สถานการณ์เบื้องหลัง
- เศรษฐกิจของลาวและค่าเงินกีบอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาหลายเดือนแล้ว โดยค่าเงินกีบยังอ่อนค่าอย่างหนักต่อเนื่อง ส่วนปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าแพงก็ยังไไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชนต้องได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
- แต่ สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว ชี้ว่า เศรษฐกิจของประเทศลาวมีท่าทีที่ดีขึ้น โดยจะขยายตัว 4.7% หลังจากที่มีข่าวนี้ออกไป ปรากฏว่าคนลาวแสดงความเห็นในทางตรงกันข้าม เช่นบางคนบอกว่า "ดูท่าแล้วไม่น่าจะรอด" ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจของลาว
คนลาวไม่พอใจแค่นไหน?
ในข่าวที่นายกรัฐมนตรีลาวว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นนั้น มีคนลาวเข้ามาแสดงความเห้รในเพจข่าวโทละโขง ว่า "ก็ถูกละเด้อ กระแสเริ่มดีขึ้น แต่ก่อน 1,000 บาท 300,000 แต่ปีนี้ 2567 1,000 บาท 730,000 แนวโน้มอาจเพิ่มขึ้น" ซึ่งความเห็นนี้เป็นการเสียดสีรัฐบาลที่ปล่อยให้ค่าเงินกีบอ่อนค่าอย่างหนักไม่หยุดหย่อน
หลังจากนั้นชาวลาวจำนวนหนึ่งเริ่มแสดงความไม่พอใจผ่านโซเชียลมากขึ้น เช่น ในเฟซบุ๊คของ Lahnoy Phetsangharn ที่โพสต์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน บอกว่า "ไม่เรียกว่าล้มละลายแล้วจะเรียกอะไร? มีครบทุกอย่าง ทั้งเงินเฟ้อรายวัน ระบบสาธารณูปโภคเป็นอัมพาต ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา แรงงานดีๆ ออกนอกประเทศ เหลือแต่คนติดยากับโจร ชมเชย" (คำว่าว่า ชมเชย เป็นคำแสดงความยินดี แต่ปัจจุบันถูกใช้เป็นคำเสียดสีของคนลาว)
ในโพสต์นี้มีคนกดไลค์ถึง 2.2 พันและแชร์ไปถึง 2.1 พันแชร์ ยังไม่นับความเห็นอีกครึ่งพัน เช่น Phouthasinh Tou Hero Viphommavongsa ดารานักแสดงของลาว บอกว่า "พูดถูกต้อง" อีกความเห็นบอกว่า "50 ปีเราเทียบกับ 50 ปี สิงคโปร์...สถาปนาประเทศที่แตกต่างในเวลาเพียง 10 ปี! ประเทศที่มี “ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์” กับประเทศที่มี “ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ” (หมายความว่า สปป.ลาวตั้งช้ากว่าสิงคโปร์ 10 ปี แต่บลาวมีทรัพยากรมากมาย ส่วนสิงคฮโปร์ไม่มีอะไรเลย มีแต่คนที่มีคุณภาพ ก็ยังพัฒนาสูง)
ชาวลาวบางคนเช่น Thanongsay Singchaleun ตั้งข้อสงสัยในเฟซบุ๊คของเขาว่า "อยากรู้ว่า ท่าที่ท่านเห็นว่ามันดีขึ้น มันคือท่าอะไร ท่าเรือ ท่าน้ำ ท่าบก เวลาที่ท่านจะแจ้งอะไรสู่สังคม ท่านเอาปัญหามาชี้แจง มาหารือกัน หาแนวทางที่แก้ไขได้จริงพร้อม ไม่ใช่ท่าจะพูด จะสั่ง จะอ่าน แต่ที่โพยท่านจดมานั้น ท่านว่าแนวโน้มดีขึ้น 4.7% แต่อัตราเงินเฟ้อมากกว่า 20% เราควรจะดีใจมันหรือเปล่า?"
ประเด็นนี้ยังเป็นมีคนลาวทำเป็นคอนเทนต์พูดถึงกันในโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น TikTok โดยบางคนโทษว่าเงินเฟ้อรุนแรงเพราะเงินบาทไทย (ซึ่งไม่ใช่ความจริง) ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงในหมู่คนลาวด้วยกันและในหมู่คนไทย
รัฐบาลลาวว่าอย่างไร?
สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว รายงานต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเงินโดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และหนี้ต่างประเทศ โดยการสร้างคณะทำงานเฉพาะกิจที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาแต่ละงานอย่างละเอียดและติดตาม กำกับและบังคับบัญชากระทรวง-ภาคส่วนและท้องถิ่น
นายกรัฐมนตรีลาวยังได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จที่โดดเด่นในการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น งานด้านเศรษฐกิจได้เน้นการดำเนินงานตามเป้าหมายและมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการดำเนินงานของประเทศ วาระการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-การเงินที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ จากการปฏิบัติจริงก็เกิดผลสำเร็จและผลอย่างแท้จริง
เช่น ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจของ สปป. ลาว มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นถึงระดับ 4.7% คาดว่าทั้งปีจะ จะบรรลุผลได้ตามมติของสภา (มติของสภาทั้งปีให้อยู่ที่ 4.5%) GDP โดยประมาณในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าของ GDP จะสูงถึง 148,043 พันล้านกีบหรือเท่ากับ 50.4% ของแผน (มติสภา 293,786 พันล้านกีบ)
ในส่วนของการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินนั้นยังคงกำหนดและบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและละเอียดอ่อน แต่ก็ยังสามารถรักษาไว้ได้ โดยเฉพาะการเพิ่มการควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งเน้น บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน ระดมเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ธนาคาร และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการกระจายสินเชื่อให้กับภาคเศรษฐกิจ
Photo - นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน ของลาวกล่าวแถลงการณ์ครั้งสุดท้ายร่วมกับนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย หลังการประชุมสุดยอดพิเศษอาเซียน-ออสเตรเลียครั้งที่ 50 ที่เมลเบิร์น เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024 (ภาพโดย William WEST / AFP)