ฉวีจิ้ง (璩静) คือชื่อของหญิงสาวที่มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานและหัวหน้าแผนกสื่อสารสาธารณะของ 'ไป่ตู้' (Baidu) บริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีชั้นนำของจีน เธอกลายเป็นคนที่ทำตัวเองเป็นจุดสนใจของคนทั้งประเทศ (และตอนนี้ดังไปทั่วโลกแล้ว) แต่ดังในทางไม่ดี และเกือบทำบริษัทต้องอับจนไปด้วย
ฉวีจิ้ง นับเป็นคนที่เติบโตในหน้าที่การงานเร็วคนหนึ่ง เธอเคยดำรงตำแหน่งนักข่าวให้กับสำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ต่อมาเป็นรองประธานฝ่ายกิจการสาธารณะและรัฐบาลของบริษัทหัวเหวย (Huawei) และล่าสุด คือ หัวหน้าฝ่ายกิจการสื่อของจีน และรองประธานและหัวหน้าแผนกสื่อสารสาธารณะของไป่ตู้ (Baidu) เรียกได้ว่าเคยผ่านงานสื่อสารองค์กรขององค์กรหลักๆ ของจีนมาแล้วทั้งระดับรัฐและระดับเอกชน
เธอน่าจะเติบโตในวงการไปได้อีก ถ้าเกิดว่าเธอไม่หิวแสงเกินไป เรื่องมันมีอยู่ว่า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2024 ฉวีจิ้งได้เปิดบัญชีบนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นโต่วอิน (Douyin) ซึ่งเป็น Tiktok เวอร์ชั่นจีน โดยเธอใช้ชื่อว่า "ฉันคือฉวีจิ้ง 「我是璩(qú)靜」 พร้อมบอกตำแหน่งในบริษัทเสร็จสรรพ ปรากฎว่าบัญชีนี้ของเธอมีผู้เข้ามาติดตามถึง 950,000 รายภายใน 5 วัน การมีคนติดตามขนาดนี้ในเวลาสั้นขนาดนั้น ถือว่าแปลกเอามากๆ แต่เรื่องนี้จะยังเป็นประเด็นเงียบๆ ต่อไปอีกระยะ เพราะเธอมีเรื่องอื่นที่ทำให้คนสนใจมากกว่า
เพราะในเวลาเดียวกัน ฉวีจิ้ง ได้รับความนิยมบนอินเทอร์เน็ตเนื่องจากคำพูดสุดโต่งและทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันในสังคม จนกระทั่งคำพูดของเธอปรากฏอยู่ในรายการค้นหายอดนิยมหลายรายการ โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ฉวีจิ้ง ปล่อยวิดีโอแรกของเธอ เธอก็โพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง
เช่น "เมื่อพนักงานเลิกกันแฟน แล้วอยากจะลาออก ฉันก็จะอนุมัติทันที" และบอกว่า “และฉันไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องเข้าใจว่าคุณจะร้องไห้หรือไม่ ไม่ว่าคุณจะทะเลาะ (กับแฟน) กันหรือไม่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันควรใส่ใจในฐานะหัวหน้างาน”
เธอยังบอกว่า "ทำไมเราจึงควรคำนึงถึงครอบครัวของพนักงานด้วย" และย้ำว่าเธอไม่ต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของพนักงาน "เพราะฉันไม่ใช่แม่ผัวของคุณซะหน่อย"
เธอยังปล่อยประโยคเจ็บๆ ที่ทิ่มแทงหัวใจคนทำงานอีกหลายประโยค เช่น "ต้องพร้อมกับงานตลอด 24 ชั่วโมงและพร้อมถูกใช้งานตลอดเวลา"
และยังบอกว่า “เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะต้องไม่ลาพักร้อน”
ความหิวแสงโซเชียลของเธอไม่ได้กำจัดอยู่แค่ตัวเอง แต่ยังต้องการให้เป็นกันทั้งบริษัท เพราะยังมีรายงานว่า เดิมที ฉวีจิ้ง ได้ร้องขอภายในบริษัทไป๋ตู้เมื่อปลายเดือนเมษายนว่าพนักงานทุกคนในแผนกประชาสัมพันธ์จะต้องเปิดบัญชีโซเชียลมีเดีย เช่น Douyin และเสี่ยงหงซู (Xiaohongshu) ซึ่งเป็นแพลฟอร์มที่คล้ายกับ Pinterest กับ Instagram ของจีน โดยบังคับให้พนักงานต้องเปิดบัญชีก่อนวันที่ 2 พฤษภาคม นอกจากนี้ จะต้องนับจำนวนการอัปเดตโพสต์ด้วย และเนื้อหาที่ส่งจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของไป๋ตู้ หากพนักงานไม่เต็มใจที่จะทำตามคำสั่งนี้หรือไม่สามารถเผยแพร่เนื้อหาสื่อด้วยตนเอง ก็จะมีผลต่อการประเมินประสิทธิภาพการทำงานประจำปี
การทำงานแบบไร้หัวใจและการบีบบังคับพนักงานจนเกินเหตุ ทำให้สังคมจีนวิจารณ์เธออย่างรุนแรง และมีการขุดคุ้ยจนพบข้อมูลว่า เธอซื้อบัญชีโซเชียล และทำการซื้อคนติดตาม และซื้อเอนเกจเมนต์ ดังนั้น มันจึงปปลอมทั้งหมด นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เธอถูกโจมตีหนักขึ้นเรื่อยๆ
แต่สาเหตุที่คนจีนไม่พอใจเธอที่สุด ก็เพราะสิ่งที่เธอทำสวนทางกับค่านิยมของคนหนุ่มสาวจีนในตอนนี้ ที่ไม่ต้องการทำงานแบบเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อทุ่มเทให้กับองค์กรหรือที่เรียกว่าค่านิยม 'ชั่วโมงทำงาน996' (996工作制) ได้ชื่อมาจากข้อกำหนดให้พนักงานทำงานตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 21.00 น. 6 วันต่อสัปดาห์ เช่น 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 12 ชั่วโมงต่อวัน บริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนหนึ่งได้นำระบบนี้เป็นตารางการทำงานอย่างเป็นทางการของตน นักวิจารณ์โต้แย้งว่าระบบชั่วโมงทำงาน 996 ถือเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานจีน และเรียกมันว่า "ทาสยุคใหม่" ดังนั้น ผู้คนจะเริ่มต่อต้านบริษัทอินเทอร์เน็ตและบริษัทเทคที่ยัง "ใช้งานคนเยี่ยงทาส" และดูเหมือนว่า จุดยืนของ ฉวีจิ้ง จะยิ่งทำให้ผู้คนไม่พอใจบริษัทเทค
ดังนั้น หลังจากที่เธอจุดประเด็นพวกนั้นแล้ว มันเริ่มส่งผลกระทบต่อบริษัท เพราะประชาชนเริ่มตั้งคำถามเรื่องค่านิยมในองค์กรของไป่ตู้ จากการรายงานของ China Business News โดยกล่าวว่าในวันที่ ฉวีจิ้ง พูดจาไม่เข้าหูคนจีนจนทำให้เกิดกระแสต้าน ปรากฏว่าราคาหุ้นฮ่องกงของ Baidu ตกลงไป 2.17% และมูลค่าตลาดก็สูญไปมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ในเวลาเดียวกัน ชาวจีนก็เรียกร้องให้บริษัททำอะไรสักอย่างกับเธอ ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะไม่ใช้บริการของไป่ตู้อีก
เรื่องนี้ยังถูกกระพือโดยสื่อในประเทศ (ซึ่งอิงกับรัฐ) เช่น สำนักข่าวดาวแดง (红星新闻) ในเสฉวน ให้ความเห็นว่าในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไป่ตู้ ฉวีจิ้ง ไม่คำนึงถึงผลกระทบของคำพูดส่วนตัว ยืนกรานที่จะถ่ายทอดค่านิยมในสถานที่ทำงานที่ไม่ดีต่อสังคม ซึ่งเอาเปรียบพนักงานเป็นเครื่องมือและเพิกเฉยต่ออารมณ์ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าไป๋ตู้ล้มเหลวในการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่ทำให้เกิดความคิดเห็นเชิงลบต่อไป่ตู้
นี่คือ 'วิกฤตการณ์พีอาร์' ที่เกิดขึ้นจากรองประธานฝ่ายพีอาร์โดยตรง มันทำลายทั้งความน่าเชื่อถือต่อองค์กรและทำให้คนภายนอกมีทัศนะด้านลบอย่างรุนแรงต่อบริษัทไป่ตู้ไป และคลิปของ ฉวีจิ้ง แทนที่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของไป่ตู้แบบใหม่ๆ มันกลับทำลายภาพลักษณ์องค์กรของไป่ตู้อย่างป่นปี้
ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม ฉวีจิ้ง ออกแถลงการณ์ขอโทษ โดยระบุว่าไม่มีการขอความคิดเห็นของบริษัทก่อนที่จะเผยแพร่วิดีโอดังกล่าว และไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง วิดีโอดังกล่าวไม่ได้แสดงถึงจุดยืนของบริษัท และแง่มุมที่ไม่เหมาะสมในวิดีโอทำให้โลกภายนอกตั้งคำถามถึงค่านิยมองค์กรและวัฒนธรรมการทำธุรกิจ ทำให้เกิดเข้าใจผิดจึงขออภัยอย่างจริงใจ
วันเดียวกันนั้น สื่อจีนรายงานว่า ฉวีจิ้ง ลาออกจากไป่ตู้แล้ว ข้อมูลบุคลากรภายในของไป่ตู้ ยังระบุด้วยว่า ฉวีจิ้ง เป็น "อดีตรองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์"
แต่การลาออกของเธอยังไม่ทำให้เรื่องจบสิ้น เพราะยังมีการแฉพฤติกรรมด้านลบของเธอออกมาอีกเรื่อยๆ และแน่นอนเรื่องนี้กระทบต่อบริษัทเทคใหญ่ๆ อีกด้วย เพราะมันจุดประเด็นให้สังคมยิ่งตั้งคำถามกับค่านิยมใช้งานหนักกับพนักงานและการมีหัวหน้างานที่ไร้หัวใจ ใช้งานพนักงานเยี่ยงทาสโดยไม่ดูดำดูดี อันเป็นปรากฎการณ์ในวงการคนทำงานที่คนจีนกำลังชิงชังอย่างมาก