สงครามหม้อไฟหมาล่า ทำศึกลดราคาฆ่าคู่แข่ง ใครทนไม่ไหวก็เจ๊งกันไป

สงครามหม้อไฟหมาล่า ทำศึกลดราคาฆ่าคู่แข่ง ใครทนไม่ไหวก็เจ๊งกันไป
แม้แต่วงการ 'หม้อไฟหมาล่า' ในประเทศจีนก็ทำสงครามเฉือนราคากันรุนแรง มันจะลามมาถึงไทยเหมือนวงการ EV หรือไม่?

สงครามราคา (价格战) หรือการแข่งกันเฉือนราคาให้ต่ำกว่าอีกฝ่าย แข่งกันรุนแรงในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าทำสงครามกันอย่างบ้าคลั่ง จนกระทั่งกระทบต่อยอดขาย

แต่สงครามราคา หรือ 'เจี้ยเก๋อจ้าน' ไม่ได้จำกัดวงแค่ในวงการยานยนต์ ตอนนี้มันยังลุกลามเข้าสู่วงการ 'หม้อไฟ' หรือที่บ้านเรานิยมเรียกกันว่า 'หมาล่า' ซึ่งหมายถึงอาหารจิ้มจุ่มในหม้อที่ใช้ซอสรสชา (หมา) และเผ็ด (ล่า) แบบจีนนั่นเอง

วงการหมาล่าในไทยก็แข่งกันจนอาการปางตาย เพราะมีร้านหม้อไฟทั้งแบบสายพานและไม่ใช้สายพานทยอยปิดตัวลงร้านแล้วร้านเล่า ในจีนเองก็แข่งกันจนถึงตายเช่นกัน เพราะที่นั่นถึงขนาดทำสงครามราคากันเลยทีเดียว

จากการรายงานของ 'สำนักข่าวค่ำหยางเฉิง' (羊城晚报) ในนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีร้านหม้อไฟบางแห่งตั้งราคาอาหารสูงเกินไป จนกลายเป็นกระแสถกเถียงในจีน และบางคนมีข้อสรุปว่าการกินหม้อไฟอาจไม่คุ้มอีกต่อไป 

จากแนวโน้มที่ว่านั้น ทำให้เชนหม้อไฟบางแห่งเริ่มรู้สึกตัว และเริ่มทำสงครามราคา แทนที่จะตั้งราคาแพงขึ้น ก็หันมาปรับราคาลดลงแบบฮวบฮาบ เพื่อที่จะดึงคนมากินหม้อไฟอีกครั้ง 

ตัวอย่างเช่น กรณีของ 'ไหตี่เลา' (海底捞) ซึ่งเป็นเชนหม้อไฟชื่อดัง ก็แยกแบรนด์สาขาอกมาเป็นแบรนด์ระดับราคาย่อมเยาในชื่อ 'ไหเลาหม้อไฟ' (嗨捞火锅) แต่สุดปรับชื่อแบรนด์อีกครั้งเป็น 'เสี่ยวไหหม้อไฟ'  (小嗨火锅) โดยเติมคำว่าเสี่ยว (小) ที่แปลว่าเล็กน้อยเข้าไป เหมือนกับต้องการแสดงให้เห็นว่าราคายังลดลงได้อีก และราคาก็ลดจริงๆ โดยปรับลงมาจาก 80 หยวนต่อหัวมาเป็น 60 หยวนโดยประมาณ 

อีกเจ้าคือ 'ปาเหอหลี่หม้อไฟเนื้อ' (八合里牛肉火锅) ทำแคมเปญหนักกว่านั้นอีก โดยประกาศว่า "ราคากลับไปอยู่ที่เมื่อ 10 ก่อน" ราวกับว่าต้องการจะบลัฟคู่แข่งและทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าหม้อไฟของพวกเขาราคาถูกเท่ากับเมื่อสิบปีก่อน ตอนที่เงินยังไม่เฟ้อขนาดนี้

และยังมีเชนหม้อไฟดังๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น 'หม้อไฟส่งฉงชิ่ง' (怂重庆火锅) เป็นต้นลดราคาลงมาที่ 8 หยวนถึง 9.9 หยวน โดยเฉพาะราคา 9.9 หยวน หรือ 9.9元 มีนัยสำคัญมาก เพราะเป็นระดับราคาที่เป็นเครื่องหมายของสงครามราคาในอุตสาหกรรมอื่นๆ นั่นหมายความว่าวงการหม้อไฟถูกลากเข้ามาในสงครามราคา 9.9元 

สงครามราคา 9.9元 มีชื่อเต็มว่า 9.9元包邮 ที่แปลว่า "9.9 หยวนส่งฟรี" นั่นคือการตั้งราคาของร้านค้าออนไลน์ว่าจะเก็บค่าจัดส่งในราคานั้น ทำให้เกิดผลทางจิตวิทยาเพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อสินค้ามากขึ้น และตอนนี้ 9.9元 กลายเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าและบริการที่แข่งกันตั้งราคาถูกไปแล้ว 
 
ในส่วนของวงการหม้อไฟ สำนักข่าว 'ข่าวเช้าเซียวเซียง' (潇湘晨报) ในมณฑลหูหนาน รายงานว่า ผู้สื่อข่าวสังเกตว่าตั้งแต่ปีนี้ แบรนด์หม้อไฟหลายยี่ห้อได้ปรับราคาลง เช่น  'หนานหม้อไฟ' (楠火锅) ได้ประกาศเปิดร้านยุค 3.0 และเปิดตัวอาหารมังสวิรัติในราคา 1.9 หยวน เนื้อสดในราคา 9.9 หยวน และหม้อไฟพื้นฐานในราคา 39.9 หยวน ในเดือนมิถุนายน 'หม้อไฟส่งฉงชิ่ง' ประกาศสโลแกน "ซุปหม้อไฟเริ่มต้นที่ 8 หยวน อาหารเนื้อเริ่มต้นที่ 9.9 หยวน"

นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน น้ำซุปของ 'เสี่ยวไหหม้อไฟ' ซึ่งเป็นแบรนด์ราคาย่อมเยาของ 'ไหตี่เลา' ยังมีราคาเพียง 9.9 หยวนเท่านั้น

ส่วนแบรนด์อื่นๆ ถึงจะไม่ได้ปรับราคามาในสงคราม 9.9元 แต่ก็ต้องปรับลดราคาโดยรวมลงมาอย่างมากอยู่ดี เช่น ราคาต่อหน่วยของชุดอาหารของ  'เสียปู่ เสียปู่' (呷哺呷哺) แบรนด์หม้อไฟยอดนิยม โดยทั่วไปลดลงมากกว่า 10% และราคาต่อหน่วยเฉลี่ยของลูกค้าไม่เกิน 60 หยวน

แต่จากรายงานของ 'ข่าวเช้าเซียวเซียง' ดูเหมือนว่าสงครามราคา 9.9元  จะเป็นที่แพร่หลายมากกว่า เช่นพบว่าในแพลตฟอร์มการซื้อกลุ่มใหญ่ ร้านหม้อไฟจำนวนมากได้เปิดตัวคูปองเงินสด "100 หยวนจ่าย 9.9 หยวน" หรือกิจกรรมเช่นราคา 9.9 หยวนสำหรับเมนูสุกี้ เช่น สันในวัว เนื้อวัวติดมัน และเนื้อสันใน

สื่อจีนรายนี้ชี้ว่า "เพื่อดึงดูดลูกค้า 'สงครามราคา' จึงค่อยๆ 'บีบคั้น'" ซึ่งคำว่าบีบคั้นในที่นี้ก็คือคำว่า 'เจวี่ยน' (卷) ซึ่งแปลว่าการม้วนตัว แต่ในบริบทนี้หมายถึงการแข่งกันบีบอีกฝ่ายรวมถึงบีบตัวเอง หรือม้วนตัวเองเพื่อบีบอีกฝ่ายให้ตกเป็นรองในสงครามราคา คำๆ นี้สะท้อนว่าสงครามราคาในธุรกิจหม้อไฟดุเดือดแบบเอาเป็นเอาตายกันแล้ว

และก็เช่นเดียวกับการทำสงครามราคาในอุตสาหกรรมรถยนต์ธรรมดาและรถ EV การทำสงครามราคาและปรากฏการณ์ 'เจวี่ยน' แทนที่จะนำรายได้เข้าแบรนด์ กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม นั่นก็เพราะการทำสงครามแบบนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การกำจัดศักยภาพด้านการแข่งขันของคู่แข่ง โดยตัวเองยอมที่จะ "กลืนเลือดตัวเอง" 

ผลก็คือ อัตราการเข้าร้าน (餐饮翻台率) ของ 'ไหตี่เลา' เพิ่มขึ้นจาก 3.8 เท่าต่อวันเมื่อปีที่แล้วเป็น 4 เท่าต่อวัน ซึ่งไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับการปรับลดราคาลง ในขณะที่อัตราการเข้าร้านของ 'ส่งฉงชิ่งหม้อไฟ' ลดลงเหลือ 2.9 เท่าต่อวัน  

นอกจากนี้ มันยังจะทำให้รายได้ลดลงด้วย เช่นกรณีของ 'จิ่วเหมาจิ่ว' (九毛九) เชนร้านอาหารชั้นนำของจีน ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับผลกำไร โดยคาดการณ์ว่ารายได้ในครึ่งแรกของปี 2024 คาดว่ากำไรสุทธิจะไม่น้อยกว่า 67 ล้านหยวน ลดลงไม่เกิน 69.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยยอดขายเฉลี่ยรายวันของ 'ส่งฉงชิ่งหม้อไฟ'  ในช่วงไตรมาสที่ 2 ลดลง 36.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี

แต่ไม่ทำสงครามราคาจะได้ไหม? คำตอบก็อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์นั่นเอง ก็คือแทบไม่มีใครยอมถอยจากสงครามราคาเลยยกเว้นค่ายรถต่างประเทศ ส่วนในอุตสาหกรรมหม้อไฟ ยังมีคำเตือนจาก เหอกวงฉี่ (贺光启) ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเสียปู่ (呷哺集团) จะกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์กับสื่อ 'นักธุรกิจจีน'《中国企业家》 ว่า "ถ้าคุณคว้าตลาดเอาไว้ไม่ได้ คุณก็จะอดตาย" 

นั่นคือถ้าไม่ยอมสู้กันแบบเลือดสาดในสงครามราคา ก็รอเจ๊งได้เลย

รายงานโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo - ภาพถ่ายนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2020 แสดงให้เห็นลูกค้ากำลังรับประทานหมาล่าทั่ง อาหารสไตล์หม้อไฟรสเผ็ด ที่ร้านอาหารธีมห้องอาบน้ำชื่อว่า "Malatang in the Bath" ซึ่งมีการตกแต่งหัวฝักบัวและซอสในขวดแชมพู ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในปักกิ่ง / AFP / GREG BAKER

TAGS: #หม้อไฟ #หมาล่า #สงครามราคา