สำนักข่าว Financial Times ได้สัมภาษณ์ ยาสุฮิเดะ มิซูโนะ (Yasuhide Mizuno) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ Sony Honda Mobility ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Sony และ Honda ในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง มิซุโนะ กล่าวว่า "ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมีความ “หวาดกลัวมาก” กับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น “ผู้ตาม” หากพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วกว่านี้"
มิซุโนะ ชี้ว่า ค่ายรถยนต์ของจีนกำลังผงาดขึ้นมาเร็วกกว่าที่เขาคาดการณ์ไว้ เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากมาตรการอุดหนุนของรัฐบาล รวมถึงการจ้างวิศวกรชาวญี่ปุ่น ชาวยุโรป และชาวอเมริกัน
นอกจากนี้ ระยะเวลาในการพัฒนารถ EV ของจีนยังลดลงเหลือแค่ 18 เดือน ซึ่งน้อยกว่าระยะเวลาการพัฒนารถในญี่ปุ่นถึงครึ่งหนึ่ง
แม้ว่ารถ EV ของจีนจะถูกกีดกันจาการมาตรการเก็บภาษีสุดโหดของสหรัฐฯ ถึง 100% จนทำให้รถ EV ของจีนยากที่จะเจาะตลาดสหรัฐฯ หรือที่ มิซูโนะ ใช้คำว่า "รถไฟฟ้าที่ทำจากจีนจะไม่สามารถเข้าไปยังตลาดสหรัฐฯได้" แต่เขาเตือนว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นค่อนข้างช้าในการพัฒนา EV จนกระทั่งญี่ปุ่นตระหนักได้ว่า ค่ายรถยนต์จีนกำลังผงาดอย่างรวดเร็วจึงค่อยที่จะขยับกัน จากรายงานของ Automotive News เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่ามีการจัดตั้งแผนขึ้นระหว่างสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น (JAMA ) ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ทรงพลังซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ คือ Toyota, Honda, Nissan, Mazda, Subaru และ Mitsubishi โดยสมาคมยักษ์ใหญ่รถยนต์ญี่ปุ่นพวกเขาต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยโจทย์สำคัญของค่ายรถญี่ปุ่นก็คือจะทำอย่างไรให้ตลาดกลับมาสนใจรถญี่ปุ่นอีก
อย่างไรก็ตาม Inside EV ชี้ว่า JAMA ยังคงผลักดันรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน แทนที่จะผลักดัน EV อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ Toyota ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ยังคงหวังที่จะเอาดีกับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนอย่างจริงจัง และความต้องการของ Toyota ก็ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นโดยรวมด้วย
เรื่องนี้แม้แต่ China Daily สื่อของทางการจีนก็ยังสังเกตได้ ในรายงานเมื่อเดือนเมษายนระบุว่า "การริเริ่ม (ผลิต) รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเชื่องช้าในญี่ปุ่นนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอิทธิพลของ Toyota สิ่งที่น่าสนใจคือ Toyota เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมรายแรกๆ ที่เปิดรับเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม โตโยต้าให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮโดรเจนมากกว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่"
สื่อของทางการจีนชี้ว่า "การนำรถยนต์ไฮโดรเจนมาใช้อย่างเชื่องช้า และการเติบโตอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ Toyota ไม่ทันระวัง การต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้าของ อาคิโอะ โทโยดะ (Akio Toyoda ประธานบริษัท) อาจเป็นความพยายามที่จะซื้อเวลาให้ Toyota มากขึ้น แต่บริษัทกำลังเผชิญกับ "ช่วงเวลาของ Nokia" ของตัวเอง"
"ช่วงเวลาของ Nokia" หรือ Nokia moment หมายถึงการที่บริษัทที่เคยเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งบในอุตสาหกรรมนั้นถูกโค่นอยางรวดเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว เพราะไม่พัฒนาเทคโนโลยีที่สนองตอบกับยุคสมัยได้ทัน เหมือนกับบริษัท Nokia ที่เคยเป็นเจ้าแห่งโทรศัพท์มือถือ ทุกวันนี้ กลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว
Photo - ยาสุฮิเดะ มิซูโนะ (Yasuhide Mizuno) กรรมการตัวแทน ประธาน และซีอีโอของ Sony Honda Mobility พูดในงาน Consumer Electronics Show (CES) ที่ลาสเวกัส รัฐเนวาดา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2023 (ภาพโดย Patrick T. Fallon / AFP)