ตกลงแล้ว'ลิซ่า'ถือเป็น K-pop หรือ T-pop กันแน่?

ตกลงแล้ว'ลิซ่า'ถือเป็น K-pop หรือ T-pop กันแน่?

ทง ซุน-ฮวา (Sun-hwa Dong) นักเขียนของ The Korea Times สื่อภาษาอังกฤษของเกาหลีใต้ เขียนบทความตั้งคำถามว่า "Is BLACKPINK Lisa's 'Rockstar' K-pop or T-pop?" โดยถามว่า "หากสมาชิกชาวไทยของกลุ่มเคป๊อปผลิตมิวสิกวิดีโอร่วมกับผู้สร้างชาวไทยและถ่ายทำในเมืองหลวงของประเทศบ้านเกิดของเธอ เราจะยังสามารถพูดได้ว่าเธอกำลังทำเคป๊อปอยู่หรือไม่ หรือเราควรนิยามสิ่งนี้ว่าป๊อปไทยหรือทีป๊อป?"

ผู้เขียนบทความชี้ว่า หลังจากการปล่อย MV ตัวใหม่ คือ  Rockstar "ก็ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในหมู่ผู้ใช้ออนไลน์ว่าควรจัด (เพลงนี้) อยู่หมวดหมู่  K-pop หรือ T-pop"

The Korea Times ได้สอบถามไปยัง อี คยู-แทก (Lee Gyu-tag) ศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมศึกษาที่มหาวิทยาลัยจอร์จเมสันสาขาเกาหลี ซึ่งเขาเชื่อว่า "Rockstar" ยังห่างไกลจากการเป็น T-pop เพราะแม้ว่าลิซ่าจะมาจากประเทศไทย "แต่เธอได้รับการยอมรับอย่างโดดเด่นในฐานะนักร้อง K-pop ในเวทีระดับโลก” ศาสตราจารย์อียังเน้นว่า K-pop ไม่ได้เกี่ยวกับสัญชาติของนักร้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลักษณะเด่น เช่น โมเดลธุรกิจ การเน้นมิวสิควิดีโอ และที่สำคัญ Rockstar ไม่ได้มีลักษณะของดนตรีจากประเทศไทย

ศาสตราจารย์อีกล่าวกับ The Korea Times ว่า “ถ้าพูดในแง่ดนตรีแล้ว มันดูเหมือนจะไม่ใช่สไตล์ไทย” และบอกว่า “หากลิซ่าซึ่งมีตัวตนในฐานะนักร้องเคป็อปอยู่แล้วอยากเปลี่ยนอาชีพของเธอ ผมคิดว่าเธอน่าจะคิดดนตรีที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงโดยมีองค์ประกอบแบบไทยมากขึ้น เช่นเนื้อเพลงไทย”

ทัศนะของศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมศึกษาในเกาหลีใต้ น่าจะมีน้ำหนักมารกกว่าชาวเน็ตที่เถียงกันอย่างหนักเรื่องความเป็น  K-pop หรือ T-pop ของลิซ่าและเพลงของเธอหลังเปิดค่ายเพลงใหม่ของตัวเอง

การถกเถียงนี้เป็นประเด็นร้อนพอสมควรในหมู่คนสนใจดนตรรี แม้แต่ในช่องคอมเมนต์ของบทความนี้ก็ยังมีคนแสดงความเห็นต่างๆ กันไป เช่น "ใน Apple Music มัน (Rockstar) เป็นแค่เพลงป๊อปเฉยๆ มาสนุกไปกับเสียงเพลงที่เธอสร้างขึ้นกันเถอะ" หลายความเห็นก็ออกมาในทำนองเดียวกัน คือบอกว่า Rockstar เป็นแค่เพลงป็อป ไม่ได้ เป็น K-pop หรือ T-pop

แต่ก็มีการตั้งคำถามในช่องคอมเมนต์ที่น่าสนใจว่า "มีคำจำกัดความที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวเพลง K-pop แบบง่ายๆ หรือเปล่า?"

การนิยามในเชิงวิชาการของ K-pop มีหลากหลาย จะขอยกตัวอย่างจากบทความ ของ Doboo Shim (2005) เรื่อง "Hybridity and the rise of Korean popular culture in Asia" ที่ระบุว่า K-pop นั้นโดดเด่นด้วยการผสมผสานระหว่างซาวด์ดนตรีตะวันตกสมัยใหม่ รวมถึงซาวด์จากฮิปฮอป อาร์แอนด์บี แจ๊ส แบล็กป๊อป โซล ฟังค์ เทคโน ดิสโก้ เฮาส์ และแอฟโฟรบีต พร้อมด้วยการแสดงในสไตล์เกาหลี ซึ่งรวมถึงท่าเต้นที่ซิงโครไนซ์ คือการเต้นพร้อมๆ กันด้วยรูปแบบท่าเดียวกัน  และการเต้นแบบ point choreography นั่นคือการท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์จดจำง่ายเหมือนท่อนฮุค หรือ Punch line ของเพลงป๊อป

ในขณะที่ T-pop ยังไม่มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจน และจากการกำหนดนิยามของ K-pop ข้างต้น จะเห็นว่ากว่าจะเป็นวัฒนธรรมป๊อปแห่งชาติได้ จะต้องมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนพอสมควร

แม้ว่าเรื่องนี้จะยังคงเป็นดีเบต แต่บางคนได้ตัดสินไปแล้วว่าลิซ่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชุมชน K-pop อีกต่อไป เช่น RadioKorea สื่อในเกาหลีใต้ที่พาดหัวข่าวว่า "ลิซ่า Blackpink ออกจาก K-pop ขึ้นอันดับ 1 ในไทยเท่านั้น ... การเปิดตัวเดี่ยวที่น่าเสียดาย" แน่นอนว่า ข่าวนี้ถูกโจมตีจากคนไทยพอสมควร

แต่สื่อเกาหลีรายนี้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า "มิวสิกวิดีโอ (Rockstar) ซึ่งถ่ายทำในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เพิ่มเอกลักษณ์ของลิซ่าในฐานะคนไทยโดยแสดงวัฒนธรรมไทย ชีวิตประจำวันแบบไทย" จากมุมมองของสื่อนี้จึงดูเหมือนว่าได้ตัดขาลิซ่าออกจากความเป็นเกาหลีของ K-pop ไปแล้ว 

ในขณะที่สื่อเกาหลีใต้อีกราย คือรายงานว่า MHNsports "เพลงนี้ (Rockstar) ติดอันดับที่ 8 บนชาร์ต Spotify ทั่วโลกในสหรัฐอเมริกาทันทีที่ปล่อยออกมา ทำให้ลิซ่าเปิดตัวยิ่งใหญ่ที่สุดโดยศิลปินเดี่ยวหญิง K-pop ในประวัติศาสตร์ของชาร์ต Spotify ทั่วโลก" และได้ความนิยมระดับท็อปชาร์ตในหลายประเทศ

แต่ MHNsports กล่าวว่า "อย่างไรก็ตาม 'Rockstar' ไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่โดดเด่นใดๆ ในชาร์ตเพลงในประเทศ (เกาหลีใต้) ได้ น่าเสียดายที่ไม่สามารถติดท็อป 100 ของ Melon Chart ซึ่งเป็นชาร์ตเพลงหลักในประเทศได้"

รายงานโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better 

TAGS: #ลิซ่า #K-pop