พระเมืองต้นผึ้งของแท้หรือไม่ เก่าจริงหรือเปล่า และเคยเป็นของใคร?

พระเมืองต้นผึ้งของแท้หรือไม่ เก่าจริงหรือเปล่า และเคยเป็นของใคร?

บทความนี้ ผมเขียนเสริมจากการเขียนโพสตฺแบบเร็วๆ ในเชิงแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัว (เฟซบุ๊ค Kornkit Disthan) เกี่ยวกับการค้นพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างๆ ที่บ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง ประเทศ สปป. ลาว ตรงข้ามกับใจกลางเมืองเชียงแสนพอดี (หมายถึงเวียงเชียงแสน คืออำเภอเมืองเชียงแสนที่ตั้งในเขตกำแพงเมืองเก่า) 

การค้นพบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่พบมาตั้งแต่ประมาณต้นเดือนเมษายน พบพระพุทธรูปส่วนใหญ่ขนาดเท่าศอกก็มี ประมาณสองสามศอกก็มี แต่ล่าสุดพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาก กะด้วยสายตาประมาณสี่ศอก พระพุทธรูปองค์นี้เองที่ทำให้คนไทยกับคนไทยและคนไทยกับลาวต้องมีปากเสียงกัน 

Photo - พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบที่ใต้ดินและทรายริมแม่น้ำโขง ที่บ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง ประเทศ สปป.ลาว

ผมเขียนไว้ในเฟซบุ๊คว่า พระพุทธรูปองค์นี้ "ใบหน้าทรวดทรงงามเสียจนผมว้าวในใจ แต่เกิดวิวาทะเรื่อง "พระเก่าพระใหม่" ขึ้นมา บางคนก็ว่า "หน้าจีน" (เพราะคิดว่าจีนมีส่วนเนื่องจากแถวนั้นมี "นิคมจีน" อยู่ไม่ไกล)"

"นิคมจีน" ที่ว่านั้นคือเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแก้ว อยู่เลยเมืองบ่อแก้วไปทางเหนือไปไม่ไกลนัก ประมาณหนึ่งคุ้งแม่น้ำโขงเห็นจะได้ (ตรงสามเหลี่ยมทองคำ) ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลนักลงทุนจีนบางกลุ่มที่มีข้อครหาว่าเป็น "จีนเทา" 

ดังนั้น ตั้งแต่มีข่าวการค้นพบพระพุทธรูปที่ต้นผึ้งช่วงแรกๆ แล้วว่า "เป็นจีนเทาสั่งให้สร้างพระแล้วมาทิ้งไว้ เพื่อสร้างสตอรี่เพื่อเอาไปขายต่อหรือเปล่า" ซึ่งเป็นแท็กติกที่นักสร้างพระใหม่ให้ดูเก่าในเมืองไทยมักนิยมทำกัน

ข้อกล่าวนี้มาจากคนไทยบางกลุ่ม ซึ่งไม่ได้ขึ้นไปตรวจสอบพระพุทธรูปที่พบให้เห็นกับตาเลย แต่ได้กล่าวหาไปแล้ว แน่นอนว่า สร้างความไม่พอใจให้กับคนลาวอยู่ไม่น้อย

จนมาถึงการค้นพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ก็มีการฟันธงจากคนไทยกลุ่มเดิมๆ อีกครั้งว่า พระองค์นี้ปลอมแน่ๆ บางคนนั้นแม้จะไม่มีเครดิตด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์เอาเลย แต่ก็ยังแสดงความเห็นว่าพระองค์นี้ "หน้าจีน" เพราะคิดไปแล้วว่า "พวกจีนเทาทำมาปลอกขายแน่ๆ"

ผมได้ตอบในเฟซบุ๊คไปว่า "ก่อนอื่น พระองค์ล่าสุดที่เจอนั้นหน้าไม่จีนหรอกครับ ถ้าคุ้นพุทธศิลป์ลาวก็จะรู้ว่าคล้ายไปทางพระลาว แต่บางท่านก็ว่าผสมเชียงแสน ซึ่งแม้ว่าผมไม่ถนัดจะฟันธงเรื่องนี้ แต่โดย "ความรู้สึกส่วนตัว" คิดว่าออกไปทางพุทธศิลป์ลาว"

ผมต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า การโพสต์ในเฟซบุ๊คเป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์ และไม่ใช่ "นักเลงพระ" 

แต่ของตอบเสริมในฐานะ "ผู้หลงไหลในประวัติศาสตร์ศิลปะล้านนาและล้านช้าง" ผมขอวิเคราะห์ว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีกลิ่นอายของพระล้านช้างหรือพระลาว เทียบได้กับพระพุทธรูปล้านช้างโบราณตามวัดต่างๆ ในหลวงพระบางหรือเวียงจันทน์ 

แต่ในเวลาเดียวกัน ทรวดทรงและเค้ารางบางอย่างของพระองค์นี้แสดงศิลปะล้านนาแบบเชียงแสน อันเป็นจุดที่พบพระพุทธรูป ด้วยเหตุที่ฝั่งต้นผึ้งของลาวนั้น เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงแสนโบราณมาก่อน

แต่ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า พระองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในยุคหลังๆ จากยุคทองของเชียงแสนแล้ว หรือเป็นยุคที่ศิลปะเชียงแสนผสมกับศิลปะลาวพอสมควรแล้ว 

การส่งต่ออิทธิพลทางศิลปะให้กันและกันนั้นเป็นเรื่องปกติมากในแถบแม่น้ำโขงตั้งแต่เชียงแสนจนถึงหลวงพระบาง เช่น ในหลวงพระบางจะเห็นพระลาวแท้ๆ แต่มีเส้นสายที่คล้ายพระล้านนา บางครั้งคล้ายกับพระสุโขทัยด้วยซ้ำ เนื่องจากหลวงพระบางเป็นญาติทางวัฒนธรรมและกรเมืองกับล้านนาตอนเหนือ (เชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่) และยังติดต่อกับเมืองน่าน (ล้านนาตะวันออก) ซึ่งเมืองน่านนั้นมีศิลปะและวิถีการเมืองใกล้ชิดกับสุโขทัย

ดังนั้น ตามวัดในหลวงพระบาง จึงมีทั้งพระลาวเป็นหลัก มีพระล้านนาเป็นรอง และมีพระน่าน-สุโขทัยเป็นส่วนประกอบ 

Photo -  พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สูง 6 เมตร ที่วัดมโนรมย์ เมืองหลวงพระบาง สร้างสมัยพระเจ้าสามแสนไท แสดงศิลปะน่าน-สุโขทัยอย่างเห็นได้ชัด ภาพนี้องค์พระเสียหาย หลังเกิดกบฏฮ่อปล้นหลวงพระบาง ครั้งนั้นหลวงพระบางยังเป็นเมืองขึ้นของไทย

เช่นเดียวกัน ในเชียงแสนก็ย่อมมีพระเชียงแสนเป็นหลัก และมีพระลาวเป็นรอง และยังน่าจะมีพระลูกผสมแบบเชียงแสนกับล้านช้างด้วย ในทัศนะของผมนั้น พระองค์ใหญ่ที่พบที่เมืองต้นผึ้งควรจะเป็นลูกผสมแบบนั้น

สมัยก่อนนั้น ดินแดนสองฝั่งโขงไม่ใช่เส้นแบ่งอาณาจักร แต่เป็นเส้นทางคมนาคม แม้ว่าทั้งฝั่งขวาและซ้ายของแม่โขงจึงมีวัดแบบล้านนาและวัดแบบลาวในพื้นที่ของตนเอง แต่เมื่อถึงจุดที่สองดินแดนคาบเกี่ยวกันก็จะมีวัดและพระพุทธรูปแบบต่างๆ ผสมกันไป 

ปัจจบันนี้ ผมยังเห็นกับตาว่า ครูบาฝั่งไทยก็ยังข้ามไปฝั่งลาวโดยไม่ต้องอ้อมไปด่าน แต่นั่งเรือนข้ามแม่โขงไปกันเอง ส่วนคนลาวก็ข้ามมางานวัดไทยเช่น นี่คือตัวอย่างของการที่วัฒนธรรมไม่มีเส้นแบ่ง แม้ประเทศจะต่างกัน แต่บรรพบุรุษเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

สรุปก็คือ พระใหญ่องค์นี้ ควรจะเป็นศิลปะผสมผสานแบบเชียงแสนและลาว องค์ประกอบหลักเป็นเชียงแสน (บางคนว่าเชียงแสนสกุลช่างไชยปราการ) แต่มีเส้นสายและลายลักษณ์แบบพระลาว เหมือนพระลาวสวยๆ ที่หลวงพระบางหรือเวียงจันทน์

แต่พระลาวและพระไทยเหนือทั้งปวงที่ผมเคยเห็นนั้น ไม่มีองค์ไหนที่สวยเท่าองค์นี้เลย นีคืองานชั้นครูชัดๆ หากไม่ใช่คนระดับ "เจ้า" หรือคนสร้างระดับ "เทพ" ยากที่จะสร้างพระขนาดนี้และงามเช่นนี้ได้ 

จึงมาถึงอีกคำถามหนึ่งซึ่งผมตอบไป คือ เรื่องพระเก่าพระใหม่ ผมขอตอบก่อนว่าในฐานะที่สนใจศิลปะอยู่บ้าง และตามงานประติมากรแบบประเพณีนิยมร่วมสมัยผมไม่เคยเห็นช่างคนไหนทำงานได้ "โบราณคลาสสิก" เท่ากับองค์ที่พบที่ต้นผึ้ง

ถามว่าเลียนแบบได้ไหม? ตอบว่าย่อมได้ แต่ด้วยเชิงช่างที่ต่างกันผลที่ออกมาจะ "ไม่เนียน" แน่นอน นั่นคือสร้างให้ดูเหมือนพระเก่าได้ แต่คนที่ผ่านตาพระเก่าๆ มามากจะดูออกในเวลาไม่นานว่าของทำเทียมของเก่า

อีกเรื่องก็คือผมเองนั้นตอนแรกผมก็เอะใจ เพราะกะด้วยสายตาตอนแรกสงสัยว่าทำไมองค์ใหญ่ขนาดนี้ถึงได้หล่อได้ตลอดองค์ ซึ่งต่างไปจากพระโบราณที่จะหล่อแยกเป็นชิ้นๆ แล้วต่อเป็นองค์ด้วยลิ่มบ้างหรือด้วยหมุดบ้าง

แต่ต่อมาได้เห็นชัดๆ ว่าพระที่เพิ่งขุดเจอนั้นเต็มไปด้วยรอยต่อและลิ่ม ผมจึงเชื่อว่า "นี่ทำใหม่ยากแล้ว" อีกทั้งพุทธศิลป์ขององค์นี้งามหมดจดมาก ทั้งฐานพระก็พิสดารเกินฝีมือช่างปัจจุบัน ผมจึงเชื่อว่า "ไม่ควรจะเป็นของใหม่"

เห็นแล้วผมนึกถึงพระโบราณที่ผมไปไหว้อยู่บ่อยๆ คือ "หลวงพ่อพระร่วงทองคำ" พระสมัยสุโขทัย ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เดิมท่านอยู่ศรีสัชนาลัย แต่ชลอมาไว้เมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 

หลวงพ่อท่านขนาดน่าจะเท่ากับหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้ง ใหญ่เล็กกว่ากันไม่เกินศอก แต่ท่านหล่อจากทองคำเปล่งปลั่ง 60% หลังจากที่ทางวัดเคลียร์พระวิหารอยู่หลายปีก่อน ผมค่อยเข้าไปดูหลังองค์ได้ จึงเห็นกับตาว่า องค์พระมีรอยต่อทั้งองค์ ที่ไหล่นั้นมีหมุดตอกไว้ รวมแล้ว 9 จุดรอยต่อ

ผมถ่ายภาพแล้วอธิบายไว้อย่างที่เห็นแหละครับ แต่นี่แค่ครึ่งองค์ รอยต่อกลางบั้นเอวนั้นยาวรอบเหมือนองค์ที่พบที่ต้นผึ้ง เพียงแต่ที่ต้นผึ้งต่อด้วยลิ่ม ที่กรุงเทพฯ ต่อด้วยหมุด

Photo - ลักษณะของรอยต่อชิ้นส่วนขององค์พระและการเข้าลิ่มที่ไหล่พระ ด้านหลังหวงพ่อพระร่วงทองคำ ที่พระวิหารวัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ 

ข้างต้นนี้คือที่ผมแสดงความเห็นไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัว

จะขอเพิ่มเติมว่า ผมเขียนเร่งรีบไป คำว่า "ลิ่ม" สามารถแทนด้วยคำว่า "สลัก" ซึ่งตอนนั้นผมคิดไม่ออกว่าจะใช้คำว่าอะไรดี แม้ว่ามันพอจะแทนกันได้ แต่ความสละสลวยและความตรงจุดนั้นยังไม่ดีพอ

การหล่อพระแบบยกส่วนแล้วต่อด้วยสลักนั้น เป็นงานโบราณแท้ๆ มีทั้งพระล้านนาและพระสุโขทัย เพราะนิยมสร้างพระองค์ใหญ่ๆ ขนาดหน้าตักหลายศอก 

ในล้านนานั้นมีพระที่เรียกว่า "พระแสนแซว่" ตอนนี้เหลือแต่พระเศียรขนาดมหึมา เดิมเชิญมาไว้ที่กรุงเพทฯ ต่อมาเชิญกลับไปที่เชียงใหม่ เดิมเชื่อว่าอยู่ที่วัดยางกวง วัดสำคัญของนิกายยางกวงแห่งเชียงใหม่ยุคโบราณ

ที่เรียกว่า "แสนแซว่" เพราะเชื่อว่ามี "แซว่" เป็นแสนๆ หรือนัยหนึ่งคืออุปมาว่ามีจำนวนมากมาย 

"แซว่" นั้นหมายถึงลิ่มหรือตะปูที่เข้าไว้เข้าองค์พระ แต่คำอธิบายนี้ต่างกันไป บางคนว่าเข้าลิ่มองค์พระโลหะใหญ่ๆ แต่ผมไปตรวจพจนานุกรมคำเมืองของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้ว นิยามว่าแซว่นั้นหมายถึงหมุดที่เอาไว้ยึดพระปูนเข้ากับแผ่นโลหะที่ขึ้นรูปองค์พระด้านนอก

Photo -  เศียรพระแสนแซว่ เทียบกับส่วนสูงของหญิงชาวต่างชาติที่ถ่ายภาพคู่กัน เมื่อครั้งที่พระเศียรตั้งอยูที่กรุงเทพฯ 

พระโบราณใหญ่ๆ บางองค์นั้นเป็นโลหะแค่เศียร ส่วนองค์พระเป็นปูนแล้วนำทองแดงมาแผ่ขึ้นรูปครอบไว้ทั้งองค์ประหนึ่งว่าเป็นพระโลหะ จากนั้นก็เอาหมุดหรือแซว่มาตอกทองแดงเอาไว้ให้มั่นจากนั้นค่อยลงรักปิดทอง ดังนั้นหลวงพ่อพระแสนแซว่ที่เชียงใหม่จึงมีแต่เศียรโลหะ เพราะองค์พระน่าจะเป็นปูนนั่นเอง 

พระที่ต้นผึ้งนั้น ผมว่าผมจะไม่กล้าฟันธงอะไรมากเพราะยังไม่เห็นกับตา และยังไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การค้นพบนี้มีน้ำหนักคือการพบ "เสาวิหาร" ที่มีลายปูนปั้นแบบล้านนาโบราณ

หากใครเคยไปวัดล้านนาเก่าๆ เช่น วัดปราสาท ในเวียงเชียงใหม่ก็จะพบเสาแบบเดียวกัน เป็นปูนปั้นรูปสิงสาราสัตว์ในกรอบแปดเปลี่ยม มีแพทเทิร์นแบบล้านนาชัดเจน เสาแบบนี้ยังพบได้บางส่วนที่วัดทุงยูก็มี วัดศรีเกิดก็มี ลักษณะลายแบบนี้มีแต่วัดล้านนาที่เก่าระดับสองร้อยปีขึ้นไป

ก่อนที่จะพบเสานั้น มีการพบพระล็อตแรกๆ ที่พบริมโขง ตอนแรกผมก็สงสัยว่า "คนในวงการปลอมพระเล่นตลกอะไรอีกหรือเปล่า?" แต่พอเห็นเสาต้นนั้นกับการค้นพบบางส่วนของพระธาตุเจดีย์ที่มีแผ่นจังโก (ทองแดงหุ้มพระธาตุ) ผมก็หมดสงสัย

แผ่นทองแดงหรือแผ่นจังโกที่เอาไว้หุ้มพระธาตุเจดีย์ก็ใช่ "แซว่" เช่นกัน ตอนนี้ที่ต้นผึ้งเขาพบแค่ส่วนยอดของพระธาตุกับแผ่นทองแดงที่ขึ้นสนิมในแบบของมัน 

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้งพระไม่ผุ อันนี้ตอบยากเพราะไม่ถนัดโลหะวิทยา แต่ในโลกเรามีการพบประติมากรรมโลหะที่จมน้ำแล้วยังอยู่ดีไม่บุบสลายอยู่มากมาย แม้แต่ในไทยก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

แต่เรื่องโลหะวิทยาเป็นเรื่องที่สร้างขุ่นข้องให้กับคนลาวเป็นอันมาก เพราะ "ผู้เชี่ยวชาญ" บางคนแสดงความเห็นพล่อยๆ โดยไม่ได้ลงพื้นที่และใช้ความเห็นที่ยังไม่ได้รับพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ฟันธงไปแล้วว่า "ปลอมแน่นอน" โดยไม่ได้ดูบริบทแวดล้อมเรื่องประวัติศาสตร์ พุทธศิลป์ และภูมิสถานบ้านเมือง แม้แต่ความเห็นเรื่องโลหะที่แสดงอกไปก็ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์เอาเลย ทำให้คนลาวโกรธหนักขนาด "ด่า" คนไทยเสียๆ หายไปด้วย เรื่องนี้ไม่ควรทำอย่างยิ่งทั้งสองฝ่าย

มาถึงเรื่องสุดท้าย ก็คือจุดที่พบนั้นคือจุดไหนในประวัติศาสตร์?

บางคนบอกว่า "นั่นคือดอนแท่น" สถานที่ตั้งวัดวาอารามสำคัญสมัยเชียงแสน รวมถึงที่ตั้งของพระล้านตื้อ (ที่พบแต่พระเมาลีอันใหญ่โต และบางคนเริ่มโยงว่าพระใหญ่ที่ต้นผึ้งจะเป็นพระเจ้าล้านตื้อหรือเปล่า?) 

ดอนแท่นนั้นมีวัดสำคัญหลายวัด เช่น วัดพระแก้ว วัดพระคำ เป็นสถานที่จัดงานสำคัญทางพระศาสนาและงานหลวงของล้านนา จึงเป็นจุดสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์

แต่ที่ตั้งของดอนแท่นนั้นเป็นปริศนา แม้แต่คนท้องถิ่นก็ยังตกลงกันไม่ได้ นักวิชาการที่เขียนเรื่องพระเจ้าล้านตื้อยังได้แค่สันนิษฐาน 

ส่วนหนึ่งเพราะเมืองเชียงแสนเคยร้างไป เพราะหลังในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น เชียงแสนยังเป็นจุดไม่กี่จุดของล้านนาที่ยังเป็นเมืองขึ้นของพม่า และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้วย ดังนั้นทัพจากกรุงเทพฯ กับทัพจากเมืองล้านนาทั้งปวงที่ปลดปล่อยตัวเองจากเป็นอิสระจากพม่าแล้ว ก็ยกทัพไปตีเชียงแสนให้แตก

การตีเชียงแสนครั้งนั้นยังมีทัพลาวจากเวียงจันทน์ที่นำโยเจ้าอนุวงศ์มาช่วยด้วย ทัพเจ้าอนุวงศ์นั้นยกมาตั้งที่ฝั่งเมืองต้นผึ้ง และมีรายงานว่าเจ้าอนุวงศ์ได้ตัดลำน้ำเพื่อโยกแม่น้ำโขงเพื่อทำให้เชียงแสนเป็นเมืองอกแตก หรือแม่น้ำไหลท่วมผ่ากลาง การทำเช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อดอนแท่นก็เป็นได้ อีกทั้งหลังจากที่ทัพไทย ล้านนา และลาว ตีเชียงแสนได้แล้ว ก็กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินไป ปล่อยให้เมืองร้างหลายสิบปี ช่วงนี้เองที่วัดต่างๆ ในดอนแท่นอาจจะพังทลายลงแม่น้ำไป

ผมสันนิษฐานได้แค่นี้ เพราะเองเป็นผมคนนอกพื้นที่จึงได้แต่ฟังเขาวิเคราะห์ลึกๆ ไม่สามารถสู่รู้เกินผู้รู้ได้ แต่ก็ได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่อง "ดอนแท่น ปริศนาที่เชียงแสน" โดย ฉัตรลดา สินธุสอน ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน (วารสารศิลปากร ปีที่ 57 ฉบับที่ 5) งานวิจัยนี้ไล่เรียงประวัติศาสตร์และการสันนิษฐานที่ตั้งของเกาะดอนแท่นได้รัดกุมดีมาก

ที่ดีมากอีกอย่างคือมีภาพแผนที่เก่าประกอบให้เห็นด้วยว่า เกาะดอนแท่นนั้นเคยอยู่กลางแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับ สภอ.เชียงแสน แต่ตอนนี้หายไปแล้ว บางครั้งเรียกว่า "เกาะดอนแห้ง" ส่วนจุดที่พบพระพุทธรูปที่ฝั่งต้นผึ้ง ผมกะดูแล้วควรจะเป็น "หาดเกาะหลวง" ในแผนที่นี้เป็นแค่หาดทราย ตอนนี้กลายเป็นเกาะจริงๆ ไปแล้ว ปัจจุบันเกาะดอนแห้งคือฝั่งลาว

บางทีพระต่างๆ และพระวิหารเจดีย์ที่ขุดเจออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเกาะดอนแท่นก็ได้ แล้วกระแสน้ำพัดไปตกที่ฝั่งหาดเกาะหลวงที่แต่ก่อนอยู่ประชิดกัน

ปัจจุบันเกาะหาดหลวงก็คือบ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง ที่พบพระพุทธรูปมากมายนั่นอง

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

TAGS: #ต้นผึ้ง #เชียงแสน #พระลาว