เปิดตำนาน 'ปู๊เมีย' กลุ่ม LGBT ยุคโบราณในล้านนาจากบันทึกของต่างชาติ

เปิดตำนาน 'ปู๊เมีย' กลุ่ม LGBT ยุคโบราณในล้านนาจากบันทึกของต่างชาติ

'ปู๊เมีย' หมายถึงอะไร? คำๆ นี้ไม่เป็นที่คุ้นหูกันนักสำรับคนนอกวัฒนธรรมล้านนา แต่ถ้าจะให้ความหมายแยกออกเป็นคำๆ แล้ว คนไทยทั่วไปจะเข้าใจได้ทันที เพราะ ปู๊เมีย ก็คือคำว่า ผู้เมีย หรือ เพศผู้กับเพศเมีย (ในคนเดียวกัน) เป็นคำที่หมายถึงกระเทย หรือบุคคลที่มีร่างกายเป็นชาย แต่มีจิตใจเป็นผู้หญิง เป็นหนึ่งใน  T หรือ Transgenger ในกลุ่ม LGBT ในยุคปัจจุบันนั่นเอง

สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายได้ง่าย เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ได้ห้ามการเป็นกลุ่ม LGBT ไม่ใช่แค่นั้น กลุ่มนี้ยังมีส่วนสำคัญทางศาสนาท้องถิ่นด้วยซ้ำ เช่น 'ปู๊เมีย' ในล้านนา มักจะเป็นคนทรง หรือ 'ม้าขี่' ซึ่งเป็นคนกลางติดต่อกับผีบรรพบุรุษและผีประเภทต่างๆ อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไท-ลาว โดยทั่วไป

ดังนั้น LGBT จึงมีบทบาทสำคัญในสังคมที่นับถือผี แต่แม้ว่าสังคมไทยจะยอมรับ LGBTQ ในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่มีการบันทึกเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มากนัก ยิ่งเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคม 'ยุคโมเดิร์น' ที่รับวัฒนธรรมแบบตะวันตกในช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ทำให้ไทยรับค่านิยมที่กำหนดเพศชายหญิงแบบตายตัวจากวัฒนธรรมตะวันตก และสังคมตะวันตกยังลงโทษการกระทำแบบรักร่วมเพษอย่างรุนแรง ค่านิยมไทยโมเดิร์นจึงแสดงท่าที "รังเกียจ" LGBT นับแต่นั้น 

กว่าที่สังคมไทยจะเปลี่ยนค่านิยมเป็น 'โพสต์โมเดิร์น' ที่ละทิ้งการกำหนดค่านิยมแบบ 'ฐานสอง' (Gender binary คือการกำหนดว่ามีแค่สองเพศชายหญิง) ก็ต้องรอถึงทศวรรษี่ 1990 เป็นอย่างน้อย นับแต่นั้นมา สังคมไทยก็กลับมายอมรับความหลากหลายทางเพศเหมือนในยุคบรรพบุรุษอีกครั้ง

แม้ว่าในยุคก่อนโมเดิร์น สังคมไทยจะยอมรับความหลากหลายทางเพศในระดับหนึ่ง แต่มักไม่มีบันทึกมากนัก ยกเว้นการสังเกตการณ์จากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าในไทย โดยเฉพาะในล้านนาที่มีวัฒนธรรม 'ปู๊เมีย' ที่ชัดเจนมาก มีบันทึกต่างชาติเล่าถึงการพบกับ 'ปู๊เมีย' อยู่จำนวนหนึ่งที่คนไทยควรได้รับรู้

แอนดรูว์ แมตซเนอร์ (Andrew Matzner) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮอลลินส์ ในสหรัฐฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพศึกษา การศึกษาเรื่องกลุ่มข้ามเพศ และเรื่องวิถีพ่อมดหมอผี ได้รวบรวมบันทึกนักเดินทางต่างชาติในศตวรรษที่ 19 ลงมาที่ได้พบกับ 'ปู๊เมีย' ในล้านนา ในบทความเรื่อง Pu Mia in Old Northern Thailand ตัวอย่างเช่น 

คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ได้เดินทางมาสำรวจประเทศสยาม (หรือไทยในปัจจุบัน) โดยได้รับการสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2424 เขาได้เดินทางผ่านพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน ตีพิมพ์เรื่องราวการเดินทางของเขาในลอนดอนในปี พ.ศ. 2427 เป็นภาษาอังกฤษในชื่อหนังสือ Temples and Elephants: The Narrative of a Journey of Exploration Through Upper Siam and Lao (วัดวาอารามและช้าง: เรื่องเล่าการเดินทางสำรวจผ่านสยามตอนบนและลาว)

คำว่า 'ลาว' ในที่นี่หมายถึงตอนเหนือของสยามหรือล้านนา ซึ่งในเวลานั้นยังถูกคนไทยภาคกลางเรียกแบบเหมารวมว่า 'ลาว' จนมีตั้งชื่อเขตปกครองแบบเทศภิบาลว่ามณฑลลาวเฉียง หรือมณฑลลาวพุงดำ (หรือมณฑลพายัพ) และทำให้ชาวต่างชาติเรียกล้านนาว่า 'ลาว' ตามไปด้วย แต่เป็น 'ลาวพุงดำ' ซึ่งหมายถึงคน 'ลาว' ที่สักหน้าท้องและแข้งขาด้วยหมึกดำ อันเป็นธรรมเนียมของผู้ชายล้านนาสมัยก่อน 

คาร์ล บ็อค ไม่ได้พบแค่ 'ผู้' และ 'เมีย' ในล้านนา แต่ได้พบกลุ่มที่มีเพศภาพที่เป็น 'ผู้และเมีย' ในคนๆ เดียวกัน เข้าเขียนเอาไว้ว่า "ผมยังได้ยินเรื่องกระเทยอีกหลายคนด้วย" คำว่ากระเทย (hermaphrodites) ที่ คาร์ล บ็อค ใช้ในปัจจุบันหมายถึงกลุ่มคนที่มีอวัยวะเพศสองเพศในคนเดียวกัน แต่ในยุคนั้นหมายถึงกลุ่มคนที่มีร่างกายเป็นชาย แต่มีพฤติกรรมเป็นผู้หญิง ดังนั้น ในเชียงใหม่จึงมีกระเทยอยู่หลายคน แต่ คาร์ล บ็อค ไม่ได้พบเห็น เพียงแค่บันทึกว่า "ได้ยินมา" เท่านั้น

คนที่ได้พบ กระเทย (hermaphrodites) ที่เชียงใหม่ด้วยตัวเอง คือ โฮลต์ ฮอลเลตต์ (Holt Hallett) นักสร้างทางรถไฟในพม่า ซึ่งเดินทางมายังสยามระหว่างปี พ.ศ. 2426 ถึง พ.ศ. 2433 เป็นผู้ค้นพบแหล่งที่มาของแม่น้ำเจ้าพระยา และให้คำปรึกษาเรื่องรถไฟกับพระมหากษัตริย์ของประเทศสยาม และต่อมาได้เขียนหนังสือชื่อ “บนหลังช้างพันไมล์ในรัฐฉาน” (A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States พ.ศ. 2433) โดยเขียนเรื่องการพบกระเทยในเชียงใหม่เอาไว้ว่า

"ตามถนนผ่านชานเมืองทางตะวันตก (ของเชียงใหม่) ผมเข้าไปในร้านค้าแห่งหนึ่งเพื่อซื้อร่มแบบจีน เนื่องจากร่มของผมมีสภาพย่ำแย่เกินกว่าจะใช้งาน และมีคนมาคอยบริการ โดยแต่งกายด้วยชุดผู้หญิงธรรมดาๆ ซึ่ง (คนๆ นี้) ดูเป็นผู้ชายมาก และ สูงมากกว่า 4 ฟุต 10 นิ้ว  ซึ่งเป็นความสูงที่ผู้หญิงชาวฉานในเชียงใหม่ไม่กี่คนจะสูงขนาดนั้น เมื่อบอกกับดร. แมคกิลวารี [มิชชันนารีชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่มาหลายปี] เขาบอกผมว่าบุคคลดังกล่าวเป็นกะเทย (hermaphrodite) ว่าสิ่งประหลาดที่ผิดธรรมชาติรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศนี้ และคนดังกล่าวทั้งหมดต้องแต่งกายด้วยชุดสตรี" 

ในเวลานั้นคนต่างชาติตระหนักพอสมควรว่าในเชียงใหม่มี 'กระเทย' จนเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่พวกเขาเรียกว่าเป็น hermaphrodite และเป็น Nature's freaks ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างให้ความรู้สึกทางลบ ผิดกับการบอกว่า "รูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศนี้" ซึ่งสะท้อนว่าคนเชียงใหม่ หรือล้านนา หรือแม้แต่ในสยามทั้งหมดไม่คิดว่าการเป็นกระเทยเป็นเรื่องแปลก

ในอีกหลายสิบปีต่อมา ชาวอังกฤษที่ชื่อ ดับเบิลยู.เอ.อาร์. วูด (W.A.R. Wood) ซึ่งเดินทางมายังสยามตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และเสียชีวิตในไทยในช่วงทศวรรษที่ 2520 โดยทำงานให้กับกงสุลบริเตน ได้บันทึกเรื่องราววัฒนธรรมกระเทยในภาคเหนือเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2477–2478 เอาไว้ในหนังสือ Consul in Paradise ที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2508 เอาไว้ว่า

"ในสยาม โดยเฉพาะในภาคเหนือ มีผู้ชายจำนวนหนึ่งซึ่งมักจะมีนิสัยสวมใส่เสื้อผ้าผู้หญิงและไว้ผมยาว ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดศีลธรรมอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเท่าที่ผมจะทราบ ปู๊เมีย (ชาย-หญิง) เหล่านี้อย่างที่ถูกเรียกกัน ก็ไม่เห็นจะมีความผิดแปลกอะไรในเรื่องศีลธรรม และผมได้ทราบว่ามาว่าในทางกายภาพ พวกเขาก็ไม่มีเรื่องอะไรผิดปกติ พวกเขาแค่ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง ก็แค่นั้นเอง" 

การที่ ดับเบิลยู.เอ.อาร์. วูด บอกว่า "ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดศีลธรรมอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้" นั่นก็เพราะในสังคมอังกฤษ (หรือประเทศบริเตนที่เขาจากมา) การเป็นชายแต่งหญิงถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรม และตามกฎหมายนั้นถือเป็นความผิดทางอาญา และยังเสี่ยงจะถูกสาธารณชนทำร้ายเอาด้วย อย่างที่เขาเล่าเรื่องที่บ้านเกิดเอาไว้ว่า 

"ในอังกฤษ ถ้าผู้ชายออกไปแต่งตัวเป็นผู้หญิง เขาจะถูกจับกุม และดูเหมือนว่าจะสันนิษฐานได้ว่าการที่ผู้ชายชอบแต่งตัวผู้หญิงนั้นเป็นสัญญาณของความบิดเบี้ยวทางศีลธรรมบางประเภท ในข้อบังคับบางประการที่แนบท้ายประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย มีการตั้งสมมติฐานที่คล้ายกัน"

จนถึงทุกวันนี้ อดีตอาณานิคมบริเตนบางแห่ง เช่น พม่าและมาเลเซียก็ยังใช้กฎหมายอาญาสมัยอาณานิคมเพื่อเอาผิดกับการกระทำ 'ผิดเพศ' ในเวลานั้นก็เช่นกัน ดับเบิลยู.เอ.อาร์. วูด เล่าเรื่องที่อังกฤษเอาไว้ว่า 'กระเทย' ที่นั่นอยู่ และตั้งข้อสังเกตว่าที่สยามจัดการเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ดีกว่า 

"ผมเคยอ่านเรื่องปู๊เมียชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ถูกฝูงชนที่โกรธแค้นไล่ตามไปทั่วแฮมป์สเตดฮีธ ถูกลากไปต่อหน้าผู้พิพากษา ถูกสั่งสอนอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความประพฤติที่เลวทรามของเขา และถูกปรับอย่างหนัก ผมคิดว่าในสยามจัดการเรื่องนี้ได้ดีกว่า ทำไมต้องกังวลเรื่องปู๊เมียด้วยเล่า? เท่าที่ผมเห็น พวกเขาไม่ได้ทำอันตรายอะไร และในสยามที่ไม่มีใครกังวลหรือยุ่งเกี่ยวกับพวกเขา"

ดับเบิลยู.เอ.อาร์. วูด ยังเล่าประสบการณ์การพบปู๊เมียที่ภาคเหนือของสยามอีกว่า 

"เคยมีคนหนุ่มคนหนึ่งจากครอบครัวที่มีพื้นเพดีอาศัยอยู่ใกล้เราที่ลำปาง บางครั้งแต่งกายเป็นชาย บางครั้งแต่งกายเป็นหญิง และเชื่อกันโดยทั่วไปว่าในช่วงครึ่งแรกของแต่ละเดือนจะเป็นชายจริงๆ และในช่วงหลังๆ ครึ่งเดือนกลายเป็นผู้หญิง ผมไปทักทายเขา (หรือเธอ) บ่อยครั้ง และพบว่าเธอ (หรือเขา) เป็นคนนิสัยใจคอดีและสุภาพมาก แต่ผมไม่เคยคุ้นเคยมากพอที่จะหาเหตุผลมาถามเรื่องเพศของเขา (หรือเธอ) เป็นการส่วนตัว ในสายตาของผม เขาดูเหมือนเป็นชายหนุ่มที่มีรูปร่างหน้าตาน่าดึงดูดใจมาก แม้ว่าจะดูเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ก็ตาม เขาไม่ได้ไว้ผมยาว แต่เมื่อแต่งตัวเป็นผู้หญิงก็ชอบตกแต่งศีรษะด้วยดอกไม้มาก" 

เขายังเล่าอีกว่า "ปู๊เมียอีกคนหนึ่งที่ผมเคยรู้จักแตกต่างไปจากคนก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง ด้วยความที่มีรูปร่างใหญ่โตและมีลักษณะความเป็นชายเป็นพิเศษ เขามักจะแต่งตัวเป็นผู้หญิง ผมยาว และส่งผลต่อกิริยาท่าทางให้ดูพิลึกและดูเสแสร้งเป็นที่สุด"

ไม่ว่าจะเป็นปู๊เมียที่ 'เนียน' เหมือนผู้หญิงหรือออก 'แมนๆ' จนเห็นได้ชัดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ ดับเบิลยู.เอ.อาร์. วูด บันทึกไว้ก็คือ การยอมรับความหลากหลายทางเพศในภาคเหนือของสยามนั้นดูจะเป็นเรืองปกติมากกว่าภาคกลาง (หรือส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งพยายามจะ "ศิวิไลซ์" แบบฝรั่ง) มีกรณีหนึ่งซึ่งปู๊เมียคนหนึ่งได้ไปให้การต่อศาล และ ดับเบิลยู.เอ.อาร์. วูด บันทึกเรื่องนี้ในหนังสือ Rhinocerous Blood and Other Stories From the North of Thailand พิมพ์ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งมีเรื่องของผู้ช่วยผู้พิพากษาคนหนึ่งที่มาจากกรุงเทพฯ แล้วพบกับพยานในศาลที่เป็นปู๊เมียแล้วเกิดตกอกตกใจว่าผู้ชายแต่งกายเป็นหญิงเป็นการหมิ่นศาล (นี่คือการคิดแบบตะวันตก) แต่หัวหน้าผู้พิพากษาได้อธิบายให้ฟังว่า

“สยามภาคเหนือไม่เหมือนกรุงเทพฯ ผมไม่เคยเห็นชายหนุ่มผู้มีเกียรติที่เดินเตร่ในเมืองหลวงโดยแต่งตัวเหมือนผู้หญิง แต่ในสยามภาคเหนือมีคนเรียกว่าปู๊เมียอยู่ในทุกอำเภอ นี่ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา พวกเขาเป็นผู้ชายเหมือนคุณหรือผม แต่กลับยืนกรานที่จะแต่งกายเหมือนผู้หญิง และมักคัดค้านที่จะทำงานผู้ของชาย แต่ที่พร้อมที่จะทำงานซักอบรีด เย็บผ้า หรือทอผ้า หรือทำอะไรก็ตาม อาชีพนี้มักจะกำหนดไว้ใหเป็นของผู้หญิง เท่าที่ผมทราบ พวกเขาไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร และไม่มีใครสนใจเรื่องพวกนี้เลย”

แม้ว่าข้าหลวงจากส่วนกลาง คือที่กรุงเทพฯ จะบอกว่าที่เมืองหลวงไม่มีคนแบบนี้ (เพราะบางกอกพยายามจะรับค่านิยมแบบตะวันตกที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ) แต่เมื่อพูดถึงตอนท้าย ข้าหลวงของส่วนกลางที่มีประสบการณ์กับคนท้องถิ่นมากกว่ากลับยอมรับปู๊เมียเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาเอามากๆ และข้าหลวงที่มาใหม่ก็ไม่ได้คัดค้านอะไรอีก แต่รับฟังอย่างสนอกสนใจ

หากไม่นับ "ค่านิยมแปลกปลอม" ที่ประเทศสยามรับมาในช่วงการสร้างประเทศให้สมัยใหม่แบบตะวันตก ค่านิยมที่แท้จริงของคนไทยหรือสยามโดยเฉพาะที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาผีล้วนแต่เห็นว่า ปู๊เมียหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งที่ปกติธรรมดาของสังคม

  • บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 
  • ภาพถ่ายโดยผู้เขียน จากจิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ เป็นภาพหนุ่ม "ลาวพุงดำ" หรือชาวล้านนากำลังแนบชิดกัน
     
TAGS: #ปู๊เมีย #LGBT #ล้านนา