ตำนาน 'หอหลวงเชียงตุง' วังของเจ้าฟ้าไทขึน ถูกพม่าระเบิดทำลายแต่แล้วพม่าก็สร้างให้ใหม่  

ตำนาน 'หอหลวงเชียงตุง' วังของเจ้าฟ้าไทขึน ถูกพม่าระเบิดทำลายแต่แล้วพม่าก็สร้างให้ใหม่  

ตอนนี้ข่าวคราวการรบในเมียนมาดูจะเงียบลงไป ในเวลาเดียวกัน พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารก็ยังเดินสายไม่หยุดเช่นกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นงานประจำไปแล้ว เพราะแทนที่จะปักหลักเป็นที่เป็นทางในช่วงที่สถานการณ์ของกองทัพเมียนมากำลังคับขัน แต่ มินอ่องหล่าย ขึ้นเหนือล่องใต้ไม่หยุด

ไม่รู้ว่านี่เป็นกลยุทธ์ "ขงเบ้งตีขิม" หรือเปล่า (นั่นคือแสร้งทำเป็นไม่รู่ร้อนรู้หนาว ก็เพื่อลวงฝ่ายศัตรู เพราะเบื้องหลังกำแพงเมืองนั้นสถานการณ์หม่นเหม่เอามากๆ)

หมินอ่องหล่าย ไป 'ชิล' บ่อยมากแถวๆ รัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ชนกลุ่มน้อยไม่กี่แห่งที่ยังคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ แม้แต่ลงทุนบินไปไหว้ 'ครูบา' แถวนั้นก็ทำมาแล้ว ล่าสุด บินไปที่เมืองเชียงตุง เพื่อเป็นประธานเปิด 'หอหลวง'

ใครที่สนใจประวัติศาสตร์บ้างก็คงทราบว่าเชียงตุงเป็นรัฐเจ้าฟ้าไทยใหญ่รัฐหนึ่ง แต่เป็นคนแถวนี้เรียกตัวเองว่าเป็น 'ไทขึน' หรือ 'ไทเขิน' รัฐเชียงตุงก็เรียกว่า 'เมืองขึน' เช่นกัน มีผู้ปกครองเฉพาะซึ่งมีสถานะเป็น 'เจ้าฟ้า' แต่ถือเป็นรัฐประเทศราชภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรพม่ายุคต่างๆ จนกระทั่งอาณาจักรพม่าสมัยราชวงศ์โก้นบองสิ้นสุดลงเพราะแพ้สงครามกับอังกฤษ เมืองเชียงตุงและรัฐฉานต่างๆ ก็ขึ้นกับอังกฤษ

เจ้าฟ้าเชียงตุงมีที่ประทับเป็นวังที่เรียกว่า 'หอหลวง' เหมือนกับเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทุกพระองค์ที่จะวังหรือหอหลวงประจำรัฐ (หรือเมือง) หอหลวงหลายแห่งมักจะมีสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่หรือพม่า แต่ที่เชียงตุงแปลกตากว่าที่อื่นตรงที่เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบอินเดีย-ตะวันตก 

เหตุที่หอหลวงเชียงตุงหน้าเป็นลูกครึ่งแบบนี้ เพราะท่านผู้สร้างคือ เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงท่านเคยไปร่วมงาน 'ชุมนุมเจ้า ณ เดลลี' (Delhi Durbar) ซึ่งเป็นการชุมนุมของบรรดา 'เจ้า' คือเจ้าฟ้า, กษัตริย์, มหาราช, สุลต่าน ฯลฯ ของรัฐต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ งานนี้จัดขึ้นที่เมืองเดลีเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระจักรพรรดิแห่งอินเดีย คือ กษัตริย์อังกฤษ เนื่องมาจากในเวลานั้นพม่าและรัฐไทยใหญ่ต่างๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ 'บริติชอินเดีย' ไม่ได้เป็นอาณานิคมต่างหาก พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงต้องไปร่วมงานที่เดลีด้วย 

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงไปอินเดียเห็นสถาปัตยกรรมแขกผสมฝรั่งก็พอพระทัย นำแนวคิดกลับมาเพื่อสร้างหอหลวงของพระองค์ด้วย จนหอหลวงนี้เป็นที่เชิดหน้าชูตาเมืองเชียงตุงอย่างมาก แม้แต่ในหมู่เมืองต่างๆ ของรัฐฉานก็หาตึกที่งดงามเท่านี้ได้ยาก

ส่วนเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงเองก็มีสถานะไม่ธรรมดา เพราะมีอิทธิพลสูงมากในดินแดนรัฐฉานภาคตะวันออก อีกทั้งดินแดนรัฐฉานตะวันออกมีความสำคัญตรงที่เป็นดินแดนติดต่อกับอินโดจีนของฝรั่งเศส (ลาว) และตอนใต้ยังต่อกับภาคเหนือของไทย ส่วนตอนเหนือติดต่อกับจีน จึงเป็นดินแดนกันชนที่สำคัญของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ

ที่ต้องกันชนเพราะเมื่อประเทศพวกนี้แข็งแกร่งขึ้นมาก็มักจะรุกรานเชียงตุงเพื่อยึดเอามาครอง เช่นกรณีของไทย รุกรานเชียงตุงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมแล้วสองรัชกาลนี้ส่งกองทัพจะไปยึดเชียงตุงถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ 

ไทยมาทำสำเร็จ (ชั่วคราว) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยส่งกองทัพขึ้นมาผนวกดินแดนเชียงตุงและรัฐฉานอีกจำนวนหนึ่งรวมถึงพื้นที่ของรัฐกะยา แล้วสถาปนา 'สหรัฐไทยเดิม' แต่ก็ต้องคืนให้อังกฤษหลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2

หอหลวงแห่งนี้สร้างในปี ค.ศ. 1903 หรือ พ.ศ. 2446 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1906 หรือ พ.ศ. 2449 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นเชียงตุงอยู่ในช่วงเวลาอันแสนโรแมนติกภายใต้การปกครองของอังกฤษที่ค่อนข้างให้อำนาจปกครองตัวเองให้กับเจ้าฟ้าค่อนข้างมาก ชีวิตชาววังในหอหลวงจึงน่าจะเหมือนชีวิตในฝัน ดังที่ละครไทยจินตนาการกัน

แต่หอหลวงแห่งนี้เคยเกิดเหตุนองเลือดถึงขนาดเป็นเหตุระดับ Regicide (ปลงพระชนม์เจ้าแผ่นดิน) ขึ้น

เหตุมาจาก เมื่อเจ้าก้อนแก้วอินแถลงถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้ากองไท ซึ่งเป็นราชบุตรคนที่ 4 ได้ครองเมืองเชียงตุงต่อจากพระบิดา โดยก่อนหน้านั้นท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระบิดาให้เป็น 'เจ้าแกมเมือง' หรือตำแหน่งรัชทายาท ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเรื่องสืบทอดบัลลังก์ แต่จริงๆ แล้ว "มีปัญหา" เพราะเจ้ากองไทเกิดแต่หม่อมที่เป็นสามัญชน ไม่ได้เป็นโอรสที่เกิดแต่มหาเทวี ด้วยสถานะแบบนี้ท่านจึงเคยเกิดความไม่มั่นใจว่าตนเองไม่น่าจะได้เป็นเจ้าฟ้าต่อจากพระบิดา แต่พระบิดาก็ทรงยืนยันการตั้งให้ท่านเป็นอุปราชรัชทายาท

เจ้าฟ้ากองไทครองเมืองเชียงตุงได้เพียง 9 เดือน หรือ 162 วันก็ถูกคนร้ายลอบปลงพระชนม์ที่หอหลวงนั่นเอง ในระหว่างที่ท่านกำลังประกอบงานบุญวันเข้าพรรษา ผู้ที่ลั่นไกสังการคือเจ้าสีหะ หลานชายของเจ้าฟ้ากองไท และได้ทำการซัดทอดไปถึงคนสนิทของเจ้าพรหมลือ ทำให้เกิดเสียงร่ำลือเจ้าพรหมลืออาจจะเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ แม้แต่อังกฤษก็สงสัยว่าเจ้าพรหมลืออาจจะมีส่วน แต่ก็ไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงแต่อย่างใด  

เจ้าพรหมลือนั้นเป็นพี่น้องกับเจ้ากองไทนั่นเอง หากเป็นคนละแม่เพราะเกิดแต่พระมหาเทวี แต่ก็เป็นสหชาติคือเกิดร่วมปีเดียวกับเจ้าฟ้ากองไท อีกทั้งทั้งสองท่านก็สนิทสนมกัน ดังนั้นจึงมีปริศนาหลายประการเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมที่หอหลวง เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เจ้าพรหมลือนั้นพบรักกับเจ้าหญิงเมืองลำปาง คือเจ้าทิพวรรณ ได้พบรักกันเมื่อครั้งเจ้าพรหมลือมาเที่ยวไทยก่อนจะไปศึกษาต่อที่อังกฤษ จนกระทั่งเจ้าพรหมลือกับเจ้าทิพวรรณคิดจะสมรสกัน 

แต่เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงขนาดทรงห้ามปราม เพราะเกี่ยวข้องกับทายาทของผู้ปกครองเชียงตุงอันเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษกับเจ้าหญิง 'เมืองประเทศราช' ของประเทศสยาม ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสยามกับอังกฤษได้ แม้ว่าทั้งสองท่านจะได้ครองคู่กันในที่สุด แต่ประเด็นการเมืองเรื่องความรักข้ามพรมแดน ก็เป็นเรื่องที่น่าจะนำมาพิจารณาด้วย เพราะอาจทำให้อังกฤษจับตาและไม่พอใจเจ้าพรหมลือนับแต่นั้น

ในช่วงที่ทำการสืบสวนคดีฆาตกรรมนี้เชียงตุงว่างเว้นไม่มีเจ้าฟ้านานถึง 6 ปี เจ้าพรหมลือนั้นถึงขนาดถูกห้ามไม่ให้เข้ามาอยู่ที่เชียงตุง 

แต่เมื่อผ่านการพิจารณาคดีจนพบว่าไม่มีมลทินเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารแล้ว เจ้าพรหมลือ จึงได้รับการแต่งตั้งจากอังกฤษให้ครองเมืองเชียงตุงในฐานะเจ้าฟ้าต่อมา พระนามว่า เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ

แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ลามมาถึงไทยและพม่า ญี่ปุ่นได้ทำการรุกพม่าโดยผ่านทางไทย ทำให้อังกฤษถอยร่อนไปทางอินเดีย ส่วนรัฐฉานนั้นก็ขาดการปกครองโดยอังกฤษ ทำให้กองทัพไทยยกทัพขึ้นมาแล้วยึดเชียงตุงเอาไว้ได้ 

ท่ามกลางสงคราม หอหลวงก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอะไรนัก และไทยไม่ได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าฟ้า แต่ได้ให้เจ้าฟ้าพรหมลือดำรงตำแหน่งต่อไปโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงตุงดังธรรมเนียม 'พระจักรพรรดิราชสยาม' สถาปนาเจ้าประเทศราชในยุคโบราณ แต่ก็มี 'ข้าหลวง' จากรัฐบาลกลางมาช่วยปกครองในแบบรัฐสมัยใหม่ นั่นคือ พลตรีผิน ชุณหะวัณ รองแม่ทัพกองทัพพายัพ ผู้นำการยกทัพไปเชียงตุงนั่นเอง พร้อมจัดระเบียบการปกครองเชียงตุงในลักษณะจังหวัดหนึ่งของไทย

แต่เชียงตุงก็ตกเป็นของไทยได้แค่ 3 ปี หลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก็ต้องคืนเชียงตุงให้อังกฤษ เจ้าฟ้าพรหมลือไม่คิดจะครองเชียงตุงต่อไปและได้ทรงอพยพมาอยู่ไทยด้วย อาจเป็นเพราะทรงไม่ได้รับความไว้วางใจจากอังกฤษทั้งกรณีลอบสังหารเจ้าฟ้ากองไท และกรณีที่พระองค์ร่วมมือกับรัฐบาลไทยยึดครองเชียงตุง

นับตั้งแต่เจ้าฟ้าพรหมลืออพยพมาอยู่เมืองไทย เชียงตุงก็มีเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ คือ เจ้าจายหลวง มังราย ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าฟ้ากองไท 

เจ้าจายหลวง มังราย ครองหอหลวงได้ 12 ปี พม่าก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมืองไทยใหญ่ต่างๆ ยินยอมที่จะรวมตัวเป็นสหภาพกับพม่า โดยหวังว่าในอนาคตคงจะแยกตัวเป็นรัฐเอกราชได้ ในเวลานั้น เจ้าจายหลวง มังรายตกลงกับพม่าโดยจะยุติบทบาทในฐานะเจ้าฟ้า

แต่หลังจากเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่าได้แค่ 3 ปีก็เกิดการปฏิวัติขึ้นโดยนายพล เน วีน สัญญาต่างๆ ที่พม่าทำไว้กับรัฐชนชาติต่างๆ ถูกฉีกทิ้ง อีกทั้งยังมีการจับกุมผู้นำชาติต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองต่างๆ ถูกจับกุมตัวไปขังคุกที่เรือนจำอินเส่งในย่างกุ้ง รวมถึงเจ้าจายหลวง มังรายก็เผชิญกับชะตากรรมนั้นเช่นกัน เจ้าฟ้าไทยจำนวนหนึ่งถึงกับต้องพิราลัยในเรือนจำ

แต่เคราะห์ดีที่เจ้าจายหลวง มังราย รอกชีวิตมาได้หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังในอีก 6 ปีต่อมา แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้กับไปเชียงตุงอีกตลอดชีวิต บรรดาพระวงศ์เชียงตุงก็ไม่ได้อยู่ในหอหลวงตั้งแต่เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายถูกจับตัวและเนรเทศไปจากแผ่นดิน

หอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุงจึงร้างเจ้าฟ้าแต่บัดนั้น

นับแต่นั้นพม่าและเชียงตุงก็ถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร ความเป็นความตายของผู้คน ตลอดจนถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 'ระบอบเก่า' ก็ขึ้นกับความเมตตาของกองทัพพม่า ซึ่งตามปกติไม่ค่อยจะมีเมตตาอะไรนัก

นับแต่การปฏิวัติโดย นายพล เน วีน หอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุง พวกเจ้านายเชียงตุงก็อยู่ที่ไม่ได้อีก แล้วหอหลวงก็ถูกใช้งานเป็นที่ทำการของรัฐ

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1991 หรือ พ.ศ. 2534 เผด็จการทหารพม่าก็ตัดสินใจทำลายหอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุง

ว่ากันว่าหอหลวงนี้ "เป็นเสี้ยนหนาม" ของทหารพม่า เพราะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความเป็นรัฐเจ้าฟ้าที่ต้องการเป็นอิสระจากพม่า และเป็นศูนย์รวมจิตใจของขบวนการติดอาวุธชาวไทยใหญ่ที่ต่อต้านการรวบอำนาจเผด็จการของทหารพม่า

เสี้ยนหนามแห่งนี้ถูกทำลายลงไปจนเป็นผุยผงแล้วไม่พอ อิฐและหินจากการทำลายหอหลวงยังถูกทหารพม่านำไปปูเป็นถนนในเชียงตุง การเอาขวัญของเมืองมาเป็นดินปูถนนให้คนย่ำนี้ถือเป็นการย่ำยีจิตใจคนไทขึนและไทใหญ่อยู่ไม่น้อย จากนั้นทหารพม่ายังยกที่ดินที่ตั้งของหอหลวงให้กับนายทุนที่ใกล้ชิดทหาร เพื่อสร้างเป็นโรงแรมที่ชื่อ Hotel New Kyaing Tong

ว่ากันว่า Hotel New Kyaing Tong แห่งนี้ "นอนยาก" เพราะร่ำลือกันว่ามีสิ่งที่มองไม่เห็นมักจะมารบกวนแขกที่มาพัก (พูดง่ายๆ คือ ผีดุนั่นเอง) ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุนี้หรือไม่จึงมักไม่มีนักท่องเที่ยวมาพัก แต่มักจะมีพวกทหารมาใช้บริการเป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าหอหลวงจะไม่มีแล้ว แต่หากใครไปชียงตุงคงจะเคยเห็นตามบ้านและร้านค้าคนท้องถิ่น มักจะติดภาพหอหลวงนี้ไว้ ในทำนองเดียวคนไทยติดภาพในหลวงไว้ตามบ้าน เพราะหอหลวงนี้เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าฟ้า อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน

ดังนั้น จิตใจของคนเชียงตุงจึงไม่เคยลืมหอหลวง และมีการเรียกร้องมาโดยตลอดให้สร้างขึ้นมาใหม่

แต่ทหารพม่าก็ไม่ยอมสักที แม้ในยุคประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ ก็ผลักดันกันไม่สำเร็จ

แต่แล้วไม่กี่ปีก่อน มินอ่องหล่าย ก็เดินเครื่องให้สร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางกระแสวิเคราะห์กันว่า มินอ่องหล่าย ต้องการซื้อใจคนท้องถิ่น ซึ่งก็น่าจะมีส่วนจริง เพราะรัฐฉานตะวันออกนั้นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพียงดินแดนชาติพันธุ์เพียงไม่กี่แห่งที่ มินอ่องหล่าย ยังเดินทางไปได้แบบไม่ต้องกังวลว่าจะถูก "สอย" กลางทาง 

จนกระทั่งหอหลวงสร้างเสร็จ และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 มินอ่องหล่าย ก็ดั้นด้นไปเปิดงานด้วยตัวเองพร้อมกับทายาทเจ้าฟ้าเชียงตุง 

แต่ที่น่าพิลึกพิลั่นที่สุดก็คือ หอหลวงแห่งใหม่นี้ไม่ได้สร้างในจุดเดิม แต่อยู่คนละฝั่งกับจุดเดิมโดยมี 'หนองตุง' (ทะเลสาบหนือหนองกลางเมืองเชียงตุง) คั่นกลางไว้ และโรงแรม  Hotel New Kyaing Tong ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Amazing Kengtong Resort ก็ยังอยู่ในจุดเดิมของหอหลวง

ถ้านี่เป็นการซื้อใจแล้วล่ะก็ มันคงการซื้อใจที่ครึ่งกลางๆ และสุกเอาเผากินที่สุดครั้งหนึ่งของนายพลพม่า

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo coutesey of The Irrawaddy

TAGS: #เชียงตุง #เมียนมา