เมื่อกลางเดือนเมษายน มีข่าวสั้นๆ แต่สะเทือนใจวงการทุกเรียนไทยข่าวหนึ่ง คือ "ทุเรียนเวียดนามแซงหน้าทุเรียนไทยในตลาดจีนแล้ว" จากสถิติไตรมาสแรกของปีนี้
ทุเรียนจากเวียดนามครองตลาดจีนถึง 61.7% ตามด้วยทุเรียนไทย 36.9% และทุเรียนฟิลิปปินส์ 1.4%
เหตุผลคืออะไร? เราสามารถวิเคราะห์ได้หลายแง่มุม แง่มุมหนึ่งคือ "ราคา" จากรายงานเราจะพบว่า ราคาทุเรียนเวียดนามถูกกว่าไทย คือ 4,916 ดอลลาร์ต่อเมตริกกัน เทียบกับทุเรียนไทยราคา 6,133 ดอลลาร์ต่อเมตริก
ทำไมราคาถูกกว่า? เพราะเวียดนามมีพรมแดนติดกับจีนโดยตรงกับเขตปกครองตนเองกว่างซี-จ้วง จึงลดค่าขนส่งที่จะแฝงไปกับราคาทุเรียนได้ เอาเข้าจริงผลไม้ไทยก็ต้องผ่านด่านที่เวียดนามก่อนที่จะไปถึงตลาดกลางที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี-จ้วง
ไทยจึงเสียเปรียบเรื่องนี้ เพราะต้องแข่งกับเวียดนามด้วยแถมยังต้องอาศัยข้ามแดนเวียดนามเข้าไปส่งสินค้าในจีนอีก
บางคนบอกว่า "ทุเรียนไทยอร่อยกว่า ทำไมถึงขายในจีนได้น้อย?" เรื่องอร่อยมากอร่อยน้อยเป็นเรื่องของลิ้นแต่ละคน แต่ถ้าจะวัดความนิยมกันแบบคร่าวๆ แล้ว เรื่องความถูกปากของทุเรียนมักจะมีคู่ที่วัดกันได้ไม่กี่ราย นั่นคือคือ ไทยกับมาเลเซีย
หลายปีไม่นานนัก ทุเรียนไทยกับทำเรียนมาเลเซียแข่งกันเป็นเจ้าความนิยมในตลาดจีน เมื่อถามถึงความอร่อย คนจีนมักบอกจะว่า "ทุเรียนมาเลย์ถูกปากกว่า" เพราะเขาชอบเนื้อเละๆ สุกๆ ต่างจากไทยที่ชอบห่ามๆ แบบกรอบนอกนุ่มใน
ขนาดมีช่วงหนึ่งที่คนมาเลย์สบประมาทว่าคนไทยกินทุเรียนไม่เป็น ส่วนคนจีนก็สงสัยว่าทำไมคนไทยกินทุเรียนดิบ?
แต่เรื่องรสชาติไม่ใช่ประเด็นที่เราจะวิเคราะห์ ถ้าจะพูดถึงรสชาติแล้ว ทำไมตอนนี้มาเลเซียถึงตกกระป๋องจากตลาดจีนไปได้?
ดังนั้นมันน่าจะมีอะไรมากกว่าราคาถูกกว่า รสชาติถูกปากคนจีนมากกว่า หรือขนส่งสะดวกกว่า
จากการวิเคราะห์ข้อมูลแวดล้อม เราชื่อว่าการครองแชมป์ของทุเรียนเวียดนามและการเข้าสู่อันดับ 3 ของทุเรียนฟิลิปปินส์ (ทั้งที่ขนส่งก็ลำบากแถมชื่อเสียงก็ไม่ได้โด่งดัง) "มีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง"
เพราะจีนเพิ่งจะให้ทุเรียนและผลไม้เวียดนามไปค้าขายในจีนผ่านช่องทางการค้าปกติได้ในปี 2022 นี่เอง
ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนาม "ไม่ดีเอามากๆ" เพราะความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์และหมู่เกาะพาราเซล หรือพูดสั้นๆ ก็คือ "จีนกับเวียดนามแย่งเกาะกับน่านน้ำในทะเลจีนใต้" ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้แม้แต่นิดเดียว
ขนาดที่ว่า เวียดนามเลือกที่จะเข้าหาสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเพื่อมาเป็น "ดุลอำนาจ" กับจีน ขนาดที่ว่าให้เรือรบของตะวันตกมาจอดที่เวียดนาม แล้วแล่นต่อไปยั่วยุจีนแถวทะเลจีนใต้
ก่อนปี 2020 ทั้งสองประเทศปะทะกันค่อนข้างรุนแรงเรื่องทะเลจีนใต้ ถึงขนาดที่มีช่วงหนึ่งที่จีนขู่จะโจมตีฐานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของเวียดนาม "ในพื้นที่พิพาท" และจีนยังโจมตีเรืองประมงเวียดนามที่เข้าไปในพื้นที่ที่จีนอ้างสิทธิอยู่บ่อยๆ
นอกจากจะตีกันในทะเลแล้วยังตีกันในโลกไซเบอร์ด้วย ต่างฝ่ายต่างใช้กองทัพแฮกเกอร์ของตัวเองโจมตีเป้าหมายออนไลน์ของกันและกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 ถือเป็นจุดพีคของสงครามแฮกเกอร์เลยทีเดียว
ชาติตะวันตกรวมถึงญี่ปุ่นก็รู้ดีว่าทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันแรง จึงพยายามใช้ยุทธวิธี "แบ่งแยกและยั่วยุ" ด้วยการพยายามชวนเวียดนามให้มาเป็นพวกของตน
แต่เวียดนามมีแผนการในใจอยู่แล้ว
เพราะก่อนที่ กมลา แฮร์ริส จะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้นำระดับรองประธานาธิบดีคนแรกที่เดินทางเยือนเวียดนาม (เพื่อซื้อใจ) ในเดือนสิงหาคม 2021 นายกรัฐมนตรี ฝั่ม มิญ จิ๊ญ ของเวียดนามยืนยันกับทูตจีนประจำเวียดนามว่า เวียดนามจะไม่เป็นพันธมิตรต่อต้านจีน ที่ฟอร์มทีมโดยสหรัฐและพันธมิตรและเคลือนไหวนักแล้วในตอนนั้น
ไม่ใช่แค่นั้น เวียดนามยังจะย้ำว่าทั้งจีนและเวียดนามควรเข้าร่วมอาเซียนเพื่อเจรจา แม้ว่ามันจะยาวนานกว่าจะได้ข้อสรุป (แต่ก็ดีว่าลงไม้ลงมือกัน)
ฝ่ายจีนก็ขอเวียดนามว่า (ในเมื่อเวียดนามไม่ยอมเป็นพวกตะวันตกที่ข้องเล่นงานจีนแล้ว) น่าจะช่วยจีนประณามพวกชาติตะวันตกที่ตอนนั้นใช้การระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องมือโจมตีจีนด้วย
ในเดือนกรกฎาคมปี 2022 เวียดนามกับจีนก็ "คืนดีกัน" ด้วยการที่จีนเปิดให้ทุเรียนเวียดนามเข้าไปขายในตลาดจีนด้วยเส้นทางปกติได้
ผลก็คือทุกเรียนเวียดนามไหลเข้าไปในจีนอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในช่วงกลางปี 2023 ก็เริ่มมีข่าวว่า ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์กำลังแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดจีนกัน
ถึงตอนนั้นไทยเราน่าจะสงสัยแล้วว่า ทำไมเวียดนามชิงส่วนแบ่งไทยในจีนได้เร็วขนาดนี้แล้วฟิลิปปินส์มาจากไหน และมาเลเซียหายไปไหน?
จนเมื่อถึงเดือนตุลาคมปี 2023 ยังไม่มีวี่แววว่าเวียดนามกำลังจะแซงไทย ณ เวลานั้น ไทยยังครองอันดับหนึ่งในตลาดทุเรียนจีนด้วยมูลค่าประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเวียดนามที่มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์
ตอนนั้นสื่อของเวียดนามยังรายงานงานว่า "ในขณะที่การส่งออกทุเรียนของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวียดนามยังคงตามหลังไทย และมีแนวโน้มที่จะยังคงล้าหลังต่อไปในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเวียดนามมีโรงงานบรรจุหีบห่อเพียง 300-400 แห่ง ในขณะที่ประเทศไทยมีโรงงานหลายพันแห่ง"
แต่เชื่อหรือไม่ว่านับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 หรือเริ่มไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วจนถึงเดือนมีนาคมหรือสิ้นไตรมาสแรกของปี 2024 เวียดนามใช้เวลาเพียงครึ่งปีในการแซงไทยไปเรียบร้อยแล้ว
ตอนนี้เหลือแค่ "พื้นที่" เดียวที่เวียดนามยังไม่เข้าตีในสมรภูมิชิงตลาดทุเรียน นั่นคือ จีนยังไม่ยอมเปิดให้เวียดนามขายทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งยังเป็นพื้นที่ที่ไทยยัง "หากิน" ได้อย่างสบายใจ
แต่เวียดนามรบเร้าจีนครั้งแล้วครั้งเล่าให้จีนเปิดตลาดทุเรียนแช่แข็งให้เวียดนาม ซึ่งหากจีนเช่นนั้น อุตสาหกรรมทุเรียนไทยพ่ายแพ้ยับเยินแน่นอน
แต่เราวิเคราะห์ว่า จีนจะไม่ยอมเปิดตลาดนี้ให้เวียดนาม เพราะมันคือเครื่องมือสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจการค้าและการเมืองกับชาติในอาเซียน
เวียดนามเป็นกลุ่มที่จีนต้อง "ซื้อใจ" โดยด่วน เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์
ส่วนไทยกับมาเลเซียนั้นเป็น "ของตาย" ไม่จำเป็นต้องช่วยซื้อให้มาก เพราะไม่ถือเป็นประเทศที่เป็น "เสี้ยนหนามต่อความมั่นคง" ของจีน
นี่คือการ "ใช้การค้าเป็นอาวุธ" หรือ Trade weaponization ซึ่งจีนเรียนรู้ได้รวดเร็วหลังการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ (และเคยใช้มาแล้วตอนที่ฟิลิปปินส์แข็งกร้าวกับจีนเรื่องน่านน้ำทะเลจีนใต้ ปรากฎว่ากล้วยของฟิลิปปินส์ถูกแบนอย่างหนัก ดังนั้น น่าสงสัยว่าทำไมจีนที่ทะเลาะกับฟิลิปปินส์หนักกว่าเดิมเรื่องทะเลจีนใต้ ถึงยิ่งเปิดให้กล้วยจากฟิลิปปินส์เข้าตลาดของตนได้มากขั้น ยังไม่นับการแห่นำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์จนเขี่ยมาเลเซียได้ ทั้งๆ ที่ที่ไม่เคย "อยู่ในสายตา" ของผู้บริโภคเลย?)
แต่จีนก็น่าจะตระหนักว่าหากเอาการค้ามาเล่นการเมืองมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ไทยไม่ไว้ใจได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความหมิ่นเหม่ทางการเมืองขึ้น
ดังนั้น ในเวลาต่อมาสำนักข่าวซินหัวของจีน (ภาคภาษาไทย) จึงรายงานว่า "หลายชาติมุ่งส่งออก 'ทุเรียน' ตีตลาดจีน ทุเรียนไทยเสี่ยงไม่ได้ 'ยืนหนึ่ง' อีกต่อไป"
คำว่า "ทุเรียนไทยเสี่ยงไม่ได้ 'ยืนหนึ่ง' อีกต่อไป" ฟังแล้วชวนให้คิดได้หลายอย่าง ทั้งอาจมองว่าเป็นคำเตือนด้วยความหวังดี เพราะจีนก็ยังให้ไทยส่งทุเรียนเข้าไปเช่นเดิม เพราะการที่ทุกชาติยิ่งขยันส่งทุเรียนเข้าจีนเข้าไปมาก ตัวเลือกยิ่งเยอะราคายิ่งถูกลง เป็นประโยนช์ต่อผู้บริโภคชาวจีน
แต่ประโยค "ทุเรียนไทยเสี่ยงไม่ได้ 'ยืนหนึ่ง' อีกต่อไป" ก็อาจเป็นคำเตือนได้เหมือนกัน เพราะจีนคงตระหนักว่าว่า "ไทยคิดไม่เหมือนใครในอาเซียน"
โปรดทราบว่าผลสำรวจความเห็นของ ASEAN Studies Centre at ISEAS - Yusof Ishak Institute เรื่องความเห็นของอาเซียนต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนและสหรัฐฯ นั้น ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอัตราความกังวลต่ออิทธิพลจีนและสหรัฐฯ เกือบจะเท่าๆ กับ
นั่นคือ ไทยกังวลจีน 84% ไทยกังวลสหรัฐฯ 80% อัตราส่วนความกังวลแบบนี้ไม่มีในประเทศอื่นๆ นั่นหมายความว่าไทยระวังมหาอำนาจค่อนข้างมาก และดูจะ "ไม่เข้าข้างใคร" หรือพูดอีกอย่างก็คือ "เป็นพวกซื้อใจได้ยาก"
ในขณะที่เวียดนามกังวลกับอิทธิพลของจีนถึง 96% โปรสหรัฐฯถึง 55%
ส่วนฟิลิปปินส์กังวลกับอิทธิพลจีน 81% แต่โปรสหรัฐฯ 69%
พวกนี้จึงเป็นเป้าหมายในการ "ซื้อใจ" โดยใช้การค้าและการลงทุน ในหนึ่งก็เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นมิตร สกัดกั้นการปะทะกัน และป้องกันไม่ใช้ทั้งสองชาติหันไป "โปรสหรัฐฯ" เพราะมีโอกาสที่ทั้งสองจะยอมให้ตะวันตกมาใช้ดินแดนตนเป็นฐานท้าทายจีน อย่างที่เคยทำมาแล้ว
อีกชาติที่มีสัดส่วนคล้ายๆ กันคือเมียนมา แต่เมียนมา "ควบคุมสถานการณ์" ได้ยาก เพราะมีสงครามกลางเมือง และจีนต้องทำงานอย่างหนักเพื่อถ่วงดุลฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา
ทุเรียนไทยที่อร่อยๆ นั้นมีที่มาจากตะนาวศรี ซึ่งเคยเป็นของไทยแต่ตอนนี้เป็นดินแดนของเมียนมา แล้วเมียนมาก็ไม่ได้พัฒนาทุเรียนตะนาวศรีให้เลื่องลือ
ดังนั้น จีนจึงไม่มีโอกาสใช้ "การทูตทุเรียน" กับประเทศนี้
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP