ตอนนี้ ฝรั่งเศสกำลังเกิด 'สงครามซ้าย-ขวา' และจบลง (ชั่วคราว) ที่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติรอบสองที่ปรากฏว่าแม้ฝ่ายขวาจะชนะรอบแรก แต่ฝ่ายซ้ายชนะรอบสอง สรุปแล้ว สภาของฝรั่งเศสตอนนี้ทั้งซ้ายและขวามีที่นั่งพอๆ กัน ส่วนพวกกลางๆ กลับไม่มีที่ยืน และทำให้เกิดภาวะคล้ายกับ 'สุญญากาศทางการเมือง'
สถานการณ์แบบนี้น่าสนุก เพราะมันจะสะท้อนไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของโลกด้วย
โปรดทราบว่าฝรั่งเศสเป็น 'อู่อารยธรรม' ของฝ่ายซ้ายในยุโรป นักคิดฝ่ายซ้ายที่เด่นๆ ทั้งการเมือง คือ หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) และด้านเศรษฐกิจ คือ โทมาส์ พิกเกตตี (Thomas Piketty) ในศตวรรษที่แล้วและศตวรรษนี้ มาจากฝรั่งเศสเสียมาก
ยกเว้นแต่ สลาวอย ซิเซก (Slavoj Žižek) ที่เป็นคนดังระดับไอดอลของฝ่ายซ้ายในแง่วัฒนธรรมศึกษาแล้ว ฝรั่งเศสดูเหมือนจะผูกขาดความเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนักปรัชญาซ้ายยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะ โทมาส์ พิกเกตตี ที่เป็นนักเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์ ที่เขียนอะไรยากๆ แต่ก็มีคนซื้ออ่านกันทั่วโลก นั่นคือเรื่องความไม่เป็นธรรมเรื่องการแบ่งความมั่งคั่งในสังคม (Capital in the Twenty-First Century) ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของฝรั่งเศส เขาก็ยังเป็นกูรูที่สื่อต้องไปถามความเห็น
พิกเกตตี ให้สัมภาษณ์กับ CNBC สื่อในสหรัฐฯ หลังจากที่การเลือกตั้งรอบแรกพบว่าฝ่ายขวาได้ชัยชนะ เพราะเป็นชัยชนะที่คะแนนเสียงค่อนข้างสูง (กว่า 33%) เป็นเรื่องน่าขนพองสยองเกล้าของฝ่ายซ้ายและคนกลางๆ เพราะพวกขวาในฝรั่งเศสค่อนข้างหัวรุนแรง เช่น เชื่อว่าคนผิวดำกับคนมุสลิมกำลังจะเข้ามายึดประเทศของคนผิวขาว
พิกเกตตี บอกว่าเหตุที่ฝ่ายขวาแกร่งขนาดนี้เพราะผู้นำประเทศที่เป็นพวกกลางๆ คือ เอ็มมานูเอล มาครง ทำให้ฝ่ายซ้าย 'กลายปีศาจ' โดยเขาบอกว่า "สิ่งที่ผมกังวลเล็กน้อยคือรัฐบาลปัจจุบันพยายามที่จะทำให้ฝ่ายซ้ายถูกมองเป็นปีศาจ (demonize) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ วัน หรือเดือนที่ผ่านมานี้ แม้ว่ามาครงจะไม่มีวันได้รับเลือกหากไม่มีฝ่ายซ้ายก็ตาม”
เขายังลำเลิกบุญคุณของฝ่ายซ้ายที่มีต่อมาครง ด้วยว่า "หากไม่มีคะแนนเสียงซ้ายสนับสนุนมาครงเพื่อต่อต้านเลอแปนในปี 2565 และ 2560 เขาจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี และเขาไม่เคยพยายามทำอะไรร่วมกับผู้ที่ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีเลยในท้ายที่สุด (หมายถึงไม่คิดจะร่วมมือกับฝ่ายซ้าย)”
คำพูดของ พิกเกตตี มีขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติรอบแรก ซึ่งฝ่ายขวาชนะใสๆ แต่ชัยชนะครั้งนี้ทำให้มาครงเริ่มจะนั่งไม่ติด เพราะหากฝ่ายขวาชนะ ในการเลือกตั้งรอบสองนั่นหมายความว่า ฝ่าขวาที่นำโดยมารีน เลอ แปนจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา การทำงานของนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีก็จะยากขึ้นมาในทันที
โปรดทราบว่าที่ฝรั่งเศสเลือกตั้งสมาชิกสภาสองรอบ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เหมือนใคร แต่ทำให้เซอร์ไพร์สได้หลายรอบดี
และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2027 มารีน เลอ แปนจะชิงตำแหน่งกับมาครงอีกครั้ง และมาครงอาจจะแพ้ เมื่อนั้นฝ่ายขวาจะครองเมื่อเต็มที่ นั่นหมายความว่า นโยบายเศรษฐกิจจะเอื้อนายทุน จะกีดกันคนจนๆ และผู้อพยพ และจะมีปัญหากับกลุ่มศาสนาอิสลาม
สำหรับพวกกลางๆ และพวกเอียงซ้าย ฝ่ายขวาก็คือ 'พรรคมาร' ดีๆ นี่เอง เพราะมีนโยนบายเอื้อพวกนายทุนและอีลีตทางการเมือง
แต่สำหรับพวกฝ่ายขวามองฝ่ายซ้ายเป็น 'ปีศาจ' แม้แต่มาครงก็อาจมองฝ่ายซ้ายเป็นปีศาจด้วย ตามทัศนะของพิกเกตตี
แต่ไหนแต่ไรมาว่า คำว่า 'ปีศาจ' ถูกนำมาใช้เรียกฝ่ายซ้าย เพราะใน 'คำประกาศคอมมิวนิสต์' (The Communist Manifesto) อันเป็นคำประกาศหลักการและการเคลื่อนไหวของพวกคอมมิวนิสต์ครั้งแรกที่เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ บิดาคนหนึ่งของฝ่ายซ้าย บรรทัดแรกเขียนไว้ว่า "มีปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป" (spectre [is] haunting Europe)
ปีศาจตัวนี้คือแนวคิดฝ่ายซ้าย ที่ถูกเรียกเป็นผีก็เพราะโผล่มาทีไรพวกคนชั้นสูงและนายทุนมักจะหวาดผวาเหมือนเจอผี เพราะผีตัวนี้ไมได้แค่มาหลอก แต่จะมาแย่งชิงความเป็นธรรมคืนให้กับคนชั้นล่างและแรงงาน
เพราะว่าสังคมในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและกึ่งยุคศักดินามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก สังคมตอนนั้น คนชั้นล่างไม่มีที่ดินของตัวเอง ต้องทำงานในที่ดินของเจ้าที่ดินทีได้รับที่ดินตกทอดมาโดยระบบขุนนางศักดินาโบราณ และคนชั้นล่างยังเสียค่าเช่าอันตราที่สูง เมื่อผลผลิตไม่ดีก็จะถูกไล่จากที่ดินโดยคนชั้นสูง ก็ต้องหนีเข้ามาทำงานโรงงานในเมือง เมื่อทำงานโรงงานก็ยังมีรายได้ต่ำ แต่ต้องทำงานเยี่ยงทาสแลกรายได้ที่ต่ำมาก
ดังนั้น แนวคิดฝ่ายซ้ายจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อบอกว่าพวกเจ้าที่ดินไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบธรรม ไม่ควร "ทำนาบนหลังคน" และควรแบ่งที่ดินให้เท่าๆ กัน ส่วนพวกนายทุนเจ้าของโรงงาน ไม่ควรรีดไถแรงงานมนุษย์จนเกินไป แต่ควรแบ่งผลกำไรให้คนทำงานอย่างเป็นธรรม
ข้อเรียกร้องเหล่านี้ทำให้พวกเจ้าที่ดินและนายทุนต้องสะดุ้งและกลัวพวกฝ่ายซ้ายยิ่งกว่าผี
ยิ่งพวกฝ่ายซ้ายจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เช่น การลุกฮือของปารีสคอมมูนและการปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งทำลายล้างศักดินาและนายทุนครั้งใหญ่ ทำให้พวกฝ่ายขวายิ่งกลัวฝ่ายซ้าย
แต่ฝ่ายซ้ายมีทั้งซ้ายที่หยวนๆ กับแนวคิดอื่นๆ กับฝ่ายซ้ายที่ไม่ยอมลดราวาศอกจ้องจะะโค่นล้มสังคมแบบเก่าอย่างเดียว หรือพวก 'ราดิคัล' (radical)
ในการเลือกตั้งที่ฝรั่งเศส พิกเกตตี้ เขียนบทความร่วมกับภรรยานักเศรษฐศาสตร์ของเขา คือ ชูเลีย กาเช (Julia Cagé) ใน The Guardian ในชื่อเรื่อง "'ฝ่ายซ้ายสายแข็ง' ของฝรั่งเศสถูกทำให้ปีศาจ แต่วาระของพวกเขาเป็นเรื่องจับต้องได้ ไม่ใช่เรื่องราดิคัล"
บทความบอกว่า "ขณะนี้บางคนพยายามทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลางซ้ายหวาดกลัว โดยอ้างว่าโครงการของ NFP (พรรคแนวร่วมฝ่ายซ้าย) หากได้เป็นรัฐบาล จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศส พวกเขาคิดผิด ... วาระนี้ไม่มีอะไรรุนแรง"
พิกเกตตี และ ชูเลีย กาเช กล่าวถึงนโยบายของฝ่ายซ้ายว่า "แนวร่วมฝ่ายซ้ายระหว่างนักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์นี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงสำหรับชนชั้นแรงงาน โดยมีนโยบายต่างๆ เช่น การให้วันหยุดพักร้อนโดยได้รับค่าจ้างสองสัปดาห์ และกฎหมายที่จำกัดสัปดาห์ทำงานไว้ที่ 40 ชั่วโมง"
และอธิบายแนวนโยบายของฝ่ายซ้ายว่า "NFP [มี] นโยบายที่ทะเยอทะยานในการปรับปรุงกำลังซื้อของคนยากจนและชนชั้นกลางระดับล่าง การปฏิรูปเหล่านี้รวมถึงการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอย่างมาก ค่าจ้างที่สอดคล้องกับดัชนีราคา และอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียน สิ่งสำคัญที่สุดคือ NFP ต้องการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในอนาคตโดยการเพิ่มการใช้จ่ายสาธารณะในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่ชนบทห่างไกล เช่นเดียวกับในด้านสาธารณสุข การศึกษา และการวิจัย นี่เป็นวิธีเดียวที่สอดคล้องกันในการวางแผนสำหรับอนาคตและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ซึ่งลดลง 5% ภายใต้มาครงตั้งแต่ปี 2019"
รวมๆ ก็คือการเพิ่มสวัสดิการเพื่อให้แรงงานมีแรงจูงใจในการทำงาน เมื่อมีขวัญกำลังใจมที่ดี แรงงานก็จะทำการผลิตได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลดเวลาทำงานลง ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้นำในเรื่องนี้ คือสนับสนุนให้ทำงานสัปดาห์ละแค่ 4 วัน
การทำงานที่ลดลงนี้ เป็นแนวคิดดั้งเดิมของฝ่ายซ้ายตั้งแต่สมัยของ คาร์ล มาร์กซ์ แล้ว ซึ่งเชื่อว่า แรงงานทำงานหนักเกินไป เวลากับแรงส่วนเกินที่ถูกขูดรีดไปโดยนายทุน ควรจะเป็นเวลาและแรงสำหรับการเอาไปพัฒนาตัวเองและสันทนาการที่มีประโยชน์ ไม่อย่างนั้น แรงงานก็จะเป็นแค่เครื่องจักรที่มีลมหายใจเท่านั้น
ฝ่ายซ้ายมองว่าการผลักดันเศรษฐกิจที่ถูกต้องจะต้องผลักดันที่คุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน
คำว่า 'แรงงาน' เหมารวมทั้งหมดทั้งงานใช้แรงกายและงานใช้สมอง เพราะขึ้นชื่อว่างานแล้วไม่ควรมีงานที่สูงกว่าหรือต่ำกว่า แต่ทั้งหมดควรได้รับการยกย่องและเอาใจใส่เท่าๆ กัน
แล้วฝ่ายขวาฝรั่งเศสมีนโยบายเอื้อใคร?
เพราะฝรั่งเศสเป็นดินแดนที่ซ้ายทรงพลังมาก แม้แต่นโยบายเศรษฐกิจของพรรคฝ่ายขวาก็ยังเอียงซ้ายกับเขาด้วย เช่น มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) การลดภาษีให้คนหนุ่มสาว สนับสนุนบริการสาธารณะ ใหัรัฐบาลสามารถแทรกแซงเศรษฐกิจได้ (เพื่อความแฟร์) และต่อต้านการเพิ่มระดับอายุที่จะเกษียณ
นโยบายพวกนี้ออกไปทางซ้ายชัดๆ แต่ที่เธอและพรรคของเธอเป็นขวาก็เพราะเป็นพวกชาตินิยม และต่อต้านผู้อพยพ ในขณะที่พวกซ้ายทางการเมืองเป็นพวก 'สากลนิยม' คือมองทุกคนทั่วโลกเท่าๆ กัน และพรมแดนเป็นสิ่งสมมติ
หากจะสรุปสั้นๆ ก็คือ ฝ่ายขวาเป็นพวกชาตินิยมที่รักชาติฝรั่งเศส (French nationalism) แต่ผูกขาดความรักชาติไว้ที่ 'คนฝรั่งเศสแท้ๆ' (คนผิวขาว) และรักความเป็นฝรั่งเศสดั้งเดิม (ที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามและความเป็นแอฟริกัน) แนวคิดแบบนี้เรียกว่า 'ชาตินิยมใหม่' (Neo-nationalism) คือชาตินิยมที่นิยมที่เอาเฉพาะคนท้องถิ่นเดิม เชื่อในพรมแดนของชาติที่ชัดเจน ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่เปิดประเทศรับการอพยพของผู้คน และปกป้องเศรษฐกิจของชาติเหนือสิ่งอื่นใด (เหนือกว่าผลประโยชน์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ)
ชูเลีย กาเช จึงเรียกพวกนี้ว่าเป็น ขวาราดิคัล (radical right) คือขวาแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ยอมที่จะอยู่ร่วมกับ 'คนนอก'
ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างก็เรียกอีกฝ่ายเป็นราดิคัลคือพวกสุดโต่ง จ้องจะล้างบางสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน
จากประสบการณ์ของฝรั่งเศส เราจะพบว่าการเป็นขวาหรือซ้ายในทางการเมืองแทบจะอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งต้องการเปิดประเทศ อีกฝ่ายต้องการปิด ฝ่ายหนึ่งต้องการแชร์ความมั่งคั่งให้ทุกคน (โดยไม่แบ่งว่าเป็นเชื้อชาติศาสนาใด) อีกฝ่ายปกป้องผลประโยชน์ให้คนท้องถิ่นเท่านั้น
เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาทั่วโลกไม่ใช่แค่ในฝรั่งเศส ในยุโรป ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แต่ในไทยก็เริ่มมีคนพูดถึง 'เมืองไทยกำลังจะกลายเป็นของต่างด้าว' และ 'แรงงานอพยพกำลังเยอะเกินไปแล้ว' หลายคนอาจจะไม่ทราบ แต่แนวคิด Neo-nationalism กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นในไทย ดังนั้น ประสบการณ์จากฝรั่งเศสจะช่วยเราได้
ดังนั้น ขอปิดท้ายด้วยทัศนะของ พิกเกตตี และ กาเช ที่เขียนไว้ว่า "ตามที่เราระบุไว้ในหนังสือ A History of Political Conflict ผู้คนในเมืองเล็กๆ และพื้นที่ชนบทมักถูกดึงดูดไปทางขวาสุดเป็นอันดับแรกและอย่างมีนัยสำคัญที่สุด เนื่องจากความกังวลทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเขาขาดกำลังซื้อ พวกเขาได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ และ พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้งโดยรัฐบาลทุกฝ่ายในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา"
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นขวาหรือซ้าย หากใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ฝ่ายนั้นก็จะเป็นฝ่ายกำชัยชนะ
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายจุดพลุสีแดงขณะเฉลิมฉลองระหว่างการชุมนุมหลังการประกาศผลการเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสรอบที่ 2 ในเมืองลียง ทางตะวันออกของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2024 พันธมิตรหลวมๆ ของพรรคฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสตัดสินใจรวมตัวเข้าด้วยกัน จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งรอบสองและกลายเป็นกลุ่มพรรคการเมืองในรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดและเอาชนะกลุ่มขวาจัด แต่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เสียงข้างมากในสภา (ภาพ TOPSHOT โดย JEFF PACHOUD / AFP)