เมื่อเราพูดถึง 'จักรวรรดินิยม' มันหมายถึงการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ A โดยเปลี่ยนประเทศเป้าหมาย B คือให้กลายเป็นแค่ตลาดปล่อยสินค้าของ A พร้อมกับดูดทรัพยากรจากประเทศ B ไปด้วย
บางครั้งประเทศ A เห็นว่าประเทศ B มีกำลังซื้อน้อย แต่มีกำลังการผลิตสูง ก็จะใช้ B เพื่อผลิตสินค้า จากนั้นก็จะหาตลาดใหม่คือประเทศ C เพื่อ 'ปล่อยของ' แต่การทำแบบนั้นอาจต้องใช้กำลังบีบบังคับ C ให้ยอมเปิดตลาด
เมื่อไม่ยอมก็ต้องทำสงครามกัน
ตัวอย่างสำคัญคือ ประวัติศาสตร์ของจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งราชวงศ์ชิงอ่อนแอถึงขีดสุด ส่วนชาติตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษกำลังรุ่งเรืองที่สุด ทั้ง 'ต้าชิง' และ 'บริติช เอ็มไพร์' ต่างก็เป็นจักรวรรดิ แต่ต้าชิงหรือจีนเป็นจักรวรรดิโบราณที่ไม่มีเป้าหมายอะไรเป็นหลัก ส่วน บริติช เอ็มไพร์หรือจักรวรรดิอังกฤษ เน้นหาตลาดและทุนเป็นหลัก ส่วนดินแดนเป็นผลพลอยได้
ดังนั้น เมื่อถึงยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม จีนจึงมีแต่ดินแดนแต่ไม่มีทุน ส่วนพวกบริติชและกำไรงอกเงยขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมกับมีดินแดนมากมายทั่วโลก ซึ่งเป็นแค่ผลพลอยได้ของการหาทุนและตลาดเท่านั้น สิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงพวกบริติชคือกระแสทุน
มาถึงจุดสำคัญคือ พวกบริติชรุกเข้าไปในอินเดียเพื่อการค้า จนกระทั่งใช้กลไกของทุนและกำไรสามารถยึดอินเดียได้ทีละน้อยๆ และครองอินเดียได้ทั้งหมด โดยใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากนั้นนำฝ้ายดิบไปปั่นที่อังกฤษเป็นเสื้อผ้า จากอังกฤษก็เอาเสื้อผ้าฝ้ายกลับมาขายที่อินเดียต่อไป เพราะอินเดียเป็นตลาดใหญ่อันดับสองของโลก
ด้วยวิธีการนี้ อังกฤษจึงเป็นจักรวรรดิที่สมบูรณ์แบบ คือเอาที่ดินอินเดียปลูกฝ้าย ใช้แรงงานราคาต่ำชาวอินเดีย แล้วขายฝ้ายที่แปรรูปแล้วเอากำไรจากคนปลูกฝ้ายเหล่านั้น
แต่ยังมีตลาดอีกแห่งที่อังกฤษต้องการจะเจาะเข้าไป คือ ต้าชิงหรือจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังอ่อนแออย่างที่สุด
วิธีที่จะบุกตลาดนี้ จะต้องใช้กำลังบีบเท่านั้น เพราะแม้จีนจะอ่อนแอ แต่ยังมีความหยิ่งในฐานะเป็นจักรวรรดิหนึ่งกับเขาเหมือนกัน
การที่จะสรุปการต่อสู้ของจักรรรดิสมัยใหม่กับจักรวรรดิโบราณ ซึ่งเป็นการสู้ด้วยทุนและกำไร (โดยมีการทำสงครามด้วยอาวุธเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น) มีงานเขียนหนึ่งที่สรุปกลเม็ดของจักรวรรดิอังกฤษได้ดี คืองานเขียนชื่อ 'การสะสมทุน' (The Accumulation of Capital) ของโรซา ลุกเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg) นักคิดฝ่ายสังคมนิยมชาวโปลิช-เยอรมัน ซึ่งเธอมีบทบาทอย่างมากในการศึกษาอำนาจของทุน
ลุกเซมบูร์ก เป็นผู้ที่รู้ทัน 'ทุน' เป็นผู้ต่อต้านการสั่งสมทุนจนสร้างการผูกขาด และยังต่อต้านสงคราม อันเป็นผลพวงจากการปะทะของ 'อำนาจจักรวรรดิ' และ 'นายทุน' อีกด้วย
เธอเขียนเอาไว้ในหนังสือ 'การสะสมทุน' เอาไว้ว่า
"ประเทศจีนในยุคใหม่เป็นตัวอย่างคลาสสิกของการแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศที่ล้าหลังและ "อ่อนโยน" ตลอดศตวรรษที่ 19 เริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 40 ประวัติศาสตร์ของจีนเต็มไปด้วยสงครามที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดทางให้จีนค้าขายโดยใช้กำลัง มีพวกมิชชันนารีคอยยุยงให้คริสเตียนถูกข่มเหง ชาวยุโรปยุยงให้ประชาชนก่อกบฏ และเกิดการสังหารหมู่เป็นระยะๆ
"ประชากรในสังคมเกษตรกรรมที่ไร้ทางสู้และสงบสุข ถูกบังคับให้เผชิญกับอาวุธที่ทันสมัยที่สุดจากกองทหารของพวกนายทุนทันสมัยที่สุดในบรรดามหาอำนาจของยุโรปทั้งหมด การใช้เงินจำนวนมากในสงครามทำให้จำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะ จีนกู้ยืมเงินจากยุโรป ส่งผลให้ยุโรปควบคุมการเงินและยึดป้อมปราการของจีน ถูกบังคับให้เปิดท่าเรือเสรี และมีการเรียกค่าสัมปทานทางรถไฟจากนายทุนยุโรป ด้วยมาตรการเหล่านี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบทุนนิยม - ผู้แปล) จึงได้รับการส่งเสริมขึ้นมาในจีนตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 30 ของศตวรรษที่แล้วจนถึงจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติจีน (ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 - ผู้แปล)"
ข้อความที่ โรซา ลุกเซมบูร์ก เขียนไว้มีนัยว่า ในเวลานั้นจีนเป็นประเทศที่ยังล้าหลังเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก และจีนยัง 'อ่อนโยน' หรือไม่มีนโยบายรุกรานชาติใดต่างจากพวกชาติตะวันตกที่ใช้ทุนเป็นธงนำจึงมีแต่ความกระหายผลกำไร ถึงกับใช้กำลังบีบจีนด้วยสงคราม บางครั้งยังใช้การเผยแพร่ศาสนาเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนเสถียรภาพของจีน เช่น หาว่าจีนข่มเหงชาวคริสต์ จชาติตะวันตกจึงใช้ข้ออ้างนี้บีบจีนหรือกระทั่งส่งกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่บางส่วนของจีน โดยอ้างว่า "เพื่อปกป้องชาวคริสต์และชาวตะวันตก"
ปัจจุบันเราก็ยังจะเห็นข้ออ้างจำพวกนี้ เพียงแต่ไม่มีการอ้างศาสนาอีก แต่เป็นการอ้างว่าเพื่อปกป้อง 'สิทธิมนุษยชน' และ 'ประชาธิปไตย' จึงบีบชาติเป้าหมาย และรุกรานประเทศนั้น
เมื่ออธิบายความเป็นไปในจีนแล้วหนังสือ 'การสะสมทุน' ก็เล่าถึง 'จุดพีค' การใช้ทุนนิยมของจักรวรรดินิยมเพื่อบดขยี้จีน
"อารยธรรมยุโรป ซึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้ากับทุนยุโรป ได้ส่งผลกระทบครั้งแรกต่อจีนจากสงครามฝิ่น เมื่อจีนถูกบังคับให้ซื้อยาเสพติดจากไร่ฝิ่นในอินเดีย เพื่อทำเงินให้กับนายทุนชาวอังกฤษ ในศตวรรษที่ 17 บริษัทอินเดียตะวันออกได้นำฝิ่นมาปลูกในเบงกอล และบริษัทสาขาในกวางตุ้งก็เป็นผู้เผยแพร่ยาเสพติดชนิดนี้ในจีน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ฝิ่นมีราคาตกต่ำลงอย่างมาก จนกลายเป็น "สินค้าฟุ่มเฟือยของประชาชน" (หมายถึงเข้าถึงประชาชนทั่วไปที่มีรายได้น้อย แต่ก็ยังมีราคาสูงสำหรับคนทั่วไปอยู่ดี - ผู้แปล) อย่างรวดเร็ว
ในปี ค.ศ. 1821 จีนได้นำฝิ่นจำนวน 4,628 หีบเข้ามาจำหน่ายในราคาเฉลี่ย 265 ปอนด์ จากนั้นราคาก็ลดลงร้อยละ 50 และการนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 9,621 หีบในปี 1825 และเพิ่มเป็น 26,670 หีบในปี 1830 ผลกระทบร้ายแรงของยาเสพติด โดยเฉพาะยาเสพติดราคาถูกที่ประชากรยากจนใช้ กลายเป็นภัยพิบัติสาธารณะและทำให้จีนจำเป็นต้องคว่ำบาตรการนำเข้า (ฝิ่น) เป็นมาตรการฉุกเฉิน ในปี ค.ศ. 1828 อุปราชแห่งกวางตุ้งได้ห้ามการนำเข้าฝิ่น แต่ก็ทำได้แค่เบี่ยงเบนการค้า (ฝิ่น) ไปยังท่าเรืออื่น"
โรซา ลุกเซมบูร์ก ได้อ้างข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่จีนที่บอกว่าฝิ่นมันร้ายกาจแค่ไหน เช่นบอกว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าฝิ่นเป็นความชั่วร้ายที่ยิ่งกว่าการพนัน และผู้ที่สูบฝิ่นควรได้รับการลงโทษไม่ต่างจากนักพนัน”
เจ้าหน้าที่จีนอีกคนบอกว่า "ดูเหมือนว่าฝิ่นส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเจ้าหน้าที่ที่ไม่ซื่อสัตย์ โดยร่วมมือกับพ่อค้าที่แสวงหากำไรซึ่งนำฝิ่นเข้ามาในประเทศ กลุ่มแรกที่เสพฝิ่นคือคนที่มีครอบครัวฐานะดี บุคคลร่ำรวย และพ่อค้า แต่ท้ายที่สุดแล้ว ฝิ่นก็แพร่กระจายไปสู่คนทั่วไป ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่าในทุกมณฑล มีการสูบฝิ่นไม่เพียงแต่ในหมู่ข้าราชการพลเรือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในกองทัพด้วย เจ้าหน้าที่ของเขตต่างๆ ออกคำสั่งห้ามขายโดยกฎหมายพิเศษ แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ ครอบครัว ผู้ติดตาม และคนรับใช้ของพวกเขาก็สูบฝิ่นต่อไป และพ่อค้าก็ได้กำไรจากการห้ามโดยขึ้นราคา แม้แต่ตำรวจก็ยังถูกโน้มน้าว พวกเขาซื้อฝิ่นแทนที่จะช่วยปราบปราม”
หลังจากที่ต้าชิงหรือจีนตระหนักถึงภัยของฝิ่นที่ทำลาย 'ทุนมนุษย์' ของจีน จึงทำการห้ามการค้าฝิ่นและทำลายฝิ่น ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างให้จักรวรรดิบริติชทำสงครามกับจีน สงครามนี้ถือเป็นสงครามครั้งแรกของโลกที่ทำโดย 'แก๊งค้ายาเสพติด' (Drug cartel) ซึ่งเป็นขบวนการใหญ่ระดับจักรวรรดิ
ปรากฎว่าจีนพ่ายแพ้ย่อยยับต่อ 'แก๊งค้ายาเสพติด' เพราะ 'แก๊ง' นี้หรือพวกบริติชเกณฑ์กองกำลังจากอินเดีย หรือทหารซีปอย (Sepoy) เข้ามาช่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอกย้อนอย่างมาก เพราะอังกฤษยึดอินเดียเป็นอาณานิคม ใช้เแรงงานคนอินเดียปลูกฝิ่น แล้วเอามาขายตลาดจีน พอจีนไม่ซื้อของ ก็ใช้คนอินเดียมาฆ่าคนจีน
คนอินเดียที่ยอมเป็นทาสเจ้าอาณานิคมทำงานเป็นเครื่องจักรนักฆ่าเกินคำสั่งนายเสียอีก อย่างที่ โรซา ลุกเซมบูร์ก เขียนไว้ว่าในระหว่างการสู้รบกันนั้น "ชาวจีนซึ่งพยายามหลบหนีจากแนวป้องกัน ก็พากันตกลงไปในคูน้ำซึ่งในไม่ช้าคูน้ำก็เต็มไปด้วยทหารที่หมดหนทางซึ่งร้องขอความเมตตา ทหารราบซีปอยกระทำการฝ่าฝืนคำสั่ง ได้ยิงใส่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่คือวิธีที่กวางตุ้งต้องยอมจำนอนต่อทุน"
ทำไมคนอินเดียที่ถูกอังกฤษกดขี่ถึงยอมไปฆ่าคนจีนทั้งๆ ที่ถูกฝรั่งกดขี่เหมือนกัน?
เรื่องนี้เป็นเพราะพลังของทุนนั่นเอง พวกบริติชใช้เงินจาก 'ทุนสีเทา' เพื่อซื้อตัวคนอินเดียที่ยอมขายความภักดีให้ ทุนนั้นมาจากธุรกิจสีเทา ที่เกิดจากการใช้แรงงานทาสของคนเชื้อชาติเดียวกัน และการบุกตลาดจีนด้วยทุนเทา
อำนาจของทุนที่มีอยู่เหนือเชื้อชาติ มีอยู่ในหนังสือ Smoke and Ashes: Opium’s Hidden Histories (ควันและเถ้าถ่าน ประวัติศาสตร์ซ่อนเร้นของฝิ่น) โดย อมิตาว โฆษ (Amitav Ghosh) นักเขียนชาวอินเดียระบุไว้ว่า แม้ว่าพวกบริติชจะยึดครองอินเดียได้ แต่ต้องปล่อยให้พวกชนชั้นนำอินเดียมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่ง พร้อมกับปล่อยให้พวกนี้มีส่วนร่วมในการค้าฝิ่นด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า "ฝิ่นเป็นแหล่งสะสมทุนหลักสำหรับพ่อค้าและนายธนาคารพื้นเมืองในอินเดียตะวันตกในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19"- นี่เองที่ทำให้ชนชั้นนำและกองทัพชาวอินเดีย ยอมทำงานให้พวกบริติช
แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญ ก็เป็นๆได้แค่ 'ทุนมนุษย์' ในการผลิตยาเสพติด และไม่มีค่าอะไรในสายตาของพวกจักรวรรดินิยม อย่างเช่นเมื่อพวกบริติชยึดแคว้นเบงกอลของอินเดียได้ ก็ทำการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกอาหารเป็นที่ปลูกฝิ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนจากเหตุการณ์ขาดแคลนอาหารในเบงกอลเมื่อปี ค.ศ. 1770 เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เคยให้ผลผลิตได้ถูกบังคับให้เปลี่ยนไปปลูกฝิ่นแทน
แล้วฝิ่นนั้นก็เอามาฆ่าคนจีนทางอ้อมนับล้านคน และฆ่าคนจีนทางตรงในสงครามอีกมากมาย
ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้จีนต้องเสียบางส่วนของกวางตุ้ง อันเป็นเมืองท่าสำคัญนั่นคือฮ่องกงและเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับจักรวรรดิบริติช ที่สำคัญคือพวกบริติชเข้าถึงตลาดจีนได้อย่างเสรีมากขึ้น นั่นหมายความว่าพวกบริติชจะยิ่งทำกำไรได้มากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน มันเท่ากับบีบให้จีนเลิกเป็นรัฐแบบโบราณ แล้วยอมรับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แม้ว่าจีนจะเสียเปรียบอย่างมากก็ตาม
แต่มันเป็นกฎของการสะสมทุน นั่นคือทุนจะต้องสะสมไปเรื่อยๆ และต้องหาตลาดไปเรื่อยๆ ดังนัน เมื่อพวกบริติชชนะจีนแล้วและได้ตลาดจีนไปครองส่วนหนึ่ง พวกจักรวรรดิตะวันตกอื่นๆ ก็เริ่ม 'ริษยา' และเริ่มปะทะกันเอง หรือไม่ก็ยอมเจรจาแบ่งแผ่นดินจีนเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่ง 'เขตอิทธิพล' หรือ spheres of influence
ในหนังสือ 'การสะสมทุน' ได้กล่าวไว้ว่า
"การเข้าสู่ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน (หรือการเข้าสู่ระบบสะสมทุน - ผู้แปล) ซึ่งเริ่มต้นด้วยสงครามฝิ่น ในที่สุดก็สำเร็จลุล่วงด้วยการ "เช่า" (คือการที่จีนถูกบีบให้ปล่อยดินแดนของตนเองให้ชาติตะวันตกเช่าหรือยึดเป็นอาณานิคม เช่น อังกฤษเช่าฮ่องกง 99 ปี) อยู่ช่วงหนึ่ง และการทำสงครามในจีนในปี ค.ศ. 1900 เมื่อผลประโยชน์ทางการค้าของทุนยุโรปจมดิ่งลงสู่การต่อสู้แบบประชิดตัวระหว่างประเทศอย่างหน้าด้านเพื่อแย่งชิงดินแดนของจีน"
จะไม่ให้ทุนตะวันตกหน้าด้านได้อย่างไร ในเมื่อผลกำไรของการทำธุรกิจสีเทามันเป็นกอบเป็นกำ และช่วยสร้างชาติพวกเขาให้ยิ่งใหญ่
ในหนังสือของอมิตาว โฆษ ชี้ว่า ทุนฝรั่งที่ยึดเอเชียเป็นอาณานิคม เช่น พวกฮอลันดาเจ้าของบริษัท The Royal Dutch Trading Company ก็ค้าฝิ่นด้วยการผูกขาดฝิ่นจนร่ำรวยในอินโดนีเซีย จนกระทั่งได้เงินมาสร้างวิสาหกิจแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ นั่นคือ Royal Dutch Shell
ในเวลาเดียวกัน พวกอเมริกันก็เข้ามาเกี่ยวข้องการค้าฝิ่นในจีนด้วย จนกระทั่งได้ทุนเป็นกอบเป็นกำ นายทุนอเมริกันพวกนี้คือพวกที่วางรากฐานธุรกิจเส้นทางรถไฟ ธุรกิจโรงแรมตามเส้นทางคมนาคม และการค้าสิ่งทอ ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานอุตสาหกรรมอเมริกันในช่วงต้น อย่างที่ อมิตาว โฆษ กล่าวว่า “อเมริกาสามารถถ่ายโอนอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนให้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอเมริกาได้”
นี่คือหลักฐานว่า 'ทุนเทาฝรั่ง' คือรากฐานของการสร้างมหาอำนาจขึ้นมา
ในขณะเดียวกัน จีนก็ต้องกลายสภาเป็น 'คนป่วย' ยาวนานถึงร้อยกว่าปี ต้องตกอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่า "ศตวรรษแห่งความอัปยศ" ผลของการแย่งชิงของทุนตะวันตกในแผ่นดินจีนคืออะไร? งานเขียนของ โรซา ลุกเซมบูร์ก สรุปไว้ในบทที่ 28 ของ 'การสะสมทุน' เอาไว้ว่า
"ในช่วงสงครามและช่วงระหว่างเวลาที่ยังไม่เกิดอีกสงครามหนึ่ง อารยธรรมยุโรปต่างก็ยุ่งอยู่กับการปล้นสะดมและขโมยของในพระราชวังหลวงของจีน ในอาคารสาธารณะของจีน และในอนุสรณ์สถานของอารยธรรมโบราณของจีน ไม่ใช่แค่ในปี ค.ศ. 1860 เมื่อฝรั่งเศสปล้นสะดมสมบัติในตำนานจากพระราชวังของจักรพรรดิ หรือในปี ค.ศ. 1900 เมื่อ "ชาติต่างๆ แข่งขันกันขโมยทรัพย์สินสาธารณะและส่วนบุคคล" ความก้าวหน้าของยุโรปทุกครั้งไม่ได้เกิดขึ้นจากการสะสมทุนท่านั้น แต่ยังรวมถึงจากถึงซากปรักหักพังที่ยังคงคุกรุ่นของเมืองที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุด จากการเสื่อมโทรมของเกษตรกรรมในพื้นที่ชนบทขนาดใหญ่ และจากการเก็บภาษีที่กดขี่อย่างไม่สามารถยอมรับเพื่อนำเงินมาชดเชยสงคราม มีท่าเรือสนธิสัญญาจีนมากกว่า 40 แห่ง และแต่ละแห่งต้องแลกมาด้วยเลือด การสังหารหมู่ และความพินาศ"
นี่คือเบื้องลึกของการที่จักรวรรดิหนึ่งๆ สามารถเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ นั่นคือ ...
“ทุนไม่มีทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นใด [โดยการรวมเอาทรัพยากรการผลิตและแรงงานใหม่ๆ เข้ามา และการรักษาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน] นอกเหนือไปจากความรุนแรง ซึ่งเป็นวิธีการสะสมทุนมาโดยตลอดตลอดกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแต่ในช่วงที่ทุนเริ่มก่อตัวขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในปัจจุบันด้วย”
ดังนั้นเมื่อทุนเริ่มเสาะหาตลาดหรือแย่งตลาดกัน เวลานั้น ชาวโลกจึงควรระวังสงคราม
วันนี้ จีนแข็งแกร่งขึ้นมากลายเป็น 'ทุนจีน' ที่เดินทางไปทั่วโลก จักรวรรดิบริติชล่มสลายไปนานแล้ว เหลือแต่สหราชอาณาจักรซึ่งอ่อนแอและไร้ความสำคัญ แต่ 'ทุนฝรั่ง' ยังอยู่ แม้จะยังเทาในหลายๆ มิติแต่ก็สามารถชำระล้างความเทาหรืออำพรางความเทาเอาไว้ได้ภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อที่ทรงอานุภาพ และรวมตัวกันเป็นกลุ่มอำนาจ เช่น G7 ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น 'จักรวรรดินิยมตะวันตก' ก็ว่าได้
แต่เมื่อ 'ทุนจีน' ใหญ่ขึ้นและถูก 'ทุนฝรั่ง' หาเรื่อง จึงรวมตัวกันทุนอื่นๆ ที่เป็นพวกชาติรองๆ กลายเป็น BRICS ซึ่งแม้จะรวมตัวกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่ใช่จักรวรรดิเพราะไมได้ขับเคลื่อนด้วยทุนกระแสเดียวกัน แต่สามารถเรียกได้ว่าเป็น 'พันธมิตรต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก' ได้
จากข้อสรุปของ โรซา ลุกเซมบูร์ก ในท้ายที่สุดเพราะทุนนิยมมีข้อจำกัด พวกจักรวรรดินิยมก็จะเผชิญหน้ากัน สุดท้ายก็ต้องลงไม้ลงมือกัน
ทุนจีนและทุนฝรั่งกำลังปะทะกัน และเริ่มที่จะวนลูปไปสู่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน นั่นคือสงครามเพื่อแย่งชิงทุนและตลาด พร้อมกับการขยายดินแดนแบบใหม่ที่ไม่ใช่การยึดดินแดนที่จับต้องได้
ดังนั้น โปรดระวังสงครามเอาไว้ให้ดี
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better