"ฮาร์ดพาวเวอร์" และ "ลัทธิปรีมาคอฟ" สิ่งที่ทำให้รัสเซียต้องสู้ตะวันตกและจับมือกับจีน

"ลัทธิปรีมาคอฟ"  (Primakov doctrine) คือแนวคิดหรือแนวนโยบายที่ตั้งชื่อตามอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย คือ เยฟเกนี ปรีมาคอฟ (Yevgeny Primakov) ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัสเซียกำลังตั้งตัวอีกครั้งหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

นี่คือช่วงที่รัสเซีย "ตกต่ำ" ที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะอำนาจการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศลดลง และยังมีลักษณะคล้อยตามโลกตะวันตก ส่งผลให้การผูกขาดอำนาจเดี่ยวของสหรัฐฯ (Hegemony) แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกอยู่พักหนึ่ง 

ปรีมาคอฟ เล็งเห็นว่าเพื่อที่จะหยุดการผูกขาดอำนาจของสหรัฐฯ และทำให้รัสเซียเป็นผู้เล่นที่สำคัญอีกครั้งในเวทีโลก รัสเซียจะต้องเปลี่ยนแนวทางนโยบายต่างประเทศ โดยสลัดตัวจาการผูกติดกับจากตะวันตก แล้วหันมาสนับสนุนการก่อตั้งพันธมิตรไตรภาคีเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย จีน และอินเดีย เพื่อสร้างสมดุลกับสหรัฐฯ ในยูเรเซีย

และในที่สุด "ลัทธิปรีมาคอฟ" ก็ทำให้เกิดพันธมิตรไตรภาคีระหว่างรัสเซีย อินเดีย และจีน ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็น BRICS และในปัจจุบัน BRICS กลายเป็นการรวมกลุ่มทางเลือกที่ถูกมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับการรวมกลุ่มของโลกตะวันตก เช่น G7

แกนหลักของ  "ลัทธิปรีมาคอฟ" สามารถสรุปได้จากรายงานเรื่อง The Primakov (Not Gerasimov) Doctrine in Action ซึ่งระบุเอาไว้ว่า

ประการแรก รัสเซียจะต้องเป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญจนขาดไม่ได้ในเวทีโลก โดยดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ 

ประการที่สอง รัสเซียควรพยายามจัดตั้งขั้วอำนาจหลายขั้วในเวทีการเมืองโลกที่บริหารจัดการโดยการรวมตัวของมหาอำนาจ 

ประการที่สาม รัสเซียควรแสวงหาความเป็นใหญ่ในเขตอิทธิพลเดิมของสหภาพโซเวียต และควรแสวงหาการบูรณาการภูมิภาคยูเรเซีย (การรวมตัวกันของทวีปยุโรปและเอเชีย)

ประการที่สี่ รัสเซียควรคัดค้านการขยายตัวของนาโต้ (NATO)

ประการที่ห้า รัสเซียควรแสวงหาความร่วมมือกับจีน

รายงานชี้ว่า "ตามวิสัยทัศน์นี้ รัสเซียไม่ควรพยายามแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาเพียงลำพัง แต่ควรให้รัฐบาลที่มอสโกพยายามจำกัดสหรัฐอเมริกาด้วยความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอื่น ๆ และวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นผู้มีบทบาทที่ขาดไม่ได้ด้วยการลงคะแนนเสียงและการยับยั้ง (วีโต้ ในที่ประชุมสหประชาชาติ)" จากข้อความนี้จะเห็นว่าแกนหลักคือการแข่งกับสหรัฐฯ โดยไม่เผชิญหน้าด้วยตัวคนเดียวนั่นเอง

อีกแกนหลักสำคัญ คือการแยกกันเดินระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก จุดแตกหักคือ "การตัดสินใจของปรีมาคอฟที่จะยกเลิกการเยือนวอชิงตันแบบกลางคัน และสั่งให้นักบินบินกลับมอสโกเพื่อประท้วงการโจมตีเซอร์เบียขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 1999" เนื่องจากรัวเซียพิจารณาว่าเซอร์เบียและยุโรปตะวันออกคือเขตอิทธิพลเดิมของตน และนาโตกำลังล่วงล้ำอิทธิพลของรัสเซียมาแต่เดิม

ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า "ลัทธิปรีมาคอฟ" ถูกนำไปปรับใช้หลายครั้งแล้วในสถานการณ์โลก เช่น ประการที่สามที่ระบุถึงการรักษาอิทธิพลของรัสเซียในเขตอิทธิพลเดิมของสหภาพโซเวียต ตังอย่างของข้อนี้คือสงครามกับจอร์เจียในปี 2008 และยูเครนตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนประการที่สี่ที่เน้นการต่อต้านนาโต้ เป็นแนวคิดดั้งเดิมตั้งแต่มีสหภาพโซเวียต เรื่องจากนาโต้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจของสหภาพโซเวียตเข้ามาในยุโรป แต่ในปัจจุบัน นาโต้ขยับเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซียเช่นยุโรปตะวันออกรวมถึงยูเครน ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยสงครามในยูเครน

การปรับใช้เป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "อำนาจแข็ง" หรือ "ฮาร์ดพาวเวอร์" (Hard Power) นั่นคืออำนาจทางการทหารและการทูตที่แข็งกร้าว รายงานระบุว่า "ความกังวลในปัจจุบันเกี่ยวกับสงครามลูกผสม (hybrid warfare) ของรัสเซียอาจทำให้เกิดการมองว่าสิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือลูกผสมนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะและแตกต่างจากฮาร์ดพาวเวอร์หรือชุดเครื่องมือทางการทหารของรัสเซีย ซึ่งนั่นไม่ถูกต้อง ข้อมูลในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่แนบแน่นระหว่างขีดความสามารถทางทหารของรัสเซียและการปฏิบัติการในพื้นที่สีเทา ฮาร์ดพาวเวอร์ของรัสเซียเป็นตัวช่วยที่สำคัญและจำเป็นสำหรับสงครามลูกผสมของรัสเซีย หากไม่มีฮาร์ดพาวเวอร์ สงครามลูกผสมก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขนาดและขอบเขตของปฏิบัติการสงครามลูกผสมของรัสเซียได้ขยายตัวขึ้นตามการเติบโตและการปรับปรุงของขีดความสามารถฮาร์ดพาวเวอร์ของรัสเซีย เมื่อนำมารวมกันแล้ว สงครามลูกผสมของรัสเซียและขีดความสามารถฮาร์ดพาวเวอร์ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้เพื่อนำหลักคำสอนของปรีมาคอฟไปใช้" 

ส่วนประการที่ห้า ที่ว่า "รัสเซียควรแสวงหาความร่วมมือกับจีน" นั้น ผลที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่แค่การก่อตั้ง BRICS เท่านั้น แต่รัสเซียยังพยายามที่จะดึงจีนเข้ามาเป็น "พันธมิตร" กับรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ แต่จีนยังไม่มีทีท่าที่จะทำแบบนี้ เพียงแต่ร่วมมือในขอบเขตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีน

รายงานโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by Alexander KAZAKOV / POOL / AFP
 

TAGS: #รัสเซีย #BRICS