ก่อนหน้านี้ The Better เปิดเผยเบื้องลึกของอุตสาหกรรมรถยนต์จีนโดยเฉพาะบรรดาค่าย EV ที่มีการทำสงครามราคากันอย่างดุเดือด จนกระทบต่อการผลิตและการบริโภคภายใน และเราคาดว่าจะส่งผลกระทบมาจากประเทศไทย ซึ่งกำลังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์จีน โดยรายละเอียดเรื่องนี้อยู่ในรายงานเรื่อง "5 เหตุผลที่ทำให้รถ EV จีนมีราคาถูกจนตีตลาดไทยกระจุย"
แต่สงครามระหว่างค่าย EV เริ่มทำให้รัฐบาลจีนกังวลแล้ว ซินกั๋วปิน (辛国斌) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนกล่าวในงานฟอรั่มยานยนต์จีนประจำปี 2024 ว่า ในปัจจุบัน ความต้องการบริโภครถยนต์ของจีนไม่แข็งแกร่ง มีการแข่งขันรุนแรงมาก และมี "การแข่งขันที่ไม่เป็นระเบียบได้เกิดขึ้น" ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
สำนักข่าวเหม่ยรื่อจิงจี้ (每日经济新闻) ยกคำพูดของ ซินกั๋วปิน มาดังนี้ว่า "การแข่งขันในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่พลังงานรุ่นใหม่และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไม่แข็งแกร่งพอ และการแข่งขันในตลาดก็รุนแรงมาก การแข่งขันที่ไม่เป็นระเบียบบางอย่างได้เกิดขึ้น และหลายบริษัทมีผลกำไรที่ลดลงหรือแม้แต่การขาดทุน และจำนวนการค้างชำระระหว่างบริษัทก็เพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบและส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน ภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ได้สร้างอุปสรรคด้านนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งขัดขวางระเบียบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศตามปกติอย่างจริงจัง"
จากการรายงานข่าวของไฉซิน (财新) สำนักข่าวด้านเศรษฐกิจของจีนพบว่า ปัจจุบันการบริโภครถยนต์ในประเทศจีนค่อนข้างซบเซา ตามสถิติของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 11.255 ล้านคัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนส่งออกรถยนต์ 2.793 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 30.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี นั่นหมายความว่าจีนกำลังมุ่งไปที่ตลาดส่งออก และแน่นอนว่าจะส่งผลสะเทือนมาถึงประเทศไทยด้วย
แต่การต่อสู่ของค่ายจีนรุนแรงมากเนื่องจากการพยายามบีบคั้นและกดดันเป็นทอดๆ หรือที่เรียกว่า 'เน่ยเจวี่ยน' (内卷) นั่นคือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามใช้มาตรการกระตุ้นยอดขายให้ดีกว่าอีกค่ายทั้งๆ ที่ต้องแลกมาด้วยการ 'กลืนเลือดตัวเอง' นั่นคือยอมเสียผลกำไร และกระทั่งยอมขาดทุนเพื่อลดราคาและกระตุ้นยอดขายของตัวเอง จนกระทั่งคู่แข่งทนไม่ไหวต้องยอมรามือหรือถึงขั้นยุติกิจการ
ข้อมูลที่เห็นได้ชัด คือ จากที่ประชุมร่วมข้อมูลตลาดรถยนต์โดยสารแห่งชาติ หรือ 'เชอเหลียนฮุ่ย' (乘联会) พบว่าจำนวนรุ่นที่เข้าร่วมลดราคา (หรือเข้าร่วมในสงครามตัดราคา) ตั้งแต่ช่วงตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงสิ้นเดือนเมษายน มีจำนวนใกล้เคียงกับตัวเลขตลอดทั้งปี 2566 และการลดราคาของรุ่นที่ขายดีบางรุ่นมีอัตราสูงถึงเกือบ 20%
สงครามราคาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ส่งผลให้อัตรากำไรที่แคบลงมากขึ้นสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในห่วงโซ่อุปทาน หรือพูดง่ายๆ คือยิ่งทำสงครามเน่ยเจวี่ยนผลกำไรก็จะยิ่งน้อยลง จากสถิติของ 'เชอเหลียนฮุ่ย' พบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 อัตรากำไรของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ที่ 5.3% ต่ำกว่าอัตรากำไรเฉลี่ย 6.1% ของภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ลักษณะเช่นนี้ คือสิ่งที่ ซินกั๋วปิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนชี่้ว่าเป็น "การแข่งขันที่ไม่เป็นระเบียบได้เกิดขึ้น"
สำนักข่าวไฉซินชี้ว่าท่าทีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า 'ฝ่านเน่ยเจวี่ยน' (反内卷) หรือการต่อต้านการทำสงครามธุรกิจอย่างเอาเป็นเอาตาย
การต่อต้านการทำเน่ยเจวี่ยนยังสะท้อนมาจากคนในวงการยานยนต์จีนเองด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน หลี่ซูฝู (李书福) ประธาน Geely (吉利控股集团) กล่าวว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนมีระดับการทำ 'เน่ยเจวี่ยน' หรือการแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายในสูงที่สุดในโลก และสงครามราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ และการทำ 'เน่ยเจวี่ยน' และสงครามราคาที่ทำกันแบบตรงตรงมาไร้ซึ่งความหลักแหลม จะนำพาอุตสาหกรรมนี้ให้ทำอะไรแบบขอไปที และเกิดการแข่งขันอย่างไร้ระเบียบ
รายงานโดยทีมข่าวต่าวประเทศ The Better
หมายเหตุ - ภาพประกอบข่าวไม่เกี่ยวกับเนื้อหา ภาพถ่ายนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2024 เผยให้เห็นรถยนต์ติดค้างบนถนนที่ถูกน้ำท่วมหลังฝนตกหนักในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน (ภาพโดย AFP) / CHINA OUT