เป็นไปได้ไง พนมเปญค่าครองชีพแพงที่สุดอันดับสองของอาเซียน ยิ่งกว่ากรุงเทพซะอีก 

เป็นไปได้ไง พนมเปญค่าครองชีพแพงที่สุดอันดับสองของอาเซียน ยิ่งกว่ากรุงเทพซะอีก 

จากการจัดอันดับเมืองค่าครองชีพของเมอร์เซอร์ประจำปี 2024 (Mercer’s Cost of Living City Ranking 2024) ที่เปิดเผยเมื่อกลางเดือนมิถุนายน มีข้อมูลเล็กๆ ข้อมูลหนึ่งที่พลาดสายตาผู้คน นั่นคือ ข้อมูลที่ระบุว่า พนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา มีค่าครองชีพสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ในอันดับที่ 1 ส่วนกรุงเทพฯ ของไทยอยู่ในอันดับที่ 3

การจัดอันดับนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นการประเมิน 226 เมืองใน 5 ทวีป โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของสิ่งของมากกว่า 200 รายการในแต่ละสถานที่ รวมถึงที่อยู่อาศัย การขนส่ง อาหาร เสื้อผ้า ของใช้ในครัวเรือน และความบันเทิง

ปรากฎว่าฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 1 ของโลก ตามด้วยสิงคโปร์มาเป็นอันดับ 2 และยังอยู่ในอันดับ 1 ของแผนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ที่น่าเซอร์ไพร์ที่สุดคือ พนมเปญกลับติดอันดับที่ 2 ของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีค่าครองชีพแพงที่สุด และเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดอันดับที่ 123 ของโลก

ลำดับการจัดอันดับของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดังนี้โดยเรียงตามลำดับโลก

  • 2 สิงคโปร์
  • 123 พนมเปญ
  • 129 กรุงเทพฯ 
  • 131 มะนิลา
  • 157 จาการ์ตา
  • 172 ฮานอย
  • 178 นครโฮจิมินห์
  • 183 ย่างกุ้ง
  • 200 กัวลาลัมเปอร์
  • 211 เวียงจันทน์

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องค่าครองชีพที่สูงมากในพนมเปญเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในชุมชนออนไบน์มาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว 

เช่นในกลุ่ม r/travel ของแพลตฟอร์ม Reddit มีการตั้งคำถามว่า Why has Cambodia become so expensive?! ซึ่งกระทู้นี้ตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วก่อนการจัดอันดับ หนึ่งในความเห็นบอกว่า "กัมพูชาเป็นประเทศที่แพงที่สุด ยิ่งกว่าไทย ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซียสำหรับฉัน"

อีกความเห็นบอกว่า "ฉันอาศัยอยู่ในประเทศไทยและเพิ่งใช้เวลาไม่กี่วันในเสียมราฐ และทุกอย่างที่นี่มีราคาแพงมาก เหมือนราคาแพงกว่าในฝรั่งเศสประเทศบ้านเกิดของฉัน คิดว่าเป็นเพราะที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากใช่ไหม?"

อีกความเห็นเพิ่มรายละเอียดว่า "กัมพูชามีราคาแพงมาก ตอนนี้ฉันอยู่ที่พนมเปญและ

  • เฝอเนื้อวัว อยู่ที่ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
  • ข้าวผัดอยู่ที่ 4.5 – 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ 1.5 – 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ใน - กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
  • จานที่ถูกที่สุดที่คุณสามารถซื้อได้ในร้านอาหารท้องถิ่นคือ 3 เดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอาหารมื้อใหญ่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย
  • หากคุณไปสถานที่ที่อย่างน้อยก็ค่อนข้างถูกสุขลักษณะ ราคาต่อจานจะอยู่ที่ 5-9 ดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ที่ 15-25 USD ต่อมื้อ
  • น้ำดื่มบรรจุขวดมีราคาแพงกว่าในประเทศไทย 3-5 เท่า
  • ผลิตภัณฑ์นมมีราคาแพงกว่าในประเทศไทย 2-3 เท่า

 
นอกจากการแบ่งปันประสบการณ์ใน Reddit แล้วยังมีการแสดงเห็นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น ASEAN NOW มีการตั้งคำถามว่า Is it me or Phnom Penh is actually kinda expensive ? (พนมเปญที่จริงแล้วค่อนข้างแพง หรือว่าฉันคิดไปเองหรือเปล่า) โพสต์ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 

เจ้าของกระทู้ได้คำตอบจากสมาชิกคนหนึ่งว่า "อาหารและเครื่องดื่มในกัมพูชานั้นเหมือนกันหรือแพงกว่าประเทศไทยสำหรับร้านอาหารที่คุณคุ้นเคย ตลาดท้องถิ่นไม่ค่อยดีนักและคุณเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บเว้นแต่คุณจะระมัดระวัง หมายความว่าคุณต้องเช็ดทุกอย่าง และฉันอาจจะเช็ดแอลกอฮอล์ด้วย คุณสามารถเยี่ยมชมตลาดท้องถิ่นขนาดใหญ่ใกล้แม่น้ำและพระบรมมหาราชวังเพื่อดูว่าฉันพูดถูกไหม ฉันไม่ได้ซื้อของกินที่นั่นด้วยซ้ำและคุ้นเคยกับมันแล้ว ค่าเช่าน่าจะพอๆ กับประเทศไทยตอนที่ฉันอยู่ที่นั่นเมื่อหลายปีก่อน แต่คุณจะได้รับคุณภาพน้อยลงในกัมพูชา"

จากข้อมูลเทียบเคียงค่าครองชีพของเมืองต่างๆ ทั่วโลก โดยเว็บไซต์ Numbeo พบว่า ค่าครองชีพในพนมเปญ เป็นดังนี้ (ท้ังนี้ กัมพูชานิยมใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการจับจ่ายใช้สอยจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเงินเรียลอ่อนค่ามาก)

  1. ร้านอาหารราคาไม่แพง มีค่าใช้จ่าน 5.00 ดอลลาร์
  2. น้ำเปล่า (ขวด 1.5 ลิตร) 0.70 ดอลลาร์
  3. เบียร์ในประเทศ (ดราฟ 0.5 ลิตร) 1.25 ดอลลาร์
  4. คาปูชิโน่ (ปกติ) 3.00 ดอลลาร์
  5. นม (ธรรมดา), (1 ลิตร) 2.16 ดอลลาร์
  6. กางเกงยีนส์ 1 ตัว (Levis 501 หรือใกล้เคียง) 24.00 ดอลลาร์
  7. อพาร์ทเมนท์ (1 ห้องนอน) ในใจกลางเมือง 510.00 ดอลลาร์

Photo - พ่อค้าขายของเล่นหน้าพระราชวังในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 (Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP)
 

TAGS: #พนมเปญ #กัมพูชา #ค่าครองชีพ