ศาสดาของเสรีภาพทางเพศแห่งสยาม 'เรอเน กียอง' นักกฎหมายฝรั่งเศสหัวใจไทย

ศาสดาของเสรีภาพทางเพศแห่งสยาม 'เรอเน กียอง' นักกฎหมายฝรั่งเศสหัวใจไทย

เรอเน ชาร์ลส มารี กียอง (René Charles Marie Guyon) หรือ 'เรอเน กียอง' เป็นนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสและยังเป็นนักคิดทฤษฎีทางเพศด้วย ส่วนผสมที่ดูเหมือนจะแปลกประหลาดนี้ทำให้เขากลายเป็น 'ไอค่อน' ของทั้งวงการกฎหมายและวงการนักเสรีนิยมทางเพศ

ทำไมเขาจึงเป็นไอค่อน (หรือปูชนียบุคคล) ของวงการกฎหมาย? เพราะเขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ Ce que la loi punit : code pénal expliqué (สิ่งที่กฎหมายลงโทษ ว่าด้วยการอธิบายกฎหมายอาญา) ซึ่งผลงานชิ้นนี้ไปเข้าตาพระมหากษัตริย์ของประเทศสยามเข้า และทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นที่คณะกรรมการกฤษฎีการ่างกฎหมายหลายฉบับและเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาของสยาม เมื่อปี 2450 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Photo - เรอเน กียอง จากหนังสือ 'พิชาญอนุสรณ์' หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพิชาญ บุลยง 

เรอเน กียอง ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการกฎหมายของไทยเป็นอันมาก เขาจึงถือเป็นเสาหลักของกฎหมายสมัยใหม่ของไทยคนหนึ่ง ตัวเขาเองก็หลงใหลในประเทศไทยและอารยธรรมไทย จึงเปลี่ยนมาถือสัญชาติไทย ใช้ชื่อไทยว่า พิชาญ บุลยง และเขียนหนังสือสำคัญๆ ในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษที่ว่าด้วยจริยศาสตร์และวัฒนธรรมไทย เช่น The Work of codification in Siam (การทำงานเพื่อบัญญัติกฎหมายในประเทศสยาม) และ Anthologie bouddhique (สรรนิพนธ์ทางพุทธศาสนา) เป็นต้น

ปัจจุบัน เขาก็ยังเป็นไอค่อนทางกฎหมายของไทย อย่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยังมีห้องประชุมห้องหนึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เขาว่า 'ห้องประชุมเรอเน กียอง'

แต่ เรอเน กียอง เป็นมากกว่าผู้วางรากฐานกฎหมายให้สยาม เขายังเป็นนักทฤษฎี นักปรัชญา และค้นหาคำตอบอยู่เสมอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสันดานพื้นฐานของมนุษย์ นั่นคือ เรื่องเพศ และคำถามสำคัญก็คือ พฤติกรรมทางเพศแบบไหนที่สังคมยอมรับได้? 

เขาโยงหลักกฎหมายเข้ากับหลักการเคารพความเป็นส่วนตัว (ทางเพศ) โดยเขียนเอาไว้ว่า "ความมีน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สุดจะมอบให้กับเพื่อนบ้านได้ นั่นคือการอยู่ให้ห่างจากเรื่องส่วนตัวของพวกเขา" นี่คือหลักการไม่เอา 'เรื่องในมุ้ง' มาเป็นเรื่องสาธารณะ แม้ว่าจะอ้างว่าเรื่องในมุ่งหรือเรื่องบนเตียงของชาวบ้านเป็นเรื่อง 'ผิดศีลธรรมก็ตาม'

Photo - ห้องสมุดและโต๊ะทำงานในบ้านของ เรอเน กียอง ที่กรุงเทพฯ ภาพจาก Archive for Sexology

เรื่องศีลธรรมกับเสรีภาพทางเพศเป็นประเด็นที่นักคิดตะวันตกถกเถียงกันมาก เรอเน กียอง ก็เช่นกัน แม้ว่าตอนนั้นเขาจะอยู่ที่ประเทศสยาม แต่เขาก็ร่วมวงแสดงทัศนะในเรื่องนี้ด้วย และกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญ คือ Études d’éthique sexuelle (การศึกษาว่าด้วยจริยศาสตร์ทางเพศ) มีความยาวถึง 10 เล่ม เขียนระหว่างปี 2472 - 2487 โดยสนับสนุนเรื่องเสรีภาพทางเพศกับสิทธิพื้นฐานตามหลักกฎธรรมชาติ หรือการกำหนดกฎหมายและศีลธรรมตามเนื้อแท้ตามธรรมชาติ (หรือสันดาน) ของมนุษย์

ผลงานของเขาต่อมาแพร่หลายในะรดับสากลหลังจากได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เช่นหนังสือชื่อ Sexual freedom (เสรีภาพทางเพศ) เขาเขียนไว้ว่ามนุษย์เราจะเป็นอิสระจากอาการประสาท (neuroses) และมีความสุขได้ ก็ต่อเมื่อ "หลักการเรื่องความชอบธรรมทางเพศเสรีภาพทางเพศได้รับการยอมรับ" - อาการประสาทที่ว่านี้คือสภาพจิตที่กดดัน เก็บกด เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่บีบคั้นและศีลธรรมต่างๆ ด้วยความที่เขาเป็นนักกฏธรรมชาติ จึงสนับสนุนให้ปลดปล่อยเสรีภาพทางเพศ นั่นคือใครใคร่จะเสพสุขทางเพศก็ทำไป 

เขาบอกว่า เรื่องทางเพศนั้น "มีความชอบธรรมในตัวมันเองเพราะว่ามันอยู่เหนือความดีและความชั่ว [เรื่องทางเพศ] ชอบธรรมตามกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่าพวกมันไม่ปลอดจากเรื่องศีลธรรมและเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ" 

เขายังเสนอว่า การจะเสพสุขทางเพศไม่สำคัญว่าจะใช้อะไรเพื่อให้ได้ความสุขหรือกระตุ้นกระตุ้นความกำหนัด จะใช้มือก็ได้ คนเพศเดียวกันก็ได้ ภาพลามกอนาจาร ไปจนถึงพฤติกรรมทางเพศที่อีกหลายแบบที่แม้แต่คนสมัยนี้ก็ยังยอมรับไม่ได้ แต่ กียอง เห็นว่ามันก็แค่เรื่องเพศเท่านั้น

Photo - เรอเนอ กียอง ถ่ายที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พร้อมกับประติมากรรมพระพิฆเนศศิลปะชวาที่รัฐบาลสยามได้มาจากรัฐบาลหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ หรืออินโดนีเซีย ภาพจาก Archive for Sexology

ด้วยความคิดแบบนี้ทำให้ เรอเน กียอง ถูกเรียกว่าเป็นพวกสุดโต่งทางเพศ (sex radical) และหนังสือที่เกี่ยวกับการปลดปล่อยทางเพศเหล่านี้ล้วนแต่เขียนจากประเทศสยาม ที่กลายเป็นบ้านถาวรหลังที่สองของเขา 

บางคนจึงชี้ว่า เพราะการพำนักในสยามและได้เรียนรู้วัฒนธรรมในต่างแดน ทำให้ความคิดเรื่องเสรีภาพทางเพศถูกหล่อหลอมขึ้นมา เพราะในสยามนั้นไม่มีวิธีคิดแบบ 'ขาวกับดำ' เรื่องทางเพศเหมือนชาติตะวันตก แม้จะเป็นชาวพุทธที่มีศีลห้ากำหนดไว้ แต่การถือศีลก็เป็นสิ่งที่เลือกทำตามใจชอบ ไม่ใช่สิ่งที่บังคับให้ทำ และไม่ใช่ถ้าไม่ทำแล้วจะถูกลงโทษเหมือนศาสนาในโลกตะวันตก 

ในบทความวิชาการเรื่อง Respectability’s edge: Transnational sex radical René Guyon ของ Tamara Loos ชี้ว่า กียอง ใช้ตัวอย่างการปฏิบัติทางเพศในสังคมที่ไม่ใช่โลกตะวันตก (ก็คือในสยามเป็นต้น) เช่น การรักร่วมเพศ เรื่องเพศในวัยเด็ก และความอดทนต่อการมีคู่หลายคู่ทั้งๆ ที่แต่งงานมีคู่ผัวตัวเมียแล้วก็ตาม กิจกรรมทางเพศในในสังคมอื่นๆ เหล่านี้ถูกนำมา "โต้แย้งว่าบรรทัดฐานทางเพศของตะวันตกเป็นสิ่งที่กดทับโดยใช้กฎหมายและการเมือง การปฏิบัติทางเพศของชาวเอเชียมีอิสระมากกว่าและด้วยเหตุนี้จึงมีความก้าวหน้าทางการเมืองมากกว่าในยุโรปซึ่งเต็มไปด้วยความจอมปลอม  ทำให้เกิดอาการประสาท และในที่สุดจะนำไปสู่การล่มสลายของสังคมยุโรป สิ่งเหล่านั้นเทียบได้กับสิ่งที่เขาเรียกว่าเผด็จการต่อต้านทางเพศ"

แต่ด้วยความที่เขาถูกยกให้เป็นพวก 'ราดิคัล' (radical) ในเรื่องการปลดปล่อยทางเพศ ชื่อของเขาจึงถูกนำไปใช้โดยกลุ่มที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดกฎหมาย นั่นคือ René Guyon Society ซึ่งเป็นสมาคมทางเพศชาวอเมริกันที่นิยมการร่วมเพศกับเด็ก และตอบโต้ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กไม่ใช่การทำร้ายเด็ก

รสนิยมทางเพศแบบนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายๆ ประเทศ (บางประเทศก็ไม่) จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องยอกย้อนอย่างหนึ่ง เพราะ เรอเน กียอง ไม่เห็นชอบกับการนำกฎหมายไปควบคุมรสนิยมทางเพศ  

สมาคมนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลักการเสรีภาพทางเพศของ กียอง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางเพศและดูงานเขียนของ กียอง คือ Kinsey Institute (ซึ่งเป็นองค์กรเรื่องเพศศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก) ประณามการนำเอาชื่อของ กียอง ไปใช้แบบนี้ โดยชี้ว่าแนวคิดของกลุ่มไม่สอดคล้องกับทฤษฎีของ กียอง

แต่ในขณะเดียวกับ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เช่น International Committee for Sexual Equality (ICSE) ที่สนับสนุนการรักเพศเดียวกัน ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของ กียอง 

Photo - แผนที่เก่าของกรุงเทพฯ แสดงที่ตั้งบ้านพักของ กียอง บนถนนสุรวงศ์ ภาพจาก Archive for Sexology

เขาเขียนผลงานสำคัญๆ ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับโลกจากบ้านพักในบางกอกนี่เอง แต่รัฐบาลฝรั่งเศสที่บ้านเกิดของเขากลับสั่งแบนหนังสือของเขา เนื่องจากมันเป็นศัตรูกับค่านิยมโมเดิร์นแบบตะวันตก ที่ถือกันว่าเป็นสิ่งศิวิไลซ์ในเวลานั้น

ส่วนที่ประเทศสยามเอง (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย) ก็คงจะไม่ทราบตัวตนอีกตัวตนของ กียอง หรือที่พวกรู้จักในชื่อไทยว่า พิชาญ บุลยง เนื่องจากเขาแบ่งตัวตนไว้อย่างชัดเจน ในฐานะนักทฤษฎีทางเพศเขาก็เป็นอีกตัวตนหนึ่งซึ่งสนับสนุนเสรีภาพทางเพศแบบสุดลิ่มทิ่มประตู

แต่ในฐานะนักกฎหมายของประเทศสยาม เขาพยายามจะเป็นคนอนุรักษ์นิยม โดยช่วยผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณี ครอบครัว อายุขั้นต่ำของเด็กหญิงที่จะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกฎหมายของสยามที่ดำเนินตามมาตรฐานตะวันตก แม้ว่า กียอง จะไม่พอใจในบางครั้งที่ต้องสวนทางกับแนวคิดเรื่องเพศของเขา แต่เขาก็ทำหน้าที่นั้นเพื่อช่วยสยามสร้าง "ความศิวิไลซ์" แบบตะวันตกที่ตัวเขาเองดูแคลนว่ามองโลกคับแคบเกินไปในเรื่องเพศ

ตัวตนของ กียอง ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสยามนั้นแนบเนียนเสียจนแทบไม่มีใครรู้อีกด้านหนึ่งของตัวเขา เหมือนอย่างที่บทความวิชาการของ Tamara Loos ที่ว่าด้วย กียอง ได้กล่าวเอาไว้ว่า 

"ดูเหมือนว่าพวกเขา (ชาวสยาม/ไทย) จะไม่รู้ถึงความรู้ทางเพศของเขา และบทบาทที่ประสบการณ์ทางเพศของเขาในต่างประเทศและในสยามมีต่อทฤษฎีของ กียอง เกี่ยวกับเรื่องเพศและสังคมตะวันตก" 

หลังจากบทความนี้ คิดว่าหลายคนคงจะมอง เรอเน กียอง ด้วยตาใหม่แล้ว

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The  Better 

อ้างอิง

  • Loos, T. (2020). Respectability’s edge: Transnational sex radical René Guyon. Sexualities, 23(1-2), 146-169. https://doi.org/10.1177/1363460718772731
  • Henry, H. & Lowenfeld, Y. (1942). Sexual Freedom: By René Guyon. Translated from the French by Eden and Cedar Paul. London: John Lane The Bodley Head, Ltd., 1939. 344 pp., Psychoanalytic Quarterly,11():258-261
  • Dynes, Wayne R., Editor (2016). Encyclopedia of Homosexuality Volume I. Taylor & Francis. 508 pp.
TAGS: #เรอเน.กียอง #LGBT