มาเลเซียพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่อายุนับพันปี เก่าแก่กว่านครวัดของเขมร

มาเลเซียพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่อายุนับพันปี เก่าแก่กว่านครวัดของเขมร

นักวิจัยจาก Universiti Sains Malaysia (USM) ได้ค้นพบพระพุทธรูปขนาดเกือบเท่าคนจริงในท่านั่งสมาธิภาย ประดิษฐานในสถูปพุทธที่ใหญ่ที่สุดในแหล่งโบราณคดีบูกิต โชรัส (Bukit Choras) เมืองยัน รัฐเกอดะฮ์ ทางตอนเหนือของประเทศ (ซึ่งมีพรมแดนติดกับ จ.สตูล และ จ. สงขลา ของไทย) 

สถูปองค์นี้มีอายุถึง 1,200 ปี ตามรายงานของ ดาโต๊ะ รอสลัน อับดุล รอฮ์มาน  (Datuk Roslan Abdul Rahman) เลขาธิการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม (Motac) ของมาเลเซียระบุว่า พระพุทธรูปและสถูกที่ค้นพบนี้มีอายุก่อนวัดบุโรพุทโธในอินโดนีเซีย และนครวัดในกัมพูชาเสียอีก 

เชื่อกันว่าโบราณวัตถุที่พบที่นี่มีอายุย้อนกลับไปในคริสตศตวรรษที่ 7 หรือ 8 ส่วนบุโรพุทโธในอินโดนีเซียนั้นสร้างในศตวรรษที่ 9 และนครวัดในกัมพูชาสร้างในศตวรรษที่ 12

การขุดค้นครั้งนี้ นำโดยดร. นาชา ร็อดซิอาดี คอ (Dr. Nasha Rodziadi Khaw) จากศูนย์วิจัยโบราณคดีโลก (PPAG) ขณะนี้ทีมงานกำลังดำเนินขุดค้นโบราณวัตถุอีก 2 ชิ้นที่พบในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูป แต่มีสภาพไม่สมบูรณ์และไม่มีเศียร สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์ที่สี่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างของพระสถูป

ทั้งนี้ รัฐเกอดะฮ์เป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ หุบเขาบูจัง (Bujang Valley) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ไม่ไกลจากที่พบพระพุทธรูปดังกล่าว 

จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีรัฐที่นับถือพุทธศาสนาในพื้นที่นี้ ในภาษาสันสกฤต คำว่า ภุชงค์ (bhujanga) หมายถึงงู ดังนั้นชื่อ บูจัง ก็น่าจะมาจากภาษาสันสกฤค และจึงแปลคร่าวๆ ได้ว่า "หุบเขางู" บริเวณนี้ประกอบด้วยซากปรักหักพังที่อาจมีอายุมากกว่า 2,535 ปี นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบวัดเจดีย์โบราณมากกว่า 50 แห่ง 

การขุดค้นเผยให้เห็นซากท่าเทียบเรือ สถานที่ถลุงเหล็ก และโบราณสถานก่อด้วยอิฐดินเหนียวที่มีอายุย้อนกลับไปถึงปีคริสตศักราช 110 ทำให้ที่นี่เป็นโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Photo from Universiti Sains Malaysia

TAGS: #มาเลเซีย #พระพุทธรูป