โฆษณา Apple ด้อยค่าประเทศไทยจริงหรือ? ฟิลเตอร์สีเหลืองคืออะไร

โฆษณา Apple ด้อยค่าประเทศไทยจริงหรือ? ฟิลเตอร์สีเหลืองคืออะไร

เบื้องหลังของเหตุการณ์
“The Underdogs” เป็นซีรีส์โฆษณาของ Apple แต่ก่อนได้รับคำชมอย่างล้นหลาม ล่าสุดถ่ายทำในประเทศไทยและใช้สถานการณ์ในไทย ในตอนที่ชื่อว่า "OOO (Out of Office)" แต่ตอนนี้กลับถูกโจมตีอย่างหนักจากคนไทย เพราะแสดงภาพลักษณ์ของไทยที่ไม่ตรงกับความจริงหลายอย่าง เช่น สภาพท้องถนน การคมนาคม และโรงแรมที่ทรุดโทรม ซึ่งเหมือนตั้งใจจะให้ภาพไทยเป็น 'ประเทศโลกที่สาม' จนเกินไป จนกระทั่งบิดเบือนภาพลักษณ์ที่แท้จริง เหมือนกับพยายามจะเชื่อมโยงว่าเทคโนโลยีของ Apple สามารถใช้งานได้แม้กระทั่งใน 'ประเทศโลกที่สาม'  

ทำไมฟิลเตอร์สีเหลือง?
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ "OOO (Out of Office)" ถูกโจมตีหนัก เพราะการใช้ฟิลเตอร์ย้อมภาพให้เป็นสีเหลือง ซึ่งแม้ว่าจะมีการใช้เพียงเล็กน้อย เพราะแม่สีหลักอื่นๆ ถูกใช้มากกว่เพื่อให้ภาพสีสันสดใสของไทย แต่ก็ยังมีบางฉากที่ใช้ฟิลเตอร์นี้ โดยเฉภาถ 'ภาพปก'  ของคลิปซีรีส์โฆษณานี้

'Yellow Filter' มักจะถูกใช้ในวงการภาพยนต์ตะวันตกโดยเฉพาะในฮอลลีวูด เพื่อสร้างภาพให้รู้สึกว่าฉากดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศร้อนที่ด้อยพัฒนาเต็มไปด้วยฝุ่นคลุ้ง เป็นประเทศซีกโลกใต้ที่ยากจน และประเทศโลกที่สาม ดังนั้น มันจึงถูกวิจารณ์ในระยะหลังว่าเป็นฟิลเตอร์ที่เหยียดความเป็นคนและประเทศอื่นว่าด้อยว่า ที่สำคัญก็คือ สีเหลืองของฟิลเตอร์ไม่ตรงกับสภาพจริงของประเทศเหล่านั้นแม้แต่น้อย 

'Yellow Filter' เรียกอีกอย่างว่า 'Sepia Stereotype' หรือการสร้างภาพลักษณ์เหมารวมด้วยสีซีเปีย ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยไลเดน (universiteit leiden) ในเนเธอร์แลนด์ระบุว่า "บริษัทภาพยนตร์หลายแห่งอ้างว่าการตัดต่อแบบนี้มีประโยชน์ในการ "เพิ่มคาแรกเตอร์" และความรู้สึกวินเทจให้กับฟุตเทจของคุณ แต่หลายคนอาจโต้แย้งว่านั่นเป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะจริงของประเทศต่างๆ"  

บทความยังอ้างบทวิเคราะห์ทางวิชาการด้วย (Ullmann 2020) โดยบอกว่า "โดยทั่วไปแล้วภาพยนตร์อเมริกันมักจะชอบที่จะดันแนวคิดที่มีอคติ (โดยโยงว่า) คนอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่พัวพันกับยาเสพติด คนตะวันออกกลางที่ “อันตราย”… ทั้งหมดถูกผูกเข้าด้วยกันอย่างเรียบร้อยด้วยฟิลเตอร์ทอันเลวร้ายนี้เพื่อให้คุณรู้ว่ามันหมายถึงประเทศพวกนี้"

แอนโทเนลลา พอนเซ (Antonella Ponce) เขียนบทความเรื่องฟิลเตอร์สีเหลืองและการสร้างภาพลักษณ์ผิดๆ ต่อประเทศอื่นลงในเว็บไซต์ Cracked โดยเรียกฟิลเตอร์นี้ว่า 'ฟิลเตอร์เม็กซิกัน' เธอชี้ว่า "ส่งผลให้มีการใช้ฟิลเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ฟิลเตอร์สีเหลืองกลายมาเป็นมาตรฐานในการถ่ายทอดภาพละตินอเมริกาหรือเอเชียใต้" ซึ่งปัญหาก็คือ "เรื่องนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้กอบกู้ผิวขาวที่ล้าสมัยและเหยียดเชื้อชาติในฮอลลีวูดและสื่อต่างๆ ยังคงอยู่ต่อไป" 

เธอยังชี้ว่า "การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับฟิลเตอร์สีเหลืองนั้นไม่ได้มาจากผู้ชมเท่านั้น แต่ยังมาจากผู้สร้างภาพยนตร์ POC และบุคคลอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย คนเหล่านี้วิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อโต้แย้งเรื่องอุณหภูมินั้นไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เมื่อพิจารณาว่าสถานที่อย่างไมอามี่มักไม่มีฟิลเตอร์สีเหลือง แต่ประเทศทางใต้ของชายแดนกลับถูกนำเสนอผ่านฟิลเตอร์ที่แสดงถึงความเหนือกว่าของคนผิวขาวในอเมริกาและยุโรปอยู่เสมอ"

ในบทความเรื่อง "ฟิลเตอร์สีเหลืองและการแสดงภาพของซีโลกใต้" ของ มอรีน เฮดท์ (Maureen Heydt) ใน Medium ชี้ว่าการใช้ฟิลเตอร์แบบนี้มีนัยเรื่องวิธีคิดของฝรั่งผิวขาว

"แต่ทำไมต้องเป็นสีเหลืองและสีส้ม สีเหล่านี้สื่อถึงอะไร ในวัฒนธรรมตะวันตก มักใช้สีเหลืองและสีส้มเพื่อทำเครื่องหมายสัญญาณอันตรายที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณไฟจราจร มาตราการวัดอันตรายจากรังสี และระบบแนะนำการก่อการร้ายของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงทางการแพทย์ในเชิงลบ เช่น ไข้เหลือง โรคดีซ่าน และสารพิษสีส้ม ฟิลเตอร์นี้สื่อถึง 'ความแตกต่าง' ที่ชัดเจนแต่ไม่ได้พูดออกมาให้ผู้ดูทราบ ซึ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกถึงการเตือนหรืออันตรายที่ใกล้จะเกิดขึ้นที่เพิ่มมากขึ้น"

นั่นหมายความว่าการใช้ฟิลเตอร์เหลืองสะท้อนความคิดของชาวตะวันตกว่าประเทศ 'โลกที่สาม' เป็นดินแดนอันตรายนั่นเอง 
 

TAGS: #Apple