ทำไม EV จีนถึงเป็นภัยคุกคามความมั่นคง? มันสอดแนมเราได้หรือไม่

ทำไม EV จีนถึงเป็นภัยคุกคามความมั่นคง? มันสอดแนมเราได้หรือไม่

ยาคุบ ยานดา (Jakub Janda) ผู้อำนวยการของ European Values ซึ่งเป็นศูนย์นโยบายความมั่นคงที่ไม่ใช่ของรัฐบาล (เอ็นจีนโอ) ในกรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเชค แสดงความเห็นใน X โดยชี้ถึง "ภัยคุกคามของรถยนต์ไฟฟ้าจีน" ต่อความมั่นคงในยุโรป โดยเขาโยงว่า EV ของจีน อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายความมั่นคงของยุโรป

ยานดา ได้อธิบายเป็นข้อๆ ไว้ใน X ดังนี้ 

"สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในยุโรป นี่คือสิ่งที่หน่วยข่าวกรองของยุโรปหลายแห่งบอกคุณ:

1) รถยนต์ไฟฟ้าทุกคันเป็นเมกะเซนเซอร์ (mega-sensor) มีเซนเซอร์หลายร้อยตัวที่รวบรวมข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับสถานที่และผู้คน 

2) องคาพยพของจีนทุกแห่ง (ทั้งระดับบุคคลหรือบริษัท) "จะต้อง" ดำเนินการจารกรรม (นั่นคือการรวบรวมข่าวกรอง) ในนามของรัฐบาลจีน อันเป็นกฎหมายที่เข้มงวดซึ่งรัฐบาลจีนใช้และบังคับใช้

3) ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าทุกคันของจีนจึงเป็นและจะเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข่าวกรองของรัฐบาลจีน โดยส่งข้อมูลไปยังจีนหรือหน่วยงานของจีน

4) เนื่องจากรัสเซีย-จีนเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการต่อต้านประชาธิปไตยตะวันตก รถยนต์ไฟฟ้าทุกคันในรถยนต์ของจีนจะรวบรวมข่าวกรองสำหรับรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนแบ่งปันข่าวกรองกับพันธมิตรสำคัญของตน นั่นคือ รัสเซีย

5) รัสเซียกำลังเตรียมโจมตีประเทศสมาชิกนาโต้ในยุโรปอย่างเป็นระบบและเร่งด่วน

6) หากยุโรปอยู่ในสงครามรับมือและป้องกันหลังจากที่รัสเซียโจมตีในปีต่อๆ ไป ข่าวกรองใดๆ ที่รวบรวมโดยรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในยุโรปจะช่วยปรับปรุงแผนการโจมตีของรัสเซียต่อนาโต้"

อย่างไรก็ตาม ทัศนะของ ยานดา ต้องผ่านการตรวจสอบและถ่วงดุลข้อมูลให้ดี เพราะตัวเขาเองประกาศใน X ว่าเขาเป็น "กองหนุนหน่วยบัญชาการไซเบอร์ของสาธารณรัฐเช็ก" และบอกว่า "ศัตรูคือรัสเซีย จีน" และ มิตรคือนาโต สหภาพยุโรป ยูเครน ไต้หวัน" ดังนั้น ทัศนะของเขาย่อมมีความลำเอียงและต้อง "ฟังหูไว้หู" 

ทัศนะของ ยานดา สะท้อนถึงความหวาดระแวงของฝ่ายต่อต้านจีนและรัสเซียในยุโรป โดยเฉพาะฝ่ายที่ต่อต้านรัสเซียมักจะโยงว่ารัสเซียได้รับความช่วยเหลือจากจีน ทั้งๆ ที่จีนพยายามปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด การโยงในลักษณะดังกล่าวนำไปสู่ความหวาดระแวงการลงทุนและสินค้าจากจีนไปด้วย 

ความระแวงเรื่องการสอดแนมโดย EV ทำให้มีการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภายุโรปเมื่อปี 2023 โดยผู้แทนจากเนเธอร์แลนด์ ตอนหนึ่งของกระทู้ระบุว่า "รถยนต์ไฟฟ้ายังสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มเข้าไปในการบูรณาการรถยนต์กับอุปกรณ์ส่วนบุคคลและแอปพลิเคชันเมืองอัจฉริยะ รัฐมนตรีของอังกฤษเตือนว่าจีนสามารถใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสอดแนม ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอย่างมาก อุปกรณ์ติดตามของจีนยังถูกค้นพบในรถยนต์ของรัฐบาลอังกฤษด้วย" และได้ตั้งคำถามต่อสภาว่า "คณะกรรมาธิการได้เสนอหรือริเริ่มการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยประสานงานของรถยนต์ไฟฟ้าของจีนตามมาตรา 22 ของคำสั่ง NIS 2 หรือไม่ หรือคณะกรรมาธิการตั้งใจจะทำเช่นนั้นในกฎหมาย 'การเข้าถึงข้อมูลในรถยนต์' ในอนาคตหรือไม่?"

ความระแวงนี้ยังทำให้เกิดโครงการที่เรียกว่า 'Project Lion Cage' จากการรายงานของสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า ทอร์ อินสตอย (Tor Indstøy) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์ชาวนอร์เวย์ได้ซื่อ EV จีนมาคันหนึ่งรุ่น ES8 จากบริษัท NIO Inc เพื่อใช้งานเป็นการส่วนตัว และเพื่อตรวจสอบดูว่า EV จีนสามารถรวบรวมดาต้าและส่งกลับไปที่จีนได้มากแค่ไหน โดยเขายังทำงานรวมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์อีกหลายคนเกี่ยวกับประเด็นนี้ จนกลายมาเป็นโครงการ 'Project Lion Cage'

จากการศึกษาพบว่า ข้อมูลสื่อสารประมาณ 90% ซึ่งรวมถึงข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่คำสั่งเสียงง่ายๆ ไปยังรถ ไปจนถึงสถานที่ตั้งทางกายภาพของรถ ถูกส่งไปยังประเทศจีนและยังถูกส่งไปยังเยอรมนี สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ด้วย 

อินสตอย ยังระบุถึงความกังวลอีกประการหนึ่งคือลักษณะที่ไม่ชัดเจนของการสื่อสารบางส่วน ตัวอย่างเช่น "นักวิจัยพบไฟล์เดียวอันหนึ่งที่ไม่ได้เข้ารหัสซึ่งถูกดาวน์โหลดโดยยานพาหนะจากที่อยู่อินเทอร์เน็ต nio.com อย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงขณะนี้ พวกเขาก็ยังไม่สามารถระบุวัตถุประสงค์ของไฟล์ดังกล่าวได้" จากการรายงานของ Bloomberg

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ขึ้นภาษี EV จีนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม โดยเรียกเก็บดังนี้ BYD เก็บ 17.4%; Geely เก็บ 19.9% และ SAIC เก็บ 37.6% โดยให้เหตุผลของการขึ้นภาษีที่สูงมากเอาไว้ว่า "จากการสืบสวน คณะกรรมาธิการได้สรุปว่าห่วงโซ่มูลค่าของ BEV (รถไฟฟ้าแบตเตอร์รี่) ในจีนได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อผู้ผลิต BEV ในสหภาพยุโรป การสืบสวนยังได้ตรวจสอบผลที่ตามมาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการเหล่านี้ต่อผู้นำเข้า ผู้ใช้ และผู้บริโภค BEV ในสหภาพยุโรปอีกด้วย" 

จากเหตุผลของสหภาพยุโรปพบว่าเป็นเหตุผลในด้านการต่อต้านการทุ่มตลาด เพราะ EV จีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐเป็นจำนวนเงินมหาศาลทำให้ราคาต่ำเกินจริง อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีก็อาจเกี่ยวข้องกับความกังวลว่า EV อาจเป็นเครื่องมือเก็บดาต้าส่งไปยังจีนด้วย เพียงแต่สภาพยุโรปยังไม่ใช้มาตรการใดๆ มาสร้างความชอบธรรมให้กับความหวาดระแวงดังกล่าว ความกังวลนี้ระบาดไปถึงออสเตรเลียและแคนาดาแล้ว โดยที่สหรัฐฯ ระแวงเรื่องนี้มานาน และดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว 

จากการรายงานของ Toronto Star ระบุว่า รัฐบาลแคนาดาก็กำลังพิจาณาจะขึ้นภาษี EV จีนเช่นกันคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม พร้อมกับสอบทัศนะผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ชี้ว่า รถยนต์ที่เชื่อมต่อกัน (หมายถึงการเชื่อมโยงข้อมูลของ EV จีน) เป็นภัยคุกคามที่เห็นกันจะๆ 

ก่อนหน้านี้ รองนายกรัฐมนตรี คริสเตีย ฟรีแลนด์ (Chrystia Freeland) แห่งแคนาดายังกล่าวว่า “เรายังพิจารณาถึงด้านความมั่นคงแห่งชาติในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งรวมถึงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เมื่อต้องพูดถึงการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า” จากการรายงานของ Glabal News สื่อของแคนาดา

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน จีนได้สั่งห้ามไม่ให้ Tesla ใช้งานในบางเมือง สำหรับงานการเมืองบางงานและฐานทัพทหาร เนื่องจากกังวลว่าข้อมูลรถยนต์อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ และยังสั่งห้ามบริษัทผลิตรถยนต์ส่งข้อมูลดังกล่าวออกนอกประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งแสดงว่าความกังวลเรื่องใช้ EV ในการสอดแนมและเก็บดาต้า ได้ครอบคลุมไปทั้งโลกตะวันตกและโลกตะวันออกแล้ว

รายงานโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better  
ภาพประกอบข่าว Photo by Jade GAO / AFP
 

TAGS: #EVจีน