ผลงานอันเลวร้ายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครต ในการอภิปรายชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับผู้ท้าชิง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ทำให้เกิดคำถามขึ้นใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหาก ไบเดน ตัดสินใจจะไม่ไปต่อและก้าวลงจากตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตในนาทีสุดท้าย
การพลิกกลับทางการเมืองที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ ถ้าเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็จะถือเป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอเมริกาสมัยใหม่ แต่ถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะมาดูกันว่าจะสามารถเข้ามาแทนที่ ไบเดน วัย 81 ปีได้อย่างไร
หากผู้สมัครลาออก
เพื่อแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ ผู้แทนจากทั้ง 50 รัฐเข้าร่วมการประชุมเสนอชื่อตัวแทนของพรรคช่วงฤดูร้อน (เดือนกรฏาค-สิงหาคมX เพื่อผ่านมติรับรองผู้สมัครอย่างเป็นทางการตามการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น
ก่อนหน้านี้ ไบเดนได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งขั้นต้นหรือไพรมารี และผู้แทนประมาณ 3,900 คนของพรรคที่จะมุ่งหน้าไปร่วมการประชุมที่ชิคาโกในเดือนสิงหาคมนี้ ก็ยังให้การสนับสนุนเขา
แต่หากไบเดนลาออก คณะผู้แทนของพรรคจะต้องหาคนมาแทน นั่นหมายถึงการนำการเมืองสหรัฐฯ กลับไปสู่ยุคเก่า นั่นคือบรรดาแกนนำของพรรคจะแย่งชิงกันเพื่อเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยการทำข้อตกลงกันหลังห้อง(หมายถึงการทำข้อตกลงลับๆ) และการลงคะแนนเสียงกันไม่รู้จบเพื่อหาจุดที่ลงรอยกันได้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2511 ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ได้ประกาศเรื่องเซอร์ไพรส์ในช่วงกลางสงครามเวียดนามว่าเขาจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งใหม่
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแคตในปีนั้น ซึ่งก็จัดขึ้นที่ชิคาโกเช่นกัน กลายเป็นวิกฤติทางการเมือง โดยมีผู้ประท้วงบนถนนและผู้แทนฝ่ายซ้ายโกรธต่อท่าทีสนับสนุนสงครามของผู้สมัครที่ได้รับเลือกจากพรรค นั่นคือ ฮิวเบิร์ต ฮัมฟรีย์
หลังจากความโกลาหลครั้งนั้น ตัวแทนในรัฐต่างๆ หันมายอมรับกระบวนการเลือกตั้งระดับไพรมารีอย่างกว้างขวางมากขึ้น และการจัดการประชุมใหญ่ครั้งต่างๆ ก็จะไม่มีอะไรติดขัด เพราะผลลัพธ์การประชุมมีการทราบล่วงหน้าแล้วนับตั้งแต่การเลือกตั้งระดับไพรมารี เพราะผลถูกกำหนดโดยการเลือกตั้งขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว
หากผู้สมัครต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการในการประชุม หน่วยงานกำกับดูแลอย่างเป็นทางการของพรรค ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครตหรือคณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน จะเสนอชื่อผู้สมัครใหม่ในสมัยวิสามัญ
ใครจะมาแทนที่ ?
จนถึงตอนนี้ พรรคเดโมแครตก็ทำได้แค่เลียบๆ เคียงๆ ไปกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ อย่างน้อยก็ตอนที่เอ่ยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคต่อสาธารณะ โดยมีแต่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาออกมาปกป้องไบเดน
เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่ไบเดนจะลาออกจากตำแหน่ง ไมเคิล ไทเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการรณรงค์หาเสียง กล่าวกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ว่า “ไม่มีการพูดคุยใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นเลย”
ทางเลือกที่เป็นไปตามกระบวนการปกติที่สุด แม้ว่าจะไม่ใช่โดยอัตโนมัติก็คือ ผู้ที่จะเข้ามาแทนที่ไบเดนคือรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของเขา
แฮร์ริสออกมาเคลื่อนไหวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีเพื่อกอบกู้สถานการณ์หลังจากผลงานที่น่าผิดหวังของไบเดน แฮร์ริสวัย 59 ปีออกมาบอกว่าไบเดนนั้น "เริ่มต้นช้า" ในการอภิปราย แต่ "จบอย่างเข้มแข็ง"
หากไม่ใช่แฮร์ริส ก็อาจเป็นนักการเมืองพรรคเดโมแครตที่เข้มแข็งจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ผู้ว่าการ เกวิน นิวซัม (Gavin Newsom) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย, เกรตเชน วิทเมอร์ (Gretchen Whitmer) จากมิชิแกน และ จอช แชพิโร (Josh Shapiro) จากเพนซิลเวเนีย อาจถูกเรียกตัวมาทำหน้าที่แทน
แต่จะความหวังกับบุคคลที่สามได้หรือไม่? จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้สมัครอิสระรายใดที่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้กับระบบสองพรรคของอเมริกา คือการผูกขาดโดนเดโมแครตและรีพับลิกันที่ครอบงำการเมืองมานาน
ในปี 1992 รอสส์ เพโรต์ (Ross Perot) มหาเศรษฐีชาวเท็กซัสซึ่งลงสมัครในฐานะอิสระไม่สังกัดพรรคใดๆ ได้รับคะแนนโหวตเกือบ 19%
แต่ในท้ายที่สุด เนื่องจากความไม่แน่นอนของระบบการเลือกตั้งของอเมริกา เขาจึงไม่ได้รับคะแนนเสียงที่สำคัญที่สุดแม้แต่คะแนนเดียว นั่นคือคะแนนจากสมาชิก 538 คนของคณะเลือกตั้ง หรือ Electoral College ในการเลือกตั้งที่ตัดสินผู้ชนะในท้ายที่สุด
Text by Agence France-Presse
Photo by Andrew CABALLERO-REYNOLDS / AFP