ประวัติศาสตร์อำมหิตของการรุมขืนใจผู้หญิงในอินดีย เพราะตัณหาและเพื่อการล้างแค้น

ประวัติศาสตร์อำมหิตของการรุมขืนใจผู้หญิงในอินดีย เพราะตัณหาและเพื่อการล้างแค้น

เบื้องหลังสถานการณ์
ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม อินเดียมีข่าวอื้อฉาวอีกครั้ง เมื่อมีการพบศพแพทย์หญิงวัย 31 ปี ที่ร่างกายเต็มไปด้วยเลือด ในโรงพยาบาลของรัฐ คือ R.G. Kar Medical College and Hospita ในเมืองโกลกาตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ศพของแพทย์หญิงที่ถูกฆาตกรรมอยู่ในห้องสัมมนาของวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเธอไปพักผ่อนที่นั่นระหว่างพักจากกะงาน 36 ชั่วโมง การชันสูตรพลิกศพได้ยืนยันการล่วงละเมิดทางเพศ และในคำร้องต่อศาล พ่อแม่ของเหยื่อกล่าวว่าพวกเขาสงสัยว่าลูกสาวของตนถูกข่มขืนเป็นหมู่ แต่เบื้องต้นตำรวจจับผู้ต้องสงสัยได้แค่คนเดียว 

กรณีนี้ทำให้เกิดความเดือดดาลในหมู่ประชาชน และในชุมชนแพทย์ เพราะแม้แต่แพทย์หญิงที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐก็ยังไม่ปลอดภัยจากการถูกรุมข่มขืน ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่แพทย์ จนณวันที่รายงานนี้ การนัดหยุดงานก็ยังไม่จบสิ้น แม้ว่ารัฐบาลสัญญาว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงความปลอดภัยของแพทย์ และกระตุ้นให้แพทย์กลับมาทำงาน แต่แพทย์กลับไม่เชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการ การหยุดงานเริ่มต้นขึ้นในโกลกาตาและแพร่กระจายไปยังเมืองและรัฐอื่นๆ อย่างรวดเร็วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนกลายเป็นกิจกรรมระดับชาติเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมการแพทย์อินเดีย

กรณีนี้มีหลักฐานการกระทำที่โหดเหี้ยมมาก จากรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์หญิงดังกล่าวแสดงให้เห็นระดับความโหดร้ายที่คล้ายกับ "การข่มขืนหมู่ที่เดลีในปี 2012" สำนักข่าวอินเดียที่อ้างว่าได้เห็นรายงานดังกล่าวแล้วกล่าวว่ารายงานดังกล่าวระบุรายละเอียดบาดแผลหลายแห่งที่ร่งกายของแพทย์หญิงคนดังกล่าวทำก่อนเสียชีวิต โดยระบุว่าการรัดคอเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ลักษณะและขอบเขตของบาดแผลที่รายงานบ่งชี้ว่าผู้หญิงคนดังกล่าวขัดขืนและอาจถูกทรมานก่อนที่จะถูกฆ่า

นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย?
"การข่มขืนหมู่ที่เดลีในปี 2012" คือเหตุช็อคโลกที่ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่มันทำให้ชื่อเสียงของอินเดียต้องแปดเปื้อนมากที่สุด เหตุการณ์นั้น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2012 ที่ย่านหนึ่งในเดลีใต้ เมืองหลวงของประเทศ เมื่อ ชโยตี สิงห์ นักศึกษาฝึกงานด้านกายภาพบำบัดวัย 22 ปี ถูกทำร้ายร่างกาย ข่มขืนหมู่ และทรมานบนรถบัสที่เธอโดยสารมากับเพื่อนชายของเธอ มีคนอื่นอีก 6 คนอยู่บนรถบัสคันดังกล่าว รวมทั้งคนขับ ซึ่งทั้งหมดข่มขืนผู้หญิงคนดังกล่าวและทุบตีเพื่อนชายของเธอ เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในเดลีเพื่อรับการรักษา และถูกส่งตัวไปยังสิงคโปร์ 11 วันหลังจากถูกทำร้าย และเสียชีวิตลงจากอาการบาดเจ็บในอีกสองวันต่อมา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรายงานข่าวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง และถูกประณามอย่างกว้างขวางทั้งในอินเดียและต่างประเทศ ต่อมามีการประท้วงต่อสาธารณะต่อรัฐบาลกลางและรัฐที่ล้มเหลวในการจัดหาความปลอดภัยที่เหมาะสมให้กับผู้หญิงในนิวเดลี ซึ่งผู้ประท้วงหลายพันคนปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย การประท้วงที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายของอินเดียไม่อนุญาตให้สื่อเผยแพร่ชื่อของเหยื่อการข่มขืน เหยื่อจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ นิรภยา (Nirbhaya) ซึ่งแปลว่า "ไม่หวั่นไหว" และการต่อสู้และความตายของเธอได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการข่มขืนของผู้หญิงทั่วโลก

แม้จะเกิดเรื่องสะเทือนโลก แต่ผู้หญิงอินเดียก็ยังถูกขืนใจต่อไป ในปีต่อมาเกิดกรณีการข่มขืนหมู่ที่มุมไบปี 2013 เมื่อช่างภาพข่าวหญิงวัย 22 ปี ซึ่งกำลังฝึกงานกับนิตยสารภาษาอังกฤษในเมืองมุมไบ ถูกข่มขืนโดยคนร้าย 5 ราย รวมถึงเยาวชนด้วย ที่บริเวณโรงงานแห่งหนึ่ง ต่อมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2015 แม่ชีอายุ 71 ปีถูกข่มขืนหมู่ในเมืองรานาคัต รัฐเบงกอลตะวันตก โดยผู้บุกรุก 6 คนที่บุกเข้าไปในวัดแม่ชี คือ คอนแวนต์เยซูและแมรี่ 

และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2018 อาซิฟา เด็กหญิงมุสลิมวัย 8 ขวบ ถูกข่มขืนและฆ่าในหมู่บ้านราซานา ใกล้เมืองกาธัว ในรัฐชัมมูและกัศมีระ (แคชเมียร์) มีการตั้งข้อกล่าวหาชาย8 คนในเดือนเมษายน 2018 แต่กรณีนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา การจับกุมผู้ต้องหาทำให้เกิดการประท้วงจากกลุ่มต่างๆ คือฝ่ายฮินดูที่เอาใจช่วยผู้ก่อเหตุ กับฝ่ายมุสลิมท้องถิ่นที่มองว่าการข่มขืนคือการแก้แค้นคนมุสลิม หนึ่งในนั้นมีรัฐมนตรีจากพรรคภารติยะชนตะ หรือฝ่ายฮินดูชาตินิยมสองคนเข้าร่วมด้วย เพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นชาวฮินดู 

การขืนใจหมู่คืออาวุธการเมือง
นอกเหนือจากการกระทำไปด้วยความหื่นกระหายทางเพศและสัญชาติญาณดิบแล้ว การขืนใจหมู่ในอินเดียยังมีแรงผลักดันมาจากการใช้การขืนใจเพื่อเป็นการตอบโต้ทางการเมืองกับ "ผู้หญิงของฝ่ายตรงข้าม" ด้วย โดยเฉพาะที่ดินแดนที่มีคนฮินดูและมุสลิมอาศัยคละเคล้ากัน เช่น มีการกล่าวหาว่ามีการข่มขืนและข่มขืนหมู่ในชัมมูและกัศมีระ โดยกองกำลังติดอาวุธของอินเดีย (ทำกับหญิงมุสลิม) และกลุ่มก่อการร้ายอิสลามในพื้นที่ (ทำกับหญิงฮินดู) เรื่องนี้ เป็นผลพวงมาจากการการแยกอินเดียเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ

จากการศึกษาโดย Butalia และ Žarkov ชี้ว่าในช่วงที่มีการแบ่งแยกอินเดีย ผู้หญิงราว 100,000 คนบอกว่าพวกเธอถูกลักพาตัวและข่มขืนจากฝ่ายตรงข้ามทางเชื้อชาติและศาสนา เช่น ชาวฮินดู (อินเดีย) ทำใกับชาวมุสลิม (ปากีสถาน) หรือแม้แต่ชาวซิกข์ก็ถูกกระทำจากคนศาสนาอื่นๆ ด้วย เพราะนี่ไม่ใช่แค่การแยกประเทศ แต่เป็นการแยกดินแดนของคนสอง (หรือสามและสี่) ศาสนาด้วย 

อันที่จริงแล้วความตึงเครียดเกิดมาก่อนที่อินเดียและปากีถสานจะได้รับเอกราชด้วยซ้ำ เช่น การสังหารหมู่ชาวมุสลิมในพิหารเมื่อปี 1946 มีผู้คนนับพันถูกลักพาตัวในเขตปัตนา มีสตรีชาวมุสลิมในรัฐพิหารยอมฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในบ่อน้ำเพราะไม่ยอมให้คนฮินดูขืนใจ 

แต่ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ทำเป็นขบวนการ เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 1947  ในเมืองราวัลปินดี ซึ่งสตรีชาวซิกข์ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มมุสลิม หมู่บ้านฮินดูและซิกข์หลายแห่งถูกทำลายล้าง ชาวฮินดูและซิกข์จำนวนมากถูกสังหาร ถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา มักเข้าพิธีสุหนัตในที่สาธารณะ เด็กๆ ถูกจับตัวไป และผู้หญิงถูกลักพาตัว เปลือยกายอวดโฉม ข่มขืนในที่สาธารณะ และ "ถูกย่างทั้งเป็นหลังจากเนื้อหนังของพวกเธอสนองตัณหาทางกาม (โดยผู้ขืนใจ) แล้ว" ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้เสียชีวิตในเมืองราวัลปินดีอยู่ที่ 2,263 ราย หลังจากนั้น สตรีซิกข์หลายคนได้ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในบ่อน้ำเพื่อรักษาเกียรติจากการถูกข่มขืนและหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนศาสนา

ส่วนในดินแดนของอินเดีย มีการลักพาตัวและข่มขืนเด็กสาวชาวมุสลิมเป็นจำนวนมากจนดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของ 'การล้างเผ่าพันธุ์' อย่างเป็นระบบในภูมิภาคคุร์เคาน์นอกเขตเดลี นอกจากนี้ ยังมีขบวนแห่เปลือยของสตรีชาวมุสลิมในเมืองอมฤตสาร์ รัฐปัญจาบของอินเดีย อันเป็นเขตของชาวซิกข์อีกด้วย 

การตอบโต้ของมุสลิมในปากีสถานเกิดขึ้นที่เมืองซิอัลโกต ในรัฐปัญจาบของปากีสถาน สตรีชาวซิกข์และฮินดูถูกพาเปลือยในที่สาธารณะและเกิดการข่มขืนหมู่เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในเมืองอมฤตสาร์ ความโหดร้ายแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเมืองเชคฮูปุระ ประเทศปากีสถานเด็กๆ ถูกพรากจากพ่อแม่ โยนขึ้นไปบนฟ้าให้ร่างเสียบด้วยปลายหอกแลตมะดาบ และบางครั้งก็ถูกโยนเข้ากองไฟทั้งเป็น นอกจากนี้ หน้าอก จมูก และแขนของสตรีชาวฮินดูและซิกข์จะถูกตัดออก มีการใช้ไม้และชิ้นส่วนเหล็กจะถูกแทงเข้าไปในอวัยวะเพศของพวกเธอ ท้องของสตรีมีครรภ์จะถูกฉีกออกและชีวิตที่ยังไม่ไม่เป็นทารกในครรภ์จะถูกโยนทิ้งไป

ในขณะที่มีการแยกประเทศ ชาวฮินดูและซิกข์ต้องอพยพจากปากีสถานไปยังอินเดีย และชาวมุสลิมในอินเดียต้องอพยพหนีไปยังปากีสถาน แต่ในขบวนรถไฟขนส่งผู้อพยพ จะมี ชาวมุสลิมปาทานในเขตปากีสถานบุกเข้ามาจับผู้หญิงฮินดูและซิกข์จากรถไฟผู้ลี้ภัย ขณะที่ชาวซิกข์ติดอาวุธลากผู้หญิงมุสลิมออกจากขบวนผู้ลี้ภัยเป็นระยะๆ และสังหารผู้ชายที่ต่อต้าน ในขณะที่กองทหารที่เฝ้าขบวนไม่ได้ทำอะไรเลย

ตัวเลขที่แน่นอนของผู้หญิงที่ถูกลักพาตัวนั้นไม่ทราบแน่ชัดและมีการประมาณการที่แตกต่างกันไป ลีโอนาร์ด มอสลีย์ (Leonard Mosley) นักข่าวและนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เขียนว่ามีจำนวนผู้หญิงทั้งหมด 100,000 คนถูกลักพาตัวจากทุกฝ่าย รัฐบาลอินเดียประมาณการว่ามีสตรีฮินดูและซิกข์ 33,000 คนถูกลักพาตัวไปในปากีสถาน และรัฐบาลปากีสถานประมาณการว่ามีสตรีมุสลิม 50,000 คนถูกลักพาตัวเข้าไปในอินเดีย

มีการประมาณการว่าผู้หญิงฮินดูและซิกข์ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าผู้หญิงมุสลิม เช่น อุรวาศี พุตาลิยา (Urvashi Butalia) นักสตรีนิยมชาวอินเดีย และผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงจากการแบ่งแยกดินแดนต่อผู้หญิง กล่าวว่ามีผู้หญิงฮินดูและซิกข์ 25,000 ถึง 29,000 คนที่ได้รับผลกระทบ เมื่อเทียบกับผู้หญิงมุสลิม 12,000 ถึง 15,000 คน

เปิดสถิติอันน่าอดสูใจ

  • กลับมาที่ยุคปัจจุบัน จากสถิติของสำนักงานสถิติอาชญากรรมของอินเดีย (NCRB) มีรายงานการข่มขืนเกิดขึ้นทุก ๆ 16 นาทีในอินเดียในปี 2562 ในปี 2562 อัตราการข่มขืนเฉลี่ยระดับประเทศ (ต่อประชากร 100,000 คน) อยู่ที่ 4.9 โดยที่รัฐราชสถานมีอัตราการข่มขืนสูงที่สุด จากทั้งประเทศมีเหตุข่มขืน 32,033 ครั้ง รัฐราชสถานมีเหตุแบบนี้ไปแล้วถึง 5,997 ครั้ง
  • องค์กรด้านสิทธิมนษยชน  Human Rights Watch คาดการณ์ว่าในแต่ละปีจะมีเยาวชนอินเดียมากกว่า 7,200 คน หรือ 1.6 ใน 100,000 คน ถูกข่มขืนในอินเดีย โดยเหยื่อที่แจ้งความถูกกล่าวหาว่าถูกทารุณกรรมและถูกทำให้อับอายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากกรณีนี้เกิดขึ้น 15,615 ครั้งทั่วประเทศในปี 2562 รัฐพิหารเกิดการขืนใจผู้เยาว์มากที่สุด คือ 4,482 ครั้ง 
  • แต่กรณีเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการขืนใหญ่ที่ถูกรายงานเท่านั้น ยังมีอีกมากที่ไม่ถูกรายงาน จากการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร  American Journal of Biostatistics ชี้ว่า การข่มขืนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรายงานเนื่องจากเหยื่อข่มขืนกลัวการแก้แค้นและการถูกเหยียดหยาม ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นทั้งในอินเดียและทั่วโลก รายงานของ NCRB ในปี พ.ศ. 2549 ระบุว่าอาชญากรรมข่มขืนประมาณร้อยละ 71 ที่ไม่ได้แจ้งความ 

รายงานโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - แพทย์อินเดียถือโปสเตอร์ท่ามกลางการหยุดงานทั่วประเทศของแพทย์เพื่อประณามการข่มขืนและฆาตกรรมแพทย์สาวจากโกลกาตา ทเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2024 แพทย์อินเดียได้หยุดงานทั่วประเทศเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ทำให้เกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้นหลังจากเกิดการข่มขืนและฆาตกรรมเพื่อนร่วมงานอย่าง "โหดร้าย" ซึ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นต่อปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นเรื้อรัง (ภาพโดย Idrees MOHAMMED / AFP)

TAGS: #อินเดีย