ถ้านายกฯ เลือกคนหาเงินเก่งเป็น "ครม. ที่แกร่งที่สุด" ประชาชนจะได้ไม่ต้องก่ายหน้าผาก

ถ้านายกฯ เลือกคนหาเงินเก่งเป็น

ไม่กี่ปีก่อน ที่ญี่ปุ่นมีนิยายเล่มหนึ่งชื่อ "ถ้าเกิดโตกุกาวะ อิเอยาสุ เป็นนายกรัฐมนตรี" (もしも徳川家康が総理大臣になったら) จินตนาการว่าในยุคปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี AI สร้างคณะรัฐมนตรีที่ประกอบไปด้วยผู้ปกครองประเทศระดับพระกาฬในอดีตมารวมตัวกัน เพื่อช่วยกันนำพาญี่ปุ่นฟันฝ่าวิกฤตการระบาดใหญ่ 

นิยายเล่มนี้ให้ โตกุกาวะ อิเอยาสุ เป็นนายกรัฐมนตรี เขาคือผู้ก่อตั้งระบอบรัฐบาลบากุฟุ หรือระบอบโชกุนยุคเอโดะ ในศตวรรษที่ 17 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ  เขาคือผู้รวบรวมญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียวในศตวรรษที่ 16 แต่ยังไม่ถึงกับมีตำแหน่งเป็นโชกุนที่ตั้งรัฐบาลอย่างจริงจังขึ้นมา 

รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ, การค้า และอุตสากรรม (กระทรวง METI) คือ โอดะ โนบุนางะ เขาคือเจ้านายเก่าที่ปั้นฮิเดโยชิขึ้นมาให้เป็นนขุนศึกที่เก่งกาจ โนบุนางะ เป็นผู้เริ่มต้นการรวบรวมญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นเป็นคนแรก และเป็นพันธมิตรกับอิเอยาสุ

คนทั้งสามนี้คือ สามวีรบุรุษ (三英傑) หรือ "ผู้รวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวแห่งยุคเซนโกกุ" เซนโกกุ (戦国時代) แปลว่า "ยุคแห่งสงคราม"  

ผู้ที่ไม่คุ้นกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอาจจะถามว่า ทำไมต้องรวมญี่ปุ่น? หรือญี่ปุ่นสมัยก่อนแตกแยกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยหรือไง?

จะอธิบายสั้นๆ ว่า แต่โบราณญี่ปุ่นมีจักรพรรดิเป็นประมุข นับแต่ศตวรรษที่ 6 มีการบริหารส่วนกลางจากเมืองหลวงและมีข้าหลวงปกครองมณฑลต่างๆ โดยรับฟังคำสั่งจากส่วนกลางหรือจักรพรรดิ

แต่พอถึงศตวรรษที่ 10 พวกข้าหลวงในมณฑลต่างๆ ก็เริ่มมีอิสระมากขึ้น ต่างตั้งกองทัพของตนเอง แต่ยังมีชนชั้นสูงในเมืองหลวงที่เริ่มมีอำนาจมากกว่าจักรพรรดิ คนพวกนี้เริ่ม "ปกครองตนเอง" และทำให้แย่งชิงอำนาจกันเอง 

การแย่งชิงอำนาจของข้าหลวงตามหัวเมืองและชนชั้นสูงในเมืองหลวงสุดท้ายเหลือเพียงกลุ่มอำนาจเดียว คนที่กุมอำนาจนั้นจึงมีอำนาจปกครองประเทศที่แท้จริง (ในทางพฤตินัย) ส่วนจักรพรรดิไม่มีอำนาจแล้วแต่ยังมีบารมีและอำนาจแต่งตั้งข้าหลวงอยู่ (ในทางนิตินัย)

เมื่อกลุ่มอำนาจยึดอำนาจและตั้งตนเป็นใหญ่ ก็ขอจักรพรรดิให้พระราชทานตำแหน่ง "ขุนพล" หรือโชกุนซึ่งเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี และพระราชทานอำนาจให้ตั้งรัฐบาล รัฐบาลของขุนศึกหรือโชกุนเรียกว่า "บากุฟุ" (幕府) แปลว่า "รัฐบาลในเต็นท์" เพราะพวกนักรบต้องบัญชาการเต็นท์ที่ตั้งกลางสมรภูมิ

นับแต่นั้นมีรัฐบาลบากุฟุสองสามรัฐบาล แต่สุดท้ายนายกรัฐมนตรีหรือโชกุนก็ถูกพวกข้าหลวงท้องถิ่นก่อกบฎยึดอำนาจอยู่เนืองๆ จนพวกข้าหลวงท้องถิ่นตั้งตนเป็นใหญ่ แยกดินแดนของตนเองเป็นเหมือนรัฐเอกราช แม้ว่าจะเคารพจักรพรรดิและโชกุน แต่ไม่ยอมฟังคำสั่งเอาเสียเลย ข้าหลวงเหล่านี้เรียกว่า "ไดเมียว" (大名) แปลว่าผู้ครองที่นา (名田)  ขนาดใหญ่หรือมีนามาก มีทั้งกองทัพและรัฐบาลท้องถิ่นของตนเอง เรียกว่า "แคว้น" หรือ ฮัง" (藩) ซึ่งเป็นส่วนย่อยอีกลำดับของมณฑล  หรือ "โกะกุ" (国) แต่ ณ เวลานั้นเขตปกครองส่วนกลางคือมณฑลเป็นแค่ลักษณะการบ่งบอกถิ่นฐานเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจการปกครอง

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 พวกไดเมียวแย่งชิงดินแดนและกลืนดินแดนและเข่นฆ่ากันไม่หยุด ส่วนโชกุนและจักรพรรดิได้แต่มองตาปริบๆ เพราะมีแต่ตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจอะไร การรบและชิงอำนาจของไดเมียวจะลุกลามไปทั่วและทำให้ญี่ปุ่นแตกเป็นเสี่ยงๆ กลายเป็น "ยุคแห่งสงคราม" หรือยุคเซนโกกุโดยสมบูรณ์ 

และในยุคนั้น แม้แต่ลูกน้องที่อยู่ในรัฐบาลแคว้นเดียวกันก็สามารถทรยศไดเมียวแล้วยึดอำนาจกันได้ เรียกว่า ระบบ "ผู้น้อยโค่นผู้ใหญ่" หรือ "ต่ำโค่นสูง" หรือ เกะโคคุโจ (下克上) ถือเป็นหัวใจสำคัญของยุคนี้ 

ดังนั้นจึงมีความเข้าใจกันว่า "ยุคนี้คนเก่งคือคนที่รู้จักเพลงดาบ" คนที่มีความสามารถคือ "คนที่รู้จักวางกลศึก" แต่นี่เป็นความเข้าใจที่ผิวเผิน

เช่น โอดะ โนบุนางะ ซึ่งเป็นขุนศึกแห่งแคว้นโอวาริ เริ่มรวบรวมแผ่นดินอย่างจริงจังคนแรกเพื่อสร้างระบบรวมศูนย์อีกครั้ง แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญในการศึก แต่การวิเคราะห์ในยุคปัจจุบันชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาทำการรบได้ต่อเนื่องและมีศักยภาพเหนือศัตรู เพราะสามารถควบคุมการไหลของเงินตรา และสร้าง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ขึ้นมาได้ 

โนบุนางะสั่งเลิกจุดตรวจที่ไม่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูการค้า ส่งเสริมการพัฒนาเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ถือเป็นนโยบายสร้างสรรค์ที่ไม่เคยได้รับการนำไปปฏิบัติโดยไดเมียวคนอื่นในยุคเดียวกัน

นโยบายสำคัญของ โนบุนางะ คือ "ระคุอิจิ ระคุซะ" (楽市・楽座) หรือ "ตลาดเสรี ตลาดเปิด" คือเปิดดินแดนให้พ่อค้าแม่ขายมาค้าขายโดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้การค้าในแคว้นคึกคักอย่างมาก ต่างจากแคว้นอื่นที่เก็บภาษีจากพ่อค้า ทำให้พ่อค้าเลือกที่จะมาแคว้นโอวาริ ผลคือมีเงินไหลเวียนต่อเนื่อง และทำให้แคว้นศัตรูถูกดูดการลงทุนออกมาโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ โนบุนางะได้ดำเนินการปฏิรูปทางการเงินซึ่งนำไปสู่ระบบการเงินแบบใหม่ คือกฎหมาย "เอริเซนิเร" หรือ "คำสั่งเลือกเหรียญกษาปณ์โดยโอดะ โนบุนางะ" (織田信長による撰銭令) ซึ่งบางคนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายการเงินสมัยใหม่ในญี่ปุ่น โดยพยายามที่จะ "เพิ่มปริมาณเงินที่หมุนเวียน" และ "ป้องกันการไหลเข้าของเหรียญเงินด้อยคุณภาพ" มีการกำหนดระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ถูกนำมาใช้ จัดระเบียบเหรียญกษาปณ์ที่เคยใช้กันแบบมั่วซั่วให้เป็นระเบียบ ดังนั้น ในแง่หนึ่งโนบุนางะยังถือเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติคนแรกของญี่ปุ่นอีกด้วย
  
ดังนั้น การที่ โนบุนางะ นั่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ, การค้า และอุตสากรรม หรือ METI จึงเหมาะดีแท้ เพราะนอกจากรบด้วยกองทัพเก่งแล้ว ยังรู้จักใช้เศรษฐกิจเป็นอาวุธ แต่ในยุคปัจจุบัน ญี่ปุ่นไม่ต้องรบกับใคร METI เป็นกระทรวงแผน เป็นชนชั้นมันสมอง และคนนั่งเจ้ากระทรวงนี้คือว่าที่นายกฯ คนต่อไป 

ญี่ปุ่นยุคนี้ขับเคลื่อนด้วยภาคธุรกิจ หากยุคสงครามพวกขุนศึกคือพระเอก ยุคนี้พวกผู้บริหารบริษัทคือตัวเอก ดังนั้น METI คือไดเมียวที่จะต้องสั่งการแม่ทัพต่างๆ (หรือบริษัทต่างๆ) ให้ทำตามคำสั่งแบบสั่งซ้ายไปซ้าย ขวาไปขวา ใครไม่ทำตาม ต้องเชือดลูกเดียว

METI  นั่นคือเสนาธิการวางแผนการรบให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นนั่นเอง แต่ก่อนนั้นใช้ชื่อว่ากระทรวง MITI ซึ่งรัฐมนตรีมีอำนาจชี้นำสูงและต้องกำหนดทิศทางการลงให้พวก "แคว้นต่างๆ" ซึ่งในปัจจุบันไม่ใช่แคว้นที่ปกครองโดยไดเมียว แต่เป็น "ไซบัตสึ" (財閥) หรือการรวมตัวของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้และจ้างพนักงาน (หรือนักรบเศรษฐกิจ) หลายล้านคน 

ดังนั้น ไดเมียวที่คุมกระทรวง METI หรือ MITI จึงต้องรู้การวางกลยุทธ์เหมือนการรบจริงๆ และต้องมีวิสัยทัศน์ด้วย ที่สำคัญคือต้องรู้จักใช้คนเป็น เพราะต้องบริหารพวกประธานบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงและต้องการจะเป็นใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น เหมือนกับที่ โอดะ โนบุนางะ เลี้ยงลูกน้องเก่งๆ มากมาย โดยสั่งให้แข่งกันเองด้วยกลเม็ดของระบบ "ผู้น้อย โค่นผู้ใหญ่" นั่นคือให้ขุนศึกรุ่นน้องตั้งความหวังที่จะโค่นขุนศึกรุ่นพี่ ทำให้ลูกน้องไม่มีเวลาโค่นล้มอำนาจเขา แต่แข่งกันไต่เต้าด้วยการเหยียบกันเอง ในทางหนึ่งก็ทำให้การขยายดินแดนก้าวหน้าอย่างมาก 

ลูกน้องคนสำคัญคือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ เดิมเป็นคนต่ำต้อย แต่ไต่เต้าขึ้นมาได้เรื่อยๆ เพราะความสามารถล้วนๆ จนเมื่อโนบุนางะตายแล้ว เขาก็ปราบลูกน้องคนอื่นๆ ของนายให้ยอมศิโรราบจนหมด และจักรพรรดิยอมถวายยศให้เป็น "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" คือ ไทโค (太閤) ยังไม่ถึงขั้นเป็นโชกุนหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งรัฐบาลอย่างเป็นระบบ

แล้วทำไม ฮิเดโยชิ ถึงเป็นขุนคลัง? เขานั้นเป็นขุนศึกก็จริง แต่เชี่ยวชาญเรื่องการเงินอย่างมาก และยังเก่งเรื่องการเจรจาหว่านล้อม การรวมแผ่นดินของเขาทำสำเร็จลงได้เพราะรู้จักกระแสเงิน รู้จักคบหาเจ้าสัวและนายวาณิชย์ สร้างเขตการค้าที่ใหญ่โตขึ้นมา และมักใช้การคลังนำการทหาร ซึ่งเขาเรียนรู้จากเจ้านายคือ โนบุนางะ

วิธีการบริหารเงินและทรัพยากรที่ ฮิเดโยชิ ใช้ล้วนแต่เลียนแบบมาจากนายคือ โนบุนางะ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งตลาดเสรี การสำรวจที่ดินและจัดสรรรายได้จากภาษีให้เป็นระบบ และเมื่อระบุรายได้ชัดเจนแล้ว เขาก็ทำการกำหนดและได้วางระบบการคำนวณงบประมาณและภาษีแห่งประเทศได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งนี่คือรากฐานสำคัญของการสร้างญี่ปุ่นที่มีระบบการปกครองรวมศูนย์ที่แข็งแกร่ง

แต่สิ่งสำคัญก็คือ การดำเนินการ "รังวัดที่ดินโดยไทโค" (太閤検地) เพื่อสำรวจแหล่งรายได้ภาษีเอามาทำงบประมาณ และแยกภาคการทหารกออกจากภาคเกษตรกรรม เพราะอย่าลืมว่าพวกขุนศึกหรือไดเมียวมีอำนาจขึ้นมาได้เพราะ "มีที่นามาก" และมักจะเกณฑ์ชาวนาไปเป็นทหาร และยังมีการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานทาส และแย่งชิงกำลังคน ทำให้การทำเกษตรไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่งผลต่อรายได้เข้าสู่ภาครัฐ

"รังวัดที่ดินโดยไทโค" จึงไม่ใช่แค่รังวัดกำหนดแหล่งเงิน แต่ทำการเลิกระบบเกณฑ์แรงงานและกาาค้าทาส ทำให้เกษตรกรเป็นกำลังการผลิตเพื่อขายหรือสะสมทุนอย่างแท้จริง บางคนจริงชี้ว่านี่คือจุดที่เปลี่ยนสังคมญี่ปุ่นจากยุคศักดินาโบราณมาเป็นยุคโมเดิร์น ซึ่งผู้คนธรรมดามีสิทธิ์เหนือทุนการผลิตมากขึ้น แน่นอนว่า "ไพร่ฟ้าก็หน้าใส" ส่วน "รัฐบาลก็มั่งคั่ง" ในขณะที่ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นกลายเป็นง่อย

พวกไดเมียวและโชกุนดังๆ จึงมักจะเก่งเรื่องเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามไปในหมู่คนสนใจประวัติศาสตร์การสงคราม อย่าลืมว่า "กองทัพเดินด้วยท้อง" ขุนศึกพวกนี้รวมแผ่นดินได้หรือรบได้ไม่หยุดหย่อนก็เพราะหาเงินเก่ง

แต่ โทกุกาวะ อิเอยาสุ คนที่ AI แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีกลับหาเงินไม่เก่ง ไม่ใช่ลูกน้องของโนบุนางะ แต่เป็นพันธมิตรของโนบุนางะ ทำให้มีวิธีคิดที่ต่างออกไปจากเครืออำนาจตระกูลโอดะ-โทโยโทมิ

สิ่งหนึ่งที่ โตกุกาวะ อิเอยาสุ มีเหนือกว่าโนบุนางะและฮิเดโยชิ คือ "การควบคุมคน" เขาไม่ได้ใช้คน แต่ "ควบคุม" ด้วยระบอบราชการ และการวมศูนย์อำนาจ

ในเมื่อพวกขุนศึกหรีอไดเมียวมีอำนาจขึ้นมาได้เพราะรู้วิธีหาเงินและใช้เงินทำลายศัตรู สิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลเอโดะทำเพื่อสร้างแผ่นดินที่สงบยาวนาน คือ ริบสิทธิ์การค้าระหว่างประเทศจากพวกไดเมียวไปซะ เพื่อทำให้ขุนศึกมีแต่กองทัพ แต่ไม่เงินเลี้ยงทหาร สุดท้ายก็ฝ่อกันไปเอง

อิเอยาสุ ตั้งรัฐบาลบากุฟุขึ้นมาได้อีกครั้ง คือ "รัฐบาลเอโดะ" ที่นครเอโดะหรือกรุงโตเกียว จัดระเบียบแคว้นขึ้นมาใหม่ แต่ละแห่งจะส่งคนที่ไว้ใจได้ (คือคนใกล้ชิดของตระกูล) ไปปกครองเป็นผู้ว่าการ แต่เพื่อตัดกำลังไม่ให้ซ่องสุมผู้คน รัฐบาลเอโดะสั่งให้ผู้ว่าการแคว้นจะต้องมาเยี่ยมโชกุนปีละครั้ง เพื่อกันไม่ให้อยู่ในแคว้นนานเกินไป และขบวนแห่เดินทางของเจ้าแคว้นแต่ละคนต้องใช้ทรัพย์และกำลังคนมาก จึงเท่ากับตัดกำลังไปในตัว

นี่คือวิธีการที่ อิเอยาสุ ได้เป็นายกฯ คือความสามารถในการควบคุมคน ให้พวกเขามีตำแหน่ง แต่ไม่ให้มีอำนาจถึงขั้นล้มรัฐบาลได้ วิธีริดรอนอำนาจที่ดีที่สุดคือ "ตัดท่อน้ำเลี้ยง" (แหล่งทุน) 

แต่เพราะการตัดเส้นทางการค้าภายนอก ทำให้เศรษฐกิจยุคเอโดะสะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงขั้นบางแคว้นล้มลายกันไปเลยทีเดียว 

ทั้ง 3 คนนี้เป็นผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็นเสาหลักของการรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นหลังจากผ่านยุคสงครามกลางเมืองมายาวนาน คนที่เริ่มการรวมแผ่นดินคือโนบุนางะ คนที่สานต่อจนสำเร็จคือฮิเดโยชิ คนที่ทำให้แผ่นดินสงบราบคาบอย่างแท้จริง และส่งต่ออำนาจปกครองประเทศในวงศ์สกุลของตนมานานกว่า 200 ปี คือ อิเอยาสุ 

ดังนั้นในแง่ของการปกครองให้มีเสถียรภาพ อิเอยาสุ น่าจะเหมาะกับตำแหน่งนายกฯ ที่สุด 

ในแง่ทฤษฏีผู้นำ เขายังมีบารมีสูง เพราะในยุคของ โนบุนางะ เขายังมีสถานะเป็นพันธมิตรทั้งๆ เป็นแคว้นเล็กกว่าและอำนาจด้อยกว่า แต่ โนบุนางะ ก็ยังให้เกียรติ

เมื่อ ฮิเดโยชิ สืบทอดอำนาจต่อจาก โนบุนางะ และรวมแผ่นดินได้ในยกแรก ทั้งๆ ที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว แต่ ฮิเดโยชิ แสดงท่าทีเกรงใจ อิเอยาสุ จนยอมให้ปกครองเขตของตนได้อย่างเป็นเอกเทศ

อิเอยาสุ ยังมีไม่แข็งกร้าวเกินไปแบบ โนบุนางะ ไม่กดดันผู้คนเหมือน ฮิเดโยชิ แต่ผ่อนปรนตามสถานการณ์ได้ดีกว่า จึงน่าจะมีคุณสมบัติของผู้นำ ครม.  ที่ต้องคุมคนเก่งๆ จากหลากหลายที่มามากกว่า 

วิธีการของรัฐบาลเอโดะ คือ มักโยกย้าย "ข้าราชการ" ไปตามที่ต่างๆ ไม่ให้มีอำนาจในท้องที่มากเกินไป กันไม่ให้สั่งสมบารมีจนทัดเทียม "นายกฯ" แต่ก็ไม่ให้อยู่ห่างตัวผู้นำมากเกินไปจนใช้งานไม่ได้ 

ในบางกรณี ผู้ว่าการแคว้นคนไหนทำงานไม่ได้ตามเป้า จะถูกย้ายไปคุมแคว้นที่ยากจนและประสบภัยพิบัติบ่อยๆ ทำต้องเสียเวลาในควบคุมความโกรธแค้นของผู้คน และทำให้เจ้าแคว้นเหล่านั้นหมดหลังใจกลายเป็นคนสิ้นหวังเพราะต้องเสียเวลารับมือกับภัยธรรมชาติที่ไม่มีทางแก้ไขได้

แต่คงเพราะสายเลือดโตกุกาวะมีความยืดหยุ่น รัฐบาลเอโดะจึงมีต่ออายุได้ครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการปฏิรูป (เช่น สมัยโชกุคนที่ 5 และ 8 เป็นต้น) เช่นการปรับตัวทางการเมือง ทำให้เกิดชนชั้นพ่อค้าขึ้นมา และเศรษฐกิจกับสังคมก็เฟื่องฟูขึ้นมาได้ 

ครม. นี้ยังมีคนดังในประวัติอีกจำนวนหนึ่ง แต่พูดไปก็ยาวไป ผมอยากจะเน้นแค่ตัวเอกๆ  เช่น ซากาโมโตะ เรียวมะ (ผู้นำการโค่นล้มระบอบโชกุนเอโดะ) เป็นเลขาฯ ครม. เนื่องจากมีความสามารถในการ "ประสานสิบทิศ" 

ฮิรางะ เก็นไน (นักประดิษฐ์และพหูสูตยุคเอโดะ) เป็นรัฐมนตรีกระทรวง IT เนื่องจากมีความรู้ด้านเทคโนโลยี และเป็นผู้ทำให้การศึกษาแบบตะวันตกแพร่หลายในยุครัฐบาลเอโดะ การศึกษาแบบตะวันตก หรือ "รันงักกุ" (วิลันดาศึกษา) เป็นรากฐานให้ญี่ปุ่นก้าวหน้ากว่าประเทศใดๆ ในเอเชีย มาตั้งแต่ช่วงปลายอยุธยาของไทย 

โตกุกาวะ โยชิมูเนะ (โชกุนคนที่ 8 ยุคเอโดะ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง

การตั้ง ครม. นี้ตั้งตามผลงานกับความสามารถเฉพาะตัวเป็นหลัก เช่น โตกุกาวะ โยชิมูเนะ ได้เป็น รมต. เกษตร ก็เพราะเขาเป็นผู้นำการปฏิรูปการปลูกข้าวและค้าข้าว จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟูขึ้น และได้รับฉายาว่า "โชกุนข้าว" (米将軍) 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ คือ โชกุนยุคเอโดะคนที่ 5 โตกุกาวะ สึนะโยชิ ผู้ริเริ่มการปฏิรูปครั้งใหญ่จนเศรษฐกิจเฟื่องฟู และเกิดยุคฟื้นฟูทางศิลปะวิทยาครั้งสำคัญที่เรียกว่า "วัฒนธรรมเก็นโรคุ"

จะเห็นว่า ครม.ที่แกร่งที่สุดเน้นความแกร่งเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้ว่า รมต. ทั้งหลายจะเป็นนักรบเสียเป็นส่วนใหญ่

ส่วนโชกุนในยุคเอโดะ แม้จะไม่รบกันแล้ว แต่การปกครองแคว้นต่างๆ มีสภาวะบีบคั้นรุนแรงเพราะหาเงินไมได้ และมักล้มเหลวในการค้าขาย เพราะเครือข่ายการค้ากับภายนอกถูกปิดจนหมด กำลังการซื้อภายในก็ลดลง 

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันเหมือนกับการทำสงคราม หากผู้ครองแคว้นหรือโชกุนคนไหนที่ทำให้ประชาชนยุคนั้นมีกินและค้าขายรุ่งเรือง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 
 

TAGS: #ครม #ประวัติศาสตร์ #ญี่ปุ่น