ใครจะเป็นผู้ชนะ ในสงคราม'ชิป'? ระหว่างจีนหรือสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร 

ใครจะเป็นผู้ชนะ ในสงคราม'ชิป'? ระหว่างจีนหรือสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร 

เบื้องหลังเหตุการณ์

  • เกาหลีใต้จะอัดเงินสนับสนุนการลงทุนชิปและการวิจัยชิปมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านวอน (7.30 พันล้านดอลลาร์) และตั้งเป้าที่จะชนะ "สงคราม" ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จากการรายงานของ Reuters เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 
  • เมื่อวันที่ 15 เมษายน Washington Post รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มเงินเงิน 6.4 พันล้านดอลลาร์แก่ Samsung เพื่อสร้างโรงงานชิปในเท็กซัส โดยเงินนี้อยู่ในรูปของเงินอุดหนุนให้กับบริษัทเกาหลีใต้รายนี้เพื่อสร้างชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูงในสหรัฐฯ 
  • ต้นเดือนเมษายน Bloomberg News รายงานว่า สหรัฐฯ กดดันพันธมิตร ซึ่งรวมถึงเกาหลีใต้และเยอรมนี ให้เข้มงวดกับการควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีน เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ กำลังวางแผนที่จะประชุมในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิป
  • ช่วงกลางเดือนมีนาคม Financial Times รายงานว่า Samsung และ SK hynix ได้หยุดขายอุปกรณ์การผลิตชิปเก่า โดยเป็นการตอบสนองต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการให้พันธมิตรร่วมมือกันปิดกั้นการเข้าถึงชิปของจีน

สงครามชิปทำให้บริษัทกำไรดิ่งไปตามๆ กัน
เมื่อเดือนมกราคม Samsung คาดว่ากำไรของบริษัทจะลดลง 35% ในไตรมาส 4 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก นักวิเคราะห์กล่าวว่าผลมาจากกำไรที่ต่ำกว่าคาดจากธุรกิจการผลิตชิป โปรเซสเซอร์มือถือ โทรทัศน์ และเครื่องใช้ในบ้าน

ณ เวลานั้น Samsung เชื่อว่ากำไรจะกระเตื้องขึ้นในปีนี้ แต่การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเปลี่ยนท่าทีกับบรรดาพันธมิตรที่ค้าขายชิปกับจีน เพราะในเดือนมีนาคมและเมษายน รัฐบาลสหรัฐฯ ขับเคลื่อนนโยบายกดดันหนักให้พันธมิตรเลิกขายชิปกับจีน ซึ่งหมายความว่า บริษัทพวกนี้จะสูญเสียตลาดสำคัญของพวกเขาไป

จากข้อมูลของ OEC ในปี 2022 ผู้นำเข้าอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์อันดับต้นๆ ได้แก่ จีน (2.3 หมื่นล้านดอลลาร์) ฮ่องกง (1.83 หมื่นล้านดอลลาร์) สหรัฐอเมริกา (1.66 หมื่นล้านดอลลาร์) เยอรมนี (9.59 พันล้านดอลลาร์) และเนเธอร์แลนด์ (5.44 พันล้านดอลลาร์)

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม การนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์โดยจีนลดลงถึง 15.4% และปริมาณลดลง 10.8% เทียบกับรายงานในปี 2565 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2547 เช่นกัน 

เรื่องนี้มีนัยสำคัญต่อผู้ผลิตชิปไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ หรือไม่เป็นก็ตาม เพราะจีนเป็นผู้นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากเป็นจีนมีสัดส่วนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากของโลก และมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

ในเมื่อผู้ผลิตและตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้าถึงชิปไม่ได้ ผู้ผลิตชิปทั่วโลกก็ขายสินค้าได้น้อยลงอย่างมาก เพราะเฉพาะแค่ตลาดจีนก็มีมูลค่าการนำเข้าชิปมากกว่าสหรัฐฯ เกือบเท่าตัว และถ้ารวมกับฮ่องกงแล้วตัวเขยิ่งสูงจนน่าตกใจ ดังนั้น การกีดกันจีนไม่ห้เข้าถึงชิปด้วยการทำสงครามชิปจึงทำลายอุตสาหกรรมนี้โดยตรง

ไม่น่าแปลกใจที่ช่วงเวลาเดียวกันกับที่การนำเข้าชิปของจีนลดลง รายได้ของบริษัทชิปทั่วโลกโดยเฉพาะบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ลดลงแบบฮวบฮาบเช่นกัน

สหรัฐฯปั๊มเงินแจกแต่พันธมิตรกระอักเลือด
การก่อสงครามชิปของสหรัฐฯ ด้วยการปิดกั้นตลาดจีนทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาลต่อประเทศพันธมิตร แม้แต่เกาหลีใต้ก็เริ่มทนไม่ไหว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 Financial Times ได้รายงานว่า นักการเมืองเกาหลีใต้ที่ชื่อ ยัง ฮยัง-จา ได้เตือนว่าประเทศต่างๆ อาจจะรวมตัวกันเป็นพันธมิตรต่อต้านหากสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบาย "อเมริกามาก่อน" และต่อต้านจีน 

ยัง ฮยัง-จา เคยป็นอดีตวิศวกรชิปและผู้บริหารของ Samsung ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรครัฐบาล และยังเคยเป็นเป็นประธานคณะกรรมาธิกรของรัฐสภาด้านความสามารถในการแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ เธอเตือนว่าหากสหรัฐฯ ยังทำแบบนี้ อาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตรในเอเชีย 

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2566 สหรัฐฯ มีท่าทีอ่อนลงบ้าง โดยยอมให้ Samsung Electronics กับ SK Hynix จัดจำหน่ายอุปกรณ์ชิปให้กับบริษัทอเมริกันที่มีฐานการผลิตในจีนได้ ท่าทีนี้ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก และเมื่อถึงปี 2567 ก็ปรากฎว่าบริษัทชิปเกาหลีใต้มีผลกำไรต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่สหรัฐฯ ก็ยังเร่งให้เกาหลีใต้และประเทศพันธมิตรอื่นๆ กดดันจีนหนักขึ้นไปอีก 

แม้ว่าสหรัฐฯ จะผ่านกฎหมาย CHIPS Act ซึ่งจะมอบเงินอุดหนุนจำนวน 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนให้บริษัทในสหรัฐฯ และต่างประเทศ ในการสร้างธุรกิจชิปในสหรัฐฯ ตัวอย่างก็คือ Samsung ที่เข้าไปในเท็กซัส และ TSMC ที่ให้เข้าไปตั้งฐานในรัฐแอริโซนา 

ประเด็นก็คือจนถึงตอนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เงินไปแล้วประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์แต่มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับเงินอุดหนุนนี้ 

และปัญหาใหญ่ก็คือ ถึงจะดึงฐานการผลิตมาที่สหรัฐฯ แต่เมื่อผลิตแล้วจะขายให้ใคร เพราะตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ในจีน 

จีนจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุดหรือไม่?
จีนเร่งส่งเสริมให้บริษัทในประเทศ เช่น Huawei, SMIC, และ YMTC พัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ เพื่อสร้างระบบที่จีนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่กว่าที่ชาติตะวันตกจะตระหนักในเรื่องนี้ก็สายเกินไป จึงเร่งอัดฉีดเงินให้กับบริษัทของประเทศในเครืออำนาจของตน เพื่อเร่วพัฒนาชิปให้ก้าวหน้าจนจีนตามไม่ทัน และพยายามโดดเดี่ยวจีนด้วยการกีดกันไม่เข้าถึงชิปที่ผลิตโดยประเทศในเครืออำนาจของพวกตน

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของ Bloomberg ชี้ให้เห็นว่าความพยายามของสหรัฐฯ และยุโรปยังคงไม่เพียงพอ เนื่องจากจีนได้ใช้จ่ายเงินสูงถึง 1,42 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จนถึงปัจจุบัน

มีการวิเคราะห์ว่าความพยายามของรัฐบาลจีนและบริษัทต่างๆ ในการสร้างระบบการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมชิปนั้นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น หลังจากที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรหลักได้เสริมสร้างกฎระเบียบทางเทคโนโลยีที่ต่อต้านจีนและเริ่มที่จะควบคุมจีนไม่เข้าถึงชิป การทำแบบนี้ยิ่งทำให้จีนยิ่งเร่งพัฒนาตัวเอง ซึ่งหมายความว่าจีนยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น 

สงครามชิปอาจจะทำให้การพัฒนาชิปของโลกไม่ว่าจะโดยฝ่ายจีนหรือฝ่ายตะวันตกเริ่งเครื่องจนก้าวหน้ามากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว 

Photo by Brendan Smialowski / AFP
 

TAGS: #ชิป #เซมิคอนดักเตอร์ #จีน