ถ้าใครติดตามซีรีส์การทำสงครามราคาในค่ายรถยนต์จีนของ The Better คงจะทราบเบื้องหลังกันแล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าใครยังตามไม่ทันโปรดอ่านรายงานเหล่านี่พื่อปูพื้น ก่อนที่จะเข้าสู่เอพิโสดล่าสุดของสงครามครั้งนี้
- 'พีอาร์สายมืด'ถล่มค่ายรถจีน BYD ตั้งค่าหัว25ล้านล่าคนปั่นใส่ร้ายป้ายสี
- 5 เหตุผลที่ทำให้รถ EV จีนมีราคาถูกจนตีตลาดไทยกระจุย
- 'ของใหม่สามอย่าง' สินค้าจีนที่กำลังบุกไทยและช่วยสร้างจีนให้เป็นมหาอำนาจยุคใหม่
- ค่ายรถจีนแข่งกันบ้าเลือดเกินไป เสียงเตือนจากรัฐบาลปรามสงครามตัดราคา
ตามรายงานของสื่อจีนคือ 'ตี้อีไฉจิง' 《第一财经》 เมื่อวันที่ 17 สงครามราคาที่ค่ายรถยนต์จีนและค่ายรถต่างชาติในจีนห้ำหั่นกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง ตอนนี้พบผู้แพ้แล้ว ล้วนแต่เป็นค่ายรถยนต์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Mercedes-Benz, BMW และ Audi ซึ่งครองตลาดรถหรู แต่ต้านทานการหั่นราคาของค่ายรถจีนไม่ไหว ต้องพากันถอนตัวจากการทำสงครามราคา พูดง่ายๆ คือยอมยกธงขาวนั่นเอง
สื่อในจีนรายงานว่า ตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ BMW หลายรายในประเทศจีนระบุว่า ดีบริษัทหลักได้มีการยกเลิกการประเมินเป้าหมายยอดขายของดีลเลอร์ในภาคตะวันออกตั้งแต่ไตรมาสที่สาม ส่งผลให้แรงกดดันด้านสินค้าคงคลังของตัวแทนจำหน่าย BMW ลดลง และยังมีการลดการส่งเสริมการขายด้วยการลดราคาลง ส่งผลให้ ณ ตอนนี้ราคาต่อคันโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 หยวน
ก่อนหน้านี้ ดีเลอร์เผชิญกับแรงกดดันมหาศาลในการทำยอดขายให้ได้มากว่าค่ายอื่น จึงต้องทำสงครามราคาด้วยการลดราคาอย่างบ้าเลือด ส่งผลกระทบต่อยอดขายและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของบริษัทอย่างหนัก ผลยังกลับเป็นตรงกันข้าม คือแทนที่ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเพราะราคาลด แต่เมื่อราคาลดความต้องการของตลาดลดลง และตัวแทนจำหน่ายอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากในการสต๊อกสินค้าคงคลัง
จากการสำรวจดัชนีคำเตือนสินค้าคงคลังของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจีน ในเดือนมิถุนายน ดัชนีคำเตือนสินค้าคงคลังของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจีนอยู่ที่ 62.3% ซึ่งสูงกกว่าอัตราปกติ นอกจากนี้ การลดราคาอย่างต่อเนื่องและอย่างมากจะทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าแบรนด์รถยนต์หรูหราไปด้วย
นอกจาก Mercedes-Benz, BMW และ Audi แล้ว ตามรายงานของ Red Star Capital Bureau เมื่อวันที่ 17 ค่ายรถต่างประเทศอื่นๆ คือ Volkswagen, Toyota, Honda, Volvo ก็ได้ตัดสินใจปรับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมโดยจะไม่ลดราคาอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีทีท่าที่ค่ายรถจีนจะหยุดการลดราคาเพื่อทำสงครามราคา ดังนั้น สงครามนี้อาจจะจบลงในส่วนของค่ายรถต่างประเทศ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า มันยังไม่จบ แต่ค่ายรถต่างประเทศ คือเหยื่อรายแรก (หรือผู้แพ้กลุ่มแรก) ในสงครามราคาค่ายรถในจีน
กระนั้นก็ตาม มีสัญญาณว่าสงครามครั้งนี้เริ่มจะมี 'ผู้เสียชีวิต' ชาวจีนแล้ว นั่นคือ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 'กว่างฮุ่ย' (广汇汽车服务集团) ดีเลอร์รถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีราคาหุ้นลดลง 10.34% และราคาปิดอยู่ที่ 0.78 หยวนต่อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปิดต่ำกว่า 1 หยวนต่อหุ้นติดต่อกันที่ 20 วันซื้อขายและเสี่ยงจะถูกถูกเพิกถอนการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ตามกฎระเบียบตลาดหลักทรัพย์ หากราคาปิดรายวันของหุ้นของบริษัทต่ำกว่า 1 หยวน เป็นเวลา 20 วันทำการติดต่อกัน หุ้นของบริษัทอาจถูกเพิกถอนโดยตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้
ตามรายงานของสื่อจีน สำนักข่าว 'เหม่ยรื่อจิงจี้' 《每日经济新闻》 แม้ว่า กว่างฮุ่ยจะเป็นบริษัทใหญ่ แต่ความสามารถในการทำกำไรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนัก ในปี 2565 บริษัทขาดทุนสุทธิเกิน 2.6 พันล้านหยวน ในปี 2566 บริษัททำกำไรได้ 392 ล้านหยวน
กว่างฮุ่ยกล่าวว่าเนื่องจากการบริโภคในตลาดที่ลดลง การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้น และสงครามราคาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้ปริมาณการขายรถยนต์ใหม่และอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by AFP / CHINA OUT