ย้อนเหตุการณ์ ซีเซียม-137 รั่ว หายนะกัมมันตรังสีบราซิล

ย้อนเหตุการณ์ ซีเซียม-137 รั่ว หายนะกัมมันตรังสีบราซิล
ย้อนไป 36 ปี เคยเกิดเหตุ ‘ซีเซียม-137’ หายไปจากโรงพยาบาลที่ถูกทิ้งร้างในบราซิล จนทำให้คนนับร้อยรับสารพิษจากรังสี และมีผู้เสียชีวิตถึง 4 คน

เหตุการณ์ซีเซียม-137 (Cesium-137) ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงเวลานี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าซีเซียม-137 หายออกไปจากโรงไฟฟ้าตั้งแต่เมื่อใด กระทั่งช่วงค่ำของวันที่ 19 มี.ค. จังหวัดปราจีนบุรีประกาศพบซีเซียมดังกล่าวแล้ว โดยพบว่ามีสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ปนเปื้อนในเขม่าหลอมเหล็ก ซึ่งในกระบวนการหลอมจะเกิดฝุ่นแดงที่มาจากการหล่อมถูกบรรจุใส่ถุกบิ๊กแบ็ก เตรียมส่งขายต่อไปแต่ยังไม่ทันได้นำส่งขาย พร้อมทั้งมีการปิดล้อมโรงหลอมเหล็กดังกล่าวแล้วเพื่อความปลอดภัย

แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลคือ ผลกระทบจากฝุ่นผงที่บนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบในภาพใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมหรือประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ที่แม้ในเวลานี้จะยังไม่มีการพบใครที่เจ็บป่วยจากกัมมันตรังสีดังกล่าว แต่กรณีอันตรายที่เกิดจากแร่กัมมันตรังสีซีเซียมหาย เคยสร้างอันตรายถึงขั้นที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยมากแล้วเมื่อเกือบ 36 ปีก่อน

ซีเซียม บราซิล

 

หายนะซีเซียมบราซิล

ย้อนไปเมื่อ 13 กันยายน 1987 ที่เมืองโกยาเนีย ประเทศบราซิล คือจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายที่สร้างผลกระทบไปทั้งประเทศ ในเวลานั้น Instituto Goiano de Radioterapia (IGR) ซึ่งเป็นสถาบันรังสีรักษาเอกชนในโกยาเนีย ได้ย้ายที่ตั้งออกจากเมืองโกยาเนียไปยังที่ตั้งแต่ใหม่ในปี 1985 แต่ทางสถาบันกลับทิ้งเครื่องฉายรังสีบำบัดไว้ในอาคารที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งเครื่องดังกล่าวมีการใช้แร่ซีเซียม-137 ในการฉายรังสีแกมม่าเพื่อรักษามะเร็ง ซึ่งในเวลานั้นแม้แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่ทราบว่ายังมีสารกัมมันติรังสีถูกทิ้งไว้ในโรงพยาบาลร้าง

แม้อาคารที่ตั้งของสถาบันดังกล่าวจะถูกทิ้งร้าง แต่ก็มีรปภ.ทำหน้าที่เฝ้ายาม กระทั่งวันหนึ่งรปภ.ที่เฝ้ายามไม่มาเข้ากะ โรแบร์โต โดส ซานโตส อัลเวส (Roberto dos Santos Alves) และ วากเนอร์ โมต้า เปเรย์รา  (Wagner Mota Pereira)  สองพ่อค้าของเก่าได้เข้าไปภายในอาคารที่ถูกทิ้งร้าง เพื่อหาของเก่าขาย พวกเขาได้ถอดเครื่องฉายรังสีออกพร้อมกับพบกับแท่งเหล็กที่อยู่ด้านในออกเพียงเพราะต้องการนำเศษเหล็กไปขายโดยไม่รู้ว่านั่นคือกล่องเก็บแร่ซีเซียม 

สองคนหาของเก่าได้นำกล่องเหล็กไปไว้ที่บ้านของอัลเวส ในเย็นวันเดียวกันนั้น ทั้งคู่เริ่มอาเจียนเนื่องจากรับปริมาณรังสีเข้าสู่ร่างกาย วันรุ่งขึ้นเปเรย์รา ก็เริ่มมีอาการรท้องร่วงและเวียนศีรษะ มือซ้ายเริ่มบวม และเกิดรอยไหม้จนท้ายที่สุดเขาต้องถูกตัดนิ้ว 

16 กันยายน ผ่านมาสามวันหลังทั้ง 2 เข้าไปคุ้ยหาของเก่าในโรงพยาบาลร้าง อาการของเปเรย์ร่ากลับแย่ลง อย่างไรก็ตาม อัลเวส กลับยังคงพยายามแกะกล่องเหล็กดังล่าวจนในที่สุด เข้าก็สามารถแกะเหล็กที่หอหุ้มแคปซูลซีเซียมออกมาได้ อัลเวสถือเป็นคนแรกของเหตุการณ์นี้ที่สัมผัสกับกัมมันตรังสีโดยตรง เขาใช้สว่านและไขควงในการแกะแคปซูลบรรจุซีเซียม จนสามารถคว้านเอาผงซีเซียมที่มีสีฟ้าเรืองแสงออกมาได้ ในเวลานั้นอัลเวส คิดว่ามันคือผงดินปืน เขาพยายามจุดไฟ แต่ผงแป้งไม่ติดไฟ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือบริเวณมือและแขนของเขาเป็นเป็นรอยไหม้อย่างชัดเจน

18 กันยายน อัลเวสได้ขายแท่งเหล็กที่เป็นแคปซูลให้กับโรงขยะในเวณใกล้เคียง คืนนั้น เดวาร์ อัลเวส เฟเรย์ร่า  (Devar Alves Ferreira) เจ้าของโรงขยะสังเกตุเห็นแสงสีฟ้าลอดผ่านช่องที่ถูกเจาะ เขาคิดว่าภายในแคปซูลคือของมีค่า เขาจึงนำมันเข้าไปในบ้านทันที ในอีกสามวันต่อมา เขาชวนเพื่อนและครอบครัวมาดูสารเรืองแสงประหลาด

 21 กันยายน ที่โรงเก็บขยะ เพื่อนคนหนึ่งของเฟเรย์ร่า ประสบความสำเร็จในการเอาวัสดุเรืองแสงขนาดเท่าเมล็ดข้าวออกจากแคปซูลโดยใช้ไข จากนั้นเขาเริ่มแบ่งปันชิ้นส่วนแร่ซีเซียมขนาดเท่าเม็ดข้าวโพด ต่อเพื่อนๆ และสมาชิกในครอบครัว เพราะคิดว่ามันคือหินอัญมณีมีค่าที่เรืองแสงได้ ในวันเดียวกันนั้นภรรยาวัย 37 ปีของเขาเริ่มล้มป่วย และต่อมา 25 กันยายน เดวาร์ อัลเวส เฟเรย์ร่า  ได้ขายเศษโลหะดังกล่าวให้กับโรงเก็บขยะแห่งที่สาม 

หนึ่งวันก่อนการขายให้กับโรงงานเก็บขยะแห่งที่สาม ไอโว (Ivo) น้องชายของเดวาร์ ได้นำฝุ่นผงซีเซียมบางส่วนกลับมาที่บ้าน เขาเทมันบนพื้นคอนกรีตของบ้าน จากนั้นลูกสาววัย 6 ขวบที่นั่งกินแซนวิชรู้สึกถึงต่อผงสีฟ้าที่เรืองแสงได้ จึงได้นำผงแป้งดังกล่าวไปให้กับแม่ของเธอดู 

28 กันยายน  Maria Gabriela Ferreira ภรรยาของเจ้าของโรงขยะแห่งที่สอง เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นว่าหลายคนรอบตัวเธอป่วยหนักในเวลาเดียวกันด้วยอาการคล้ายกัน ในวันที่ 28 กันยายน  สิบห้าวันหลังจากพบสิ่งของนั้น เธอนำแคปซูลดังกล่าวส่งให้เจ้าหน้าที่พร้อมนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

ช่วงเช้าต่อมา 29 กันยายน หน่วยงานรัฐบาลเพิ่งทราบว่าเกิดเหตุการณ์กัมมันตรังสีรั่วไหล จึงรุดเข้ารับมือสถานการณ์ทันทีด้วยการสั่งปิดเมือง พร้อมระดมพลเข้าตรวจหาสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลตลอดเส้นทางนับตั้งแต่มันถูกนำออกจากโรงพยาบาลร้าง

ซีเซียม บราซิล

(โลงศพเหยื่อกัมมันตรังสีวัย 6 ขวบ ขณะกำลังถูกฝั่งที่สุสาน)

 

ป่วยนับร้อย ป่วนทั้งเมือง

แม้ผลกระทบของรังสีไม่ได้เกิดขึ้นในทันที หลายคนที่สัมผัสโดยตรงกับรังสีเพิ่งแสดงอาการเจ็บป่วยหลังจากนั้นราว 2-3 วัน แต่กว่าจะแจ้งเตือนสถานการณ์ก็สายไปเสียแล้ว ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว และการปนเปื้อนก็แพร่กระจายไปทั่ว ทั้งเมืองโกยาเนียซึ่งมีประชากรกว่า 7 แสนคน จมดิ่งสู่ความโกลาหล ผู้คนจำนวนมากถูกอพยพออกนอกเมือง พื้นที่ขนาดใหญ่ถูกปิดล้อมเนื่องจากถูกปนเปื้อนกัมมันตรังสี จากเมืองที่เคยพลุกพล่านตอนนี้กลายเป็นเมืองผี 

ชาวเมืองไม่น้อยกว่า 130,000 คน แห่ไปโรงพยาบาลเพื่อขอรับการตรวจเลือดวัดระดับรังสี จากจำนวนดังกล่าว พบว่ามี 249 รายที่ปนเปื้อนรังสี เหตุการณ์นี้นำไปสู่การมีผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่วันหลังสัมผัสรังสี 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กวัย 6 ขวบ ซึ่งก็คือลูกสาวของ ไอโว ฟาเรย์ร่า แม้เธอจะได้รับการช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ แต่ด้วยภาวะเลือดเป็นพิษจากกัมมันตรังสี ตลอดจนการติดเชื้อหลายอย่าง ทำให้เธอเสียชีวิตในที่สุด 

ผลพวงจากรังสียังไม่จบแค่นั้นเพราะจากการติดตามของหน่วยงานบราซิลพบว่า มีผู้เสียชีวิตที่สืบเนื่องจากรังสีในเวลาต่อมาอีกหลายราย รวมแล้วราว 60 คน

หลังเสียชีวิต ทางโรงพยาบาลมีแผนฝังร่างของเธอที่สุสานของเมือง ด้วยโลงศพที่ทำจากไฟเบอร์กลาสแบบพิเศษภายในบุด้วยตะกั่วเพื่อป้องกันรังสีรั่วไหลจากร่างของเธอ แต่ก็ยังมีชาวเมืองไม่น้อยกว่า 2,000 คนออกมาประท้วงการฝังร่างของเธอ ผู้ก่อการจลาจลพยายามขัดขวางการฝังศพของเธอโดยใช้หินและอิฐปิดกั้นถนนของสุสาน แต่ท้ายที่สุดก็มีการฝั่งร่างของเธอในสุสานดังกล่าว

นอกจากการรักษาผู้ป่วยจากรังสีแล้ว ทางการยังต้องขุดย้ายชั้นดินด้านบนของสถานที่หลายแห่ง ตั้งแต่โรงพยาบาลร้าง จนถึงโรงขยะและบ้านของเจ้าของโรงขยะ เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องการปนเปื้อนสาร ขณะเดียวกันหน่วยงานด้าน IAEA หรือทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ได้เข้ามาช่วยเหลือในการ "บิ๊กคลีนนิ่ง" ทั้งเมือง ด้วยการตรวจและทำความสะอาดสิ่งของที่พบการปนเปื้อนด้วยส่วนผสมของกรดและ ปรัสเซียนบลู ที่มีฤทธิ์ดูดซับรังสี บ้านเรือนบางหลังถึงขั้นต้องเปลี่ยนหลังคาใหม่ทั้งหมด เพราะยากเกินการกำจัด 

กรณีนี้สะท้อนตัวอย่างหลายอย่างต่อประชาคมโลก ในการใช้พลังงานรังสีปรมานู ภายหลังการสอบสวนพบว่าโรงพยาบาลเอกชนของบราซิลไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการแจ้งปริมาณสารกัมมันตรังสีที่ครอบครองอย่างถูกต้อง ทั้งกลับย้ายออกอย่างไม่รัดกุม  แพทย์สามคน เจ้าของโรงพยาบาลและนักรังสีวิทยาที่เกี่ยวข้องถูกศาลสั่งดำเนินคดีข้อหาประมาทเลินเล่อทางอาญาและถูกปรับพร้อมจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย 1.3 ล้านเรียลบราซิล (เกือบ 750,000 เหรียญสหรัฐฯ) 

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสความหวาดกลัวและความตื่นตระหนกทั่วบราซิลและทั่วโลก มันเป็นเครื่องเตือนใจอย่างชัดเจนถึงอันตรายที่เกิดจากวัสดุกัมมันตภาพรังสีและความสำคัญของการจัดการและการกำจัดที่เหมาะสม 

อุบัติเหตุโกยาเนียยังคงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางรังสีวิทยาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเตือนใจที่ยังคงสะท้อนมาจนถึงทุกวันนี้ ผลพวงของอุบัติเหตุ ทั้งในบราซิลรวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศด้านพลังงานปรมานูได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับอันตรายของรังสีและความสำคัญของมาตรการความปลอดภัยในการปกป้องผู้คนและสิ่งแวดล้อม มันเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ แต่ในที่สุดเหตุการณ์นั้นก็นำไปสู่การตระหนักรู้และความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนิวเคลียร์ 
 

TAGS: #บราซิล #กัมมันตรังสี #ซีเซียม #ซีเซียม137