better ด้วยว่า ทักษิณ มีความสนิทสนมกับ พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำของ SAC (กองทัพเมียนมา) ด้วย
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ทักษิณ ยังมีต้นทุนสูงมากในการคลี่คลายปัญหาในเมียนมา จากเดิมที่เคยมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน 'กระบวนการกรุงเทพ' หรือ Bangkok Process มาก่อนในสมัยที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประงานงานเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะ KNU
แต่หลังหมดอำนาจ (อย่างเป็นทางการ) แล้ว ทักษิณ ก็ยังคงเคลื่อนไหวพบปะกับผู้มีอำนาจในเมียนมาอยู่เป็นระยะ เช่น เมื่อเดือนเมษายน 2013 ทักษิณ เดินทางไปพบ มินอ่องหล่าย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เมืองปยีนอู้ลวีน ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานทหารของกองทัพเทียนมา ในเวลานั้น ทักษิณ ยังได้พรมน้ำสงกรานต์ให้กับ มินอ่องหล่าย ตามธรรมเนียมสงกรานต์ด้วย และยังมีข่าวว่า ทักษิณ ซื้อบ้านในเมืองปยีนอู้ลวีน
เรื่องนี้น่าจะตอบคำถามได้ว่า ทักษิณ สนิทกับ มินอ่องหล่าย ไหม? และสนิทกันถึงขนาดต่อสายคุยกับ SAC (กองทัพเมียนมา) ได้จริงหรือไม่?
ในเวลาเดียวกับที่มีข่าวว่า ทักษิณ คุยกับชนกลุ่มน้อยและพยายามติดต่อกับกองทัพเมียนมา หนึ่งในเครือข่าย 'ทักษิณ คอนเนกชั่น' อีกคนหนึ่งก็เดินสายไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชา
ความสนิทสนมระหว่าง ฮุน เซน กับทักษิณเป็นที่ประจักษ์ชัดมานานหลายปี และตอกย้ำอีกครั้งหลังจากที่ ทักษิณ ได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาล บุคคลแรกที่มาพบเขาที่ลบ้านพักในกรุงเทพฯ (และเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกด้วย) คือ ฮุน เซน
ในเวลาที่ข่าวการประชุมที่เชียงใหม่เผยออกมา (แม้ว่าจะประชุมกันเมื่อวันที่ 13 เมษายน ก็ตาม) สำนักข่าว AFP รายงานว่า ฮุน เซน ได้ต่อสายตรงคุยกับ มินอ่องหล่าย เพื่อแสดงความจำนงค์ที่จะขอพูดคุยกับ อองซานซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถูก มินอ่องหล่าย ยึดอำนาจไป
ฮุน เซน ต้องการที่จะวิดิโอคอลกับ อองซานซูจี โดยไม่ได้บอกเหตุผลอะไรไว้ แต่บอกแค่ว่า มินอ่องหล่าย รับคำร้องขของ ฮุน เซน "ด้วยความตระหนักรู้อย่างสูงสุด"
ฮุน เซน เป็นใครถึงสามารถขอเรื่องที่คนทั้งโลกขอไม่ได้จากทหารเมียนมา? ต้องตอบว่า ฮุน เซน ใหญ่ขนาดที่ มินอ่องหล่าย ขอให้เป็น 'พี่บุญธรรม' มาแล้ว
ฮุน เซน ไม่ใช่แค่พี่บุญธรรมของ มินอ่องหล่าย แต่ยังเป็นน้องบุญธรรมของ ทักษิณ ด้วย อย่างการพบกันของ ทักษิณ และ ฮุน เซน ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งล่าสุด ฮุน เซน เรียกทักษิณว่าเป็น 'พี่บุญธรรม'
นั่นหมายความว่าในบรรดา ทักษิณ, ฮุน เซน และมินอ่องหล่าย นั้น "ทักษิณเป็นพี่ใหญ่"
แต่ ฮุน เซน มีเครดิตแค่นี้เท่านั้นกับการแก้ปัญหาในเมียนมา เพราะกัมพูชาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับสงครามกลางเมือง ตรงกันข้ามไทย (โดยเฉพาะเจาะจง คือ กองทัพไทยและทักษิณ) ที่มีส่วนนำคัญมากๆ ต่อสงครามกลางเมืองในเมียนมา
อาจเป็นไปได้ว่า ทักษิณ อาจจะขอให้ ฮุน เซน ช่วยอีกแรงในการประสานงานคุยกับ อองซานซูจี ซึ่งว่ากันตามตรงไม่ได้มีพลังในการชี้เป็นชี้ตายความขัดแย้งในเมียนมามักสักเท่าไรแล้ว
แต่ทำไมต้องติดต่อกับ อองซานซูจี? เป็นไปได้ว่านี่คือการเดินเครื่องการเจรจาให้ครอบคลุมทุกฝ่ายให้มากที่สุด โดยที่เจ้าภาพหรือคนกลางคือทักษิณ ซึ่ง ทักษิณ จะเป็นคนอาสาทำเองหรือมีคนร้องขอให้เขาทำหน้าที่นี่หรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
แต่มี "คำบอกใบ้" สำคัญอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ การเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่การรบที่เมียวดีเกิดความพลิกผัน หลังจากที่กองทัพชนกลุ่มน้อยที่สวามิภักดิ์กับกองทัพเมียนมา ที่ก่อนหน้านี้ "เลิกคบ" กองทัพเมียนมาแล้ววางตัวเป็นการหลางในความขัดแย้ง จู่ๆ ก็ "แปรพักตร์" หันมาช่วยกองทัพเมียนมาอีกครั้ง ทำให้พื้นที่สำคัญของเมียวดีตกเป็นของกองกำลังนี้และกองทัพเมียนมา นั่นคือ กองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) ฝ่ายกะเหรี่ยง ที่นำโดย 'ซอ จิ ตู'
ทราบกันดีว่า เมียวดีเป็นฐานที่มั่นที่ใหญ่ที่สุด "แห่งสุดท้าย" ของโซนธุรกิจจีนเทาในขณะที่โซนจีนเทาที่อื่นๆ ในเมียนมาถูกกำราบจนเกือบหมดแล้ว
ธุรกิจจีนเทาพวกนี้มีกองทัพเมียนมาและ BGF คอยคุ้มหัวให้และเป็นแหล่งรายได้ให้กองกำลังฝ่ายนี้ เมียวดีจึงเป็นแหล่งเงินแหล่งทองให้กับฝ่ายทหารเมียนมาและ BGF
แต่แล้ว เมื่อวันที่ 7 เมษายน The Irrawaddy รายงานว่า กองกำลัง BGF มีคำสั่งให้พวกจีนเทาออกไปจากเมียวดีให้หมดภายในวันที่ 31 ตุลาคม พร้อมกับออกประกาศคำสั่งเป็น 3 ภาษา คือ พม่า, อังกฤษ และจีน
ท่าทีนี้ถือว่าเซอร์ไพรสพอสมควร เพราะแทนที่กองทัพเมียนมากับ BGF จะหากินกับพวกจีนเทาต่อไป กลับไล่ออกไปจากเมียวดี เท่ากับแสดงจุดยืน "ไม่เอาจีนเทา"
จุดยืนนี้เป็นจุดยืนของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย (บางกลุ่ม) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยได้รับการ 'อนุมัติ' (หรือนัยหนึ่งคือการสนับสนุน) จากจีน
ดังนั้น เป็นไปได้ไหมว่ากองทัพเมียนมาเปลี่ยนจุดยืนแล้วเพราะยอมรับแรงกดดันจากจีน นั่นหมายความว่า จีนไม่จำเป็นต้องหนุนชนกลุ่มน้อยอีก และถึงเวลาที่จะต้องถ่วงดุลระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่ายนี้
นอกจากจีนจะเป็นคนกลางเจรจาแล้ว ก็มีแต่ไทยนี่แหละที่พอจะทำหน้าที่นี้ได้ เพราะมีส่วนส่วนเสียในเมียนมารองมาจากจีน
ในหมู่คนไทย คงไม่มีใครมีภาษีดีเท่ากับคนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อีกแล้ว
รายงานพิเศษโดย ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
- Chief Senior General Min Aung Hlaing Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP
- Former Thai Prime Minister Thaksin Shinawatra Photo by Manan VATSYAYANA / AFP