จากการศึกษาโดยสถาบันคีล ( Kiel Institute for the World Economy หรือ IfW Kiel) ซึ่งเป็นสถาบันด้ายความคิดที่สำคัญของเยอรมนี ระบุว่ารัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนต่างๆ เช่น เทคโนโลยีสีเขียว เช่น การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานลม จากการประมาณพบว่าเงินอุดหนุนโดยรวมของจีนที่ให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่ในช่วง 3 - 9 เท่าของประเทศ OECD (หมายถึงกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว) อื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือเยอรมนี
จากการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ หนึ่งในผู้รับผลประโยชน์หลักของการอุุดหนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลจีนคือ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวที่สำคัญของ BYD ทั้งในด้านความสามารถทางเทคโนโลยีและการผลิต ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
รายงานของ IfW Kiel แสดงให้เห็นว่าเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีนกระจายไปทั่วในหมาดหมู่ต่างๆ โดยบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 99% ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลโดยตรงในปี 2565 จีนมักใช้เงินอุดหนุนอย่างมีกลยุทธ์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่อความพร้อมของตลาด
เมื่อรวมกับมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ เช่น สิทธิพิเศษในการเข้าถึงวัตถุดิบที่สำคัญ การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างชาติ และการเอื้อสิทธิพิเศษให้บริษัทต่างๆ ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะและขั้นตอนการบริหาร ทำให้บริษัทจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคส่วนเทคโนโลยีสีเขียวต่างๆ โดยครองตลาดจีนและเจาะตลาดยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ
รายงานของ IfW Kiel ระบุว่า ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ได้รับเงินอุดหนุนสูงเป็นพิเศษ เงินอุดหนุนโดยตรงมีมูลค่าประมาณ 220 ล้านยูโรในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 2.1 พันล้านยูโรในปี 2565 ในแง่ของรายได้จากธุรกิจ เงินอุดหนุนโดยตรงเพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในปี 2563 เป็น 3.5% ในปี 2565 นอกจากนี้ BYD ยังได้ค่าพรีเมี่ยมในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในประเทศจีน เมื่อเทียบกับผู้ผลิตในประเทศรายอื่นๆ เช่น GAC หรือบริษัทต่างชาติที่ผลิตในประเทศ เช่น Tesla หรือบริษัทร่วมทุนของ Volkswagen ในจีน
เดิร์ก เดอเซอ (Dirk Dohse) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบัน IfW Kiel และผู้ร่วมเขียนรายงานกี่ยวกับขนาดและขอบเขตของการอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศจีนกล่าวว่า "ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงขนาดและขอบเขตที่แท้จริงของการอุดหนุนเทคโนโลยีสีเขียวในจีน” Dohse กล่าว ตัวอย่างเช่น BYD ได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนสำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่ผ่านราคาวัตถุดิบที่ลดลง เช่นเดียวกับการอุดหนุนสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการ (ของผู้บริโภค"
จากการตรวจสอบของ The Better พบว่าค่ายรถยนต์ต่างประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากการทำสงครามราคา หรือ 'เจี้ยเก๋อจ้าน' (价格战) ระหว่างค่ายรถยนต์ต่างๆ ในจีนไม่เฉพาะแต่ EV เท่านั้น แต่รวมถึงค่ายรถทั้งหมดทุกประเภท ล่าสุดในรายงานของเราเรื่อง 'อ่อนแอก็แพ้ไป? เริ่มพบ'ผู้เสียชีวิต' ในสงครามตัดราคารถยนต์จีน' พบว่า สงครามราคาที่ค่ายรถยนต์จีนและค่ายรถต่างชาติในจีนห้ำหั่นกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง ตอนนี้พบผู้แพ้แล้ว ล้วนแต่เป็นค่ายรถยนต์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Mercedes-Benz, BMW และ Audi ซึ่งครองตลาดรถหรู แต่ต้านทานการหั่นราคาของค่ายรถจีนไม่ไหว ต้องพากันถอนตัวจากการทำสงครามราคา
ในส่วนของ BMW ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ ล่าสุด โชว์รูมที่ขาย BMW 4S หลายแห่งในจีนปฏิเสธที่จะส่งมอบรถตามสัญญา ส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจ แถมโชว์รูม BMW ยังบอกกับลูกค้าที่ต้องการรับรถตามสัญญาว่า หากต้องการรับรถจะต้องเพิ่มเงินเป็นหมื่นหยวน ข่าวนี้เป็นกระเด็รการค้นหาที่ร้อนแรงของแพลทฟอร์มไป่ตู้ (Baidu) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม สาเหตุที่โชว์รูม BMW เรียกเงินเพิ่มจากลูกค้า เพราะค่ายเพิ่งจะถอนตัวจากการทำสงครามหั่นราคาและเลิกที่จะลดราคานั่นเอง เพราะส่งผลต่อยอดขายและกำไร แต่กลับมาเรียกร้องเงินเพิ่มจากลูกค้าที่ทำสัญญาในช่วงสงครามราคา
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับค่ายรถต่างประเทศที่ตัดสินใจถอนตัวจากสงครามราคาแน่นอน ล่าสุด GAC Toyota หรือ 广汽丰田汽车有限公司 ประกาศว่าจะยังไม่ถอนตัวจากการทำสงครามราคา หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าค่ายนี้จะถอนตัวจากสมรภูมิตามรอย BMW ทั้งนี้ GAC ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีนในแง่การซื้อมากเป็นอันดับที่ 3 ส่วนอันดับที่ 4 คือ Geely
แต่คู่กรณีของสงครามราคาที่แท้จริง ก็คือ BYD กับ Tesla (ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐฐบาลจีนในแง่การซื้อมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ) ซึ่งพยายามแข่งกันตัดราคามาระยะหนึ่ง จนสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้รถที่ซื้อรถไปแล้ว แต่ต้องพบว่าในอีกไม่นานราคารถรุ่นที่ซื้อไปถูกปรับลดลงฮวบฮาบเพราะทั้งสองค่ายทำสงครามราคาต่อกัน จนทำให้ผู้บริโภคจีนต่อว่าต่อขานอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมการตลาดแบบนี้
จากรายรายงานของ IfW Kiel แสดงให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของค่ายรถยนต์จีนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างหนัก แม้ว่า BYD จะได้รับส่วนแบ่งการอุดหนุนจากรัฐบาลมากที่สุด แต่จากชาร์ตที่แนบมาพร้อมกับรายงานนี้ จะเห็นการอุดหนุนของรัฐบาลจีนต่อค่ายรถยนต์อื่นๆ ด้วย ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดโลก และเป็นสาเหตุที่สหภาพยุโรปต้องขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของกลุ่ม อัตราภาษีใหม่สำหรับผู้ผลิตแต่ละรายอยู่ระหว่าง 17.4% ถึง 37.6% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีเดิม 10% ที่กำหนดไว้แล้วก่อนหน้านี้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดที่นำเข้าจากจีน
นอกจากรถ EV ที่ได้รับการอุดหนุนอย่างหนักแล้ว ตลาดโลกยังต้องจับตาการกทุ่มตลาดจาดจีนในสินค้าสีเขียวประเภทอื่นๆ ด้วย จากรายงานของ IfW Kiel พบว่า ซัพพลายเออร์กังหันลมชั้นนำของจีน เช่น Goldwing และ Mingyang ก็ได้รับประโยชน์อย่างมากจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเช่นกัน ในกรณีของ Mingyang เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านยูโรในปี 2563 เป็น 52 ล้านยูโรในปี 2565 เมื่อเทียบกับรายได้ เงินอุดหนุนล่าสุดเทียบได้กับผู้ผลิตรถยนต์ GAC และมีมูลค่าประมาณ 1.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565
หมายเหตุ - สถาบัน IfW Kiel ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1914 และเป็นสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี สาขาวิชาเฉพาะทางหลัก ได้แก่ การวิจัยเศรษฐศาสตร์ระดับโลก นโยบายเศรษฐกิจ และการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันแห่งนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 50 องค์กรวิจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก และยังได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 15 อันดับแรกของโลกในด้านนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะ
ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Jade Gao / AFP