ชีค ฮาซินา อดีตนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศที่เพิ่งลาอกจากตำแหน่งหลังเกิดจลาจลครั้งใหญ่ในประเทศ เผยว่า สหรัฐฯ มีส่วนกับการชิงอำนาจและความวุ่นวายในบังกลาเทศ และสาเหตุที่เธอต้องพ้นจากตำแหน่งก็เพราะไม่ยอมให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพทหารในบังกลาเทศ
“ฉันคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้หากยอมสละอำนาจอธิปไตยของเกาะเซนต์มาร์ตินและปล่อยให้สหรัฐอเมริกาครอบครองอำนาจเหนืออ่าวเบงกอล ฉันขอร้องประชาชนในดินแดนของฉัน โปรดอย่าให้พวกหัวรุนแรงมาบงการ” ฮาซินา กล่าว โดยมีการเผยแพร่คำกล่าวนี้ใน Economic Times สื่อของอินเดีย
บทวิเคราะห์ - ดูเหมือนว่าสื่อในอินเดียจะตื่นตัวกับการเผยข้อมูลนี้เป็นพิเศษ เพราะหากสหรัฐฯ จะเข้ามาตั้งฐานทัพในบังกลาเทศ ก็จะส่งผลต่อความมั่นคงของอินเดียในทันที แม้ว่าอินเดียจะถือเป็น "มิตรที่ดี" ของสหรัฐฯ เนื่องจากมี "ศัตรู" เดียวกัน คือประเทศจีนก็ตาม แต่ในระยะหลัง สหรัฐฯ พยายามเอาเปรียบอินเดียมากเกินไป เพื่อที่จะใช้อินเดียเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการต้านอิทธิพลจีน โดยเฉพาะการเข้ามายุ่มย่ามกับบังกลาเทศ ซึ่งถือเป็น "รัฐบริวาร" ของอินเดีย
สื่อในอินเดีย คือ Opindia ชี้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮาซินากล่าวหาสหรัฐฯ ว่าใช้กลยุทธ์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในบังกลาเทศ เมื่อเดือนเมษายน ก่อนที่การเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลจะเริ่มขึ้นในประเทศ ฮาซินาได้แจ้งต่อรัฐสภาเกี่ยวกับแผนการของสหรัฐที่ต้องการปลดเธอออกจากอำนาจ เธอกล่าวว่า “พวกเขากำลังพยายามกำจัดประชาธิปไตยและจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีอยู่จริง”
เมื่อปีที่แล้วในเดือนพฤษภาคม จากการรายงานของ EurAsian Times ฮาซินา อ้างว่าก่อนการเลือกตั้ง มี "ชายผิวขาว" คนหนึ่งรับรองกับเธอว่าจะได้รับการเลือกตั้งซ้ำโดยไม่มีปัญหา หากเธออนุญาตให้ประเทศต่างชาติตั้งฐานทัพอากาศบนเกาะเซนต์มาร์ติน ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมียนมาในอ่าวเบงกอล
หากพิจารณาจากความเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเกาะเซนต์มาร์ติน จะพบว่าอยู่ใกล้กับเจาะพยู เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศเมียนมา ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เป็นท่าเรือของจีนได้ รวมถึงยังเป็นต้นทางท่อส่งน้ำมันสำหรับส่งไปยังจีนด้วย ที่นี่จึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมาก
ฮาซินา กล่าวว่า “ข้อเสนอนี้มาจากชายผิวขาวคนหนึ่ง ดูเหมือนว่าข้อเสนอนี้จะมุ่งเป้าไปที่ประเทศเดียวเท่านั้น แต่ไม่ใช่เลย ฉันรู้ว่าพวกเขาตั้งใจจะไปที่ไหนอีก จะต้องมีปัญหามากกว่านี้ แต่อย่ากังวลไปเลย ถ้าฉันอนุญาตให้ประเทศใดประเทศหนึ่งสร้างฐานทัพอากาศในบังกลาเทศ ฉันก็จะไม่มีปัญหาอย่างนี้หรอก”
ในขณะที่ รายงานของ Economic Times ระบุว่าผู้นำสันนิบาตอาวามี (Awami League) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใกล้ชิดกับ ฮาซินา กล่าวหาว่าสหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในบังกลาเทศ โดยกล่าวหาว่านักการทูตระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เดินทางไปยังกรุงธากาในเดือนพฤษภาคมเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ นอกจากนี้ ยังกล่าวหาอีกว่านักการทูตคนดังกล่าวพยายามกดดันให้ฮาซินาดำเนินการริเริ่มต่อต้านจีน
สื่อของอินเดียคือ Opindia ตั้งข้อสังเกตว่า ปีเตอร์ ฮาส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำบังกลาเทศ สนับสนุนพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (BNP) และถ้าย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2023 ฮาซินากล่าวว่าพรรคชาตินิยมบังกลาเทศต้องการขายเกาะเซนต์มาร์ตินเพื่อแย่งชิงอำนาจ “พรรค BNP ขึ้นสู่อำนาจในปี 2001 โดยให้คำมั่นที่จะขายก๊าซ ตอนนี้พวกเขาต้องการขายประเทศ พวกเขาต้องการขึ้นสู่อำนาจโดยการขายเกาะเซนต์มาร์ติน” ฮาซินา กล่าว
“ตอนนี้ถ้าฉันบอกว่าจะให้เช่าเกาะเซนต์มาร์ตินหรือประเทศของเรา ฉันก็จะไม่ประสบปัญหาในการคงอำนาจต่อไป ฉันรู้เรื่องนั้น” ฮาซินา ยังกล่าวอีกว่ามีแผนที่จะแยก “รัฐคริสเตียนเช่นติมอร์ตะวันออก” โดยแยกส่วนหนึ่งจากบังกลาเทศและเมียนมามา
แผนการนี้ดูเหมือนว่าจะหมายถึงการแยกดินแดนชนกลุ่มน้อยชินหรือชาวคูกิที่นับถือศสสนาคริสต์ ซึ่งมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนในบังกลาเทศและเมียนมา
ในกรณีนี้ EurAsian Times รายงานว่า มีชาติตะวันตกหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กำลังร่วมกันสร้าง "รัฐคริสเตียน" โดยยึดครองพื้นที่บางส่วนของบังกลาเทศ เมียนมา และแม้แต่ประเทศอินเดีย โดยประเทศเหล่านี้ร่วมมือกับกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติกูกี-ชิน (KNF) และกลุ่มกบฏระดับภูมิภาคหลายกลุ่มอย่างลับๆ รวมถึง Paresh Baruah ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งอัสสัม (ULFA)
ไม่ใช่เพียงแค่ ฮาซินา เท่านั้นที่กังวลเรื่องนี้ แต่นักการเมืองคนอื่นๆ จากพรรคอื่นๆ ในบังกลาเทศก็เคยสะท้อนความกังเวลเรื่องการแทรกแซงของสหรัฐฯ ด้วย
ในระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2023 ราเชด ข่าน เมนอน ประธานพรรคแรงงานบังกลาเทศ กล่าวหาว่าสหรัฐฯ กำลังต้องการเกาะเซนต์มาร์ตินอย่างมาก และนโยบายวีซ่าใหม่ของสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์สำหรับ "การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง"
เขากล่าวว่า "สหรัฐฯ ต้องการเกาะเซนต์มาร์ติน และพวกเขาต้องการให้บังกลาเทศเข้าร่วมการเจรจาความมั่นคงสี่ฝ่าย (Quad ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีน) พวกเขากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้รัฐบาลปัจจุบันไม่มั่นคง"
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2023 ฮาซานูล ฮัก อินู หัวหน้าพรรคชาติยะ สมาช ตันตริก ดาล แสดงความกังวล โดยตั้งคำถามว่าสหรัฐฯ กำลังแทรกแซงกิจการของบังกลาเทศ โดยมีเจตนาเพื่อระบอบประชาธิปไตย หรือจริงๆ แล้วเพื่อควบคุมเกาะเซนต์มาร์ตินกันแน่
อินูกล่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดถึงเหตุผลที่อเมริกากระตือรือร้นเกินเหตุ ประชาธิปไตยหรือเกาะเซนต์มาร์ตินกันแน่ สหรัฐฯ กระตือรือร้นกับบังกลาเทศอย่างมากอย่างกะทันหัน พวกเขาต้องการสร้างบังคลาเทศให้เป็นสนามเด็กเล่นเพื่อ “ครอบงำ” อินเดีย”
บทวิเคราะห์ - สำหรับการตั้งข้อสังเกตเรื่อง “ครอบงำอินเดีย” ได้สร้างแรงกระเพื่อมในอินเดียพอสมควรในเวลานี้ เพราะอินเดียเริ่มตระหนักว่าสหรัฐฯ เริ่มที่จะไว้ใจไม่ได้ ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรี นเรทรา โมที แห่งอินเดียได้ส่งคำเตือนไปยังสหรัฐฯ ว่าถ้าสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนฝ่ายค้านในบังกลาเทศ อินเดียก็จะส่งกำลังทหารเข้าไปในบังกลาเทศ และลงโทษพวก "โปรอเมริกัน" อย่างรุนแรง และอินเดียก็จหันไปสนับสนุนอิหร่าน (ซึ่งเป็นศัตรูของสหรัฐฯ) อย่างไม่มีเงื่อนไขอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้อินเดียขุ่นเคืองสหรัฐฯ ก็เนื่องจากเมื่อเดือนกรกฎาคม จีนกับสหรัฐฯ ปะทะกันในทะเลจีนใต้ในสมรภูมิอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ต้องถอยออกมาจากทะเลจีนใต้ ส่งผลต่ออิทธิพลในแปซิฟิกอย่างมาก จากนั้นสหรัฐจึงขอไปยังอินเดียว่าจะขอตั้งนำทหารอเมริกันไปประจำการในอินเดีย แต่อินเดียจะยอมให้เพียงทหารหญิงเท่านั้นมาประจำการได้ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงหันไปต่อรองกับบังกลาเทศ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเมืองของบังกลาเทศ ซึ่งกระทบโดยตรงมาถึงอินเดีย เนื่องจากรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปเป็นรัฐบาลที่เป็นมิตรกับอินเดีย และอินเดียยังถือว่าบังกลาเทศเป็นเขตอิทธิพลของตนด้วย
ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลแสดงธงชาติบังกลาเทศขณะบุกเข้าไปในทำเนียบของนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ในกรุงธากา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2024 (ภาพโดย K M ASAD / AFP)