ปลาหมอสีคางดำ หรือ ปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia กำลังระบาดไปทั่วบริเวณน้ำจีนน้ำกร่อยและน้ำเค็มในบิรเวณอ่าวไทย มีรายงานว่ากลุ่มบุคคลหนึ่งได้นำปลาชนิดนี้มาจากประเทศกานา เพื่อนำมาทดลองตัดแต่งพันธุกรรมกับปลานิล ซึ่งเป็นวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) เหมือนกัน แต่ในเวลาต่อมา ปลาหมอสีคางดำได้แพร่กระจายเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และพบว่ากำลังทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่น รวมถึงปลาที่เลี้ยงไว้ตามบ่อของเกษตร เนื่องจากปลาหมอสีคางดำขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และกินได้ไม่เลือกทั้งพืชและสัตว์
ปลาหมอสีคางดำมันทนแค่ไหนและร้ายแค่ไหน?
1. ปลาหมอสีคางดำสามารถทนต่อความเค็มสูงและพบได้มากในพื้นที่ป่าชายเลน และสามารถเคลื่อนตัวลงสู่น้ำจืด เช่น ลำธารตอนล่าง และลงสู่น้ำเค็มได้
2. ในรัฐฟลอริดา ซึ่งปลาพวกนี้เป็นปลารุกรานจากต่างถิ่น พบว่าพวกมันสามารถกินพ้นที่ในระบบนิเวศน์ได้มากถึง 90% หรือมีพวกมันถึง 90% ในหมู่สัตว์อื่นๆ
3. พวกมันสามารถผสมพันธุ์อย่างรวดเร็ว และพวกมันสามารถแพร่กระจายโรคไปยังปลาพื้นถิ่น และทำให้ปลาพื้นถิ่นต้องกลายเป็นรองพวกมัน
หายนะต่อระบบนิเวศน์ที่จะเกิดจากปลาหมอสีคางดำไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ไม่ใช่เรื่องที่นิ่งนอนใจได้ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วในประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์
ในฟิลิปปินส์ไม่มีบันทึกว่าปลาหมอสีคางดำถูกนำเข้าสู่น่านน้ำของประเทศได้อย่างไร แต่เชื่อกันว่าน่าจะเข้ามาประมาณต้นปี 2558 อาจมาจากการค้าขายปลาเลี้ยงเพื่อความสวยงามและในเวลาต่อมาถูกปล่อยสู่ป่าในน่านน้ำใกล้จังหวัดบาตาน และบูลากัน
ปลาชนิดนี้ถือเป็นภัยคุกคามต่อบ่อปลาเนื่องจากพวกมันขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้กินพื้นที่สำหรับปลาตัวอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาสำหรับเพาะพันธุ์บังกัส (ปลานวลจันทร์) อันเป็นปลาเนื้ออร่อยที่คนฟิลิปปินส์นิยมรับประทานกัน
จากรายงานของ BusinessWorld Online สื่อของฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2564 พบว่า ปลาพื้นเมือง เช่น ปลาบิยา ปลาอายูนกิน ปลามาร์ตินิโก และกุ้งน้ำจืด มีจำนวนลดลงมากขึ้น ในขณะที่สายพันธุ์ต่างถิ่นจากฟิลิปปินส์ เช่น ปลาหมอสีคางดำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในน่านน้ำภายในประเทศ
เกรกอรี พอล เอช ยาน ผู้ก่อตั้งแคมเปญ Best Alternatives กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ BusinessWorld ว่า ปลาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์กำลังตายอย่างช้าๆ และไม่มีคนสนใจ "เพราะพวกมันถูกปลารุกรานกินอย่างเงียบๆ ทุกนาที ทุกวินาที มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว"
เรื่องนี้ป็นปัญหาที่น่าวิตกมาหลายปีแล้ว ย้อนกลับไปในปี 2559 สื่อของฟิลิปปินส์ คือ Philstar รายงานว่า ปลาหมอสีคางดำ พบครั้งแรกในอ่าวลากูนา เด เบย์ (Laguna de Bay) แต่ในที่สุดก็แพร่กระจายไปยังน้ำกร่อย (น้ำจืดผสมและน้ำเค็ม) ของจังหวัดบูลากัน ในตอนนั้นสื่อระบุว่า "การมีอยู่ของมันยังไม่เป็นที่น่ากังวลมากนัก"
อย่างไรก็ตาม ผ่านมาถึงตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องน่าวิตกขึ้นมาแล้ว ในปี 2564 Esquire Philippines มีรายงานว่า Where Have All the Native Fishes Gone? (ปลาท้องถิ่นหายไปไหนหมด?) ได้สัมภาษณ์ ดร. เทเรซา มุนดิตา ลิม (Dr. Theresa Mundita Lim) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์อาเซียนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity) ซึ่งกล่าวว่า “ในขณะที่การนำสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน เช่น ปลานิล (รวมถึงปลาหมอสีคางดำ ซึ่งเป็น tilapia เหมือนกัน) หรือปลาสวาย อาจถูกมองว่ามีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต การผลิตอาหาร หรือการควบคุมสัตว์รบกวน ก็ควรมีการประเมินตามวิทยาศาสตร์เพื่อพิจารณาว่าจะนำไปสู่ผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพหรือไม่ เราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งนี้จะไม่นำมาซึ่งอันตรายอีกต่อไปในระยะยาว การสูญพันธุ์ของปลาพื้นเมืองและปลาที่กินได้ส่งผลกระทบต่อโภชนาการ ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายของอาหาร สิ่งนี้นำไปสู่ผลกระทบมากมายทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค”
นั่นหมายความว่า แม้จะมีการโ๖เถียงว่าการนำปลา tilapia (ปลานิลและปลาหมอสีคางดำ) เข้ามาเพื่อประโยชน์ด้านการโภชนาการ แต่มันจะเป็นผลเสียระยะยาวต่อแหล่งอาหารของผู้คนในท้องถิ่นมากกว่า โดยเฉพาะการทำลายความหลากหลายด้านอาหาร
Photo -