'อีสาน'เคยเป็นของ'ประเทศลาว'หรือเปล่า แล้วประเทศลาวเคยเป็นของไทยหรือไม่?

'อีสาน'เคยเป็นของ'ประเทศลาว'หรือเปล่า แล้วประเทศลาวเคยเป็นของไทยหรือไม่?
ไม่ใช่แค่กรณีนี้เท่านั้นที่สะท้อนความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่น้อยเกินไป ทำให้คนเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง 

คำถามที่ว่า "'อีสาน'เคยเป็นของ'ประเทศลาว'หรือเปล่า แล้วประเทศลาวเคยเป็นของไทยหรือไม่?" ถูกถามมาตลอด แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แถมยังเป็นเรื่องที่ทำให้คนสองประเทศทะเลาะกันมาหลายครั้งแล้ว

ความเข้าใจผิดนี้ฝังรากลึกถึงระดับสากลด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น ในคลิปของที่ Uncle Roger วิจารณ์อาหารลาวและกัมพูชาว่าเป็นเวอร์ชั่นห่วยๆ ของอาหารไทย จนกระทั่งทำให้เกิดการตอบโต้จากชาวเขมรและลาวจำนวนหนึ่ง ต่อมาเขาพยายามที่จะลดความขัดแย้งนี้ลง โดยเชิญอินฟลูเอนเซอร์ชาวลาวมาร่วมรายการ คือ "เอ๋ สุทำมะวง" (Ae Southammavong/ເອ໋ ສຸທຳມະວົງ) ซึ่งเป็นชาวลาวที่อยู่ในเมืองแซนดิเอโก ประเทศสหรัฐ

ในรายการของ ที่ Uncle Roger เอ๋ สุทำมะวงได้เล่าความเป็นมาของอาหารลาว โดยตอนหนึ่งเธอบอกว่า "มีอาหารหลายอย่างที่เหมือนกันระหว่างไทยและลาว เพราะมีส่วนที่เรียกว่าไทยอีสานที่เคยเป็นประเทศลาวมาก่อน แล้วขอเล่าประวัติศาสตร์เร็วๆ นะ ตอนที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดพวกเราเป็นอาณานิคม พวกเขาขี้เกียจเกินกว่าที่จะเขียนแผนที่ใหม่หมด พวกนั้นก็เลยยกแม้น้ำโขงฝั่งนั้นไป ดังนั้นเลยมีอาหารหลายอย่างที่เหมือนกัน" 

ดูเหมือนว่าเธอจะพูดทีเล่นทีจริง แต่ในความเล่นๆ มีความเข้าใจผิดที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ  

นี่เป็นความเข้าใจผิดเพียงตัวอย่างเดียว ยังไม่นับความเห็นของทั้งคนลาวและคนไทยอีกมากมายในโซเชียลมีเดียที่มักจะเข้าใจกันไปเองว่า "อีสานเป็นของลาว" 

อีสานเคยเป็นของลาวหรือไม่?
พื้นที่ของภาคอีสานบางส่วนเคยเป็นดินแดนของอาณาจักรล้านช้าง บางส่วนเป็นของอาณาจักรอยุธยา เช่น พิมาย บางส่วนของชัยภูมิในปัจจุบัน บางส่วนของเลยในปัจจุบัน และดินแดนอีสานใต้ คือ พื้นที่ปัจจุบันของบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ส่วนที่เหลือของอีสานเป็นของอาณาจักรล้านช้าง

ต่อมาอาณาจักรล้านช้างเกิดความขัดแย้งขึ้นมา จนกระทั่งแตกแยกออกมาเป็นอาณาจักรหลวงพระบาง (ตอนเหนือ) อาณาจักเวียงจันทน์ (ตอนกลาง) และอาณาจักรจำปาสัก (ตอนใต้) ทั้ง 3 อาณาจักรเป็นของคนลาว แต่มีความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกันเอง 

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หรือปลายสมัยอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาณาจักรลาวของหลวงพระบางและจำปาสักขัดแย้งกับเวียงจันทน์มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เวียงจันทน์พยายามควบคุมภาคอีสาน ผู้คัดค้านอำนาจผู้ปกครองเวียงจันทน์จำนวนหนึ่งจึงเริ่มอพยพจากเวียงจันทน์และมาลี้ภัยในอีสาน ส่วนใหญ่ยอมรับว่าสยามหรือไทยเป็น"พระราชาธิราช" นั่นคือเป็นกษัตริย์เหนือพวกเขา ส่วนชาวลาวที่อพยพมาตั้วบ้านเมืองในอีสานก็ตั้งตัวเป็นเจ้าเมือง โดยไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์อีก

ภายใต้ระบบอำนาจของพระราชาธิราชหรือจักรพรรดิราช หรือที่นักวิชาการตะวันตกเรียกว่าระบบ "มัณฑละ" นี้ ผู้นำเมืองในอีสานที่อพยพมาจากอาณาจักรเวียงจันทน์จะได้รับสถานะที่เทียบเท่ากับศักดินาและตำแหน่งขุนนางในฐานะเจ้าเมืองของสยาม มีสิทธิ์เต็มที่ในการปกครองเมืองของตน จึงกลายเป็นข้าราชบริพารในราชสำนักกรุงเทพฯในที่สุด มีการตั้งเมืองใหม่เช่นนี้อย่างเช่นเมืองชัยภูมิพร้อมกับเมืองรองอีกหลายเมือง 

ลาวขัดแย้งกันเองจนสิ้นแผ่นดิน
ความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรหลวงพระบางและเวียงจันทน์รุนแรงขึ้น ในพ.ศ. 2316 เวียงจันทน์ถูกกองทัพหลวงพระบางโจมตี พระเจ้าสิริบุญสารของเวียงจันทน์ได้ติดต่อกับพม่าเพื่อขอความช่วยเหลือ ทำให้เวียงจันทน์ให้กลายเป็นบริวารของพม่า ในเวลานั้นสยามอยู่ในยุคกรุงธนบุรี การดึงพม่าเข้ามาในลาวทำให้ราชสำนักธนบุรีโกรธเคือง 

จนกระทั่งธนบุรีสะสางสงครามพม่า-สยาม พ.ศ. 2318-2519 เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในเวลาต่อมา) เข้าตีเมืองเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2322 กองทัพสยามตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และทำการชิงเมืองและอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ รวมทั้งพระแก้วมรกตที่กลับไปยังกรุงธนบุรี พระเจ้าสิริบุญสารของเวียงจันทน์ตัดสินใจยอมจำนนต่อสยาม และเวียงจันทน์ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม 

แต่ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารของเวียงจันทน์ได้กบฏต่อสยามอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2324 จนถูกสยามจับได้และประหารชีวิต ฝ่ายสยามได้ตั้งเจ้านันทเสนบุตร โอรสของพระเจ้าสิริบุญสารขึ้นเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์ แต่ความขัดแย้งระหว่างลาวด้วยกันยังไม่จบสิ้น ในปี พ.ศ. 2334 เจ้านันทเสนได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่าอาณาจักรหลวงพระบางวางแผนกบฏต่อสยามอย่างลับๆ พระองค์ได้รับอนุญาตให้โจมตีหลวงพระบางและยึดเมืองได้ในปี พ.ศ. 2335

แต่พ.ศ. 2338 นันทเสนถูกกล่าวหาว่าวางแผนกบฏกับเจ้าเมืองลาวที่นครพนม จึงถูกปลดจากตำแหน่งและถูกนำตัวไปที่กรุงเทพฯ เจ้าอินทวงศ์ผู้เป็นน้องชายได้ครองเวียงจันทน์ต่อมา

เจ้าอินทวงศ์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2347 เจ้าอนุวงศ์ผู้เป็นน้องชายขึ้นครองราชย์ต่อมา ในตอนแรกเจ้าอนุวงศ์ภักดีต่อสยาม แต่ในเวลาต่อมาได้ก่อกบฏต่อสยาม ในรัชกาลพระบาทสมเด็๗พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์ส่งกองทัพ 10,000 นายไปยังเมืองต่างๆ ในที่ราบสูงโคราชหรือภาคอีสาน เข้ายึดนครราชสีมาได้ในเดือนมกราคม แต่สยามก็จัดการโต้กลับอย่างรวดเร็ว พ.ศ. 2370 เวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามเข้าทำลายเป็นครั้งที่สอง เมืองถูกเผาจนราบเป็นหน้ากลองและถูกเก็บสมบัติไปเกือบทั้งหมด ประชากรของเมืองถูกอพยพออกไปทั้งหมด เจ้าอนุวงศ์ถูกจับขังไว้ในกรงเหล็กจนสิ้นพระชนม์

นับแต่นั้นมา อาณาจักรเวียงจันทน์ หรือ "กรุงศรีสัตนาคนหุตอุดมราชธานี" ถูกกำจัดไปตลอดกาล ที่ราบสูงโคราชหรือภาคอีสานทั้งหมดหรือ "ฝั่งขวาแม่น้ำโขง" ถูกยึดครองอย่างเป็นทางการโดยสยาม ชาวสยามแบ่งดินแดนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงออกเป็นสามเขตการปกครอง โดยทางตอนเหนือ กษัตริย์หลวงพระบางและกองทหารสยามกลุ่มเล็กๆ ควบคุมหลวงพระบาง สิบสองปันนา (ปัจจุบันเป็นของจีน แต่สิบสองปันนานั้นเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าคือยอมส่งบรรณาการให้ไทย แต่ในทางปฏิบติขึ้นกับจีน) และสิบสองจุไท (ปัจจุบันเป็นของเวียดนาม) ภาคกลางจัดการปกครองจากหนองคาย ภาคใต้ถูกควบคุมโดยจำปาสัก

นี่คือจุดเริ่มต้นที่อีสานตกเป็นของสยามโดยสมบูรณ์ รวมถึงดินแดนลาวทั้งหมดทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (หรือฝั่งตะวันออก) ก็เป็นประเทศราชของไทย ดังที่ปรากฎหลักฐานในทำเนียบหัวเมือง ในจารึกสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ลาวเป็นของฝรั่ง-อีสานเป็นของไทย
แต่การปกครองภาคอีสานของรัฐบาลสยามยุคก่อนสร้างชาติให้ทันสมัยนั้น ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะยังใช้ระบบให้ปกครองกันเองแล้วแสดงความสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ การที่สยามบังคับให้ย้ายประชากรลาวจากฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงไปยังที่ราบสูงโคราชหรืออาคอีสาน ทำให้เหลือประชากรเพียงหนึ่งในห้าของประชากรดั้งเดิมบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง 

ในช่วงทศวรรษที่ 1830 ถึง 1890 (พ.ศ. พ.ศ. 2373 ถึง พ.ศ. 2433) ภูมิภาคนี้เกิดความโกลาหลจากการก่อจลาจล กลุ่มโจร การปล้นทาส และสงครามฮ่อ ซึ่งเป็นการก่อกวนโดยกองทัพฮ่อหรือพวกกบฏไท่ผิงที่หลบหนีมาจากจีนแล้วมาก่อความวุ่นวายในเวียดนามและลาว

ความวุ่นวายเหล่านี้ รวมสุญญากาศของอำนาจจากการปกครองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ฝรั่งเศส ซึ่งในเวลานั้นได้กัมพูชาไปจากสยามแล้วและยังยึดเวียดนามตอนใต้ (โคชินจีน) ไว้แล้ว ทำการรุกไปทางเหนือสู่แม่น้ำโขง ด้วยความหวังว่าจะสร้างเส้นทางสัญจรทางน้ำไปยังจีน การมาถึงของฝรั่งเศสทำให้เกิดการปะทะกับสยามในที่สุด

ทั้งสองประเทศทำสงครามกันในปี พ.ศ. 2436 จนกระทั่งเกิดกรณีปากน้ำเมื่อฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาในกรุงเทพฯ ขัดกับสัญญาที่ให้ไว้กับบริเตนใหญ่ที่จะไม่ทำแบบนั้นกับประเทศสยาม การข่มขู่ของฝรั่งเศสทำให้สยามต้องยอมให้ฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง 

หลังจากที่สยามยอมรับคำขาดในการยกดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรวมทั้งเกาะต่างๆ ในแม่น้ำโขง ก็ได้มีการจัดตั้ง "รัฐอารักขาลาว" อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2436 และเมืองหลวงในการบริหารประเทศของรัฐบาลอาณานิคมได้ย้ายจากหลวงพระบางไปยังเวียงจันทน์ แต่หลวงพระบางยังคงเป็นที่ประทับของราชวงศ์ ซึ่งอำนาจถูกลดอำนาจลงเหลือเพียงประมุขรัฐ ขณะที่อำนาจที่แท้จริงถูกโอนไปยังเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส 

นี่คือที่มาของการที่ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตกเป็นของฝรั่งเศส และต่อมาเมื่อได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วก็กลายเป็นประเทศลาว ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงหรือฝั่งซ้าย หรือภาคอีสานทั้งหมดตกเป็นของไทยจนถึงทุกวันนี้ 

ตกลงแล้วอีสานเคยเป็นของลาวหรือเปล่า? 
อีสานบางส่วนเคยเป็นของอาณาจักรล้านช้างมาก่อน แต่หลังจากล้านช้างแตกแยกแล้ว ดินแดนของอีสานต่างก็มาขึ้นกับไทย โดยขุนนางและเชื้อพระวงศ์ที่หนีความขัดแย้งในเวียงจันทน์มาตั้งเมืองที่เป็นอิสระจากเวียงจันทน์ แต่มาขอความคุ้มครองจากสยาม กลายเป็นหัวเมืองของประเทศสยาม (คือ ) จนกระทั่งอาณาจักรทั้งสามของล้านช้างเดิมก็ขัดแย้งกัน แล้วก็ตกเป็นประเทศราชของสยามในที่สุด 

ทั้งล้านช้างและอาณาจักรลาวทั้งสามไม่ใช่ "ประเทศลาว" ซึ่งเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (Nation state) ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อก่อตั้ง "ราชอาณาจักรลาว" เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2490 แต่อาณาจักรนี้ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมของสหภาพฝรั่งเศส และได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2496 

ประเทศลาวที่เป็นอิสระจริงๆ จึงเพิ่งเกิดเมื่อพ.ศ. 2496 ในเวลานั้นภาคอีสานของไทยเป็นเขตปกครองที่ถาวรและเป็นระบบแล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ "ประเทศลาว" หรือราชอาณาจักรลาวที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ 

ดั้งนั้น ในทางเทคนิคแล้ว "อีสานไม่เคยเป็นของประเทศลาว" แต่ถ้าถามว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของ "อาณาจักรล้านช้าง" หรือไม่? คำตอบก็คือ "ใช่"

และการที่คนในภาคอีสานกลุ่มใหญ่พูดภาษาลาว (หรือภาษาอีสาน) ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอีสานเป็น "ประชาชนของประเทศลาว" แต่พวกเขาคือพลเมืองไทยเต็มขั้น

ไม่อย่างนั้น ประชาชนของสาธารณรัฐออสเตรียที่พูดภาษาเยอรมัน ไม่กลายเป็นพลเมืองของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรอกหรือ?

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าว The Better 

TAGS: #อีสาน #ลาว