'เจ้าเพ็ชร์ราช'เพราะเขาคนนี้ลาวกับไทยเกือบได้เป็นประเทศเดียวกัน

'เจ้าเพ็ชร์ราช'เพราะเขาคนนี้ลาวกับไทยเกือบได้เป็นประเทศเดียวกัน

หลังจากที่ลาวพ้นจากสถานะประเทศราชของสยามและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้กำหนดให้ลาวเป็นรัฐในอารักขา โดยมีอาณาจักรหลวงพระบางสถาบันกษัตริย์ต่อไปในฐานะประมุข แต่มีข้าหลวงฝรั่งเศสคอยควบคุมกิจการบ้านเมือง 

สถาบันกษัตริย์ลาวมีศูนย์กลางอยู่ที่หลวงพระบาง เพราะระหว่างที่ลาวตกเป็นประเทศราชของสยามนั้น สยามได้ทำการกวาดล้างอาณาจักรเวียงจันทน์จนสิ้นซากเพราะการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ เหลือแต่อาณาจักรหลวงพระบาง และอาณาจักรจำปาศักดิ์ เมื่อสยามเสียลาวส่วนต่างๆ ให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสยังคงอาณาจักรหลวงพระบางไว้และยกให้เป็นประมุขของลาวทั้งหมด ส่วนอาณาจักรจำปาศักดิ์ถูกยุบไปเหลือสถานะแค่แขวงหรือจังหวัด แต่เจ้าจำปาศักดิ์ยังคงสถานะความเป็นเจ้าเหมือนเดิม 

ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคม เจ้าหลวงพระบางยังรักษาธรรมเนียมเดิมไว้ เช่น การมีเจ้ามหาชีวิต (กษัตริย์) และเจ้ามหาอุปฮาด (อุปราช) ซึ่งถือเป็นรองกษัตริย์ ทั้งสองตำแหน่งนี้มักจะมีความขัดแย้งกัน แม้แต่ในช่วงที่ลาวเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสก็ตาม 

อุปราชที่สำคัญในประวัติลาวช่วงนี้ คือ เจ้ามหาอุปราชเพ็ชร์ราช รัตนวงศา โอรสของเจ้าอุปราชบุญคง ซึ่งเคยได้รับให้เป็น เจ้าราชภาคินัย ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์ของเจ้านายประเทศราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าราชภาคินัยมีศักดินา 2,000 ส่วนอุปฮาดมีศักดินา 5,000)  เมื่อครั้งที่หลวงพระบางยังเป็นประเทศราชของไทย พอหลวงพระบางและลาวทั้งหมดเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส อุปราชบุญคงก็กลายเป็นสมาชิกสภารัฐบาล

เจ้าอุปราชบุญคงจึงมีความสำคัญทางการเมืองอย่างมาก และโอรสของอุปราชบุญคงก็จะมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อการเมืองลาวในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเป็น 

โอรสที่เกิดแต่หม่อมคนที่ 1  คือ 

1. เจ้ามหาอุปราชเพ็ชร์ราช รัตนวงศา ดำรงตำแหน่งอุปราชตั้งแต่ พ.ศ. 2484 ถึง พ.ศ. 2488 จากนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรลาวในปี พ.ศ. 2488

2. เจ้าสุวรรณภูมา เป็นนายกรัฐมนตรี 4 สมัย ได้แก่ พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2495 ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ถึง พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2518 เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของราชอาณาจักรลาว

โอรสที่เกิดแต่หม่อมคนที่ 11 คือ 

1. เจ้าสุภานุวงศ์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่าง พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2529/2534

โอรสของอุปราชบุญคงเหล่านี้จะมีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสและในการสร้างประเทศลาวใหม่ และยังมีส่วนในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในลาว

เจ้าสุวรรณภูมากับเจ้าสุภานุวงศ์ จะมีบทบาทในช่วงก่อนและหลังที่ลาวได้รับเอกราชจนกระทั่งถึงวันที่ลาวกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งเราจะไม่พูดถึงกันในเวลานี้ 

เพราะคนที่มีบทบาทสำคัญก่อนหน้าน้องๆ ทั้งสอง คือพี่ใหญ่ที่ชื่อ เจ้ามหาอุปราชเพ็ชร์ราช รัตนวงศา เป็นนักชาตินิยมลาวคนสำคัญจนได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งชาตินิยมลาว" ผู้เคลื่อนไหวเพื่อให้ลาวได้รับเอกราช

เจ้ามหาอุปราชเพ็ชร์ราช รัตนวงศา (ต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ ว่า เจ้าเพ็ชร์ราช) สืบทอดตำแหน่งเจ้าราชภาคินัยและต่อมาเป็นเจ้ามหาอุปราชตามรอยพระบิดา  และทำงานให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปกครองลาว 

แต่เจ้าเพ็ชร์ราชทรงมีความคิดที่จะปลดปล่อยลาวทั้งหมดให้เป็นอิสระจากการปกครองของฝรั่งเศส จนกระทั่งโอกาสนั้นมาถึงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 คืบคลานมาถึงอินโดจีนและประเทศไทย

ก่อนหน้าที่สงครามจะมาถึงไทยกับอินโดจีน ปรากฏว่าสถานการณ์ในยุโรปเลวร้ายหนัก เพราะนาซีเยอรมันรุกรานประเทศต่างๆ และจ้องที่จะรุกรานฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงเกิดความกังวลว่าหากติดพันการรบที่ยุโรปกับเยอรมนี ก็อาจเกิดช่องโหว่ขึ้นกับอาณานิคมของตนในอินโดจีน ดังนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสจึงขอทำข้อตกลงกับไทยเรื่องไม่รุกรานกัน ซึ่งไทยตกลงด้วย แต่ตั้งเงื่อนไขให้ฝรั่งเศสแก้ไขเรื่องแนวพรมแดนร่องแม่น้ำโขง ซึ่งไทยเสียเปรียบฝรั่งเศส เพราะต้องยกเกาะแก่งในแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสหรือลาวจนหมด

การเจรจายังไม่บรรลุผล ฝรั่งเศสก็ถูกเยอรมนีรุกรานในที่สุด และนาซีเยอรมันได้ตั้งรัฐบาลที่เป๋ยสมุนของตนเข้าปกครองฝรั่งเศส คือรัฐบาลวิชี ซึ่งรัฐบาลวิชีได้สานต่อการเจรจากับไทย แต่ไทยได้ตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่า 

(1) ให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศ 
(2) ขอไชยบุรีและจำปาสัก ซึ่งฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซ ให้ไทย โดยถือแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ และ 
(3) ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาวและกัมพูชาให้ไทย 

ทั้งสามข้อนี้ ฝรั่งเศสยอมรับเพียงข้อแรกนอกนั้นปฏิเสธ ดังนั้น การเจรจาจึงไม่สำเร็จ นอกจากจะไม่สำเร็จแล้วยังเกิดความตึงเคียดขึ้น ในไทยมีเสียงเรียกร้องให้รับฐาลทวงคืนดินแดนของไทยที่เสียไปคือในลาวและกัมพูชา ความตึงเครียดนี้ในที่สุดก็ระเบิดขึ้นกลายเป็นสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในที่สุด และจบลงด้วยการเจรจาสงบศึกโดยมีญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซง โดยฝรั่งเศสยอมยกดินแดนต่างๆ ให้ไทยตามต่อมาได้ลงนามในอนุสัญญาโตเกียวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2483  ดังนี้ 

1. จังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลินของกัมพูชา จัดใหม่เป็นจังหวัดพระตะบอง
2. จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชา  จัดใหม่เป็นจังหวัดพิบูลสงคราม
3. จังหวัดพระวิหารของกัมพูชา  ผนวกเข้ากับแขวงจำปาศักดิ์ของลาวที่อยู่ตรงข้ามปากเซ เพื่อสร้างจังหวัดนครจัมปาศักดิ์
4. แขวงไชยบุรี รวมแขวงหลวงพระบางบางส่วนของลาว ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดลานช้าง
 
ชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศสมีผลอย่างมากต่อแนวคิดชาตินิยมของเจ้าเพ็ชร์ราช เพราะแสดงให้เห็นว่าไทยเอาชนะฝรั่งเศสได้

ในปี พ.ศ. 2483 เจ้าเพ็ชร์ราชเคยแสดงเจตนารมณ์กับไทยว่าถ้าไทยจะยึดเอาลาว ก็จะขอให้ไทยอย่ากลืนลาวเป็นแผ่นดินเดียวกับไทย แต่ขอให้ปกครองแบบสมาพันธรัฐ หรือ Thai-lao confederation ในขณะที่เจ้าจำปาศักดิ์ที่แต่ไหนแต่ไรมามีใจสวามิภักดิ์กับไทย ก็เข้าข้างไทยในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส แม้แต่นักเรียนนักคึกษาในเวียงจันทน์ก็เตรียมที่จะก่อรัฐประหารโค่นล้มอำนาจฝรั่งเศสด้วยซ้ำ

ข้อมูลนี้มาจากหนังสือ Sport, Masculinity, and the Making of Modern Laos โดย Simon Creak อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (หน้าที่ Page 64)

บางแหล่งข้อมูลเช่นในหนังสือ Business Practices in Southeast Asia
An interdisciplinary analysis of theravada Buddhist countries โดย Scott A. Hipsher ถึงกับระบุด้วยซ้ำว่า เจ้าเพ็ชร์ราชมีความคิดที่จะรวมลาวเข้ากับไทยหรือไม่ก็กัมพูชา และคัดค้านการที่ฝรั่งเศสรวมลาวเป็นสมาพันธรัฐอินโดจีนเข้ากับเวียดนาม เพราะเห็นว่าเวียดนามมีวัฒนธรรมต่างจากลาว ส่วนไทยกับกัมพูชานั้นมีวัฒนธรรมร่วมกัน สามารถรสมตัวกันเป็นสหพันธรัฐแบบหลวมๆ หรือ loose federation ด้วยกันได้ ซึ่งสหพันธรัฐแบบหลวมๆ คือการรวมตัวกันของประเทศเอกราชมาเป็นประเทศเดียวกัน ส่วนรูปแบบการปกครองจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องตกลงกันต่อไป

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ความคิดที่จะสร้างสมาพันธรัฐไทย-ลาวของเจ้าเพ็ชร์ราช มีเหตุผลมาจากการที่ไทยในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดที่สร้าง "มหาอาณาจักรไทย" ไม่ใช่แค่ทวงคืนดินแดนที่ไทยหรือประเทศสยามเสียไปเท่านั้น แต่ยังต้องการรวมเอาคนเผ่าไทยทุกกลุ่มมาเป็นประเทศเดียวกัน ซึ่งถึงไทยน้อย คือไทยสยามและลาว และไทยใหญ่ทั้งปวงในพม่าและในจีน  

หลวงวิจิตวาทการ ซึ่งเป็นมันสมองของแนวคิดชาตินิยมไทยสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "ปาฐกถาเรื่องไทยเสียดินแดน" ว่า "เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นเหมือนหนามยอกอยู่ในอกของชาวไทยเราทุกคน ชาวไทยน้อยคนที่จะไม่รู้สึกเศร้าสลดในเมื่อแลเห็นแม่น้ำโขง ข้าพเจ้าเองเคยเป็นเลขานุการข้าหลวงแม่น้ำโขงมาตลอด 4 ปี ทุกๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าไปแลเห็นแม่น้ำโขง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าน้ำที่ไหลอยู่นั้น คือน้ำตาของชาวไทย พวกเราในฝั่งนี้เป็นอิสระเสรี แค่พี่น้องของเราทางฝั่งโน้นถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกวัน"

และกล่าวว่า "ความคิดของพวกเราที่ต้องการดินแดนคืนนั้น ไม่ใช่ความคิดอย่างโจรปล้นทรัพย์ ไม่ใช่ความคิดที่จะเอาคนลงเป็นทาส ไม่ใช่ความคิดที่จะไปขุดค้นทรัพย์ในดินสินในน้ำของชาติอื่นมาเป็นผลประโยชน์แก่เรา แต่เป็นความคิดของชาติที่มีเกียรติศักดิ์ ชาติทุกชาติที่มีเกียรติศักดิ์ย่อมไม่สามารถจะทนดูเพื่อร่วมชาติของตนตกอยู่ในความบังคับกดขี่ของชาติอื่น ตัวเราเป็นไทยเราก็ต้องการให้พี่น้องของเราเป็นไทย ปัญหาสำคัญในเรื่องดินแดนนั้นอยู่ที่เชื้อชาติ ดินแดนที่เราเสียไปไม่ใช่เมืองขึ้น ไม่ใช่ต่างชาติ แต่เป็นเลือดไย เชื้อไทย ถือศาสนาและวัฒนธรรมอันเดียวกับเรา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องการเอาคืน"

ในขณะเดียวกัน หลวงวิจิตวาทการก็อธิบายว่าประเทศไทยก็มีความจำเป็นจะต้องเป็นประเทศใหญ่ เพื่อปกป้องตัวเองจากภัยคุกคาม โดยกล่าวว่า 

"ท่านนายกรัฐมนตรีของเราได้เคยกล่าวมาหลายครั้งว่า ต่อไปนี้เราจะเป็นจะต้องเป็นมหาประเทศ หรือมิฉะนั้นจะต้องล่มจม" เพราะประเทศเล็กจะกลืนประเทศใหญ่ หากไทยไม่ขยายดินแดนให้ใหญ่ขึ่นก็จะถูกกลืนโดยประเทศใหญ่ดังนั้น "ถ้าหากเราได้ดินแดนที่เสียไปนั้นคืนกลับมา เรามีหวังที่จะเป็นมหาประเทศ"

ในขณะที่เจ้าเพ็ชร์ราชก็กล่าวคล้ายๆ กันว่า "การที่ลาวดำรงอยู่ได้โดยมีแม่น้ำโขง (ฝั่งขวา) เป็นพรมแดนและพลเมืองที่มีอยู่นั้นถือเป็นความผิดพลาด หากพิจารณาทั้งเรื่องภูมิศาสตร์และการเมือง ประเทศนี้ถูกตัดขาดจากแผ่นดินของตน 3 ใน 5 ส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่มั่งคั่งและมีประชากรมากที่สุด มันเป็นไปไม่ได้และดำรงอยู่ไม่ได้ในฐานะรัฐ ลาวจะเอาตัวรอดได้ก็จากการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ ในสหพันธ์อินโดจีน"  เจ้าเพ็ชร์ราชจึงคิดที่จะรวมเอาดินแดนของไทยและลาวเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยชี้ว่าเป็น "ความรู้สึกอันลึกซึ้งร่วมกันของคนลาวทั้งปวง ทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้าย" ของแม่น้ำโขง

นี่เป็นข้อมูลจากหนังสือ The Making of a Lao Space Between Indochina and Siam, 1860-1945 โดย  Søren Ivarsson หน้าที่ 221

แนวคิด "มหาอาณาจักรไทย" และการสร้าง "ลาวใหม่" จึงสร้างความสั่นสะเทือนมาถึงลาวอย่างแน่นอน แต่คนที่สะเทือนที่สุดคือรัฐบาลฝรั่งเศส 

ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีนของฝรั่งเศส คือ ฌอง เดอกูซ์ (Jean Decoux) จึงคิดแผนการโต้ตอบ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดแนวคิด "ชาตินิยมลาว" ในหมู่คนลาว เพื่อให้ขบวนการชาตินิยมลาวยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองโดยไม่ต้องยึดโยงกับชาตินิยมไทย ทำให้ชาตินิยมลาวสร้างอัตลักษณ์ความเป็นลาวไม่ใช่ไทย และมองว่าความพยายามของไทยที่จะกลืนลาวเป็นภัยคุกคามต่อคนลาว ถึงกับมีการตั้งหนังสือพิมพ์เพื่อโฆษณาแนวคิดนี้ คือหนังสือ "ลาวใหญ่" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตั้งชื่อขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับแนวคิด "ไทยใหญ่ ไทยน้อย" ที่ไทยผลักดันขึ้นมาโดยรวมลาวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไทยน้อยด้วย 
 
หนังสือพิมพ์ "ลาวใหญ่" เป็นปฏิปักษ์กับชาตินิยมไทยอย่างรุนแรง โดยเขียนบทความโจมตีและเขียนการ์ตูนล้อว่าพวกชาตินิยมไทยที่คติดจะต่อสู้กับฝรั่งเศสเพื่อที่จะชิงลาวกับกัมพูชาคืนมานั้นเป็นการกระทำของพวก "ลิง" ที่ฝันไปวันๆ 

การกระตุ้นให้คนลาวมีความเป็นชาตินิยมของตนเอง ประสบความสำเร็จด้วยดี รัฐบ่าลฝรั่งเศสถึงกับมีรายงานบอกว่า “ถ้ารัฐบาลรัฐอารักขา (ลาว) ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเป็นปัจเจกชนชาวลาวที่เป็นอิสระ—อย่างน้อยในหมู่ผู้ที่ได้รับการศึกษา—พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองถูกดึงดูดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย) มากขึ้น และสถานการณ์นี้จะก่อให้เกิดความยากลำบากใหม่ ๆ”

แต่การทำแบบนี้เป็นดาบสองคม เพราะแต่ไหนแต่ไรมาคนที่มีความคิดชาตินิยมในลาวมีน้อยมาก แต่ตอนนี้มันได้ถูกปลุกขึ้นมาโดยฝรั่งเศสเพียงเพื่อป้องกันลาวเข้าไปรวมกับไทย แต่ผลที่ตามมาคือมันจะทำให้คนลาวรู้สึกอยากเป็นประเทศเอกราชมากขึ้นด้วย  

แต่ถึงจะปลุกชาตินิยมลาวเพื่อต้านไทยได้สำเร็จ แต่ฝรั่งเศสต้านทานญี่ปุ่นไม่ไหว ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2483 กองทัพญี่ปุ่นเข้าสู่อินโดจีนฝรั่งเศส ตอนแรกญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาในอินโดจีนของฝรั่งเศสก่อน โดยอ้างว่าเพื่อขอผ่านทาง (เพื่อไปรบที่จีน) แต่แล้วเมื่อสงครามเริ่มรุนแรงขึ้น ญี่ปุ่นก็จัดการยึดนาจฝรั่งเศสเสียเลย ทำการ "ปลดปล่อย" ประเทศต่างๆ ในอินโดจีนให้เป็นอิสระ (แต่ที่จริงญี่ปุ่นยังควบคุมอยู่) ในลาวก็เช่นกัน 

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นล้มล้างการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีนทั้งหมด รวมทั้งลาวด้วย ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2488 ภายใต้แรงกดดันของญี่ปุ่นและตามคำแนะนำของเจ้าเพ็ชร์ราช สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ เจ้ามหาชีวิตของหลวงพระบางและลาวก็ทรงประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส นี่คือความสำเร็นครั้งสำคัญของเจ้าเพ็ชร์ราช แต่ทำให้ท่านเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์เพราะพระองค์ทรง "โปรฝรั่งเศส" 

การประกาศเอกราชของลาวครั้งนี้ยังไม่ใช่เอกราชแท้ๆ เพราะยังอยุ่ภายใต้ "วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" หรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในทางปฏิบัตินั่นเอง แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับเจ้าเพ็ชร์ราชที่จะทำให้ลาวเป็นชาติเอกราชที่แท้จริง

แต่ความฝันของเจ้าเพ็ชร์ราชมีอายุที่สั้นเหลือเชื่อ เพราะไม่กี่เดือนต่อมา ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงคราม และฝรั่งเศสเสรี ซึ่งเป็นหนึ่งในสัมพันธมิตรก็เป็นฝ่ายชนะสงคราม 

เจ้าเพ็ชร์ราชยังไม่ยอมแพ้ ดำเนินการแจ้งไปยังแขวงต่างๆ โดเฉพาะลาวตอนใต้ ว่าแม้ว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้ แต่ลาวยังคงเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสต่อไป แต่สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ทรงคิดอีกอย่าง ทรงต้องการให้ประเทศกลับคืนสถานะเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสเดิม เจ้าเพ็ชร์ราชก็ยังมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเอกราชต่อไปในทุกดินแดนของลาว ทำให้สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ปลดเจ้าเพ็ชร์ราชจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2488 

ลาวจึงกลับมาเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสต่อไป แต่เจ้าเพ็ชร์ราชเคลื่อนไหวต่อโดยรวมพลังกับกลุ่มชาตินิยมอื่นๆ เป็นขบวนการ "ลาวอิสระ" และจะไม่สานต่อแนวคิด "สมาพันธรัฐไทย-ลาว" อีก แต่เป็นการทำให้ลาวเป็นอิสระโดยไม่ต้องอยู่ใต้อิทธิพลใคร อย่างไรก็ตาม เจ้าเพ็ชร์ราชเข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชในประเทศไทย โดยตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศไทย

ส่วนไทย แม้จะรอดพ้นจากสถานะแพ้สงครามได้แบบหวุดหวิด แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะสานต่อแนวคิด "มหาอาณาจักรไทย" ได้อีก และโฟกัสที่การพัฒนาประเทศตัวเองต่อไป 

ในขณะที่ลาว นี่คือจุดเริ่มของสงครามกลางเมืองที่จะทำให้ลาวต้องบอบช้ำไปอีกหลายสิบปี 

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าว The Better 

หมายเหตุ - บทความนี้เขียนขึ้นมาก่อน จากนั้นนำไปสรุปย่อนในรายงาน The Better Source เนื้อหาของบทความนี้มีความละเอียดมากว่าเนื้อหาในคลิปวิดิโอ ซึ่งเน้นการทำความเข้าใจสถานการณ์โดยรวมโดยสังเขป

สามารถชมคลิปเรื่องได้ที่นี่ 

TAGS: #เจ้าเพ็ชร์ราช #ลาว #ไทย