สื่ออิหร่านระบุเมื่อวันจันทร์ว่า ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี ของอิหร่านเสียชีวิตหลังจากเฮลิคอปเตอร์ของเขาตกในพื้นที่ภูเขาของประเทศ
นี่คือสิ่งที่เรารู้จนถึงตอนนี้จากการรวบรวมของสำนักข่าว AFP และตอนท้ายคือบทวิเคราะห์สถานการณ์จาก The Better
- เกิดอะไรขึ้นกันแน่? -
เมื่อวันจันทร์ สื่ออิหร่านประกาศว่า ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี เสียชีวิตหลังจากเฮลิคอปเตอร์ที่เขาโดยสารไปด้วยเกิดตก แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการก็ตาม
“ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ เอบราฮิม ไรซี ประสบอุบัติเหตุขณะรับใช้และปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนชาวอิหร่าน และเสียชีวิต” สำนักข่าว Mehr ของอิหร่าน ระบุ พร้อมสำนักข่าวอื่นๆ ที่รายงานข่าวนี้ด้วย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ของรัฐอิหร่านรายงานว่าเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งที่มี เอบราฮิม ไรซี โดยสารไปด้วย ประสบอุบัติเหตุในภูมิภาคจอลฟา ของจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บนภูเขาดิซมาร์ ใกล้เมืองวาร์ซากัน ตามรายงานของสำนักข่าว IRNA ของทางการอิหร่าน
ช่วงเช้าวันจันทร์ พีร์โฮสเซน คูลิแวนด์ หัวหน้าสภาเสี้ยววงเดือนแดงของอิหร่าน กล่าวว่าทีมกู้ภัยได้ระบุตำแหน่งเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวแล้ว และกำลังมุ่งหน้าไปยังจุดเกิดเหตุ
ตอนแรกสถานีโทรทัศน์ของรัฐรายงานว่า “ยังไม่มีสัญญาณ” การเสียชีวิตในหมู่ผู้โดยสาร “ณ ขณะนี้”
ต่อมาสื่อท้องถิ่นได้แชร์ภาพถ่ายหลายภาพที่ดูเหมือนจะเป็นซากเครื่องบินลำดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ เอบราฮิม ไรซี ได้เปิดตัวโครงการเขื่อนร่วมกับ อิลฮัม อาลีเยฟ ประธานาธิบดีของประเทศอาเซอร์ไบจาน ที่บริเวณชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศ
อาหมัด วาฮิดี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอิหร่าน กล่าวถึงอุบัติเหตุครั้งนี้ว่าเป็น "การลงจอดอย่างรุนแรง (กระแทกลง?) เนื่องจากสภาพอากาศ"
ขบวนสัญจรของ ไรซี ประกอบด้วยเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ในนั้น 2 ลำที่ลงจอดอย่างปลอดภัยในเมืองทาบริซ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ
วาฮิดีกล่าวว่า "เป็นการยากที่จะสร้างการสื่อสาร" กับเฮลิคอปเตอร์ลำที่สามที่บรรทุกไรซีอยู่
รัฐมนตรีต่างประเทศ คือ ฮอสเซน อามีร์-อับดอลลาเฮียน ก็อยู่ในเฮลิคอปเตอร์พร้อมกับผู้ว่าการจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออกและอิหม่ามหลักของจังหวัด ตามรายงานของสำนักข่าว IRNA มีรานงานในเวลาต่อมาว่า อับดอลลาเฮียน เสียชีวิตเช่นกัน
- อิหร่านรับมืออย่างไร? -
รายงานของสภาเสี้ยววงเดือนแดง (หรือสภากาชาดสำหรับประเทศมุสลิม) ระบุว่า มีทีมกู้ภัยทั้งหมด 73 ทีมที่เกี่ยวข้องกับการค้นหา โดย IRNA ระบุว่ามีการใช้สุนัขค้นหาและโดรน
เจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมด้วยหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติ และตำรวจก็ถูกส่งไปยังพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน โมฮัมหมัด บาเกรี เสนาธิการกองทัพบก กล่าว
มีการพบเห็นทีมกู้ภัยของสภาเสี้ยววงเดือนแดงบนพื้นที่ลาดชันจากรายงานของทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ขณะที่ทีมค้นหาพยายามเข้าใกล้ตำแหน่งของเฮลิคอปเตอร์ท่ามกลางหมอกหนาทึบ
- จะเกิดอะไรขึ้นในกรณีที่ ไรซี เสียชีวิต? -
ภายใต้รัฐธรรมนูญของอิหร่าน รองประธานาธิบดี โมห์หมัด โมคเบอร์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี หากการเสียชีวิตของ ไรซี ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะจัดขึ้นภายใน 50 วันตามรัฐธรรมนูญ (Text - Agence France-Presse)
บทวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
การเสียชีวิตของประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี ของอิหร่าน ไม่น่าจะถูกโยงเข้ากับความขัดแย้งใดๆ ในภูมิภาค เพราะเบื้องต้นดูเหมือนว่าสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่ไม่สู้ดี แต่ก็ต้องจับตาเช่นกันว่าประเด็นนี้ จะถูกทำให้กลายเป็นวาระทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากในช่วงนี้อิหร่านมีการปะทะโดยตรงกับอิสราเอลเป็นครั้งแรก
แม้ว่าการปะทะจะจบลงไปแล้วโดยไม่มีการสานต่อให้บานปลาย เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ตอบสนองด้วย แต่การเปลี่ยนตัวผู้นำใหม่ก็อาจทำให้ช่วงนี้กลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือจากอิหร่าน อาจตกอยู่ในภาวะ "ไร้ที่พึ่ง" ก็เป็นได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ปะทะกับอิสราเอลโดยตรง เช่น ฮูษีในเยเมน, ฮิซบอลลอฮ์ในเลบานอน รวมถึงฮามาสในฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม หละงจากมีการประกาศการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอิหร่านได้ไม่นาน ได้มีถ้อยแถลงของคณะรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลอิหร่านจะยังคงดำเนินงานต่อไป "โดยไม่หยุดชะงักแม้แต่น้อย" ภายหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก
“เราขอรับรองกับชาติผู้จงรักภักดีว่าวิถีทางการบริการจะดำเนินต่อไป ด้วยจิตวิญญาณอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของอยาตุลลอฮ์ ไรซี” คำแถลงดังกล่าวยังเน้นว่างานของรัฐบาลจะดำเนินต่อไป “โดยไม่มีการหยุดชะงักแม้แต่น้อย”
ส่วนการเปลี่ยนตัวผู้นำจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการเมืองของอิหร่านหรือไม่นั้น ตอบได้ว่ายากที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทิศทางการเมือง (โดยเฉพาะกิจการระหว่างประเทศ) ของอิหร่านไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังชี้นำโดยผู้นำสูงสุดด้านศาสนา (Supreme Leader of Iran) ซึ่งในขณะนี้ คือ แอลี ฆอเมเนอี ผู้มีอำนาจปลดออกหรือคืนตำแหน่งรัฐมนตรีตลอดจนประธานาธิบดี
แอลี ฆอเมเนอี ผู้ดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต โดยดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2532 มีอำนาจออกพระราชกฤษฎีกาและทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม นโยบายต่างประเทศ การศึกษา การวางแผนระดับชาติ และด้านอื่น ๆ ของการกำกับดูแลในอิหร่าน แอลี ฆอเมเนอี ยังทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับความโปร่งใสในการเลือกตั้ง และได้ไล่ออกและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีอีกครั้ง
ผู้นำสูงสุดมีสถานะตามกฎหมายที่"ขัดขืนไม่ได้" โดยชาวอิหร่านจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงเป็นประจำเนื่องจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับเขาหรือดูถูกเขา
นั่นหมายความว่า ตราบใดที่ แอลี ฆอเมเนอี ยังมีชีวิตอยู่ การเมืองอิหร่านจะไม่ได้รับผลสะเทือน แลจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางแน่นอน
Photo - จากวิดีโอแจกที่เผยแภาพพร่โดยเครือข่ายโทรทัศน์ของรัฐอิหร่าน IRINN เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 แสดงให้เห็นประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี ของอิหร่านบนเฮลิคอปเตอร์ในภูมิภาคจอลฟา ของจังหวัดทางตะวันตกของอาเซอร์ไบจานตะวันออก เกิดที่จะเกิดอุบัติเหตุจนเขาเสียชีวิต (ภาพโดย IRINN / AFP)