จะเป็นยังไงถ้าประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้พิพากษากันเอง? ดูเม็กซิโกเป็นตัวอย่าง

จะเป็นยังไงถ้าประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้พิพากษากันเอง? ดูเม็กซิโกเป็นตัวอย่าง

ประธานาธิบดีเม็กซิโก อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ซึ่งกำลังจะหมดวาระลง ได้เสนอข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง รวมถึงผู้พิพากษาศาลฎีกาด้วย จากแต่เดิมที่พิพากษาจากศาลชั้นต่างๆ มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายๆ กันทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งตำแหน่งตุลาการจะมีการเสนอชื่อโดยฝ่ายบริหารหรือฝ่ายรัฐบาล จากนั้นจะมีการลงมติรับรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐสภา ทั้งนี้ก็เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ไม่ให้ฝ่ายฝ่ายหนึ่งใอำนาจมากเกินไป หรือมีอิทธิพลต่อดุลอำนาจหนึ่งๆ มากเกินไป 

แต่จากข้อเสนอของผู้นำเม็กซิโก ผู้สมัครรับตำแหน่งตุลาการจะได้รับการเสนอชื่อโดยฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการของรัฐบาล จากนั้นพวกเขาจะได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการพิเศษที่จัดตั้งขึ้นโดยแต่ละฝ่ายเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง ในท้ายที่สุด ผู้สมัครจะได้รับเลือกให้ลงคะแนนเสียงโดยประชาชน เหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร หากแนวทางนี้ได้รับการอนุมัติ จะมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาครึ่งหนึ่ง รวมถึงสมาชิกศาลฎีกา ซึ่งรอบแรกจะมีการเลือกตั้งในปี 2568 และอีกครึ่งหนึ่งจะมีการเลือกตั้งในปี 2570

กระบวนการเลือกตั้งจะเป็นตามนี้ คือชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งตุลาการ (หรือผู้พิพากษา) จะถูกใส่ไว้ในบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้สมัครสามารถประกาศข้อเสนอและหาเสียงกับประชาชนได้เหมือนกับนักการเมืองทั่วไป การเลือกตั้งซึ่งจะจัดขึ้นโดยสถาบันการเลือกตั้งแห่งชาติ (INE) จะอยู่ภายใต้การดูแลของอนุญาโตตุลาการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับอื่น ผู้นำ INE หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า " คณะกรรมการเลือกตั้ง" จะต้องได้รับเลือกโดยการลงคะแนนของประชาชนเช่นกันไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้น กระบวนการนี้จึงีการเลือกตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกระดับ  

ทำไมต้องปฏิรูป? เพราะโอบราดอร์เล็งเห็นว่าฝ่ายตุลาการตกอยู่ใต้อิทธิพลของแก๊งค้ายา หรือ narco ซึ่งมีอิทธิพลสูงมากในฝ่ายบริหารแผนกต่างๆ ของประเทศ ด้วยการซื้อตัวข้ารัฐการและนักการเมืองไปจนถึงผู้พิพากษา ไปจนถึงการข่มขู่คนเหล่านี้เพื่อให้ทำตามที่แก๊งของตนต้องการ จากการสำรวจประจำปีของรัฐบาลในปี 2566 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งแทบไม่มีความเชื่อมั่นในระบบตุลาการเลย นอกจากนี้ ยังพบว่าในกว่า 92% ของคดีไม่มีการแจ้งความหรือมีการสอบสวน ทั้งนี้ เม็กซิโกยังคงทำสงครามกับแก๊งค้ายาอย่างหนัก แต่ยังกำจัดอิทธิพลของพวกนี้ไม่ได้ และเสี่ยงที่จะทำให้โครงสร้างรัฐล่มสลาย 

แต่ข้อเสนอนี้ถูกตอบโต้ทั้งจากในและนอกประเทศ เช่น สหรัฐฯ โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเม็กซิโก เคน ซาลาซาร์ วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยกล่าวว่าการปฏิรูปดังกล่าวเป็น “ความเสี่ยงสำคัญต่อกลไกของประชาธิปไตยของเม็กซิโก”  และชี้ว่า “ช่วยให้กลุ่มค้ายาและผู้กระทำผิดอื่นๆ ใช้ประโยชน์จากผู้พิพากษาที่ไม่มีประสบการณ์ซึ่งมีแรงจูงใจทางการเมือง” Bloomberg รายงานว่า สมาคมทนายความเม็กซิกัน วิทยาลัยกฎหมายสแตนฟอร์ด (ในสหรัฐฯ) และ Inter-American Dialogue (ในสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมประชาธิปไตย กล่าวว่า "การเลือกตั้งตุลาการกระทบต่อความเป็นอิสระและความเที่ยงธรรมของระบบตุลาการ" ส่วนแคนาดาก็แสดงความกังวลเช่นกัน และเกรงว่าจะกระทบต่อการลงทุนกับเม็กซิโก 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางเม็กซิโก ลงมติให้หยุดงานเพื่อตอบสนองต่อข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าว ด้านต่อมาประธานาธิบดีคนใหม่ของเม็กซิโก คือ คลาวเดีย เชนบอม ปกป้องข้อเสนอของโลเปซ โอบราดอร์ในแถลงการณ์ต่อ Financial Times ในขณะที่ ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก ที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ประกาศได้ระงับความสัมพันธ์กับสถานทูตแคนาดาและสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม เนื่องจากคำวิจารณ์ดังกล่าวถือเป็นการไม่เคารพอธิปไตยของเม็กซิโก โดยเขาย้ำว่าการระงับดังกล่าวเกิดขึ้นกับสถานทูตเท่านั้น ไม่ใช่กับประเทศต่างๆ

Photo - (TOPSHOT) - เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการของเม็กซิโกแต่งกายเป็น "เตมิส (Themis) หรือ เทพีแห่งความยุติธรรมตามตำนานกรีกโบราณ ขณะทำการแสดงในระหว่างเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการปฏิรูปตุลาการที่รัฐบาลเสนอในเมืองกัวดาลาฮารา รัฐฮาลิสโก เม็กซิโก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 พนักงานฝ่ายตุลาการ ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาศาลแขวงจัดการประท้วงทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดข้อโต้แย้ง ซึ่งรัฐบาลฝ่ายซ้ายต้องการให้พวกเขาได้รับเลือกโดยคะแนนเสียงของประชาชน (ภาพโดย ULISES RUIZ / AFP)

TAGS: #เม็กซิโก #ตุลาการ