เฟรดดี้ ซานเชซ และครอบครัวของเขาเดินเป็นเวลาหลายวันภายใต้แสงแดดที่แผดเผา โดยข้ามเข้าสู่สหรัฐอเมริกาภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศกฎใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปิดพรมแดนจากการไหลทะลักเข้ามาของผู้อพยพจากทั่วทุกมุมโลก
“แม้ว่าพวกเขาจะบอกว่าจะปิดพรมแดน พวกเขาก็ไม่มีทางปิดได้” ซานเชซซึ่งมาถึงเมื่อวันพุธ กล่าว โดยเขาบอกว่าเดินทางมายังสหรัฐฯ เพื่อขอลี้ภัย
ซานเชซ วัย 37 ปี กล่าวว่าเขาและครอบครัวเดินทางจากกัวเตมาลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และได้ยินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ชายแดนเมื่อวันอังคาร ซึ่งเป็นวันที่ลงนามมาตรการดังกล่าว
“ผมคิดเรื่องนี้แล้วท้อแท้ แต่ผมบอกกับตัวเองว่า 'ไม่, ในนามของพระเจ้า เราจะไปถึงที่นั่น' และเห็นไหม ตอนนี้เราอยู่ด้านใน (สหรัฐฯ) ทสี่แทนที่จะอยู่ด้านนอก"
คำสั่งประธานาธิบดีของไบเดน (เทียบเท่ากับกฤษฎีกา) มีจุดมุ่งหมายเพื่อห้ามมิให้ผู้อพยพที่เข้าประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายไม่สามารถขอลี้ภัยได้ หลังจากที่จำนวนผู้อพยพมีอัตราเฉลี่ยพุ่งทะลุ 2,500 คนในหนึ่งวัน ซึ่งเป็นเกณฑ์มักจะถูกทำลายสถิติอยู่เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจสถานการณ์จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในเมืองฮาคุมบา ฮอตสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อสำนักข่าว AFP เดินทางไปเยือนในวันพุธและวันพฤหัสบดี
“ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” เจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนกล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อ หลังจากนับผู้อพยพหลายสิบคนที่รอถูกนำตัวไปยังศูนย์จัดการผู้อพยพ
สื่อสหรัฐฯ อ้างแหล่งข่าวที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ระบุว่า มีผู้อพยพ 4,000 คนถูกจับกุมที่ชายแดนเมื่อวันพุธ
อเล็กซ์ โรมัน ชาวโคลอมเบียวัย 31 ปีที่ใช้เส้นทางที่ยากลำบากเช่นเดียวกับซานเชซและครอบครัวของเขา เคยได้ยินเกี่ยวกับกฤษฎีกาปิดชายแดนเช่นกันเมื่อเขาอยู่ฝั่งเม็กซิโก
“ผมแค่ต้องฝ่าฟันไปได้ ผมลงทุนไปมากมายเพื่อพยายามมาที่นี่ แล้วทำไมผมถึงต้องหันหลังกลับโดยไม่พยายามล่ะ”
ปัญหายุ่งยากทางการเมือง
ที่เชิงแนวรั้วที่กั้นเป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ผู้สื่อข่าวของ AFP สามารถนับผู้อพยพราว 80 คนจากอินเดีย จีน ฮอนดูรัส นิการากัว ตุรกี สาธารณรัฐโดมินิกัน และจอร์แดน ที่กำลังรอโอกาสที่จะร้องขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ให้ยอมรับการขอลี้ภัยของพวกเขา
คำสั่งปิดชายแดนของไบเดนเป็นความพยายามที่จะต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการของเขาเรื่องการรับมือกับผู้อพยพ ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบลต่อความนิยมทางการเมืองของเขา จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่าเขากำลังดิ้นรนกับการรักษาความนิยม ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่กับโดนัลด์ ทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายน
จำนวนการข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 2,000 ไมล์ (3,000 กิโลเมตร) ทำลายสถิติใหม่ระหว่างที่เขาเป็นรัฐบาล โดยแตะ 10,000 ครั้งในวันเดียวในเดือนธันวาคม
จำนวนดังกล่าวลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ปัญหานี้กำลังพิสูจน์ให้เห็นถึงความยุ่งยากสำหรับไบเดน
ทรัมป์โจมตีผู้อพยพเป็นประจำ โดยที่เขากล่าวว่าเป็นหายนะที่ชายแดน และให้คำมั่นว่าจะส่งกลับผู้อพยพจำนวนมาก และยุติการย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย
คำสั่งของไบเดนจะอนุญาตให้เขา "ระงับการเข้ามา" ของผู้อพยพได้ เมื่อจำนวนการเข้ามาเฉลี่ยต่อวันเกิน 2,500 ครั้งต่อสัปดาห์
อดัม ไอแซคสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นฐานของสำนักงานวอชิงตันว่าด้วยกิจการลาตินอเมริกา (Washington Office on Latin America) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าตัวเลขนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายวันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ดังนั้น มาตรการดังกล่าวจึงควรมีผลบังคับใช้ทันที
ดินแดนแห่งพันธสัญญา
ไบเดนกำลังเผชิญกับการต่อต้านจากทุกฝ่ายในการจัดการชายแดน
แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจากพรรครีพับลิกันจะบอกว่าเขาไม่แข็งแกร่งพอ แต่พันธมิตรพรรคเดโมแครตบางคนกล่าวว่ากฎใหม่นี้เข้มงวดเกินไป
พวกเขาสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันกับกฤษฎีกาที่ออกโดยทรัมป์ในปี 2018 ตอนที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งถูกขัดขวางในชั้นศาลจากการยื่นฟ้องร้องของสหภาพเสรีภาพพลเรือนอเมริกัน หรือ ACLU ให้คำมั่นที่จะขึ้นศาลอีกครั้งเพื่อฟ้องรอ้งกรณีที่ ไบเดน ออกคำสั่งกีดกันผู้อพยพ
ความแตกต่างประการหนึ่งคือคำสั่งของไบเดนอนุญาตให้มีข้อยกเว้นสำหรับกฎแบบครอบคลุม รวมถึงผู้เยาว์ที่เดินทางโดยลำพังด้วย
เมื่อวันพุธ วัยรุ่นสองคนจากจอร์แดนข้ามเข้าสู่สหรัฐอเมริกาเพียงลำพัง
“พ่อแม่ของพวกเขาอยู่ในเม็กซิโก” อาสาสมัครคนหนึ่งที่ช่วยเหลือคนหนุ่มสาวในเรื่องอาหารและน้ำระหว่างรอตำรวจตระเวนชายแดนกล่าว
“พวกเขามารวมตัวกัน แต่ในนาทีสุดท้าย ด้วยความหวาดกลัวต่อกฤษฎีกา พ่อแม่จึงตัดสินใจไม่ข้ามไปส่งพวกเขาไปแทน ลุงของพวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่” ผู้หญิงคนนั้นกล่าว
เมื่อมองไปไกลๆ ผู้สื่อข่าวยังมองเห็นผู้อพยพอีกกลุ่มหนึ่งจากโคลอมเบียและเปรูเดินทางมาถึงด้วยการเดินเท้าอย่างเหนื่อยล้า หลังจากข้ามผ่านรูอีกช่องหนึ่งในแนวรั้วชายแดนที่ตั้งตระหง่าน
หลายคนที่พูดคุยกับสำนักข่าว AFP กล่าวว่ากฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่สามารถหยุดยั้งพวกเขาได้ เช่นเดียวกับแนวร้ัวกั้นชายแดนที่ตั้งขึ้นในสมัย ทรัมป์
“มีคนที่นี่จากหลายประเทศที่นี่... มันเป็นเรื่องของคนทั่วโลก” โรมัน วัย 31 ปีจากโคลอมเบียกล่าว
“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะสำหรับทุกคน สหรัฐอเมริกาคือความฝันแบบอเมริกัน ดินแดนแห่งคำสัญญาของเรา”
Text by Agence France-Presse
PHOTO TOPSHOT - ผู้อพยพจากประเทศจีนซึ่งเหนื่อยล้าจากความร้อน พักอยู่ข้างกำแพงชายแดนหลังจากเดินเข้าไปในสหรัฐอเมริกาที่ฮาคุมบา ฮ็อตสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 ผู้อพยพจากประเทศต่างๆ เช่น ตุรกี จอร์แดน กัวเตมาลา นิการากัว จีน และ อินเดียได้เดินเท้าเข้าไปในสหรัฐอเมริกาในวันนี้ ก่อนที่จะพบกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรและตระเวนชายแดนเพื่อดำเนินการต่อไป สหรัฐฯ จะปิดพรมแดนเม็กซิโกชั่วคราวสำหรับผู้ขอลี้ภัยตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน (Photo by Frederic J. BROWN / AFP)