TikTok แอปที่รัฐบาลทั่วโลกจับตา สำรวจประเทศไหนสั่งแบนแล้วบ้าง

TikTok แอปที่รัฐบาลทั่วโลกจับตา สำรวจประเทศไหนสั่งแบนแล้วบ้าง
เปิดลิสต์รัฐบาลประเทศใดบ้างที่สั่งแบนติ๊กต๊อก หลังล่าสุดสหรัฐขู่แบนทั่วประเทศเพราะหวั่นข้อมูลผู้ใช้จะอยู่ในมือรัฐบาลจีน

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน นอกจากกรณีธนาคารดังทั้งในฝั่งสหรัฐอเมริกา จนถึงสวิตเซอร์แลนด์สั่นคลอนเรื่องสภาพคล่องแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกมองข้ามในช่วงเวลาดังกล่าวถึง กรณีที่รัฐบาลสหรัฐออกมาขู่บริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอปพลิเคชั่นติ๊กต๊อกอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ถึงขึ้นที่รัฐบาลวอชิงตันขู่ว่าหากไบต์แดนซ์ ไม่ยอมสละความเป็นเจ้าของติ๊กต๊อก จะสั่งแบนการเข้าถึงของแอปพลิเคชั่นดังกล่าวทั่วทั้งสหรัฐ ซึ่งหมายความว่าในแง่ร้ายที่สุดสุด สหรัฐจะแบนไม่ให้ผู้ใช้งานชาวอเมริกันใช้แอปติ๊กต๊อกทั้งประเทศ

ท่าทีของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังมีการออกกฎหมายที่อนุญาตให้ทำเนียบขาวสามารถสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกหรือเทคโนโลยีต่างชาติอื่น ๆ ได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ ขณะที่ประเทศอื่นต่างก็เคลื่อนไหวสั่งห้ามไม่ให้มีการติดตั้งแอปดังกล่าวในอุปกรณ์ของรัฐเช่นกัน 

ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ออกคำสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกบางส่วนหรือห้ามใช้โดยเด็ดขาด เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล โดยรอยเตอร์ได้รวบรวมไว้ดังนี้ 

นิวซีแลนด์
นิวซีแลนด์ถือเป็นชาติล่าสุดที่เพ่งเล็งติ๊กตอก โดยสั่งห้ามใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวในอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายของรัฐสภานิวซีแลนด์ได้ ท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

อังกฤษ
รัฐบาลลอนดอนเตรียมพิจารณาสั่งแบนติ๊กตอกในโทรศัพท์ราชการทันที  ทั้งได้ขอให้ศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติให้พิจารณาถึงจุดอ่อนของข้อมูลรัฐบาลต่อแอปดังกล่าว ตลอดจนความเสี่ยงที่ข้อมูลอ่อนไหวอาจถูกเข้าถึงและนำไปใช้ได้

อินเดีย
สั่งแบนติ๊กตอกและแอฟพลิเคชั่นจีนอื่น ๆ ในอุปกรณ์ทุกอย่างเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 โดยอ้างว่า แอปเหล่านี้อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตามสำหรับอินเดีย นับว่าเป็นชาติที่มีการแบนแอปพลิเคชั่นสัญชาติจีนมากที่สุด ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเพราะการขัดแย้งระหว่างความสัมพันธ์ของสองชาตินับตั้งแต่ปี 2019 

อัฟกานิสถาน
กำลังหารือเพื่อเตรียมแบนติ๊กตอกและวิดีโอเกมพับจี (PUBG) โดยรัฐบาลตาลิบันอ้างว่า ติ๊กตอกและพับจีทำให้เยาวชนชาวอัฟกัน “หลงผิด”

ปากีสถาน
สั่งแบนติ๊กตอกไปแล้วอย่างน้อยสี่ครั้ง การแบนครั้งล่าสุดนี้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลปากีสถานกล่าวว่า ติ๊กตอกมีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมและไม่เหมาะสม

ไต้หวัน
สั่งแบนติ๊กตอกและแอปพลิเคชั่นจีนอีกบางส่วนในอุปกรณ์ของรัฐ ขณะที่ช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ไต้หวันเริ่มสอบสวนติ๊กตอกว่าอาจกระทำการผิดกฎหมายในไต้หวัน

แคนาดา
แคนาดาสั่งแบนติ๊กตอกในอุปกรณ์ของราชการด้วยเหตุผลความเสี่ยงต่อความมั่นคง

เบลเยียม
นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ของเบลเยียม กล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ว่า พนักงานราชการของเบลเยียมไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ติ๊กตอกในโทรศัพท์ของที่ทำงานได้

สหรัฐอเมริกา
เมื่อปี 2020 คณะกรรมการด้านการลงทุนต่างชาติในสหรัฐฯ หรือ CIFUS ซึ่งมีอำนาจด้านความมั่นคงแห่งชาติ แนะนำให้บริษัทไบต์แดนซ์ให้ถอนการลงทุนในติ๊กตอก เนื่องจากกังวลว่าข้อมูลผู้ใช้อาจถูกส่งต่อไปยังรัฐบาลจีน ขณะเดียวกันช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาชิกสภาคองเกรส นำเสนอร่างกฎหมายเพื่อสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกในสหรัฐฯ หลังจากเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สภาคองเกรสผ่านกฎหมายแบนติ๊กตอกในอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐบาลมาแล้ว

นอกจากหน่วยงานรัฐบาลแล้ว สถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ บางส่วนอาทิ มหาวิทยาลัยบอยซ์ สเตท, มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา, มหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน และมหาวิทยาลัยเวสท์ เท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ได้สั่งแบนติ๊กตอกในอุปกรณ์ของสถาบันและเครือข่าย Wi-Fi ในมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกันเนื่องจากหวั่นเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูลทางวิชาการ

ส่วนหน่วยงานท้องถิ่นมลรัฐต่าง ๆ กว่า 25 รัฐ เช่น รัฐเท็กซัส แมริแลนด์ แอละบามา และยูทาห์ ออกคำสั่งห้ามพนักงานของรัฐใช้ติ๊กตอกในอุปกรณ์ของทางการ สุดท้ายด้านคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสภายุโรป ทั้งสององค์กรออกคำสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกในโทรศัพท์ของพนักงานในองค์กร เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
 

TAGS: #TikTok #ติ๊กต๊อก #แอปพลิเคชั่น #จีน #โซเชียลมีเดีย