'ลัทธิกัมพูชาเคลมดินแดน' เมื่อคนเขมรชอบอ้างว่าแผ่นดินไทยเป็นของตน

'ลัทธิกัมพูชาเคลมดินแดน' เมื่อคนเขมรชอบอ้างว่าแผ่นดินไทยเป็นของตน

ลัทธิทวงคืนดินแดนคืออะไร?
การคลั่งอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน (Irredentism) คือการที่ประเทศหนึ่งที่ต้องการที่จะผนวกดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง โดยอ้างว่าดินแดนของประเทศนั้นๆ มีชนชาติเดียวกับในประเทศตนอาศัยอยู่ และควรที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน หรืออ้างดินแดนเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับลัทธิชาตินิยม (Nationalism) ให้กับประเทศตนเอง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในภาษาอังกฤษคำว่า Irredentism มาจากภาษอิตาเลียนว่า irredenta แปลว่า "นำกลับคืนมาไม่ได้" ประกอบกับคำว่า  Italia irredenta ที่หมายถึง ดินแดนของอิตาลีที่ยังนำกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไม่ได้ ซึ่งหมายถึงดินแดนที่มีคนพูดภาษาอิตาเลียนที่ไปตกอยู่กับประเทศอื่น

มีหลายกรณีที่ประเทศต่างๆ ต้องการที่จะอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนประเทศอื่นๆ เพียงแค่ต้องการรวมดินแดนที่มีคนพูดภาษาเดียวกัน เช่น ในกรณีของอิตาลี หรือในกรณีของเยอรมนีในยุคที่ปกครองโดยนาซี ซึ่งมีการรุกรานดินแดนของเชคโกสโลวาเกีย คือ ซูเดเทินลันท์ (Sudetenland) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรชาวเยอรมันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 

ยังมีบางกรณีที่การทวงคืนดินแดนเป็นเพียงความต้องการของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ต้องการกลับไปมีดินแดนเท่ากับยุคก่อน เช่น ลัทธิทวงคืนดินแดนฮังการี (Hungarian irredentism) ที่ผสมกันทั้งความต้องการให้ประเทศฮังการีมีดินแดนเท่ากับยุคที่เป็นราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ.1000–1918)  และต้องการดินแดนของประเทศที่มีคนพูดภาษาฮังการีมาอยู่กับตน

กัมพูชากับความหมกมุ่นในการเคลมดินแดน
ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ กัมพูชาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทยและเวียดนาม โดยทั้งสองประเทศผลัดกันมีอำนาจเหนือกัมพูชาและยังครอบครองดินแดนที่มีคนพูดภาษาเขมร ที่กัมพูชา "เชื่อว่า" เป็นดินแดนของตน แม้ว่าก่อนการมีรัฐชาติสมัยใหม่จะไม่มีการกำหนดดินแดนที่ชัดเจนรวมถึงการกำหนดพลเมืองหลักของประเทศก็ตาม

หลังจากนั้น กัมพูชาและเวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ดินแดนที่มีคนพูดภาษาเขมรที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม คือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ได้ถูกยกให้เป็นของฝรั่งเศส และฝรั่งเศสผนวกดินแดนเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของ 'รัฐอารักขากัมพูชา' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน 'อินโดจีนของฝรั่งเศส' ดังนั้นดินแดนที่เคยเป็น 'มณฑลเขมร/มณฑลบูรพา' ของไทยส่วนนี้จึงกลายเป็น 'ภาคเหนือ' ของกัมพูชานับแต่นั้น

อย่างไรก็ตาม ดินแดนตอนใต้ลงมาจากพรมแดนกัมพูชาปัจจุบัน หรือบริเวณปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม เป็นดินแดนที่มีคนพูดภาษาเขมรเช่นกัน และถูกเรียกว่า 'แขมร์ โกรม' หรือเขมรต่ำ ดินแดนนี้ถูกเวียดนามผนวกไปเป็นดินแดนของตนตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ก่อนหน้าที่ไทยได้ผนวกมณฑลบูรพา (เขมรตอนบน) หลังดินแดนนี้ถูกกลืนให้เป็นเวียดนามยิ่งขึ้นหลังจากที่ไทยและเวียดนามทำสงครามชิงอิทธิพลเหนือกัมพูชา หรือสงครามอานัมสยามยุทธ์ ในศตวรรษที่ 19

หลังจากที่เวียดนามและกัมพูชาตกเป็นของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้กำหนดินแดนแขมรโกรมให้เป็นของเวียดนาม  พร้อมทั้งยังกำหนดเขตแดนเกาะฝูก๊วกให้เป็นของเวียดนาม การกำหนดเขตแดนชายฝั่งนี้เรียกว่า เส้นเบรวีเย (Brévié Line) หลังจากทั้งสองประเทศได้เอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว สามารถตกลงกันได้เรื่องดินแดนและยอมรับการแบ่งน่านน้ำโดยเส้นเบรวีเย

แต่ทันทีที่ได้เอกราช คนเขมรจำนวนหนึ่งก็เกิดความต้องการ "ทวงคืนดินแดนเดิม" ที่เชื่อว่ากัมพูชาสมัยโฐราณเคยครอบครอง ทั้งๆ ที่รัฐบาลทั้งเวียดนามและกัมพูชาตกลงกันได้แล้ว นี่คือจุดเริ่มของ 'ลัทธิทวงคืนดินแดนกัมพูชา' (Cambodian irredentism) ที่มีทั้งกลุ่มที่ต้องการดินแดนของกัมพูชา หรือที่เรียกว่าแขมรโกรม บางส่วนยังต้องการดินแดนลามเข้าถึงดินแดนในประเทศไทยโดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา 

ตัวอย่างเช่น ในหนังสือ The Khmer Kings and the History of Cambodia (เล่ม 2) ของ Kenneth T. So ซึ่งเป็นอเมริกัน-แขมร์ หน้าปกวาดแผนที่กัมพูชา 'เคลม' จังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย

แต่เวอร์ชั่นนี้ถือว่า "มักน้อย" เพราะอ้างดินแดนแค่อีสานใต้กับภาคตะวันออก บางเวอร์ชั่นเคลมกันถึง "เขตวิษณุโลก" (พิษณุโลก) จรดทิศเหนือ และ "เขตชัย" (ไชยา) จรดทิศใต้ รวมแล้วกัมพูชาเคลมถึง 31 เขต (จังหวัดของไทย)

ในแผนที่นี้เขาเคลมอะไรบ้าง?

เขาเคลมเขตโขขันธ์ (จ.ศรีสะเกษ) เขตซอเรน (จ.สุรินทร์) เขตเนียงรอง (จ.บุรีรัมย์) เขตนอโกร์เรียจเสมา (นครราชสีมา) เขตปอจิมโบเรย (จ.ปราจีนบุรี) เขตสระแกว (จ.สระแก้ว) เขตรอยอง (จ.ระยอง) เขตจันโบเรย (จ.จันทบุรี) และเขตกราต (จ.ตราด)

ชื่อพวกนี้บางครั้งเขมรเรียกแปลกไปบ้าง เช่น โคกขันธ์ (ขุขันธ์), โบเรยรมย์ (บุรีรัมย์), สตึงชราว (คือฉะเชิงเทราแต่บางข้อมูลเรียกรวมเป็นปราจีนบุรี), ตราจ (ตราด), อังกอร์เรียจ (นครราชสีมา) ฯลฯ เกินกว่าจะสาธยายหมดในคราวเดียว

เขมร (บางคน) อ้างว่าเสีย "โคราช, ปราจีน, ชลบุรี ฉะเชิงเทรา" ในสมัยพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี (นักองค์จัน) ตรงกับสมัยพระนั่งเกล้าของไทย

ต่อมาเสียอีสานใต้ทั้งหมด (รวมถึงอุบลราชธานี) และภาคตะวันออกให้ไทย แต่ไม่ได้บอกว่าเสียเมื่อไร

จากข้อมูลของเว็บไซต์เขมรบางแห่งบอกว่าการอ้างดินแดนที่เสียให้ไทยปรากฏในแผนที่กัมพูชาอีกครั้งในสมัยเจ้าสีหนุ เมื่อปี ค.ศ. 1947

สิ่งหนึ่งที่คนกัมพูชาคลั่งทวงดินแดนนี้จะอ้างเสมอคือ กัมพูชาคือเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เรียกว่า "จักรวรรดิเขมรโบราณ" โดยอ้างว่ามีดินแดนครอบคลุมประเทศไทยและลาวทั้งหมดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานจากยุคที่กล่าวเลยว่า  "จักรวรรดิเขมรโบราณ" มีพื้นที่เท่าไรกันแน่ จากหลักฐานเท่าที่พบ บางรัชกลของยุคเขมรโบราณเอ่ยถึงเมืองโบราณบางแห่งที่มีชื่อคล้ายบางจังหวัดของไทยในภาคกลางตอนล่าง แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่ามีการปกครองในรูปแบบใด ดังนั้น ต่อให้ "จักรวรรดิเขมรโบราณ" มีอยู่จริงๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ชวนให้ถกเถียงทางวิชาการ เนื่องจากขาดหลักฐานรองรับ) ก็ไม่น่าจะมีดินแดนเกินไปกว่าภาคกลางตอนล่างของไทย

แต่ดินแดนในยุคโบราณนั้นมีการเปลี่ยนมือกันไปตามอิทธิพลที่ขึ้นๆ ลงๆ ของอาณาจักรต่างๆ จนกระทั่งถึงยุคสมัยใหม่ ที่มีการกำหนดเขตแดนแบบตะวันตก ประเทศไทยในเวลานั้นได้ครอบครองกัมพูชาบางส่วนในฐานดินแดนส่วนหนึ่งของไทยและปกครองกัมพูขาส่วนที่เหลือในฐานะประเทศราช ในช่วงนี้ แผนที่ที่จัดทำโดยประเทศสยามและชาติตะวันตก จึงกำหนดให้กัมพูชาทั้งหมดเป็นดินแดนของประเทศสยาม และได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ต่างจากการอ้างลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการของนักอ้างกรรมสิทธิชาวกัมพูชา

แม้แต่การทำสนธิสัญญาที่สยามยกกัมพูชาให้ฝรั่งเศส ก็เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันว่าสยามเป็นเจ้าของกัมพูชาทั้งประเทศมาก่อน แล้วยกให้ฝรั่งเศสปกครอง นี่คือหลักฐานที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น หากไทยจะมีพวกที่ต้องการทวงดินแดนเหมือนกัมพูชา น้ำหนักในส่วนนนี้คงจะมากกว่ากัมพูชาแน่ๆ 

แต่กัมพูชาโชคดีที่ประเทศไทยไม่มีลัทธิ Thailand irredentism ที่รุนแรง หรือชาตินิยมที่ไร้เหตุผล ไม่อย่างนั้นทั้งสองประเทศคงได้ปะทะกันอย่างรุนแรง และอาจจบลงด้วยการที่ประเทศที่อ่อนแอกว่าอาจต้องเสียดินแดนขึ้นมาจริงๆ 

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

ภาพประกอบโดย  - Pierrevang3 
 

TAGS: #กัมพูชา