จีนจะแข่งอินเดียได้แค่ไหน หลังประชากรหด 'เกิดใหม่น้อยกว่าตาย

จีนจะแข่งอินเดียได้แค่ไหน หลังประชากรหด 'เกิดใหม่น้อยกว่าตาย
เมื่อประชากรจีนหดพร้อมถูกสหรัฐกีดกันการค้า ส่วนอินเดียจ่อขึ้นแท่นประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลก ความสามารถการแข่งขันของสองยักษ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

เมื่อ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางการจีนประกาศตัวประชากรของปี 2022 ที่ผ่านมาโดยพบว่า จำนวนประชากรรวมทั้งประเทศลดลงครั้งแรกในรอบเกือบ 60 ปี โดยข้อมูลจากสถิติจีนระบุว่า จีนมีประชากร 1,411 พันล้านคน โดยมีอัตราการเกิดต่ำสุด และอัตราการตายสูงสุดตั้งแต่ปี 1976 โดยมีอัตราการเติบโตของประชากรในระดับติดลบ 0.6 ต่อประชากรพันคน ลดลงจาก 0.34 ในปี 2021 หมายความว่าประชากรจีนลดลงในปี 2022 นับว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1960 โดยสถิติดังกล่าวเป็นตัวเลขเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่

สาเหตุประการหนึ่งที่ประชากรลดลงเนื่องจากอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงมากกว่า 1 ล้านคน อยู่ที่  มาอยู่ที่ 9,560,000 คน เทียบกับ จำนวนการเสียชีวิตของประชากร 10,410,000 คน ซึ่งหมายความว่าประชากรจีนตอนนี้ "เกิดน้อยกว่าตาย" 

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ส่วนหนึ่งเพราะการระบาดของโควิด-19 มีส่วนที่ทำให้อัตราการเกิดใหม่ของประชากรด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของอัตราประกรที่หดตัว นักวิชาการมองว่าเพราะนโยบายลูกคนเดียว “one-child policy” ที่จีนบังคับใช้มายาวนานหลายทศวรรษ กระทั่งเพิ่งมายกเลิกแนวทางดังกล่าวเมื่อปี 2015 แต่แม้รัฐบาลจะพยายามอยากให้คนมีลูกมากขึ้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่จีนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่นิยมความเป็นครอบครัวใหญ่

อย่างไรก็ตาม สถิตินี้ถือว่าอาจเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนในอนาคต ในฐานะชาติที่มีจีดีพีใหญ่อันดับสองของโลกและยังต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหาประชากรเกิดใหม่หดตัว ประชากรสูงอายุมากขึ้น แต่เชื่อว่าจีนอาจเผชิญปัญหานี้หนักกว่าหลายชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจเดียวกัน 

ยี่ ฟูเสี้ยน นักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัย วิสคอนซิน-แมดิสัน มองว่า ขณะนี้จีนกำลังจะก้าวเข้าสู่ประเทศคนสูงอายุมาก ก่อนกลายเป็นชาติร่ำรวย หรือประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวในระดับสูง

แม้รัฐบาลปักกิ่งอยากให้คนมีลูกมากขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรในเขตเมืองมีต้นทุนสูงไปแล้ว สูงกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน โดยคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติจีนเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละมณฑลเพิ่มเงินอุดหนุนการเลี้ยงบุตรมากขึ้น พร้อมกับมอบสวัสดิการทำงานที่บ้าน แต่ก็ยังไม่อาจสร้างแรงจูงใจได้มากพอ

ผู้เชี่ยวชาญยังวิเคราะห์ว่า ประชากรจีนเริ่มลดลงตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน และอัตราการเกิดที่ต่ำของจีน อยู่ในระดับต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเทียบในระดับเดียวกับของไต้หวันและเกาหลีใต้ นั่นหมายความว่า จีนอาจค่อย ๆ เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่รุนแรงกว่าญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเติบโตช้าส่วนหนึ่งเนื่องจากมีประชากรลดลง 

ยิ่งกว่านั้น ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของจีนมีขึ้นพร้อมกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจอันดุเดือน โดยเฉพาะะจากสหรัฐอเมริกาที่พยายามสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของจีนต่ออินเดียมีความท้าทายมากขึ้น

สจ๊วต เก็ตเทล-บาสเตน ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอาบูดาบี มองว่า ปัญหาประชากรหดตัว ไม่ใช่แค่กระทบต่อเศรษฐกิจเสมอไป แต่อาจนำมาซึ่งปัญหาด้านจิตวิทยาเช่นกัน หากเทียบกันแล้ว ระหว่างจีนกับอินเดีย แม้อินเดียจะมีประชากรอายุน้อยกว่า และมีสัดส่วนประชากรรวมที่อาจแซงหน้าจีนในไม่ช้า แต่ก็มีบางปัจจัยที่อินเดียยังด้อยกว่าจีนเช่นกัน อาทิ การให้สตรีมีบทบาทในด้านการจ้างงาน หรืออุตสาหกรรมภาคเซมิคอนดักเตอร์ และภาคการเงินที่บริษัทแดนมังกรแข็งแกร่งกว่า

TAGS: #จีน #สหรัฐ #อินเดีย #ประชากร #แรงงาน #พลเมืองโลก #เศรษฐกิจ #เอเชีย